"ก้องเกียรติ เกษเพ็ชร์" หมอผู้ไม่อยากให้โลกนี้มี "หมอ"

"ก้องเกียรติ เกษเพ็ชร์" หมอผู้ไม่อยากให้โลกนี้มี "หมอ"

เพราะปัญหาสาธารณสุขมีมิติที่กว้างกว่าแค่การรักษายามเจ็บป่วย คนเป็นหมอจึงต้องลุกขึ้นจับงานตั้งแต่ไอที จนถึงการปลูกข้าว

"คนชอบว่าผมเป็นหมอปากจัดครับ" หมอก้อง หรือ นายแพทย์ก้องเกียรติ เกษเพ็ชร์ เอ่ยปากออกตัวก่อนจะเริ่มบทสนทนา

เขาเป็นเจ้าของหมวกสองใบจากสองโลกธุรกิจ หมวกใบหนึ่ง เป็นถึงผู้บริหารธุรกิจพันล้านในตำแหน่ง ประธานคณะผู้บริหารเครือโรงพยาบาลกรุงเทพกลุ่มภาคใต้ และ กรรมการผู้จัดการ โรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต ส่วนอีกใบเขาถอดสูท นุ่งยีนส์ ลงตะลุยท้องนาเพื่อพัฒนาพันธุ์ข้าว คัดเลือกเมล็ดพันธุ์ เปิดตำรา เข้าแล็บ ล้วงลึกถึงยีนข้าว พร้อมทำคลินิกแนวใหม่ในชื่อเดียวกัน คือ "เป็นสุข" เน้นการรักษาพร้อมส่งเสริมป้องกันโรคที่ผสมผสานระหว่างแพทย์แผนปัจจุบัน สมุนไพร และอาหารออร์แกนิก

บริษัท สุขสาธารณะ จำกัด คือกิจการเพื่อสังคมที่เขาก่อตั้งขึ้น โดยเจ้าตัวยอมรับว่า ตั้งชื่อนี้เพื่อล้อชื่อกระทรวงสาธารณสุขล้วนๆ โดยเกิดขึ้นจากแนวโน้มปัญหาด้านสุขภาพได้ย้ายมิติจากโรคติดเชื้อ โรคระบาด มาสู่ปัญหาเรื่องโรคเรื้อรัง ที่ทำให้วันนี้ เรามีคนหนุ่มสาวที่เจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังเร็วกว่าปกติ อายุยังไม่ถึงสี่สิบ เริ่มมีภาวะเบาหวาน ความดัน ฉะนั้นถ้ามัวคอยแต่จะรักษา หมอ หรือโรงพยาบาลมีเท่าไหร่ก็ไม่เพียงพอ จะให้ดีคือต้อง "ป้องกัน"

เพราะเขาเป็น "หมอ" ประเภทที่คิดว่า ถ้าคนไม่ป่วย หมอก็จะได้ไม่ต้องทำงาน ได้ไปทำอย่างอื่นบ้าง.. น่าจะดี!!

เหมือนที่ครั้งหนึ่ง เขาเคยขึ้นเวทีบรรยายในกิจกรรม เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เครือข่ายกิจการเพื่อสังคมครั้งที่1 ใจถึงใจ...การให้ที่ยั่งยืน เมื่อวันที่19 กรกฎาคม 2555 แล้วบอกว่า.. "กิจการเพื่อสังคม ทำแล้ว ต้องเจ๊ง เพราะนั่นแปลว่า ปัญหาสังคมนั้นได้หมดไปแล้ว"

จุดเริ่มต้นของความสนใจทั้งเรื่องไอที ข้าว แล้วก็กิจการเพื่อสังคม

จริงๆ แล้วงานทั้งหมดที่ทำ มันเกิดตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษาแพทย์ เรารู้สึกว่าเราคงไม่สามารถรักษาคนไข้ได้ทุกคน ความเป็นหมอมันแย่ตรงที่เราตรวจคนไข้สองคนพร้อมกันไม่ได้ เราผ่าคนไข้สองคนไม่ได้ แล้วผู้คนก็ป่วยมากขึ้นเรื่อยๆ จนเมื่อตอนที่บ้านเรากำลังเข้าสู่ระบบสามสิบบาทรักษาทุกโรค ก็มีโอกาสได้ไปนั่งฟังอาจารย์เขาคุยกัน ก็มีอาจารย์หมอประเวศ วะสี, อาจารย์หมอสมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์, อาจารย์อัมมาร สยามวาลา ท่านก็คุยกันว่าโรงพยาบาลชุมชนไม่น่าจะอยู่รอดได้ถ้าทุกอย่างมันยังเป็นแบบนี้ คือ พอเรานำ 30 บาทเข้าไป เขาไม่สามารถบริหารจัดการได้แน่ๆ เพราะว่าเขาไม่มีเครื่องมือในการที่บริหารจัดการ อาจารย์อัมมาร ก็บอกว่ามีสามอย่างที่ทำให้โรงพยาบาลชุมชนอยู่รอดได้ก็คือ ไอที.. ไอที.. แล้วก็.. ไอที 

