3 ทัศนคติสำคัญที่ ‘ผู้นำ’ ช่วยส่งเสริมให้พนักงานทำงานอย่างมีความสุข

3 ทัศนคติสำคัญที่ ‘ผู้นำ’ ช่วยส่งเสริมให้พนักงานทำงานอย่างมีความสุข

3 ทัศนคติสำคัญของ ‘ผู้นำ’ ที่ช่วยส่งเสริมให้พนักงานทำงานอย่างมีความสุข ตามวิถีของชาวฟินแลนด์ ประเทศที่มีความสุขที่สุดในโลกติดต่อกัน 7 ปีซ้อน

KEY

POINTS

  • ปัจจัยหลัก 2 ประการที่ช่วยให้ชาวฟินแลนด์ค้นพบความสุขในที่ทำงาน ได้แก่ ความไว้วางใจในองค์กรและเพื่อนร่วมงาน และ การให้ความสำคัญกับ Work Life Balance
  • ในฐานนะ 'ผู้นำ' มิกา มาคิตาโล ซีอีโอของ HappyOrNot จากประเทศฟินแลนด์ แชร์ 3 แนวคิดสำคัญจากวลีเก่าแก่ของชาวฟินแลนด์ที่ช่วยส่งเสริมการทำงานอย่างมีความสุข
  • ยกตัวอย่างเช่น แนวคิด "ไม่มีใครเก่งมาแต่เกิด" ทุกคนต้องเรียนรู้สิ่งใหม่และฝึกฝนอยู่เสมอ ไม่ต้องกดดันตัวเอง รวมถึงการตอบรับเชิงบวกที่ดี เช่น รับฟังพนักงานเมื่อพวกเขาเห็นว่ากลยุทธ์บางอย่างต้องแก้ไข เป็นต้น

3 ทัศนคติสำคัญของ ‘ผู้นำ’ ที่ช่วยส่งเสริมให้พนักงานทำงานอย่างมีความสุข ตามวิถีของชาวฟินแลนด์ ประเทศที่มีความสุขที่สุดในโลกติดต่อกัน 7 ปีซ้อน

ฟินแลนด์เป็นประเทศที่มีความสุขที่สุดในโลกเป็นปีที่ 7 ติดต่อกัน ตามรายงานของ World Happiness Report ฉบับล่าสุดปี 2024 นอกจากวิถีชีวิตส่วนตัวแล้ว แน่นอนว่า “ชีวิตการทำงาน” ของพวกเขาก็ต้องมีความสุขด้วย จึงทำให้สามารถครองแชมป์ประเทศแห่งความสุขมานานหลายปี ทั้งนี้มีปัจจัยหลัก 2 ประการที่ช่วยให้ชาวฟินแลนด์ค้นพบความสุขในที่ทำงาน ได้แก่ 

1. ความไว้วางใจในสถาบันและเพื่อนร่วมงานในระดับสูง 

2. การให้ความสำคัญกับความสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงาน หรือ Work Life Balance

โดยมีเคสตัวอย่างจาก มิกา มาคิตาโล (Miika Makitalo) ซีอีโอของ HappyOrNot จากประเทศฟินแลนด์ ซึ่งเป็นบริษัทด้าน Information Technology ที่สร้างเครื่องมือและระบบประเมินความพึงพอใจของลูกค้าและความสุขในการทำงานของพนักงาน เช่น สร้างปุ่มตอบรับแบบหน้ายิ้มที่ใช้ในสนามบิน เป็นต้น
(หมายเหตุ: HappyOrNot ได้รับการยอมรับทั่วโลกกว่า 117 ประเทศใน 4,000 องค์กร รวมถึงองค์กรระดับโลก เช่น Microsoft, McDonald's, Wal-Mart, IKEA, Amazon, ZARA, KFC, BMW, ฯลฯ)

ซีอีโอของ HappyOrNot กล่าวว่า บริษัทของเขามีพนักงาน 56 คนในฟินแลนด์ ทั้งหมดนั้นมีสัญชาติต่างกัน 15 สัญชาติ รวมถึงพนักงานประมาณ 15 คนที่มาจากสหรัฐอเมริกา และอีกประมาณ 5 คนมาจากสหราชอาณาจักร การจะทำให้พนักงานที่มาจากร้อยพ่อพันแม่ หลากวัฒนธรรมหลายเชื้อชาติ ให้มุ่งสู่เป้าหมายเดียวกันนั้นไม่ง่าย แต่หากพนักงานมีความสุขในการทำงาน ก็จะช่วยให้เกิดการมีส่วนร่วมและมุ่งสู่เป้าหมายไปด้วยกันได้

