วิชา “AED” 101 : เรื่องของ “หัวใจ” ที่คนไทยต้องรู้ได้แล้ว

วิชา “AED” 101 : เรื่องของ “หัวใจ” ที่คนไทยต้องรู้ได้แล้ว

จะมีชีวิตได้อย่างไร ถ้า “หัวใจ” หยุดเต้น มารู้จักและตระหนักความสำคัญของ “เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้า (AED)” ลดความสูญเสีย เพิ่มโอกาสรอด จะได้ไม่ต้องมีคนหัวใจสลายเพราะคนที่รักหัวใจล้มเหลว

ในวันวาเลนไทน์ เรื่องของ หัวใจ ถูกสื่อสารเชิงสัญลักษณ์แทนความรัก แต่อันที่จริง “หัวใจ” มีความหมายมากกว่านั้น แต่คือการมีชีวิตเพื่อจะได้อยู่กับคนที่รัก ได้ทำเพื่อคนที่รัก หรือเพื่อได้มีความรัก แต่ถ้า “หัวใจ” หยุดทำงาน ความรักที่ควรเบ่งบานจะเหลือเพียงการจากลาตลอดไป

เพราะฉะนั้น เรื่องของ “หัวใจ” จึงถึงเวลาให้ความสำคัญได้แล้ว เพราะตามสถิติล่าสุด โรคหัวใจ เป็นสาเหตุการเสียชีวิตของคนไทยที่มาแรงเป็นอันดับสองรองจากโรคมะเร็ง ซึ่งการเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจ น่ากลัวตรงที่เกิดขึ้นปุบปับฉับพลัน และคนส่วนมากไม่รู้วิธีช่วยเหลือเบื้องต้นที่จะเพิ่มโอกาสรอดชีวิต

นพ.นิพนธ์ ศรีสุวนันท์ อายุรแพทย์โรคหัวใจ ด้านปฏิบัติการโรคหัวใจและหลอดเลือด ให้ข้อมูลว่าเหตุการณ์การเสียชีวิตด้วย “โรคหัวใจ” มักเกิดขึ้นภายนอกโรงพยาบาล หมายความว่าผู้เสียชีวิตจะมีอาการหัวใจวายหรือหัวใจหยุดเต้นกะทันหันได้ทุกที่ทุกเวลา พวกเขามีเวลาน้อยมากที่จะกู้ชีพให้กลับมา ทั้งที่หลายสถานที่ เช่น ฟิตเนส, ห้างสรรพสินค้า, อาคารสูงหลายแห่ง ฯลฯ มีสิ่งที่จะช่วยชีวิตคนกลุ่มนี้ได้ทันทีที่เกิดเหตุ ทว่าจะมีประโยชน์อะไรในเมื่อมีแต่ใช้กันไม่เป็น

วิชา “AED” 101 : เรื่องของ “หัวใจ” ที่คนไทยต้องรู้ได้แล้ว

“บอกตามตรงว่าความพร้อมเรื่องการช่วยเหลือคนหัวใจหยุดเต้นยังค่อนข้างน้อย” นี่คือความจริงที่หมอนิพนธ์ตอกย้ำถึงความไม่พร้อมซึ่งเกิดจากความไม่ตระหนัก หลายคนอาจรู้จักวิธีทำ CPR (Cardiopulmonary resuscitation) หรือการช่วยเหลือผู้ป่วยที่กำลังจะหยุดหายใจ หรือหัวใจกำลังจะหยุดเต้นให้กลับมาหายใจ แต่นั่นก็กว่าจะเป็นที่รับรู้ของคนทั่วไปก็ใช้เวลาปลุกปั้นกันมาอย่างยาวนาน ซึ่งตอนนี้มีเครื่องมือช่วยเหลือผู้ป่วยกลุ่มนี้อย่างมีประสิทธิภาพมาก คือ เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้า หรือ AED (Automated External Defibrillator) แต่ก็กำลังเริ่มนับหนึ่งใหม่เพื่อให้คนรู้จัก ตระหนัก และใช้ให้เป็น ตามรอย CPR เมื่อหลายปีก่อน

หลายคนเคยเห็น AED แล้ว ไม่ว่าจะรู้จัก หรือแค่ผ่านตาว่ามีตัวอักษรภาษาอังกฤษสามตัวนี้แปะอยู่กับกล่องบนฝาผนังของสถานที่ต่างๆ แต่หลายคนยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีไว้ทำไม แต่ที่ร้ายกว่าคือหลายที่ไม่มี AED ติดตั้งไว้ ทั้งที่จำเป็นมากหากเกิดเหตุการณ์

“AED เป็นสิ่งที่ต้องมีในที่สาธารณะทั่วไปที่มีประชาชนอยู่หรือผ่านไปมา และต้องอยู่ในที่ที่คนต้องเห็นได้ชัดเวลาเดินผ่าน เพราะถ้าอยู่ในที่ไม่ชัด ก็จะมองไม่รู้ว่าคือเครื่องอะไร เพราะการรับรู้เรื่อง AED ในบ้านเราน้อยมาก บางคนยังไม่รู้จักด้วย

