"แพร่" ทางผ่านสู่ล้านนา ตรึงตราไม่รู้ลืม

"แพร่" ทางผ่านสู่ล้านนา ตรึงตราไม่รู้ลืม

หากมีโอกาสเดินทางมาทางภาคเหนือ ทางผ่านที่คุ้นเคยอาจเปลี่ยนเป็นตรึงใจ หากลองหยุดเข้าไปสัมผัสสักที

สำหรับนักเดินทางขาประจำทางภาคเหนือ จังหวัดแพร่ อาจเป็นเส้นทางสัญจรยอดนิยม ซึ่งหลายต่อหลายคนล้วน "ผ่านมาและผ่านไป" สร้างความสงสัยให้กับนักเดินทางขาจรอย่างฉันที่ไม่ค่อยมีโอกาสเดินทางไปเยี่ยมเยือนภาคเหนือว่า ทำไมพวกเขาถึงได้มองผ่านจังหวัดเล็กๆ ที่น่าสนใจจังหวัดนี้

ทันทีที่ฉันเดินทางมาถึงจังหวัดแพร่ และจัดการเก็บสัมภาระเรียบร้อย ฉันก็ปฏิบัติการทำความรู้จักกับจังหวัดแพร่พร้อมกับเพื่อนร่วมเดินทางอีกหลายสิบชีวิต เริ่มจากการนั่งรถรางเพื่อสัมผัสกับวิถีเมืองแพร่ ตามรอยเส้นทาง "นั่งสามล้อ ผ่อเฮือนเก่า เล่าขานตำนานเมืองแป้" ซึ่งมีจุดแวะทั้งหมด 5 จุด ได้แก่ วัดจอมสวรรค์, พิพิธภัณฑ์เสรีไทย, วัดพระบาทมิ่งเมืองวรวิหาร, คุ้มเจ้าหลวงเมืองแพร่ และบ้านวงศ์บุรี โดยมีไกด์ประจำรถรางคอยแนะนำสถานที่ต่างๆ ตลอดเส้นทาง

สถานที่แรกที่รถรางจอดแวะคือ วัดจอมสวรรค์ ซึ่งตั้งอยู่บนถนนยัตรกิจโกศล ห่างจากศาลากลางจังหวัดเพียง 1 กิโลเมตร โดยไกด์อธิบายว่า วัดจอมสวรรค์เป็นวัดไทยใหญ่ แต่สร้างแบบสถาปัตยกรรมพม่า โดดเด่นด้วยหลังคาซ้อน ลดหลั่นเป็นชั้น ประดับประดาด้วยลายฉลุ ตัวอารามเป็นไม้สัก ใช้เป็นได้ทั้งโบสถ์ วิหาร และกุฏิ แตกต่างจากวัดโดยทั่วไป ทำให้ฉันอดไม่ได้ที่จะบันทึกภาพ แต่ทว่าพวกเรากลับไม่สามารถเข้าไปเยี่ยมชมภายในได้ เนื่องจากล่วงเลยมาถึงเวลาปิดของวัดแล้ว ทำให้พวกเราจำต้องก้าวขึ้นรถรางเพื่อเดินทางไปยังสถานที่ต่อไป

หลังจากขึ้นมารับลมเย็นบนรถรางได้เพียงไม่กี่นาที พิพิธภัณฑ์เสรีไทย ก็มาปรากฏอยู่ตรงหน้าของฉันแบบไม่ทันให้ตั้งตัว และเป็นอีกครั้งที่สร้างความประหลาดใจให้กับฉัน เนื่องจากภายนอกของพิพิธภัณฑ์ไม่ได้แตกต่างจากบ้านพักอาศัยทั่วไปมากนัก แต่ทว่าภายในกลับอัดแน่นไปด้วยเรื่องราวของประวัติศาสตร์และความทรงจำที่สำคัญในอดีตของชาวแพร่ โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดสงครามเอเชียบูรพา หรือสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งมีรูปภาพและข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับขบวนการเสรีไทย แสดงถึงการเสียสละที่ยิ่งใหญ่เพื่อชาติ และความเคารพต่อบรรบุรุษผู้กล้าหาญของเมืองแพร่

เมื่อซึมซับกับประวัติศาสตร์กันอย่างเต็มอิ่ม รถรางคันยาวก็ออกเดินทางอีกครั้ง แต่ดูท่าว่าการเดินทางไปยังสถานที่ต่อไปของฉันคงไม่อาจโอ้เอ้ได้นานนัก เนื่องจากก้อนเมฆบนท้องฟ้ากำลังส่งสัญญาณบอกว่า ฝนกำลังจะตกแล้ว

