‘เชคสเปียร์ต้องตาย’ ชนะคดี ยกเลิกคำสั่งแบน ชดใช้ค่าเสียหาย

‘เชคสเปียร์ต้องตาย’ ชนะคดี ยกเลิกคำสั่งแบน ชดใช้ค่าเสียหาย

การต่อสู้ที่ยาวนานกว่า 11 ปีของทีมผู้สร้างภาพยนตร์ไทยเรื่อง ‘เชคสเปียร์ต้องตาย’ ได้รับชัยชนะและการชดใช้แล้ว

เชคสเปียร์ต้องตาย ภาพยนตร์ไทยที่ถูกแบนมายาวนานกว่า 11 ปี ชนะคดี ยกเลิกคำสั่งแบน กองเซ็นเซอร์ต้องชดใช้ค่าเสียโอกาสและค่าเสียหาย

วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567 ศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งให้ ทีมสร้างภาพยนตร์ เชคสเปียร์ต้องตาย ชนะคดีและยกเลิกคำสั่งแบน พร้อมให้คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ชดใช้ค่าเสียหาย

ขณะที่ มานิต ศรีวานิชภูมิ ผู้อำนวยการสร้างได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก Manit Sriwanichpoom ว่า

วันแห่งชัยชนะ!!! ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาให้ผู้สร้างหนังเชคสเปียร์ต้องตายชนะคดีละเมิด ยกคำสั่งแบน และให้คณะกรรมการเซ็นเซอร์ชดใช้ค่าเสียหาย จบการต่อสู้เพื่อสิทธิและเสรีภาพคนทำหนังไทยที่ยาวนานกว่า 11 ปี นี่คือประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของหนังไทย ขอขอบคุณทุกคนที่ร่วมมาในกระบวนการต่อสู้ครั้งนี้ รวมทั้งกำลังใจที่ส่งมาให้ ที่สำคัญต้องขอขอบพระคุณศาลปกครองสูงสุดผู้มอบความยุติธรรมให้แก่หนังของเรา ส่วนโปรแกรมการฉายจะแจ้งให้ทราบอีกครั้งหนึ่ง

‘เชคสเปียร์ต้องตาย’ ชนะคดี ยกเลิกคำสั่งแบน ชดใช้ค่าเสียหาย

Cr. Manit Sriwanichpoom

เชคสเปียร์ต้องตาย เป็นภาพยนตร์ นอกกระแส เขียนบทโดย สมานรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ อำนวยการสร้างโดย มานิต ศรีวานิชภูมิ

ดัดแปลงมาจากบทละคร โศกนาฏกรรมแม็คเบ็ธ (The Tragedy of Macbeth) ของ วิลเลียม เชกสเปียร์ (William Shakespeare)

ได้รับเงินทุนสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมภาพยนตร์ สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม ภายใต้โครงการไทยเข้มแข็ง ถ่ายทำปี 2553 มีกำหนดฉายในปี 2555

‘เชคสเปียร์ต้องตาย’ ชนะคดี ยกเลิกคำสั่งแบน ชดใช้ค่าเสียหาย Cr. Manit Sriwanichpoom

เล่าเรื่องแบบละครซ้อนละคร แยกเป็น 2 ส่วน คือละครเวที และเหตุการณ์ร่วมสมัยในโลกภายนอก

เรื่องราวของ เมฆเด็ด (Mekhdeth) ขุนนางที่ล้มอำนาจกษัตริย์ สถาปนาตัวเองเป็นกษัตริย์พระองค์ใหม่ แต่ลุ่มหลงในอำนาจ ขี้ระแวง จนฆ่าผู้อื่นเพื่อรักษาอำนาจนั้น มีการนำภาพจริงจากเหตุกาณ์ 6 ตุลาคมคม 2519 มาใช้ประกอบในภาพยนตร์ด้วย

วันที่ 3 ตุลาคม 2555 คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์ (กองเซ็นเซอร์) กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ได้จัดให้ เชคสเปียร์ต้องตาย อยู่ในเรทหรือ ห้ามเผยแพร่ในประเทศไทย

ด้วยเหตุผลว่า มีการอ้างอิงถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 โดยเอาภาพฟุตเทจเหตุการณ์ไม่สงบมาใช้ มีการพูดถึงกลุ่มคนเสื้อแดง มีเนื้อหาที่อาจก่อให้เกิดการแตกความสามัคคีระหว่างคนในชาติ

‘เชคสเปียร์ต้องตาย’ ชนะคดี ยกเลิกคำสั่งแบน ชดใช้ค่าเสียหาย Cr. Manit Sriwanichpoom

การโดนสั่งแบน ทำให้ทีมผู้สร้างตัดสินใจฟ้องคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์ต่อศาลปกครองกลาง ในคดีหมายเลขดำที่ 1321/2555 เพื่อเพิกถอนคำสั่งห้ามฉายภาพยนตร์ และให้คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์ชดใช้ค่าเสียโอกาสและค่าเสียหายซึ่งคำนวณจากต้นทุนการสร้างภาพยนตร์ทั้งหมด

ปี 2560 ศาลปกครองกลางได้พิพากษายกฟ้อง โดยให้เหตุผลว่าคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์ได้ใช้ดุลพินิจตามกฎกระทรวงกำหนดลักษณะของประเภทภาพยนตร์แล้ว

และภาพยนตร์ดังกล่าวส่อเค้าสร้างความแตกแยกในสังคม ซึ่งเป็นกรณีที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน เป็นการใช้ดุลพินิจที่ชอบด้วยกฎหมาย ทีมผู้สร้างก็ยื่นอุทธรณ์สู้ต่อ คดีก็ยืดเยื้อออกไป

‘เชคสเปียร์ต้องตาย’ ชนะคดี ยกเลิกคำสั่งแบน ชดใช้ค่าเสียหาย

Cr. Manit Sriwanichpoom

เดือนมกราคม 2567 แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์เพาเวอร์ ได้ประชุมคณะกรรมการการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ ครั้งที่ 1/2567 กล่าวว่าจะมีการแก้ไข 3 ประเด็นหลัก คือ

1.การแก้ไขกฎกระทรวงและ ประกาศที่ออกตามความในพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวิดีทัศน์ พ.ศ. 2551

2.การตั้ง One Stop Service และ เพื่อให้ทำงานกับภาครัฐได้ง่ายขึ้น

3.ความคืบหน้าการยกร่าง พ.ร.บ. THACCHA

ซึ่งประเภทเรทของภาพยนตร์ ในประเด็นเรื่องศาสนา ความสามัคคี เรื่องเพศสัมพันธ์ จะถูกจัดในเรทผู้ชมที่เหมาะสมแทนการห้ามฉาย

ส่วนภาพยนตร์ที่ห้ามฉายในประเทศไทย จะเหลือเพียงข้อกำหนดเดียว คือ เนื้อหาที่กระทบกระเทือนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์

สำหรับการแก้ไขกฎกระทรวงและประกาศใน พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวิดีทัศน์ พ.ศ. 2551 กำลังอยู่ในช่วงระหว่างรอการรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชน คาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงกลางปี 2567

https://youtu.be/vd6JEk6Imco?si=uihNB0zuzOt5MkqP