ถ้าเราทำระบบที่ดีให้กับโรงพยาบาลได้ใช้ ให้เขามีเครื่องมือในการบริหารงาน ก็เลยตัดสินใจทำเรื่องระบบข้อมูลให้กับโรงพยาบาลชุมชนขนาดเล็ก เพื่อให้เอาไว้ใช้ในการดูแลคนไข้ ในการจัดการคนไข้ แล้วได้ข้อมูลนั้นมาเพื่อวางแผนสุขภาพด้วย คิดว่ามันเป็นวิธีเดียวที่เราทำงานหนึ่งชิ้นแล้วดูคนไข้เป็นล้านคนได้พร้อมๆ กัน เลยเสนอโครงการไป ใช้เวลา 8 เดือนพัฒนาซอฟต์แวร์ เราทำเป็นโอเพ่นซอส (Open source) ไม่ได้คิดเงินของค่าลิขสิทธิ์ แล้วนำไปทดลองใช้ที่ทุ่งหัวช้าง จังหวัดลำพูนเป็นที่แรก จากนั้นก็ไปติดตั้งในโรงพยาบาลต่างๆ ตอนนี้ก็ยังมีใช้อยู่ครับประมาณ 90 กว่าแห่งทั่วประเทศ และอีก 300 กว่าคลินิกใน กทม.ก็ยังใช้อยู่ แล้วเราก็เอาไปช่วยติดตั้งให้ที่เนปาลด้วย

จากไอที มาเรื่องข้าวได้อย่างไร

ทีนี้ พอทำมาครบ 10 ปี ก็เกิดคำถามขึ้นมา เพราะเราเริ่มเห็นทิศทางว่า ระบบนี้มันป้องกันโรคระบาดได้ มันป้องกันการเจ็บป่วยเฉียบพลันได้ แต่ที่เป็นอยู่ตอนนี้ คือ คนเรากำลังจะเป็นโรคเรื้อรังเพิ่มมากขึ้น โรคเบาหวาน โรคความดัน โรคไขมันในเลือด แล้วก็พบในอายุที่น้อยลงมากด้วย เช่นอายุ 30 กว่าปีก็เริ่มมีเหตุเหล่านี้ขึ้นมา แล้วพออายุ 45-50 ปี ก็เจ็บป่วยจนต้องรักษาพยาบาล ซึ่งสุดท้ายมันก็เป็นการเพิ่มงานเข้าไปอยู่ดี เลยมีความคิดว่า ทำยังไงเราถึงจะหยุดยั้งสิ่งเหล่านี้ได้ แล้วพอดีได้รับโจทย์ใหม่จากอาจารย์หมอประเวศ ไปหาทางทำให้คนไม่ป่วยจริงๆ จังๆ สักทีได้ไหม

คือเนื่องจากกลุ่มของอาจารย์พยายามคุยเรื่องนี้กันมา พยายามหาโมเดลที่จะทำให้เกิดการป้องกันโรคอย่างเป็นระบบ แต่ก่อนเราคิดว่า การป้องกันโรคคือการฉีดวัคซีน กินอาหารให้เพียงพอ นอนหลับพักผ่อน ดื่มน้ำสะอาด เหมือนให้ศีลห้าแล้วก็ยกมือท่วมหัว เดินออกไปก็จบแล้ว แต่จริงๆ มันไม่พอ

ก็รับโจทย์มาว่า ให้ไปหาวิธีแก้ปัญหามาสองเรื่องซิ หนึ่ง คือ จะทำยังไงให้คนไม่เจ็บไม่ป่วยอย่างเป็นระบบจริงจังขึ้นมา สอง คือ ทำยังไงชาวนาไม่จน ผมได้โจทย์นั้นมาก็เลยต้องลาออกไปแสวงหาสัจธรรมสักแป๊บนึง (หัวเราะ)

เรื่องทำให้คนเจ็บป่วยน้อยลงเกี่ยวข้องโดยตรงกับหมออยู่แล้ว แต่เรื่องข้าว เรื่องชาวนานี่ คือ ต้องเรียนรู้ใหม่?

ความเชื่อมโยง คือ ตอนที่ไปหาความรู้ ก็พบว่า เหตุที่ทำให้เราเจ็บป่วย ณ ปัจจุบันจนไปถึงอนาคตนั่นคืออาหาร ซึ่งความเสี่ยงของอาหารเนี่ย มีการศึกษาบอกว่า เป็นการเสี่ยงชีวิตมากกว่าการสูบบุหรี่อีกนะ เราซื้อบุหรี่ก็จะมีคำเตือน อีกหน่อยถ้าเราซื้อข้าวกินมันจะต้องมีคำเตือนขนาดนี้หรือเปล่า ก็เลยสนใจว่าถ้าอาหารมันอันตรายถึงขนาดนั้น ประเทศเราเป็นประเทศผลิตอาหาร บ้านเราคงลำบากมาก ไม่รู้จะไปทำอะไรอย่างอื่น เราปลูกข่าวมา 700 กว่าปี ปลูกมาก็ยังจนอยู่เหมือนเดิม ก็เลยเริ่มสนใจว่าทำยังไง หรือมีมั้ยกินข้าวแล้วสุขภาพดี ก็เริ่มตั้งคำถามตั้งแต่ตรงนั้น

