ดอกเบี้ยขาลงจูงใจเอกชน

ดอกเบี้ยขาลงจูงใจเอกชน

ดอกเบี้ยขาลง ดึงดูดเอกชนแห่ออกหุ้นกู้ไตรมาสแรกสูง 1.3 แสนล้านบาท หวังล็อกต้นทุนในระดับต่ำเอาไว้

ดอกเบี้ยขาลง ดึงดูดเอกชนแห่ออกหุ้นกู้ไตรมาสแรกสูง 1.3 แสนล้านบาท หวังล็อกต้นทุนในระดับต่ำเอาไว้ ขณะที่นักลงทุนสถาบัน หันซื้อหุ้นกู้แม้ผลตอบแทนไม่สูง ด้านรายย่อยแนวโน้มอาจหันหาเงินฝากแทน

ดอกเบี้ยในประเทศที่ลดต่ำลง จูงใจให้บริษัทเอกชนจำนวนมากตัดสินใจระดมทุนผ่านการออกหุ้นกู้ เพื่อล็อกต้นทุนในระดับต่ำไว้ ส่งผลให้มูลค่าออกหุ้นกู้เอกชนในไตรมาสแรกที่ผ่านมาสูงถึงราว 1.3 แสนล้านบาท เทียบกับ 4.37 หมื่นล้านบาทในช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่การเพิ่มขึ้นมากของปริมาณในตลาด กลับไม่ได้ช่วยให้ผลตอบแทนของหุ้นกู้พุ่งขึ้นมากนัก เนื่องจากความต้องการลงทุนหุ้นกู้ เพื่อเสาะหาผลตอบแทนที่ดีกว่าพันธบัตรรัฐบาลก็มีเข้ามามากเช่นกัน

ผู้จัดการกองทุน มองว่า ผลตอบแทนที่ได้จากหุ้นกู้ในขณะนี้แม้ว่าไม่สูงมาก แต่ก็เป็นระดับที่รับได้ เมื่อเทียบกับปัจจัยที่แวดล้อมตลาดในปัจจุบัน โดยเฉพาะกลุ่มนักลงทุนสถาบันระยะยาว อย่างเช่น บริษัทประกัน หรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ที่ยังได้ผลตอบแทนที่คุ้มกับต้นทุนทางการเงินที่มีอยู่

แต่ในส่วนนักลงทุนรายย่อย ที่มองการลงทุนระยะสั้นมากกว่า ผู้จัดการกองทุนเห็นว่า การหันไปลงทุนในเงินฝากดอกเบี้ยพิเศษของบางธนาคาร อาจจะเป็นทางเลือกที่เหมาะสมกว่า ทั้งในแง่ระยะเวลาการลงทุน และอัตราผลตอบแทน

"พอดอกเบี้ยต่ำๆ เขาก็ออกหุ้นกู้กันเยอะ แต่อย่างลีสซิ่ง หรือพร็อพเพอร์ตี้ก็เริ่มแผ่วไป แต่บางรายก็มีดีมานด์อยู่เยอะเหมือนกัน และมีบางบลจ.ที่ออกเป็นกองทุน ที่ลงทุนหุ้นกู้ ล็อก 3 ปีด้วย ก็ทำให้มีดีมานด์เข้ามาในตลาด" นางสาวฤดี ปติอารยกุล ผู้จัดการกองทุนอาวุโส บลจ.แอสเซท พลัส กล่าวผ่านรอยเตอร์

เธอระบุว่า แม้มีการออกหุ้นกู้กันมากในต้นปีนี้ แต่ดอกเบี้ยหุ้นกู้ และส่วนต่างดอกเบี้ย (สเปรด) ของหุ้นกู้เมื่อเทียบกับพันธบัตรรัฐบาล ก็ยังไม่ได้สูงนัก เนื่องจากความต้องการลงทุนหุ้นกู้ ก็เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน เช่น บริษัทประกัน และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งมีเงินไหลเข้าทุกเดือน ก็ต้องพยายามหาช่องทางลงทุนที่ให้ผลตอบแทนดีกว่าพันธบัตรรัฐบาล ที่ปัจจุบันมีอัตราผลตอบแทนค่อนข้างต่ำ ดังนั้นในด้านหนึ่งก็ถือว่าผู้ลงทุนต้องจำยอมกับผลตอบแทนที่ได้รับ แต่ฝ่ายผู้ออกเองก็คงต้องให้ผลตอบแทนที่ดีในระดับหนึ่งเช่นกัน เพราะนักลงทุนก็มีตัวเลือกอยู่พอสมควร