ทำให้ขณะที่กำลังแหงนหน้ามองก้อนเมฆด้วยความหวั่นใจ รถรางก็จอดเทียบหน้า วัดพระบาทมิ่งเมืองวรวิหาร โดยที่ฉันไม่รู้ตัว แต่ด้วยความขมุกขมัวบนท้องฟ้าระยะเวลาที่กระชั้นชิด ทำให้เราจำต้องเยี่ยมชมกันอย่างเร่งรีบ ซึ่งภายในวัดพระบาทมิ่งเมืองฯ มีปูชนียวัตถุสำคัญอย่าง พระพุทธโกศัยศิริชัยมหาศากยมุนี พระคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัด พระเจดีย์มิ่งเมือง ซึ่งเป็นเจดีย์เก่าแก่ และรอยพระพุทธบาทจำลอง สร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับฉันเป็นอย่างมาก และแม้จะเป็นเพียงแค่ช่วงเวลาสั้นๆ แต่ฉันก็สามารถซึมซับถึงเรื่องราวในอดีตได้เป็นอย่างดี ก่อนที่สายฝนจะเริ่มโปรยปรายอย่างแผ่วเบา ต้อนให้ฉันรีบจ้ำอ้าวก้าวขึ้นรถรางไปยังสถานที่ต่อไป

ท่ามกลางสายฝนที่กำลังโปรยปราย ด้านหน้าจวนผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ คุ้มเจ้าหลวงเมืองแพร่ ก็รอต้อนรับพวกเราอย่างเงียบๆ ก่อนที่วิทยากรประจำคุ้มจะพาพวกเราเดินชมภายใน พร้อมอธิบายว่า คุ้มเจ้าหลวงเมืองแพร่ ถูกสร้างขึ้นในปี พ.ศ.2435 โดยเจ้าหลวงพิริยะชัยเทพวงศ์ เจ้าผู้ครองเมืองแพร่องค์สุดท้าย ซึ่งภายในเป็นอาคารโอ่โถง มีประตูหน้าต่างทั้งหมด 72 บาน ตัวอาคารสร้างด้วยอิฐถือปูนทั้ง 2 ชั้น ไม่มีการฝังเสาเข็ม ตลอดการเยี่ยมชมนับเป็นช่วงเวลาที่ประทับใจ เนื่องจากลีลาการเล่าเรื่องของวิทยากรภายในคุ้มสนุกปนระทึกรวมถึงความรู้ที่ได้รับจากคุ้มก็มีไม่ใช่น้อย เรียกได้ว่าคุ้มจริงๆ

ก่อนที่รถรางจะพาพวกเราเดินทางไปยังจุดแวะสุดท้ายอย่าง บ้านวงศ์บุรี สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2450 โดยมีจุดเด่นคือลวดลายไม้แกะสลักที่หน้าจั่ว ชายคา ระเบียง ช่องลม หน้าต่างและประตู ซึ่งเรียกได้ว่าสมบูรณ์แบบจนแทบไม่อยากจะเชื่อว่ามีอายุกว่าร้อยปี ก่อนที่ฉันจะได้ลิ้มลองขันโตกล้านนาเป็นอาหารเย็นและเดินทางกลับโรงแรมเพื่อพักผ่อนท่ามกลางสายฝน

เช้าวันต่อมาหลังจากรับประทานอาหารเช้าเรียบร้อย แม้ฝนจะไม่ตกเหมือนเมื่อวาน แต่บริเวณทางเดินก็ยังคงชื้นแฉะ บ่งบอกให้ฉันและเพื่อนร่วมเดินทางต้องคอยจับตามองก้อนเมฆบนท้องฟ้าไว้ให้ดี ก่อนออกเดินทางไปทำความรู้จักกับ วัดพระธาตุศรีดอนคำ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า วัดห้วยอ้อ ซึ่งตั้งอยู่ภายในเขตอำเภอลอง ห่างจากตัวเมืองแพร่ 45 กิโลเมตร ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า พระพุทธรูปศิลปะพม่าที่ทำจากไม้หรือพระเจ้าพร้าโต้ และคัมภีร์ต่างๆ ซึ่งเก็บเอาไว้ภายในหอไตรของวัด รวมถึงพิพิธภัณฑ์เล็กๆ ภายในวัดที่รวบรวมข้าวของต่างๆ จากชาวบ้าน แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตของชาวบ้านอำเภอลอง ทำให้ฉันและเพื่อนร่วมเดินทางต่างตกอยู่ในภวังค์เดินเที่ยวชมกันอยู่นานสองนาน

