ฉันทลักษณ์ รักษาอยู่ : สะพานของคนรักร่วมเพศ

ฉันทลักษณ์ รักษาอยู่ : สะพานของคนรักร่วมเพศ

นับเป็นกรณีพิพาทดังข้ามปีระหว่างร้านหนังสือยักษ์ใหญ่อย่างซีเอ็ดกับกลุ่มผู้คัดค้าน

อันเนื่องกรณีร้านหนังสือดังกล่าวร่อนจดหมายไปยังสำนักพิมพ์น้อยใหญ่ว่าจะไม่จำหน่ายหนังสือที่มีเนื้อหาส่อไปทางรักร่วมเพศ, ผิดศีลธรรม, ผิดกฎหมาย โดยจดหมายดังกล่าวมีสาระดังนี้

1.วรรณกรรมที่มีลักษณะของชายรักชาย หญิงรักหญิง เป็นลักษณะของการรักร่วมเพศ

2.สื่อไปในทางขายบริการทางเพศ เช่น นักเรียน, นักศึกษา, Sideline

3.ภาษาและเนื้อหาที่ใช้ หยาบโลนไม่สุภาพ ลามก, สัปดน, ป่าเถื่อน, วิปริต, ซาดิสต์, หยาบคาย ฯลฯ

4.เนื้อหามีการบรรยายถึงการมีเพศสัมพันธ์อย่างโจ่งแจ้ง และในที่สาธารณะ วิปริต ผิดธรรมชาติที่มนุษย์พึงเป็น เช่น ลิฟต์, น้ำตก, ลานจอดรถ ฯลฯ

5.เนื้อหาที่มีการทารุณกรรมทางเพศทั้งที่เป็น ภรรยาและมิใช่ภรรยา หรือ ทารุณต่อเด็ก, เยาวชน, สตรีและเครือญาติ อันบ่งบอกถึงการขัดต่อกฎหมาย ศีลธรรมอันดี

6.เนื้อหาที่บรรยายขั้นตอนการมีเพศสัมพันธ์ที่เห็นภาพ และบรรยายให้เห็นภาพทางกายภาพของอวัยวะเพศอย่างชัดเจน จนทำให้สามารถเป็นเครื่องมือยั่วยุทางเพศ ทำให้เกิดความต้องการมีเพศสัมพันธ์ ไม่ถูกคน ไม่ถูกที่ และไม่ถูกเวลา

ซึ่งหากตรวจพบภายหลังว่ามีเนื้อหาเช่นทั้ง 6 ทางซีเอ็ดจะไม่ดำเนินการกระจายสินค้า จนถึงเก็บหนังสือคืน ยกเลิกการจัดจำหน่าย

.............................................

จนกระทั่งเมื่อปลายปี ดูท่าพลังของกลุ่มผู้คัดค้านอย่างกลุ่มสะพานจะสัมฤทธิ์ผล เพราะซีเอ็ดถึงกับต้องระงับคำสั่งดังกล่าวไว้ก่อนนั่นเอง

หลังจากถูกอย่างชะงักงัน ก็ยังไม่มีแว่วข่าวใดๆ มาอีก นอกเสียจากเสียงแห่งปริศนาที่ยังคาใจใครหลายคน สำหรับจุดประกายวรรณกรรมประเด็นนี้ยังไม่ตกไป ทั้งยังจำเป็นต้องตามต่อว่าท่ามกลางความเงียบกำลังเกิดอะไรขึ้นบ้าง และทิศทางต่อไปจะเป็นอย่างไร

คำถาม 9 ข้อที่เรายิงตรงถึง ฉันทลักษณ์ รักษาอยู่ หนึ่งในแกนนำกลุ่มคัดค้านฯ อาจเป็น '9' ข้อที่อธิบาย 'ก้าว' สำคัญของประเด็นปัญหาเพศสภาพในวรรณกรรมไทยซึ่งคลุมเครือมานานก็ได้

1.คุณเป็นใคร ทำไมถึงกลายมาเป็นหนึ่งในแกนนำคัดค้านครั้งนี้?