ขณะที่ผู้จัดการกองทุนตราสารหนี้รายหนึ่ง ระบุว่า ประเด็นของตลาดหุ้นกู้ขณะนี้ คือ ดอกเบี้ยในประเทศปรับลดลงมา ทำให้ต้นทุนการกู้ที่อายุน้อยกว่า 3 ปี ถือว่าถูกมาก ขณะนี้ผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 1-3 ปี อยู่ต่ำกว่า 2.7% เอกชนจึงสนใจมาออกหุ้นกู้ เพราะเทียบแล้วจะถูกกว่ากู้จากสถาบันการเงิน จึงถือว่าภาวะตลาด เป็นประโยชน์สำหรับฝั่งผู้ออกหุ้นกู้

ส่วนสเปรดที่ผู้ออกหุ้นกู้ให้อยู่ขณะนี้ หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน พิ่มขึ้นเล็กน้อย ถ้าเทียบจากหุ้นกู้อันดับความน่าเชื่อถือระดับ A อายุ 3 ปี ไตรมาสแรกปีก่อน สเปรดจะอยู่ที่ 0.65-0.75% แต่ปีนี้อยู่ที่ 0.75-0.80% ถ้ามองในภาพรวม จะเห็นว่าผลตอบแทนปีนี้กับปีก่อนไม่ต่างกันมาก แม้ปีนี้สเปรดจะขยับขึ้น แต่ดอกเบี้ยปรับลดลง ทำให้ผลตอบแทนรวม ก็เท่าๆ กับปีก่อน

แม้ผลตอบแทนจากหุ้นกู้ ไม่ถือว่าสูงมากนัก แต่อยู่ในระดับที่นักลงทุนสถาบันรับได้ โดยเฉพาะหุ้นกู้อายุ 10 ปี ที่มีหลายบริษัทออกกันช่วงที่ผ่านมา ถือว่าตรงกับความต้องการของนักลงทุนสถาบันที่เป็นบริษัทประกัน กองทุนประกันสังคม และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งต้องการลงทุนหุ้นกู้ที่อันดับเครดิตดี ผลตอบแทนสูงกว่าพันธบัตรรัฐบาล และสูงกว่าต้นทุนทางการเงิน

ส่วนรายย่อย หรือรายบุคคล ที่ไม่ต้องการถือลงทุนยาวนัก ผู้จัดการกองทุน แนะนำว่า อาจจะหันไปหาตัวเลือกที่เป็นเงินฝากของธนาคารขนาดกลางและขนาดเล็กบางแห่ง ที่ให้อัตราดอกเบี้ยพิเศษที่กว่า 3% แต่ฝากเพียง 1-2 ปี เทียบกับหุ้นกู้ที่อาจจะได้ดอกเบี้ยสูงกว่าเล็กน้อย แต่จะถูกล็อกการลงทุนไว้อย่างน้อย 3 ปี แต่หากมีเงินเย็นที่ถือลงทุนได้ สามารถแบ่งมาซื้อหุ้นกู้ได้เช่นกัน หรือหันไปลงทุนในกองทุนอสังหาริมทรัพย์ และกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งให้ผลตอบแทนสูงกว่าตราสารหนี้แน่นอน แต่ก็ต้องรับความเสี่ยงในด้านราคาให้ได้

"รายย่อย ถ้าพวกที่ไม่อยากล็อกยาว ก็ไปฝากแบงก์ยังได้อยู่ ยกเว้นว่ามีส่วนที่อยากล็อกยาวหน่อย ก็อาจจะซื้อ 5 ปี ก็ยังได้เห็น 4% หรือถ้ารับความเสี่ยงได้ พร็อพเพอร์ตี้ฟันด์ หรืออินฟราฯ ฟันด์ ก็จะได้ยีลด์ดี แต่ก็ต้องรับความผันผวน ของราคาได้ เพราะช่วงหลังราคามันลงมา หักลบเลยขาดทุน" เขา กล่าว