แล้วก็ไปพบว่า ข้าวไทยจริงๆ มีอยู่ประมาณสองหมื่นกว่าชนิด แต่ข้าวที่อยู่ในท้องตลาดเนี่ยมีอยู่ 10 กว่าชนิดเท่านั้น แล้วข้าวที่ไม่ได้อยู่ในตลาดนี่ บางตัวมีลักษณะบางอย่างที่น่าสนใจ ก็เลยเริ่มศึกษาตั้งแต่ตอนนั้น จริงๆ ก็ตลกมาก ก็คือผมไม่รู้จักข้าว แล้วผมจะต้องรู้จักให้ได้ว่าตัวไหนต่างจากตัวไหน เพราะผมปลูกมานี่แยกไม่ออก แล้วผมต้องรู้ว่ายีนของมันคืออะไร แล้วพอดีรู้ว่า มีนักวิจัยคนหนึ่งจบมาเพิ่งจบปริญญาเอกมาในด้านยีนของข้าว แล้วทำงานที่แม่ฟ้าหลวง ผมก็ไปหาเขา ไปรอบแรกเขาส่ายหัวบอกว่าผมไม่รู้ว่าคุณหมอต้องการอะไร ไปหาเขาอยู่สามรอบ จนเขาคงรำคาญ (หัวเราะ) เลยบอก ผมช่วยคุณหมอแล้วกัน สุดท้ายก็ได้เขามาช่วย ตอนนี้เขาคือสมองของผม

แล้วเราก็ขยายทีม จนตอนนี้มีนักวิจัยทำงานกับเราสิบกว่าคน ที่ทำงานร่วมกับเราโดยที่ไม่หวังอะไรเลย ไม่ได้ขออะไรพิเศษขอเพียงแต่ว่าฉันอยากทำ ฉันอยากจะเห็นความเปลี่ยนแปลง ฉันอยากจะได้ความรู้ ก็เลยเป็นก็เลยถือว่าโชคดี ได้ทีมที่ทำอะไรที่ไม่มีใครคิดว่าจะทำให้เกิดผลได้

จากงานวิจัย แล้วนำมาต่อยอดอย่างไร

สิ่งที่เราพบก็คือ ข้าวไทยบางชนิดมีคุณสมบัติที่พิเศษมาก แล้วก็สามารถส่งผลต่อสุขภาพที่ดีได้ ก็เริ่มศึกษาโครงสร้างของแป้ง โมเลกุลของแป้งในข้าว ผลกระทบที่เกิดขึ้น ขณะเดียวกันพอเราได้ข้าวมา แต่เนื่องจากข้าวพวกนี้ไม่ได้อยู่ในตลาด ไม่มีเมล็ดพันธุ์ก็ต้องไปหาวิธีที่จะทำให้ชาวนาสามารถปลูกข้าวเหล่านี้ได้ ซึ่งการทำงานกับชาวนาก็เป็นการท้าทายอย่างใหญ่หลวงมาก เพราะชาวนาเป็นอาชีพที่ไม่สามารถควบคุมปัจจัยอะไรได้เลย เราใช้ความรู้ความสามารถในการบริหารองค์กรระดับพันล้านไปทำนา 50 ไร่ก็ยังล้มเหลว

ต้องเรียนรู้เยอะมาก จนทุกวันนี้ เราสามารถลดการใช้เมล็ดพันธุ์จาก 25 กิโลฯ ต่อไร่ เหลือ 4 กิโลฯต่อไร่ได้ โดยเราออกแบบพล็อตที่นาใหม่ วางแผนในการปลูกใหม่ เราไม่ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ที่มาจากมูลสัตว์เพราะว่ามูลสัตว์จะปนเปื้อนฮอร์โมน ยาปฏิชีวนะจากระบบเกษตรอุตสาหกรรม เราก็ไปหาพืชที่เป็นพืชน้ำที่ตรึงไนโตรเจนได้ เรียกว่า แหนแดง แล้วก็ใช้วิธีการต่างๆ เพื่อลดต้นทุนของชาวนา แล้วก็เพิ่มผลผลิตให้ได้ เพราะว่า การทำเกษตรอินทรีย์ ปกติผลผลิตต่อไร่จะลดลงเหลือแค่ 1 ใน 5 เราต้องหาทางที่จะให้ผลผลิตเติบโตขึ้นมาได้

แรกๆ ที่ไปชวนชาวนาทำ ก็มีไม่กี่คนที่สนใจ แต่พอไปตรวจเลือดเขา แล้วเห็นว่า มีสารเคมีตกค้างในเลือดเขาเยอะมาก ผอมกระหร่อง แต่เป็นเบาหวาน ก็มีชาวนากลุ่มหนึ่ง อยากมีสุขภาพที่ดีเราก็เลยชวนเขา หลายคนก็บอก หมอเชื่อไหมใครๆ ก็ว่า ผมบ้าทั้งนั้น มาเชื่อหมอ ชีวิตหมอเคยปลูกข้าวหรือเปล่า ก็โดนคนถากถางสารพัด ก็เริ่มจากชาวนากลุ่มเล็กๆ ให้เขาทดลองปีที่หนึ่ง พอปีที่สองคนเริ่มเห็นผลก็เข้ามาเพิ่มเติม