เป็นคนทำงานสำนักพิมพ์ค่ะ ปี 32-33 นะ ตอนเด็กๆ วัยรุ่น อายุ 18-19 ทำนิตยสารวัยหวาน เลิกวัยหวานก็มาทำประพันธ์สาส์น เพราะเจ้าของเดียวกัน ทำสมัยที่เฮียชิว(สุพล เตชะธาดา)เขายังบริหารงานน่ะค่ะ ก็อยู่ในแวดวงหนังสือมานานมากๆ จากนั้นก็มาช่วยเขาทำจุลสารอัญจารี ซึ่งเป็นจุลสารที่เขาถ่ายเอกสารแจกสมาชิกค่ะ

อัญจารีคือกลุ่มหญิงรักหญิงที่ทำเรื่องสิทธิของคนรักเพศเดียวกัน ตอนที่เริ่มทำนั้นน่าจะประมาณปี 39-40 ราวๆ นั้นนะคะ

หลังจากนั้นก็มาทำกลุ่มของตัวเองชื่อ 'สะพาน' ทำเรื่องสื่อของคนรักเพศเดียวกันนี่แหละค่ะ เพราะก็อยู่ในวงทำหนังสือมาก่อน แล้วด้วยความที่ชอบทำหนังสือเป็นหลักก็เลยทำสำนักพิมพ์สะพานขึ้นมาด้วย โดยเน้นพิมพ์แต่หนังสือเรื่องสั้นที่เกี่ยวกับเกย์/เลสเบี้ยน เป็นหลัก แล้วก็เขียนเรื่องด้วยในนามปากกา 'มน. มีนา' ค่ะ

สรุปคืออยู่ 2 วงการ คือวงการหนังสือและวงการนักกิจกรรมเรื่องสิทธิคนรักเพศเดียวกัน LGBTIQs และเมื่อซีเอ็ดสั่งแบนหนังสือ เราก็รู้สึกว่าตัวเองโดนเต็มๆ ทั้งในแง่ที่มันเลือกปฏิบัติ/สร้างอคติซ้ำๆ ต่อคนหลากหลายทางเพศ ขณะเดียวกันมองว่ามันคือการปิดกั้นเสรีภาพในการเขียนด้วยค่ะ มี 2 ประเด็นหลักๆ ซึ่งไม่เกี่ยวกับการขายหรือเชิงธุรกิจ เพราะไม่ได้ฝากหนังสือของซีเอ็ดขาย สะพานทำหนังสือแบบพริ้นต์ออนดีมานด์ขายในเว็บเท่านั้น การไม่รับจำหน่ายของซีเอ็ดเป็นผลดีสำหรับสะพานด้วยซ้ำ

แต่จริงๆ เมื่อสัก 4-5 ปีก่อน เคยพยายามจะฝากซีเอ็ดขายนะคะ ตอนนั้นพิมพ์ในระบบปกติ เขาก็ให้ส่งหนังสือไปให้เขาเช็คดูก่อนว่าเขาจะรับขายมั้ย ตอนนั้นเป็นรวมเรื่องสั้นหญิงรักหญิง She2 ดอกไม้แย้มกลีบ จากนั้นก็โทรไปถาม เขาก็อึกอักๆ จนกระทั่งบอกว่ามีคำหยาบปกหลัง (คำว่ามึง-กู) เขาเลยไม่รับ เขาอ้างว่าเขาเป็นร้านหนังสือสีขาว