มาคิตาโล ได้แชร์ถึงวิธีการบริหารทีมของเขาให้เกิดพลังงานเชิงบวก และช่วยผลักดันให้พนักงานทำงานได้อย่างมีความสุข โดยยึดแนวคิดจาก 3 วลีสำคัญที่สะท้อนความคิดของชาวฟินแลนด์เกี่ยวกับการค้นหาความสุขและความพึงพอใจในที่ทำงาน ได้แก่

1. ไม่มีใครเกิดมาเป็นมืออาชีพ (No one is born a smith: ไม่มีใครเกิดมาเป็นช่างตีเหล็ก)

โดยพื้นฐานแล้ว วลีนี้เน้นย้ำว่า “ไม่มีใครเกิดมาเป็นมืออาชีพ” และ “มีสิ่งต่างๆ ให้เรียนรู้ใหม่อยู่เสมอ” มาคิตาโลบอกว่า 

แนวคิดจากวลีนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ผู้คนมีความปรารถนาที่จะทำงานออกมาให้ได้อย่างยอดเยี่ยม แม้ว่าพวกเขาจะยังเรียนรู้จากงานอยู่ก็ตาม แต่การเรียนรู้และฝึกฝนตนเองอยู่เรื่อยๆ (ทำตัวให้เป็นเหมือนน้ำครึ่งแก้ว เปิดรับความรู้ใหม่เสมอ) ก็จะทำให้เกิดความชำนาญและเชี่ยวชาญในงานนั้นได้ในที่สุด

“หากคุณฝันถึงสิ่งใด จงลงมือทำสิ่งนั้น ไปสมัครงานในตำแหน่งที่คุณอยากทำ และเมื่อคุณได้รับมอบหมายงานใดงานหนึ่งมา จงเรียนรู้วิธีการทำสิ่งนั้น คุณไม่จำเป็นต้องเชี่ยวชาญในบางสิ่งบางอย่างในวันแรกหรอก ดังนั้น จงมีความเมตตาต่อตนเอง” มาคิตาโล อธิบายถึงแนวคิดที่จะช่วยลดความกดดัน-ความตึงเครียดให้แก่พนักงานได้

ผู้เชี่ยวชาญเห็นพ้องกันว่า แนวคิดนี้สอดคล้องกับ “กรอบความคิดแบบเติบโต (growth mindset)” ในที่ทำงาน หรือเชื่อว่าพนักงานสามารถพัฒนาทักษะด้วยการฝึกฝน ถือเป็นคุณสมบัติที่น่าดึงดูดในตัวพนักงานที่มีศักยภาพสูง ทั้งนี้ การทำงานด้วยแนวคิดนี้ยังเปิดรับว่า คนเราสามารถทำผิดพลาดในกระบวนการเรียนรู้ได้ ตราบใดที่คุณได้เรียนรู้จากประสบการณ์ความผิดพลาดเหล่านั้น และปรับปรุงแก้ไขงานนั้นได้อย่างสร้างสรรค์ต่อไป

2. งานสำคัญเร่งด่วนต้องดูแลอย่างจริงจัง เมื่อภารกิจลุล่วงแล้วพักได้ (Serious business matters are taken care of Otherwise, we’ll be like Mary’s chickens on the loose)

วลีนี้มาจากนวนิยายคลาสสิกของฟินแลนด์เรื่อง “The Unknown Soldier” ที่เล่าถึงบางช่วงบางตอนว่า ทีมทหารจะดูแลเรื่องต่างๆ ตามที่ประชาชนคาดหวังไว้ หลังจากทำภารกิจสำเร็จแล้ว พวกเขาจะพักผ่อนอย่างสบายๆ และต้องการจะใช้เวลาที่เหลือตามที่เห็นสมควร 

ซีอีโอของ HappyOrNot กล่าวว่า วลีนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อเน้นลำดับชั้นแบบเรียบๆ ที่พบได้ทั่วไปในวัฒนธรรมการทำงานของฟินแลนด์ โดยมีประเด็นหลักคือ “งานอะไรก็ตามที่เร่งด่วนจะได้รับการดูแลทันที โดยจะไม่สนใจเรื่องโครงสร้างลำดับชั้นจากบนลงล่าง (ไม่ต้องรอคำสั่งจากเบื้องบนเพราะเรื่องด่วนต้องทำทันที) 