ทำงานร่วมกับชาวนาอย่างไรบ้าง

ตอนที่ไปทำงานกับเขา เราไม่ได้ทำเกษตรพันธสัญญากับเขานะครับ เราดูแลเขาเหมือนเป็นพาร์ทเนอร์ ถ้าเขาเจ๊งเราเจ๊งด้วย เพราะฉะนั้นผมต้องทำทุกวิถีทางให้เขาไม่เจ๊ง ไม่งั้นผมจะเจ๊งตาม ก็ไปสอนเขาตั้งแต่วิธีการคัดเมล็ดพันธุ์ การคัดเลือก การเพาะกล้า เราให้เขาทำปลูกข้าวกล้าต้นเดี่ยวเพื่อเป็นการประหยัดเมล็ดพันธุ์ เมล็ดพันธุ์เป็นต้นทุนที่แพงมากครับ ชาวนาไทยไม่มีความรู้ความสามารถเหลือเลยในการคัดเมล็ดพันธุ์ เพราะคิดว่าซื้อเมล็ดพันธุ์สะดวกกว่า

ต้องสอนเขาคัดเลือกเพื่อให้ได้พันธุ์ที่ค่อนข้างนิ่ง เขาจะต้องเรียนรู้ว่าลักษณะเฉพาะมันคืออะไร เพาะกล้าออกมากล้าไหนใช้ได้ ใช้ไม่ได้ แล้วตอนปักดำกล้าต้นเดี่ยว ก็ให้มีระยะเว้นที่ 40 เซนติเมตร ซึ่งปกติแล้วชาวนาจะเว้นอยู่ที่ประมาณ 20 เซนติเมตร เพราะว่าระยะเว้นที่มากขึ้น มีประโยชน์สองอย่างคือ เขาเดินทำความสะอาดที่นาได้ง่าย ถอนวัชพืชได้ง่าย ไม่ต้องใช่ยาฆ่าหญ้า อันที่สองคือข้าวจะแตกกอเยอะมาก ผลผลิตของข้าวขึ้นอยู่กับการแตกกอ ด้วยวิธีแตกกอแบบนี้เราเพิ่มการแตกกอจาก 12-16 สูงสุดที่ชาวนาเราทำได้ก็คือประมาณ 48 กอ

จากเมล็ดเดียว ?

ข้าวเป็นพืชมหัศจรรย์นะครับ มันคือสิ่งมหัศจรรย์หนึ่งที่ใครสักคนเลือกมาให้เรากิน หนึ่งเมล็ดของข้าวสามารถให้ผลผลิตได้ 200 เมล็ดโดยเฉลี่ย แต่ด้วยวิธีที่ถูกต้องและเหมาะสม สามารถเป็น 400-800 เมล็ดได้ด้วยซ้ำ

พอเราสอนเพาะปลูกพอที่นามีระยะเว้นมาก ช่วงแรกเขาก็เลี้ยงเป็ดได้ เขามีรายได้จากการขายไข่เป็ด เพราะเป็ดไม่ไปกระแทกต้นข้าวล้ม แล้วเขาก็เลี้ยงปลาได้ ตรงนั้นก็ทำให้เขามีรายได้ที่ดีขึ้น แต่ก็มีอุปสรรคเยอะครับ ตั้งแต่น้ำท่วม โรคพืช นก ชาวนาโทรมาเล่าให้ฟัง นกทั้งอำเภอมากินหมดเลยไม่เหลือ คือมันไม่ลงนาคนอื่นนะ.. มาลงเฉพาะนาเขาที่เดียวเพราะเขาไม่ใช้สารเคมี (หัวเราะ)

ตอนนี้เครือข่ายเยอะแค่ไหนแล้ว

เริ่มจากกลุ่มเล็กๆ 5-6 ครอบครัว ตอนนี้ก็เริ่มขยายเป็น 30-40 ครอบครัว พอขยายได้สเกลนึงเราก็ไปลงทุนลงสีให้เขาด้วย ตอนนี้มีเครือข่ายเราอยู่ที่กาฬสินธุ์ บุรีรัมย์ สกลนคร พะเยา เชียงราย ลำปาง เชียงใหม่ เราเลือกทำกับชาวนาที่มีที่นาเล็กด้วยครับ ส่วนใหญ่ก็เหลือประมาณ 10 กว่าไร่ เพราะพวกนี้ไม่มีอำนาจต่อรองกับใคร ผลผลิตมันน้อยมาก รวมๆ แล้วน่าจะอยู่ที่ประมาณสี่ร้อยไร่