แล้วประมาณปี 51 ที่คุณไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม เป็นรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายสังคม และ รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) มันจะเป็นช่วงที่สังคมไทยมี 'ศีลธรรมมาก' เป็นพิเศษ เพราะช่วงนั้นหลังรัฐประหารที่เขาเอาคนดีมาบริหารประเทศ แทนนักการเมืองเลวๆ หรือเปล่าไม่ทราบนะคะ งานหนังสือที่ศูนย์ประชุมสิริกิติ์ ก็จะมีการตรวจตราเซ็นเซอร์หนักหนามาก เริ่มจากการ์ตูนวายที่โดนจับในงานฐานลามก อนาจาร แล้วต่อมาก็นิยายแปลโรมานซ์ (ของไทยยังไม่มีมากค่ะตอนนั้น มาฮิตกระหน่ำแบบปัจจุบัน ก็น่าจะเกิดจากการเซ็นเซอร์ตัวเองนิยายโรมานซ์แปลตอนนั้นนั่นแหละ คือหลังๆ ฉากเซ็กซ์ซีน มันถูกตัดไปมาก เดี๋ยวนี้คนไทยเลยมาเขียนเอง ซึ่งโป๊เสียยิ่งกว่าเรื่องแปลค่ะ เป็นเรื่องของดีมานด์-ซัพพลาย ธรรมดานี่แหละ) จากนั้นก็ลามมาที่นิยายแนวเกย์-เลสเบี้ยน งานปีนั้นสันติบาลก็มาเอาหนังสือของสะพานไปเซ็นเซอร์ว่ามีฉากลามกอนาจารไหม ซึ่งก็มีอยู่สองสามเล่ม และถูกห้ามขายในงานค่ะ

ขอขยายความเพิ่มเติมเรื่องที่มองว่ามันเป็นการเลือกปฏิบัติ/ผลิตซ้ำอคติต่อคนหลากหลายทางเพศ LGBTIQs ก่อนนะคะ คือตลอดเวลาที่ผ่านมานี่นะคะ สื่อพวกวรรณกรรมเรื่องสั้นนิยายทั้งหลายในสังคมไทยเนี่ย ตัวละครที่เป็นกะเทย ทอม ดี้ เกย์ เลสเบี้ยนเนี่ย จะเป็นตัวละครที่ถูกนักเขียนเขียนออกมาในด้านลบตลอด เช่น อารมณ์รุนแรง วิปริตผิดเพศ มั่วเซ็กซ์ ซึ่งค่านิยมเหล่านี้มันถูกส่งทอดต่อคนอ่าน ทำให้คนที่เป็น LGBTIQs ถูกเหมารวม ถูกสังคมมองไปในลักษณะนั้น

คุณลองหาดูก็ได้ค่ะว่ามีตัวละครกี่ตัวที่ออกมาในแง่มนุษย์ธรรมดาบ้าง แล้วมันมีแบบนี้มากี่ปีแล้ว มันสั่งสมมายาวนานขนาดไหน แล้วคนที่ได้รับผลกระทบก็คือคนที่เป็นกะเทยทอมดี้เกย์เลสตัวเป็นๆ นี่แหละค่ะ อาจจะไม่รุนแรงขนาดต่างประเทศ แต่มันก็มีการด่าทอ เหยียดหยาม ดูถูกในลักษณะอื่นๆ มากมาย เช่น ห้ามนั่นห้ามนี่ ตามที่เราจะเห็นเป็นข่าวอยู่เนืองๆ

ที่เราทำสำนักพิมพ์สะพานขึ้นมา ก็เพื่อวัตถุประสงค์นี้ค่ะ คือต้องการนำเสนอภาพของคนที่เป็น LGBTIQs ในมุมมนุษย์ปกติ ธรรมดา มีรักโลภโกรธหลงมีสุขมีเศร้า แบบมนุษย์ทั่วๆ ไป ไม่ใช่พวกโรคจิตค่ะ ซึ่งก็หวังว่ามันจะช่วยปรับเปลี่ยนมุมมองทัศนคติของคนในสังคมได้บ้างไม่มากก็น้อย เทียบแล้วมันอาจจะเหมือนแค่หยดน้ำเล็กๆ ในมหาสมุทรวรรณกรรม แต่เราก็จะทำต่อไป