ภาวะหัวใจหยุดเต้นแบ่งได้เป็น 2 แบบ แบบแรกคือหัวใจหยุดเต้นแบบที่มีหัวใจห้องล่างเต้นเร็วผิดปกติ แบบนี้จะต้องรีบช็อคหรือกระตุกไฟฟ้าเพื่อให้หัวใจกลับมาเต้นปกติได้ให้ไวที่สุด ส่วนอีกแบบหนึ่งคือไม่ต้องการการช็อคหรือกระตุกหัวใจ แต่ทั้งสองกลุ่มต้องการการช่วยเหลือที่รวดเร็วที่สุด โดยเฉพาะภายใน 3-5 นาทีแรกมีความสำคัญมาก คนที่พบเห็นคนแรกคือคนสำคัญที่สุด ต้องตระหนักว่าต้องรีบเข้าไปช่วยทันที”

โดยลำดับการเข้าไปช่วยผู้ป่วย คือ

1. เรียกและทดสอบความรู้สึกตัวของผู้ป่วย

2. ทำ CPR

3. ใช้เครื่อง AED เพื่อช็อคไฟฟ้า

ซึ่งการใช้เครื่อง “AED” จะเพิ่มโอกาสรอดได้ถึง 75 เปอร์เซ็นต์

พูดไปเหมือนเป็นเรื่องง่าย อันที่จริงแม้กระทั่งการทำ CPR สำหรับหลายคนก็ยังเป็นเรื่องไกลตัว แล้ว AED ที่เป็นเสมือนของใหม่จะเหลืออะไร ภาระหนักจึงต้องไปตกอยู่ที่คนให้ความรู้อย่าง แพทย์, พยาบาล และเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุข

“ต้องบอกว่าการทำให้คนกล้าใช้ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่จริงๆ เครื่อง AED ใช้ง่ายมาก แค่เสียบปลั๊ก นำแผ่นแปะมาติดสองจุดคือใต้ไหปลาร้าด้านขวา และใต้ชายโครงซ้าย หลังจากนั้นเครื่องจะออโต้เลย โดยจะอ่านคลื่นหัวใจแล้วคำนวณว่าควรจะช็อคหรือกระตุกหัวใจไหม ถ้าเครื่องบอกว่าให้เราช็อคกระตุกหัวใจ เราก็กดปุ่มช็อค แต่ถ้าเกิดเครื่องอ่านว่าไม่ต้องช็อคเราก็แค่ทำ CPR

แต่ปัญหาคือเวลาคนเจอเหตุการณ์ฉุกเฉินจะตกใจ ไม่กล้าแตะคนไข้ ไม่กล้าทำอะไร ต้องบอกว่าโอกาสที่คนหัวใจหยุดเต้นนอกโรงพยาบาลแล้วไม่ได้รับการรักษาจะมีโอกาสรอดชีวิตน้อยกว่า 5 เปอร์เซ็นต์ ทุกคนจึงมีโอกาสช่วยเหลือชีวิตคน”

วิชา “AED” 101 : เรื่องของ “หัวใจ” ที่คนไทยต้องรู้ได้แล้ว

วันที่ 4 มิถุนายน 2564 กระทรวงมหาดไทยได้ออกราชกิจจานุเบกษา โดยออกกฎกระทรวงฉบับที่ 69 ข้อ 29/2 ระบุว่าอาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษที่เป็นอาคารสาธารณะต้องจัดให้มีพื้นที่หรือตำแหน่งเพื่อ ติดตั้งเครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้าแบบอัตโนมัติ (AutomatedExternalDefibrillator:AED)

หมอนิพนธ์อธิบายเพิ่มเติมว่าที่กฎหมายเน้นอาคารสูง เพราะเป็นสถานที่มีประชากรค่อนข้างเยอะ ก็ยิ่งมีโอกาสพบผู้ป่วยเยอะ แต่เขาบอกอีกด้วยว่านี่เป็นแค่จุดเริ่มต้นของการสร้างความตระหนักของเจ้าของสถานที่ อันที่จริงทุกที่สาธารณะต้องมี “AED” ไม่ใช่แค่เฉพาะสถานที่เสี่ยง

เห็นความสำคัญของ “AED” กันแล้ว และในต่างประเทศก็มีการใช้ AED อย่างแพร่หลาย แต่ทำไมในบ้านเราถึงยังถูกมองข้าม หมอนิพนธ์อธิบายว่าอาจเพราะจำนวนเครื่องยังมีน้อย ซึ่งสอดคล้องกับเรื่องความตระหนักของเจ้าของอาคารสถานที่

“เจ้าของอาคารต้องติดเครื่อง AED ให้เยอะ ให้เห็นได้ง่าย เพราะถ้ามีเครื่องแล้ว คนจะใช้เป็นหรือไม่เป็น สุดท้ายเครื่องก็จะมีโอกาสได้ใช้มากขึ้น ซึ่งหมอคิดว่าไม่ว่าจะเพิ่มส่วนไหนก่อน จะเพิ่มจำนวนเครื่อง พอคนเห็นบ่อยๆ เข้า เขาก็จะอยากรู้ว่าเครื่องนี้ใช้อย่างไร เหมือนเป็นการกระตุ้นคน

หรือจะเพิ่มการรับรู้ของประชาชนก่อนก็ได้ ให้คนรู้จัก AED รู้จักความสำคัญของการช่วยฟื้นคืนชีพคนไข้ สุดท้ายเขาก็จะมองหา AED เอง หรือถ้าเราทำควบคู่กันไปเลย ก็ยิ่งดีเข้าไปใหญ่”