ปลูกข้าวพันธุ์อะไรบ้าง

วัตถุประสงค์หลักของเรา คือ จะทำพันธุ์ข้าวที่ได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย เราเลือกพันธุ์ที่ชาวนาได้ประโยชน์ด้วย ปีแรกที่เราไปทำเราเอาข้าวสินเหล็กไปให้เขา เพราะเป็นข้าวที่มีธาตุเหล็กที่อยู่ในฟอร์มที่ดูดซึมได้ดีที่สุด ซึ่งมันตอบปัญหาการขาดธาตุเหล็กของเด็กๆ ในชนบทได้ ปีแรกไปชวนปลูกพอถึงเวลาไปรับซื้อ ผู้ปกครองที่ปลูกบอกว่าไม่ขายให้หมอแล้ว อยากเอาไว้ให้ลูกกิน นั่นคือเป้าหมายของงานนะครับ ถ้าเราปลูกให้เขาเพื่อรับใช้คนเมือง เขาได้เงินแล้วเอาไปซื้ออะไรกินก็ไม่รู้ เราก็แก้ปัญหาไม่ได้ เพราะฉะนั้นเราก็เลยใช้ของทั้งหมดต้องได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย แล้วข้าวพวกนี้ยังมีแป้งที่มีประโยชน์ต่อแบคทีเรียลำไส้ ซึ่งสุดท้ายมันทำให้ร่างกายเรามีสุขภาพที่ดีขึ้นได้ด้วย

รวมแล้ว ไปขลุกอยู่กับเรื่องข้าวนานแค่ไหน

ประมาณ 3 ปี ตัวดำปิ๊ดปี๋ ลงไปอยู่กับชาวนา

ส่วนตัวคุณหมอ มีที่นาเป็นของตัวเองไหม

ไม่มีครับ เรามีแค่ไปเช่าเขาบ้างอะไรบ้างเพื่อเพาะเมล็ดพันธุ์ แล้วผมก็ไปชวนโรงเรียนมาร่วมกันทดลอง ความตั้งใจ คือ อยากให้เด็กเขาคิดว่า การกลับไปเป็นชาวนาเนี่ยคือสิ่งมหัศจรรย์ในชีวิต มากกว่าจะมายืนพูดว่า รับซาลาเปาและสเลอปี้ไหมครับ

สิ่งที่ผมทำกับเขาคือ ผมจะคำนวณว่า ถ้าเขาอยากมีรายได้ต่อปีประมาณแสนนึง เขามายืนขายซาลาเปากับสเลอปี้เดือนละประมาณ 9,000 บาท เขาจะมีรายได้ประมาณแสนหนึ่ง แต่ค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ไม่รู้ เหลือเท่าไหร่ไม่รู้ แล้วเพื่อให้มีรายได้แสนหนึ่งเนี่ย เขาต้องใช้ที่นากี่ไร่ เขาก็ต้องปลูกข้าวยังไง เพราะฉะนั้นเราก็ใช้กลไกนี้ไปทำงานกับเด็กในโรงเรียน โดยผมให้โจทย์ ให้ข้าวพวกเขา 1 เมล็ด บอกเขาว่า ทำยังไงก็ได้ ต้องเอามาคืนผมให้ได้ 200 เมล็ด ปรากฏว่า เด็กในโรงเรียนชนบทใช้เป็นปัญหา แล้วก็ตั้งโจทย์หาวิธีการต่างๆ กลายเป็นเรื่องที่เขาเห็นว่าเขาทำได้ เพราะฉะนั้นถ้าเราสามารถทำอย่างนี้ได้เนี่ยเด็กกลุ่มนี้ก็จะถูกดึงอยู่ในชนบทได้

เขารู้ว่า ถ้าเขาคัดเมล็ดพันธุ์เป็น แทนที่เขาจะขายได้กิโลกรัมละ 7 บาท 8 บาท เมล็ดพันธุ์ขายได้กิโลกรัมละ 25 บาทสร้างมูลค่าเพิ่มทันที ต้นทุนทางการเกษตร แหนแดง ขอให้มีบ่อ ขึ้นเต็มช้อนทิ้งๆ แหนแดงแห้งกิโลกรัมละ 2,000 กว่าบาท เพราะฉะนั้นทำให้เขาเห็นว่าเขามีโอกาสในการสร้างรายได้ ทำให้เขาเห็นว่าเขาไม่ต้องไปซื้อปุ๋ยไม่ต้องไปดิ้นรนอะไร เขาสร้างเองได้หมดทุกอย่าง

ประเทศเราเป็นประเทศที่สุดยอดเลยนะครับ เราไม่มีวันอดตาย ที่เราอดตายเพราะมีคนบางคนพาเราไปตาย

หลายคนมาเล่าให้ฟัง หมอรู้ไหมทะเลาะกับแม่ แม่ไม่กินข้าวด้วย บอกอย่าไปเชื่อหมอมัน แม่ก็เล่าให้ฟังว่า ถ้ากล้าเหลือนะฉันไปดำแซม แล้วบ้าหรอปลูกข้าวอะไรเว้นห่างขนาดนั้น จนสุดท้ายเห็นผลแม่เชื่อแล้วแม่ก็โอเค