แล้วเราก็เอางานเหล่านี้มาสื่อสารกับคนข้างนอก โอเค เขาอาจจะไม่อ่าน เพราะเขาไม่ใช่ LGBTIQs หรือไม่ใช่นิสิต นักศึกษาที่ต้องการทำวิจัยหรือวิทยานิพนธ์เรื่องพวกนี้ เราไปออกงานสัปดาห์หนังสือ ไปงานมหกรรมหนังสือ ไปเจอสายตาแปลกๆ ไปเจอคนเขียนบทความบอกว่าให้มีบูธหนังสือแบบนี้ในงานได้อย่างไร ฯลฯ มันง่ายกว่าสำหรับการอยู่เงียบๆ แบบใต้ดิน สงบสุขแสนดี ไม่มีใครรบกวน อ่านกันเองอยู่ตรงนั้น แต่เราต้องการมากกว่านั้นค่ะ และแน่นอนว่ามันยากกว่า

ประเด็นที่ 2 ที่ทำให้ออกมาคัดค้าน ก็เนื่องจากมองว่า ข้อกำหนดทั้ง 6 ข้อของซีเอ็ดนั้นมันขัดต่อหลักการสิทธิเสรีภาพค่ะ

คือการที่คนเราสามารถจะคิด จะเขียน จะแสดงออกในสิ่งที่ตัวเองเชื่อมันน่าจะเป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานมากๆ แต่มันมีข้อจำกัดนั่นนี่โน่น ถูกห้ามแบบนั้นแบบนี้ มันจะเขียนได้ไหมคะ เราไม่เชื่อในการเซ็นเซอร์ด้วยค่ะ เราเชื่อว่าทุกคนมีวิจารณญาณที่จะพิจารณาตัดสินใจได้ด้วยตัวเอง

แล้วนอกจากนั้นคือมันไม่มีมาตรฐานที่ชัดเจน คุณใช้เกณฑ์กติกาอะไรในการตัดสิน อย่างอ่านข้อแรก เพียงเป็นนิยายที่ตัวละครเป็นชายรักชายหรือหญิงรักหญิง เขาก็ห้ามขายแล้ว ยังไม่ต้องไปถึงข้อ 2-6 ที่เกี่ยวกับเรื่องวิธีการ/รูปแบบมีเพศสัมพันธ์ที่ถูกห้ามเขียน ซึ่งถ้าห้ามแบบนี้คุณจะทำยังไงกับงานวรรณคดีทั้งหลาย กับงานเขียนของนักเขียนผู้ใหญ่หลายๆ คน คุณใช้มาตรฐานไหนอันนี้อยากรู้

เพราะในหนังสือเขาก็มีการเขียนแจ้งไว้อยู่แล้วว่าเรตไหน ซึ่งเดี๋ยวนี้ต้องอายุ 25 ปีขึ้นไปนะคะ ถึงจะอ่านนิยายแนวโรมานซ์หรืออีโรติกได้ อายุ 23-24 อ่านไม่ได้นะคะ คือมันตลกสิ้นดีค่ะ

2.หากมองตามเหตุผลที่ซีเอ็ดชี้แจงเกี่ยวกับเรื่องศีลธรรมอันดีในสังคม ไม่สมเหตุสมผลหรือที่ร้านหนังสือดังกล่าวจะกระทำ?

ศีลธรรมของสังคมไหนละคะ มาตรฐานศีลธรรมของแต่ละสังคมหรือว่าแต่ละคนมันไม่ได้เท่ากันนะคะ การใช้ศีลธรรมมาตัดสินเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้องหรือกระทบกับสังคมวงกว้างมันค่อนข้างจะล้าหลังสำหรับโลกสมัยใหม่ ที่เราจะเน้นไปที่หลักการสิทธิความเสมอภาคมากกว่า