ก่อนที่เราจะเดินทางไปยังสถานที่ถัดไปอย่าง วัดสะแล่ง หรือ พระธาตุชะอุปคำ เป็นวัดที่รวบรวมสถาปัตยกรรมหลากหลาย ทั้งพระพุทธรูปปางมารวิชัย พระพุทธรูปปางลีลา ฯลฯ รวมถึงอาคารพิพิธภัณฑ์ ซึ่งรวบรวมของพื้นบ้านและรอยพระพุทธบาท ทำให้พวกเราเพลิดเพลินกับพิพิธภัณฑ์ไปพักใหญ่ ก่อนเดินทางไปยังสถานที่ถัดไป พร้อมกับสายฝนที่ทำท่าว่าจะเริ่มโปรยปรายอีกครั้ง

พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น โกมลผ้าโบราณ คือสถานที่ต่อไปที่เราเดินทางมาถึง ภายในแบ่งออกเป็น 5 ส่วน ได้แก่ ส่วนของจิตกรรมเวียงต้า ผ้าโบราณเมืองลอง ส่วนจัดแสดงผ้าซิ่นตีนจก วิธีการเก็บผ้าโบราณ และส่วนของร้านค้า ซึ่งแต่ละส่วนล้วนมีความเป็นมาที่น่าสนใจ ทำให้ฉันเพลิดเพลินถึงกับลืมเวลา

แต่ทว่าเมื่อเยี่ยมชมเสร็จ น้ำย่อยในกระเพาะของฉันก็เรียกร้องหาของกินเสียแล้ว ทำให้ฉันและเพื่อนร่วมเดินทางมีโอกาสได้รับประทานอาหารเที่ยงที่ร้านซันฟลาวเวอร์ไม่ไกลจากพิพิธภัณฑ์มากนัก ก่อนแวะเติมความสดชื่นด้วยกาแฟยามบ่ายที่ร้านกาแฟแห่ระเบิด

เมื่อเติมพลังเต็มเปี่ยมแล้ว สถานีรถไฟบ้านปิน คือสถานที่ที่ฉันได้มีโอกาสมาเยี่ยมชมในเวลาต่อมา ฉันและเพื่อนร่วมเดินทางต่างเก็บภาพสถาปัตยกรรมแบบบาวาเรียนของสถานีรถไฟอย่างสนุกสนาน ก่อนที่ขบวนรถไฟสายนครสวรรค์-เชียงใหม่จะเข้ามาเทียบชานชาลา แม้จะบรรทุกผู้โดยสารไม่มากนัก แต่ฉันกลับจำแววตาของผู้โดยสารหลายคนบนรถไฟได้เป็นอย่างดี สายตาของพวกเขามองตรงไปข้างหน้า ซึ่งอาจจะเป็นจุดหมายปลายทางที่พวกเขากำลังจะไป เช่นเดียวกันกับฉันที่กำลังจะเตรียมเดินทางไปยังจุดหมายต่อไป

ขยับเข้าใกล้ตัวเมืองอีกครั้งยามเย็นกับการมาเยี่ยมเยียนที่ บ้านทุ่งโฮ้ง ซึ่งห่างจากตัวเมือง 4 กิโลเมตร บนทางหลวงหมายเลข 101 สาย แพร่-น่าน สถานที่ที่ผลิตหม้อห้อมที่มีชื่อเสียงของจังหวัดแพร่ ซึ่งฉันได้เรียนรู้และสนุกไปกับการทำผ้าเช็ดหน้าลวดลายต่างๆ ทั้งจากการพิมพ์และมัดย้อม สนุกสนานแม้ว่าจะเลอะเทอะ แต่หากทำให้ได้ผลงานติดไม้ติดมือกลับไปฝากที่บ้านได้ ก็นับว่าคุ้ม

ก่อนที่พวกเราจะมาจบการเดินทางของวันที่ 2 ที่ วัดจอมสวรรค์ ซึ่งวันแรกพวกเราพลาดโอกาสที่จะเข้าไปเยี่ยมชม ภายในที่มี หลวงพ่อสาน พระพุทธรูปที่สร้างโดยใช้ไม้ไผ่สานเป็นองค์ลงรักปิดทอง รวมถึงพระพุทธรูปงาช้าง ศิลปะแบบพม่า และคัมภีร์งาช้าง หรือคัมภีร์ปาติโมกข์ จากการนำงาช้างมาบดอัดเป็นแผ่นบางๆ สร้างความประทับให้ให้กับพวกเราจนต้องถ่ายภาพเอาไว้อีกครั้ง ก่อนที่พวกเราจะเดินทางกลับโรงแรม เพื่อพักผ่อนเอาแรงสำหรับวันสุดท้าย ซึ่งคืนนี้ฝนไม่โปรยปรายเหมือยอย่างเคย

หลังจากพักผ่อนได้ไม่นาน เวลาของการจากลาก็มาถึง เช้าวันสุดท้ายของการทำความรู้จักเมืองแพร่ของฉันเริ่มต้นขึ้นพร้อมกับอาหารเช้ากลิ่นหอมกรุ่น ก่อนออกเดินทางตามกำหนดการวันสุดท้าย และก็เหมือนอย่างเคย...ฝนออกมาต้อนรับพวกเราอีกครั้ง