คุณหมอเหมือนอยู่ตรงกลางระหว่างชาวนากับฝั่งนักวิทยาศาสตร์

เนื่องจากผมเป็นแพทย์ มันเลี่ยงไม่ได้โดยสันดาน คือ ผมเป็นพวกอยากรู้.. เขาบอกให้กินข้าวกล้องแล้วจะไม่เป็นโรคเหน็บชา ผมก็มีคำถามว่า ผมต้องกินกี่คำล่ะถึงจะหาย เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราทำก็คือสองด้าน ด้านที่ 1 คือเราลงลึกเรื่องวิทยาศาสตร์ เรารู้ว่า ยีนตัวไหนควบคุมความหอม ควบคุมโครงสร้างของแป้ง ยีนตัวนี้จะออกผลได้ดีต้องแล้งด้วย ถ้าชุ่มชื้นมากเขาก็ไม่ออก เรารู้สตรัคเจอร์ของแป้งทุกอย่างละเอียดอยู่บนกล้องอิเล็กตรอนไมโครสโคป เรารู้ว่าแป้งตัวนี้เมื่อเดินทางไปอยู่ลำไส้ใหญ่ แบคทีเรียตัวไหนใช้ เรารู้จนจบกระบวนความ ในขณะเดียวกันเราก็มีโจทย์ว่าไอ้ความรู้นี่มันต้องแปลออกไปเป็นประโยชน์กับคนได้

แต่ก็มีปัญหามาตลอด โดยเฉพาะตอนเริ่มปลูก เนื่องจากเมล็ดพันธุ์ยังไม่นิ่ง ปีแรกที่ผมลงไปทำชาวนาคนหนึ่งทำเหมือนมิวเซียมให้ผมเลย เขาเอารวงข้าวใส่ถุงพลาสติกมาวางเรียงๆๆๆ แล้วบอกว่า คุณหมอครับข้าวคุณหมอมันต่าง มันให้ลูกออกมา 16 ชนิดเลยครับ (หัวเราะ) ผมก็เดินชมมิวเซียมไป คือที่ทำทั้งหมดนี้ไม่ได้ทำเพราะมีความรู้นะ ทำเพราะความไม่มีความรู้อะไรเลย มีแต่ปัญหาเต็มไปหมด มีปัญหาจนบางคนบอกผมว่า ผมบ้า คุณไปยุ่งอะไรเรื่องพวกนี้ คือมันไม่มีอนาคตเลย คุณไปยุ่งเรื่องข้าวที่มันคนละฟีลกันเลย ก็ต้องอ่านหนังสือ หาความรู้ สุดท้ายก็ค่อยๆ เห็นภาพออกมาหมด

ดูเหมือนปัญหาจะเยอะมาก

บอกเลยว่า สองสามปีแรก ถ้าร้องได้ร้องไปแล้ว แต่สิ่งที่ทำให้ผมอยู่ได้ คือ ผมไม่เคยเห็นชาวนาท้อเลย เขากลับปลอบใจว่าปีหน้าเอาใหม่หมอ ปีหน้าเอาใหม่ เขายังไม่เลิกเลย แล้วเรารู้มากกว่าเขาตั้งเยอะ เราเข้าถึงความรู้ได้เร็วกว่าเขา เราก็ไปหาความรู้มา เขาก็มีหน้าที่ทดลอง ล้มเหลวก็เอาใหม่ๆ

ถ้าเราทำได้เราจะไม่ขายข้าวกิโลกรัมละ 7 บาท เราจะต้องสามารถขายข้าวได้กิโลกรัมละหมื่นเพราะเรากินคำเดียวต่อเดือนก็พอ ทำให้สุขภาพแข็งแรงนี่คือความตั้งใจของผม ถ้าเราสามารถมีความรู้ขนาดนั้น ทำไมเรากินไวน์ขวดละหมื่นได้ แต่พอเห็นข้าวออร์แกนิกมาขายเจ็ดสิบบาท ร้อยบาท อุ๊ย!แพง ถ้าเราทำได้สุดท้ายเราก็ทำให้คนสุขภาพดีได้ ชาวนาเราก็เข้มแข็งมากขึ้น

ถ้ามองในแง่ของการเป็นธุรกิจ คุณหมอทำธุรกิจพันล้านกับธุรกิจของเป็นสุข มันต่างกันไหม

จริงๆ มันก็ใช้วิธีคิดคนละอย่าง แต่ว่าสุดท้าย เราก็ทำเพราะได้เรียนรู้ สำหรับตัวผม ก็โชคดีนะที่ได้ทำงานในองค์กรพันล้านมันก็สอนวิธีคิดบางอย่างผมก็ได้ประโยชน์ตรงนั้นมา ในขณะที่ธุรกิจที่ไม่รู้จะมีรายได้ หรือจะขาดทุนหรืออะไรก็แล้วแต่ก็สอนความคิดบางอย่างให้ผมมาใช้ มันก็เหมือนกับสมองเราได้พัก ได้ทำในสิ่งที่ไม่เหมือนเดิมอยู่ตลอดเวลา แล้วผมก็เคยอวดอ้างว่า ผมบริหารองค์กรพันล้านมา คุณต้องเชื่อผมนะ ผมก็ไม่ได้บอกอย่างนั้น