แล้วซีเอ็ดตอบได้หรือเปล่า ว่าการเป็นคนหลากหลายทางเพศผิดศีลธรรมตรงไหน อันนี้ขอถามเฉพาะในประเด็นเกี่ยวกับหญิงรักหญิงและชายรักชายที่เป็นข้อกำหนดที่ 1 นะคะ อย่างที่บอก ไม่ต้องอธิบายถึงรูปแบบหรือวิธีการมีเพศสัมพันธ์ตามข้อ 2-6 เลย แค่ตัวละครคุณเป็นหญิงรักหญิง/ชายรักชาย เขาก็ไม่รับวางจำหน่ายแล้วค่ะ

จริงๆ แล้วร้านหนังสือทำได้นะคะ ในแง่ธุรกิจ แต่ต้องไม่ใช่เรื่องของศีลธรรม และเช่นกันค่ะเราก็สามารถที่จะคัดค้าน แสดงการไม่เห็นด้วยได้เช่นกัน แต่มันไม่ตลกไปหน่อยหรือ ไม่เขินตัวเองหรือไง ไม่ขายหนังสือที่มีตัวละครเหล่านี้ แต่ไม่เป็นไรถ้าได้เงินจากคนกลุ่มนี้ คือถ้าเป็นเรา ว่าคงเขินน่าดู เพราะมันดูปากว่าตาขยิบยังไงไม่ทราบ

3.คิดเห็นอย่างไรกับเรื่องสิทธิการรับรู้ของผู้บริโภคซึ่งอาจทับซ้อนหรือย้อนแย้งกับเรื่องศีลธรรม วัฒนธรรม ประเพณี?

นั่นขึ้นอยู่กับว่าเราจะใช้ฐานคิดไหนด้วยมั้งคะ ถ้าใช้ฐานคิดแบบ 3 ข้อที่ว่า เราว่าคนในสังคมไทยก็คงถูกจำกัดในหลายๆ เรื่อง ไม่ใช่แค่กะเทยทอมดี้เกย์เลสเท่านั้นหรอกค่ะ เราถึงตอบไว้ในข้อก่อนนี้ไง ว่าคุณจะเอาหลักเรื่องศีลธรรม วัฒนธรรม ประเพณี มาเป็นตัวตั้งไม่ได้ เพราะชุดความเชื่อนี้ของแต่ละคนไม่เท่ากัน มันจะกลายเป็นเผด็จการในที่สุด คือห้าม จบแค่นั้น เราคิดว่ามันต้องมาคุยกันค่ะ คุยหลายๆ กลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากข้อกำหนดนั้นโดยตรง เพื่อหาทางออกร่วมกัน การออกคำสั่งห้ามอาจจะใช้ได้กับบุคคลในครอบครัว แต่ในวงกว้างมันใช้รูปแบบนั้นไม่ได้ค่ะ

สิทธิการรับรู้ของผู้บริโภคไม่มีปัญหาหรอกค่ะ ถ้าคุณทำให้ชัดเจน บอกว่านี่คือหนังสือแนวไหน เรตไหน ใครอ่านได้บ้าง สำนักพิมพ์ก็ต้องซื่อสัตย์จริงใจกับงานของตัวเอง เป็นเรื่องโป๊ แต่ใช้ภาพหวานแหวว เพื่อสอดไส้ นั่นก็น่าประณาม คือเราอยากให้แบบนี่คือหนังสือแนวนี้นะ โป๊ ใครอยากอ่านก็อ่าน ใครไม่อยากอ่าน หรือไม่ถึงวัยที่จัดเรตไว้ก็ไม่ต้องอ่าน

แต่ก็นั่นแหละสังคมไทยมักจะเริ่มทุกอย่างด้วยความกลัวเสมอ พอจัดเรตก็มีคนบอกว่า เดี๋ยวจะเป็นการชี้โพรงให้กระรอก ไปโน่น คือกลัวไว้ก่อน เหมือนกลัวการสอนเรื่องเพศศึกษาให้วัยรุ่นให้เยาวชน

แต่ปัญหาหลักของสังคมไทย มันเป็นเรื่องความไม่มีมาตรฐานมากกว่าค่ะ แล้วในที่สุดก็จะกลายเป็นสองสามสี่มาตรฐานไป ซึ่งเราไม่เห็นด้วยมากๆ

4.จริงๆ แล้ว นวนิยายหรือหนังสือแนวรักร่วมเพศ มีดีอย่างไร หรือบอกอะไรแก่สังคม เพราะสำหรับคนที่ไม่เคยอ่านหรือมีรสนิยมต่างกันอาจไม่เข้าใจ?