“พนักงานจะรู้ว่าควรทำอะไร และพวกเขากำลังจัดลำดับความสำคัญของงาน อะไรเร่งด่วนต้องรีบจัดการก่อน อีกทั้งในฐานะซีอีโอ ผมสนับสนุนทีมด้วยการรับฟังความคิดเห็นจากพนักงานโดยตรง ทุกคนในองค์กรสามารถเดินมาหาผมและพูดตรงๆ ได้เลยว่า  ‘มิกะ นั่นมันไม่สมเหตุสมผลเลย คุณควรแก้ไขกลยุทธ์’ ผมคิดว่านั่นเป็นการตอบรับเชิงบวกที่ดี ในการทำงานร่วมกันระหว่างผู้นำและพนักงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามันมีพื้นฐานมาจากข้อเท็จจริง” เขากล่าว

พนักงานชาวฟินแลนด์อาจมีบทบาทและความรับผิดชอบในตำแหน่งงานที่แตกต่างกัน แต่เราทุกคนมีส่วนร่วมในงานได้อย่างเท่าเทียมกัน และสิ่งนี้ได้ขยายขอบเขตออกไปสู่การมีวัฒนธรรมองค์กรที่เข้มแข็ง 

การมีทัศนคติแบบนี้ยังช่วยป้องกันพฤติกรรมการจัดการแบบหยุมหยิม (ช่วยลดขั้นตอนการทำงานที่ไม่จำเป็น) และช่วยให้พนักงานเป็นเจ้าของงานของตนได้ เมื่อทุกคนในองค์กรรู้กลยุทธ์และวิสัยทัศน์ พวกเขาสามารถดำเนินการงานนั้นๆ ได้ด้วยตัวเอง และไม่จำเป็นต้องรอคำสั่งว่าต้องทำอะไร

3. จงก้าวข้ามความท้าทาย (Forward, said the granny in the snow: ก้าวต่อไปข้างหน้า หญิงชราผู้ยืนอยู่บนกองหิมะพูด)

วลีนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อกระตุ้นให้พนักงานก้าวข้ามความท้าทายได้ แนวคิดนี้มาจากไอเดียสนุกๆ ที่ว่า แม้หญิงชราจะยืนอยู่บนกองหิมะสูงสี่ฟุต แต่คุณย่าก็สามารถพูดว่า ‘เฮ้ นี่ไม่ใช่เรื่องใหญ่เลย’ จงก้าวข้ามหิมะพวกนี้ไปให้ได้ 

มาคิตาโล อธิบายเพิ่มว่า เมื่อเปรียบเทียบกับการทำงาน วลีนี้อาจเกิดขึ้นระหว่างการประชุมอันยาวนาน ซึ่งผู้คนไม่สามารถตัดสินใจเกี่ยวกับประเด็นต่อไปได้ แต่เมื่อถึงจุดหนึ่ง คุณต้องปล่อยวางแล้วก้าวไปข้างหน้าต่อไป และจัดการกับสิ่งที่ไม่รู้เมื่อมันเกิดขึ้น แม้จะคาดการณ์อะไรไม่ได้มากนัก แต่ก็ลองมาทำสิ่งต่างๆ กันดีกว่า

แนวคิดจากวลีนี้พยายามจะสื่อถึงกรอบความคิดว่า “อย่ากังวล อย่าจมอยู่กับมัน เมื่อเริ่มก้าวไปข้างหน้า งานต่างๆ จะได้รับการดูแลด้วยกระบวนการของตัวมันเอง” การมีทัศนคติแบบนี้ในการทำงานจะช่วยลดความกังวลให้แก่พนักงานในทีมได้เช่นกัน 

โดยสรุปคือ ทั้ง 3 ทัศนคติข้างต้น เป็นตัวช่วยให้ผู้นำสามารถปรับโทนบรรยากาศในการทำงานให้มีความสบายๆ ลดความกดดัน ลดความเครียดและความกังวลใจให้พนักงาน รวมถึงการเข้าไปซัพพอร์ตทีม และการมีการตอบรับเชิงบวกด้วยการรับฟังพนักงาน เมื่อพวกเขาเห็นว่างานบางจุดมีปัญหาที่ต้องการการแก้ไขจากผู้นำ อีกทั้งเมื่อจัดการงานด่วนหรืองานยากๆ ได้สำเร็จ พวกเขาสามารถมีเวลาพักผ่อนได้ตามสมควร เหล่านี้จึงเป็นส่วนประกอบที่ทำให้พนักงานชาวฟินแลนด์ทำงานได้อย่างมีความสุข