ผมอาจจะอยู่ในจุดที่เห็นทั้งสองด้าน คือ ตอนที่ผมอยู่กับพวกเอ็นจีโอ ผมก็เป็นพวกเอ็นจีโอจริงๆ เลยนะ แต่เขาก็บอกผมว่า คุณน่ะ.. นายทุน แต่เวลาผมอยู่ในกรุงเทพฯ เขาก็เรียกว่า ผมเนี่ยเอ็นจีโอ (หัวเราะ) ผมว่ามันเป็นสิ่งที่ดี คือ เราได้เห็นทั้งสองอย่าง เราได้เห็นปัญหาทั้งคู่ แล้วผมก็คิดว่า สิ่งที่สำคัญที่ผมเรียนรู้คือ การทำกำไรไม่ใช่เรื่องผิดบาป แต่การใช้กำไรไปทำอะไรนั้นต่างหาก ที่ต้องมานั่งดูกัน

ต่อให้ผมได้กำไร 5 เปอร์เซ็นต์ จากการทำธุรกิจเพื่อสังคม แต่ผมเอาไปเพื่อความหรูหรา ความเพลิดเพลินเจริญใจของผม ผมก็เรียกว่านั่นคือความผิด ตัวโรงพยาบาลกรุงเทพเองก็เป็นองค์กรที่ทำผลกำไร แต่กำไรที่ได้มาเราเอาไปลงทุนเครื่องไม้เครื่องมือให้ทันสมัย ส่งแพทย์ไปเรียน คำถามคือถ้าไม่มีกำไรก็ไม่สามารถมีสิ่งเหล่านี้ได้

18 ปีที่แล้ว ผมมาอยู่ภูเก็ต คนไข้โรคหัวใจมีเครื่องมือเดียวในการรักษาคือนั่งกุมมือคนไข้ ไม่มีหมอ ไม่มีอะไรสักอย่างหนึ่งที่จะใช้รักษาเขา ตายก็ตายหมออยู่เป็นเพื่อน นั่งเฝ้ากันไป ขณะนี้เรามีหมอผ่าตัดหัวใจ เราสวนหัวใจได้ ฉะนั้นมันขึ้นอยู่กับว่ากำไรมากกำไรน้อยไม่สำคัญ อยู่ที่ว่าเราเอากำไรไปใช้ประโยชน์หรือเอากำไรไปเพื่อตัวเอง นั่นคือสิ่งที่ผมก็เรียนรู้

ทำไมถึงกลับมาทำโรงพยาบาลต่อ

มันคงเป็นจังหวะแล้วหลายโจทย์ด้วย ครั้งนี้ก็มีโจทย์อีกอันหนึ่งที่ท้าทาย คือ จะทำยังไงให้คนส่วนใหญ่เข้าถึงบริการสาธารณสุขที่ปลอดภัย มีคุณภาพ ในราคาที่จ่ายไหว จริงๆ เป็นไอเดียของอาจารย์ปราเสริฐ (นพ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ) คือ แต่ก่อนเราทำโรงพยาบาล ก็สร้างเสร็จ ดูว่ามีต้นทุนเท่าไหร่ ค่อยออกมาเป็นค่าห้อง ค่าอะไร แต่อาจารย์เขาให้โจทย์มาว่า ทำยังไงให้โรงพยาบาลใหม่ทุกคนเข้าถึงได้ ก็ต้องถามต่อว่า เขามีกำลังจ่ายเท่าไหร่ แล้วเราค่อยมาบอกว่าใช้เงินสร้างเท่าไหร่ จ้างคนเท่าไหร่ ก็เอาโมเดลใหม่นี้มาทำกับโรงพยาบาลดีบุก ซึ่งออกแบบทุกอย่างตามความสามารถในการจ่ายของคน

แล้วค้นพบว่า.. ?

ทำได้ เป็นโรงพยาบาลที่มีการเจริญเติบโตที่เร็วมาก ได้รับการตอบรับจากผู้รับบริการ ภายในสองปีเราก็มีคนไข้เฉลี่ยต่อวันเกือบร้อยคน ซึ่งถ้าเทียบก็เท่ากับว่าอยู่ในอัตราที่เร็ว เพราะอย่างโรงพยาบาลกรุงเทพฯสมุย เปิดมาสองปี ผู้ป่วยนอก 200 คน

วิธีคิดคล้ายๆ ทำโลว์คอสต์แอร์ไลน์หรือเปล่า

ส่วนหนึ่งเป็นอย่างนั้น คือคุณภาพต้องได้ ไม่ใช่บินไปแล้วตกกลางทาง แล้วก็ผมเชื่อว่าแนวคิดของคนหนุ่มสาวสมัยใหม่เขาก็ไม่ได้ต้องการคุณห่มสไบเฉียงมาเสิร์ฟ คุณนุ่งอะไรก็มา แค่กระฉับกระเฉงว่องไวก็เพียงพอแล้ว

เส้นทางเดินของคุณหมอต่อจากนี้ มองอะไรเป็นความท้าทายอีกบ้าง

โจทย์ในชีวิตผม ผมมีความท้าทายของผมอยู่ แต่ผมก็จะวางแผนของผมไว้เป็นไมล์สโตนทุกๆ สิบปี ว่า ต้องทำอะไรบ้าง เพราะฉะนั้นถ้าไม่มีเรื่องท้าทายผมก็พอแล้ว ถึงแก่กรรมแล้ว ทุกวันนี้ที่ยังอยู่เพราะว่ามีเรื่องท้าทายให้เราทำ (หัวเราะ)

หลักๆ ยังเป็นเรื่องเกี่ยวกับสาธารณสุข ?