ไม่ดีกว่าหรือวิเศษกว่านิยายแนวชาย-หญิงทั่วไปนะคะ แต่ตลอดเวลาที่ผ่านมา มันมีแต่ตัวละครเป็นลบค่ะ หรือหากเป็นเรื่องของคนกลุ่มนี้ตัวละครก็จะตายตอนจบ แบบที่ตอบในข้อแรกน่ะค่ะ

แต่ทางสะพานอยากนำเสนอนิยายวรรณกรรมแนวนี้ในอีกรูปแบบที่ตัวละครก็มีรัก มีสุข มีโศก มีด้านมืดด้านสว่างเหมือนคนทั่วไป พวกเขามีความรักแบบที่พระเอกนางเอกในนิยายรักกันนั่นแหละค่ะ จบอย่างมีความสุขสมหวังเช่นกัน

คนที่เขียนนิยายแนวนี้ ถ้าเขาอยากบอกกับสังคม ก็คงบอกว่าหยุดอคติทั้งหลายทั้งปวงนั้นเสียที พวกเราเป็นคนธรรมดาแบบพวกคุณนั่นแหละ มีเพียงเพศของคนรักเรากับตัวเราเหมือนกัน แล้วเราก็ได้รับแรงกดดันจากสังคมเพียงเพราะเรากับคนรักเรามีเพศที่เหมือนกันเท่านั้นเอง อารมณ์รักใคร่นอกจากนี้ไม่ต่างเลย

5.กระแสคัดค้านในโลกออนไลน์เกิดขึ้นเพราะกลุ่มสะพานเลยหรือเปล่า?

ใช่ค่ะ เพราะเพิ่งเห็นจดหมายแจ้งข้อกำหนดวันที่ 4 ธันวาที่น้องเอามาแปะ เราก็ เฮ้อ...รู้สึกว่าต้องทำอะไรสักอย่าง เลยเขียนเป็นร่างจดหมายแสดงการคัดค้านไม่เห็นด้วยของตัวเองออกมา แปะที่หน้าวอลตัวเองในเฟซบุ๊คนั่นแหละค่ะ เพราะอยากดูการรณรงค์ใช้สื่อโซเชียลมีเดียทำกิจกรรมทางสังคมแบบนี้จะเป็นยังไงบ้าง จากนั้นก็มีน้องที่ร้านหนังสือบูคู ปัตตานี มาช่วยทำเป็นอีเว้นท์ในหน้าเฟซบุ้ค ให้คนอื่นๆ เข้ามาแสดงความเห็น แล้วก็ปรากฏว่ามีเยอะมากมายค่ะ

6.หากมองให้ลึกลงไป นี่คือการแสดงพลังของกลุ่มชายรักชาย หญิงรักหญิง ซึ่งมีมากในสังคมจนน่าจะเป็นสัดส่วนปกติแล้วหรือเปล่า?

ไม่น่าจะเป็นแค่คนที่เป็นหญิงรักหญิงและชายรักชายเท่านั้นนะคะ ที่แสดงความไม่เห็นด้วยในกรณีนี้ แต่คือชาย/หญิงทั่วไปด้วยค่ะ ที่มองว่าการมีข้อห้ามแบบนี้ มันใช้ไม่ได้ เขาไม่เห็นด้วย มันกระทบกับการเขียนของเขา ปิดกั้นการเขียนไปโดยปริยาย แทนที่จะมีอิสระในการเขียนแบบที่ต้องการ แต่ก็ต้องยั้งไว้เพราะกลัวสำนักพิมพ์ไม่รับต้นฉบับ เพราะรับไปแล้วก็เอาไปพิมพ์ไม่ได้ เพราะสายส่งไม่วางให้ มันก็จะส่งผลกระทบต่อไปเรื่อยๆ