โดยสถานที่แรกของวันสุดท้ายที่พวกเราเดินทางมาถึงคือ วัดพระธาตุช่อแฮพระอารามหลวง ปูชนียสถานอันศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองแพร่ ซึ่งสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.1879 - 1881 ในสมัยพระมหาธรรมราชาธิราช (ลิไท) โดยขุนลั๊วะอ้ายก้อม แม้จะเป็นช่วงเช้า แต่ทว่าภายในกลับมีชาวบ้านมาร่วมทำบุญยามเช้าอย่างคับคั่ง

รถตู้พาพวกเราปุเลงๆ ไปยังถนนสายเล็กๆ แต่คดเคี้ยวไม่ใช่น้อย จนมาถึง บ่อสาหร่ายเตา ของ เจริญพร ชัยกิจ ผู้คิดค้นการเลี้ยงสาหร่ายเตาได้ตลอดปีจนเป็นอาชีพ และเผยแพร่ให้กับเพื่อนบ้านในชุมชนบ้านนาคูหา ฉันเพื่อเรียนรู้และสัมผัสกับสาหร่ายเตาสดๆ จากบ่อ และได้ลิ้มลองอาหารท้องถิ่นอย่าง ยำเตา อีกด้วย

ถัดมาจากบ่อสาหร่ายเตาไม่ไกลนัก สถานที่สุดท้ายก่อนบอกลาจังหวัดแพร่ของฉัน คือ พระธาตุอินทร์แขวน ซึ่งเรียกเหงื่อให้พวกเราได้ไม่น้อย เนื่องจากทางเดินที่ชื้นแฉะบวกกับความชันนิดๆ และบันไดที่มากขั้นไปหน่อย แต่ทว่าบรรยากาศโดยรอบกลับเขียวขจี แวดล้อมไปด้วยภูเขาและป่าไม้ ทำให้ลืมความเหนื่อยในการเดินขึ้นไปนมัสการในทันที

แม้ว่าจะเป็นการเดินทางไปจังหวัดแพร่ครั้งแรก แต่ฉันมั่นใจว่ามันจะไม่ใช่การเดินทางครั้งสุดท้ายของฉัน เนื่องจากจังหวัดที่ยังคงมีกลิ่นอายแบบพื้นบ้านที่เป็นธรรมชาติ สงบ และไร้การปรุงแต่งแบบจังหวัดแพร่นั้น เรียกได้ว่าโกยความประทับใจจากฉันไปเต็มๆ

..........................

การเดินทาง

จังหวัดแพร่อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 555 กิโลเมตร นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางสู่จังหวัดแพร่ได้หลายวิธี ทั้งทางรถยนต์ส่วนตัว รถประจำทาง รถไฟ และเครื่องบิน หากใช้รถยนต์จากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 (พหลโยธิน) แล้วเข้าทางหลวงหมายเลข 32 ผ่านอยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี จนถึงชัยนาท แล้วเลี้ยวขวาไปตามทางหลวงหมายเลข 11 ผ่านพิจิตร พิษณุโลก อุตรดิตถ์ และเข้าสู่ตัวจังหวัดแพร่ ใช้เวลาเดินทางประมาณ 7-8 ชั่วโมง ส่วนรถประจำทาง บริษัท ขนส่ง จำกัด และบริษัทเอกชนมีรถโดยสารธรรมดาและรถโดยสารปรับอากาศ สายกรุงเทพฯ-แพร่ และกรุงเทพฯ-แพร่-สอง ออกจากสถานีขนส่งสายเหนือ (หมอชิต 2) ถนนกำแพงเพชร 2 ทุกวัน วันละหลายเที่ยว สอบถาม โทร. 0 2537 8055

ส่วนรถไฟ แพร่มีรถไฟตัดผ่านที่อำเภอเด่นชัย อยู่ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 24 กิโลเมตร การรถไฟแห่งประเทศไทยให้บริการเดินรถระหว่างอำเภอเด่นชัยและจังหวัดต่างๆ ทั้งเที่ยวขึ้นและเที่ยวล่องทุกวัน สอบถาม โทร. 0 2223 7010, 0 2223 7020 แต่ถ้าใครมีเวลาน้อย อยากร่นเวลาเดินทาง สายการบินนกแอร์ มีเที่ยวบินให้บริการทุกวัน สอบถาม โทร. 1318 หรือ www.nokair.com

สอบถามรายละเอียดการเดินทางท่องเที่ยวที่ ททท.สำนักงานแพร่ โทร. 0 5452 1118