จริงๆ แล้วทางการแพทย์เป็นเรื่องที่มีความยากอยู่มาก คนเรารู้จักตัวเราน้อยไป สิ่งที่มันจะเกิดขึ้นในอนาคตก็คือเราจะทำงานบนความรู้เดียวไม่ได้ มันต้องมีความรู้เทียบเคียงประกอบ เพราะฉะนั้น ยังไงความท้าทายอันใหญ่หลวงของผมก็ยังเป็นเรื่องทางการแพทย์ ผมไม่มีความสามารถเรื่องการเมืองการทหารการปกครอง ผมคงไม่ย้ายไปเป็นรัฐมนตรี เพราะทำให้คนไม่ป่วยได้ ทำให้คนมีความสุขได้ ก็น่าจะท้าทายที่สุดแล้วมั้ง

ตัวคุณหมอมีบุคคลต้นแบบหรือเปล่า

จริงๆ มีอยู่สองคน คนหนึ่งคืออาจารย์ผมท่านเสียไปแล้ว เป็นคนที่เก่งมาก แล้วมาจากครอบครัวที่มีฐานะ ที่บ้านอยากให้ทำธุรกิจ แต่ตัวเองอยากเป็นแพทย์ เลยหนีออกจากบ้านไปเป็นกรรมกรรับจ้าง เก็บเงินไปเรียนแพทย์ที่อังกฤษ คือ อาจารย์เป็นคนที่ทั้งชีวิตสิ่งที่สนใจที่สุดคือคนไข้ ทำงานอาทิตย์ละ 7 วัน ถ้าทำวันหนึ่ง 24 ชั่วโมงได้คงทำไปแล้ว

สิ่งที่สอนมาโดยตลอดก็คือ ไม่เคยมีคำตอบให้ พอผมถามอะไรไป คำตอบที่สะท้อนกลับมาคือ.. เออไม่รู้ว่ะ แล้วก็จะไปฉีกหนังสือหรือวารสาร อะ.. หมอเอาไปอ่านแล้วพรุ่งนี้มาเจอกัน ซึ่งตัวผมเอง ไม่ได้เป็นนักเรียนที่เก่งมาก จะบอกว่า ผมเป็นหมอที่ห่วยแตกที่สุดในบรรดานักศึกษาแพทย์ก็ได้ ผมเป็นพวกเกรดนิยมอันดับหนึ่ง คือ พวก ไม่ใช่เกียรตินิยมนะ แต่สิ่งที่ผมได้เรียนรู้จากอาจารย์ก็คือ ทำยังไงถึงจะตั้งคำถามได้ ทำยังไงถึงจะหาคำตอบได้ ทำยังไงถึงจะเห็นวิธีคิดที่แตกต่างได้ ทำยังไงถึงวิพากษ์วิจารณ์งานของคนอื่นได้

(ตกลงอาจารย์ท่านนั้นชื่ออะไร) ท่านเป็นคนที่แปลกมาก ตอนก่อนตาย ท่านเขียนไว้ว่า ห้ามเอาชื่อไปตั้งชื่อห้องประชุม ชื่อสะพาน ชื่อถนน แต่ตอนนี้ท่านเสียชีวิตไปแล้ว ถ้าผมจะบอก ท่านก็คงไม่ลงมาด่าผม (หัวเราะ) ท่านคือ อาจารย์หมอธาดา ยิบอินซอย เป็นคณบดีของคณะแพทย์ที่ผมเรียนอยู่ด้วย เคยมีครั้งหนึ่ง คนกราบเรียนเชิญท่านคณบดีกล่าวเปิดงาน ท่านก็ลุกจากโซฟาขึ้นไปบนเวทีแล้วพูดว่า 'เปิดงาน'

เป็นหมอที่แซ่บมาก

(หัวเราะ) ใช่ๆ แล้วมีวันหนึ่ง ท่านนั่งไขว่ห้างอยู่ ก็เห็นว่า ใส่ถุงเท้าข้างละสี ก็มีคนทักว่า อาจารย์ถุงเท้าคนละสี ท่านตอบว่า.. เออที่บ้านก็มีอย่างนี้อีกคู่หนึ่ง

แล้วต้นแบบอีกคน ?

คนที่สอง คือ พระเจ้าอยู่หัว แต่ผมชื่นชมท่านในฐานะบุคคลนะครับ ท่านเป็นบุคคลที่มีความรู้มากเหลือเกิน รู้ในทุกๆ เรื่องที่อยากจะรู้ ดนตรีท่านก็ไปรอบด้าน แล้วก็สเกลได้ สร้างอิมแพคได้ เพราะฉะนั้นถ้าถามถึงไอดอลของผม ผมก็มีสองท่านนี้เป็น benchmark (เกณฑ์มาตรฐาน) ว่า ทำยังไงที่ผมจะทำให้ได้แบบนั้น