แต่น่าสนใจว่าไม่มีความเห็น หรือได้ยินมุมมองจากนักเขียนในสังคมไทยที่มีชื่อเสียงสักเท่าไรเลย ไม่แน่ใจว่าเพราะอะไร มันไม่เกี่ยวกับเขาหรือยังไง แต่เรามองว่ามันเป็นการปิดกั้นการเขียนนะ คือถ้าคุณไม่เห็นด้วยกับการเซ็นเซอร์ทั้งหลายทั้งปวง คุณก็น่าจะแสดงความไม่เห็นด้วยในกรณีนี้ แต่ไม่ยักกะเห็น เห็นแต่พวกนักวิชาการแทนค่ะ อันนี้เป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจดี มันทำให้นึกต่อไปว่าแวดวงนักเขียนหนังสือไทยมีท่าทียังไงต่อเรื่องเพศ

7.สิ่งที่กลุ่มต้องการจากการเรียกร้องครั้งนี้คืออะไรบ้าง?

ให้เขายกเลิกข้อกำหนดที่ 1 ค่ะ เพราะมันเป็นการห้ามที่ชัดเจนมากที่สุด ส่วนข้ออื่นๆ นั้น มันมีกรอบของกฎหมายที่เกี่ยวกับสิ่งลามกอนาจารใช้ควบคุมอยู่แล้ว โดยที่ทางซีเอ็ดไม่จำเป็นมาออกข้อกำหนดนี้ค่ะ

แต่เขากลับบอกว่าว่ามันเป็นแค่จดหมายที่ภายในองค์กรใช้สื่อสารกันระดับผู้ปฏิบัติงานเท่านั้น ไม่ใช่นโยบายจากผู้บริหารค่ะ แล้วเขาก็อ้างเรื่องที่เขาได้รับการร้องเรียนจากผู้ปกครองมา เกี่ยวกับหนังสือที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องเพศ ซึ่งนั่นก็ไม่น่าจะเกี่ยวกับหญิงรักหญิง/ชายรักชายอยู่ดีนะคะ

8.แนวโน้มการต่อสู้จะเป็นไปในทิศทางใด?

ตอนนี้ไม่ได้มีการรณรงค์อะไรต่อนะคะ คือพอทางซีเอ็ดบอกว่า มันไม่มีนโยบายแบบนี้อยู่แล้ว การออกจดหมายดังกล่าวก็ถือว่าเป็นโมฆะอะไรของเขาไป เหมือนมันไม่เคยเกิดขึ้น ตามที่เขาได้อ้างในรายการคมชัดลึก แต่โดยส่วนตัวก็ไม่ได้เข้าร้านซีเอ็ดอยู่แล้ว จะซื้อหนังสือทางไปรษณีย์โดยสั่งโดยตรงกับร้านเล็กๆ หรือสำนักพิมพ์มากกว่าค่ะ

9.กรณีการเรียกร้องนี้ถือเป็นบทเรียนอะไรแก่สังคม และวงการหนังสือบ้านเราบ้าง?

มันน่าจะทำให้สังคมตระหนักว่า เสียงเล็กๆ ของคุณมีความหมายได้ มีพลังได้ ถ้าคุณไม่เห็นด้วย และชัดเจนกับการไม่เห็นด้วยของคุณ มันเป็นสิทธิที่คุณสามารถทำได้ และถ้าสิ่งที่คุณไม่เห็นด้วยมันงี่เง่าจริงๆ ก็จะมีคนไม่เห็นด้วยกับเราอีกมากมาย โดยเฉพาะในยุคสมัยนี้ที่เราสามารถใช้โซเชียลมีเดียให้เกิดประโยชน์ได้

ในแวดวงหนังสือหรือคะ อาจจะมีคนรู้จักวรรณกรรมสีรุ้ง หรือทางเลือกมากขึ้นกระมังคะ