‘ฮิคิโคโมริ’ เก็บตัวอยู่ในห้อง ไม่พูดกับใคร ภัยร้ายคุกคามวัยรุ่นทั่วโลก

‘ฮิคิโคโมริ’ เก็บตัวอยู่ในห้อง ไม่พูดกับใคร ภัยร้ายคุกคามวัยรุ่นทั่วโลก

“ฮิคิโคโมริ” การเผชิญหน้ากับความโดดเดี่ยวอย่างรุนแรง เก็บตัวอยู่แต่ในห้อง เพราะบาดแผลทางจิตใจและความคาดหวังทางสังคม กำลังแพร่ระบาดทั่วโลก โดยเฉพาะใน “เกาหลีใต้” ที่ต้องออกมาตรการเร่งด่วนกระตุ้นเยาวชนออกมาใช้ชีวิต

Key Points :

  • “ฮิคิโคโมริ” เป็นการตัดขาดความสัมพันธ์ทางสังคม หมกตัวอยู่แต่ในห้องมากกว่า 6 เดือน ไม่ออกไปข้างนอก ไม่พูดใครกับใคร มักพบในหมู่วัยรุ่นไปจนถึงวัยผู้ใหญ่
  • ฮิคิโคโมริ มีต้นกำเนิดมาจากประเทศญี่ปุ่น แต่หลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้โรคนี้กำลังคุกคามเยาวชนทั่วโลก
  • แม้สาเหตุของการเกิดโณค ฮิคิโคโมริ จะยังไม่ชัดเจน แต่บาดแผลทางจิตใจในวัยเด็กและการคาดหวังทางสังคมเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดโรคนี้

 

ความเหงา” เป็นหนึ่งในปัญหาที่กัดกินสังคมญี่ปุ่นมาอย่างยาวนาน เพราะชาวญี่ปุ่นนิยมพักอาศัยอยู่คนเดียวไม่ว่าจะเป็นคนหนุ่มสาวหรือผู้สูงอายุ โดยเฉพาะในช่วงปลายศตวรรษที่ 1980 ที่คนหนุ่มสาวจำนวนมากที่ไม่ยอมติดต่อสื่อสารกับใคร ไม่ออกมาใช้ชีวิต หมกตัวอยู่ในห้องมากกว่า 6 เดือน จนเกิดความโดดเดี่ยวทางสังคมอย่างรุนแรงและเรื้อรัง

ต่อมาในช่วงยุค 90 ได้ตั้งชื่ออาการนี้ว่า “ฮิคิโคโมริ” (Hikikomori หรือ ひきこもり หรือ 引きこもり) ซึ่งแปลว่า การถอนตัวออกจากสังคม โดยอาการของผู้ป่วยโรคฮิคิโคโมริ คือมักจะตัดขาดความสัมพันธ์ทางสังคม รวมถึงเป็นทุกข์และวิตกกังวลในระดับรุนแรง พบมากในกลุ่มคนหนุ่มสาวอายุระหว่าง 14-30 ปี ส่วนใหญ่กว่า 90% เป็นเพศชายที่ครอบครัวมีภูมิหลังทางสังคมในระดับปานกลางและพ่อแม่มักจะสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาขึ้นไป

ในปี 2020 รัฐบาลญี่ปุ่นคาดว่ามีประชากรมากกว่า 1 ล้านคนที่กำลังป่วยเป็นฮิคิโคโมริ ซึ่งต่ำกว่าที่ผู้เชี่ยวชาญประเมินว่ามีประมาณ 2 ล้านคน และคาดว่าในอีก 13 ปีข้างหน้าจะมีผู้มีอาการดังกล่าวมากกว่า 10 ล้านคน

  • บาดแผลทางจิตใจต้นเหตุของฮิคิโคโมริ

ปัจจุบันยังไม่สามารถหาสาเหตุของการเกิดอาการฮิคิโคโมริได้อย่างชัดเจน แต่คาดว่ามาจากบาดแผลทางจิตใจ เช่น ความรู้สึกอับอายหรือรู้สึกล้มเหลวในการเรียน การทำงาน หรือแม้แต่คนที่เคยประสบความสำเร็จแต่กลับเกิดความผิดพลาดในชีวิต รวมถึงมีชีวิตที่ไม่เป็นไปตามที่หวังไว้ ตลอดจนสภาพแวดล้อม บุคคลรอบข้าง เช่น การประคบประหงบที่มากเกินไปจนขาดอิสระในชีวิต ความรุนแรงในครอบครัว การกลั่นแกล้งและการแข่งขันในโรงเรียน และความคาดหวังให้ทำตามค่านิยมทางสังคมจนกลายเป็นแรงกดดันในชีวิต

ด้วยเหตุนี้ ผู้ที่มีอาการฮิคิโคโมริจึงมักเก็บตัวอยู่แต่ในห้องซึ่งเป็น “เซฟโซน” ของพวกเขา และอยากให้คนในสังคม “ลืม” พวกเขา ขณะเดียวกันพวกเขาเลือกสร้างตัวตนในโลกออนไลน์แทนการออกไปพบปะผู้คนในโลกภายนอก เพราะพวกเขาจะได้รับการยอมรับและเป็นตัวของตัวเองได้ในอินเทอร์เน็ต ที่ไม่จำเป็นต้องเปิดเผยตัวตนและมีความยืดหยุ่นมากกว่าในโลกแห่งความเป็นจริง 

ผู้ที่มีอาการฮิคิโคโมริจะไม่ร้องขอความช่วยเหลือ และจะใช้ชีวิตอย่างโดดเดี่ยวไปเรื่อย ๆ หลายคนไม่แม้แต่จะทำความสะอาดห้องนอนของพวกเขา ปล่อยให้กองขยะสุมจนเป็นภูเขา มีแต่คนในครอบครัวของพวกเขาที่จะคอยมอบความต้องการขั้นพื้นฐานในการดำรงชีวิต ซึ่งผู้เชี่ยวชาญยังเริ่มเห็นความเชื่อมโยงที่เป็นไปได้ของฮิคิโคโมริกับออทิสติก ภาวะซึมเศร้า ความวิตกกังวลทางสังคม และโรคกลัวที่ชุมชน (Agoraphobia)

  • เกาหลีใต้มอบเงินให้คนเก็บตัวออกไปใช้ชีวิต

ตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้คนทั่วโลกจำใจต้องอยู่แต่ในบ้านเป็นเวลานาน ขาดการติดต่อกับโลกภายนอกไปโดยปริยาย ทำให้หลายคนมีอาการฮิคิโคโมริโดยไม่รู้ตัว จนอาการนี้กัดกินคนทั่วโลก จนหลายประเทศต้องออกมาตรการช่วยเหลือผู้คนที่กำลังตกอยู่ในสภาวะดังกล่าว หนึ่งในนั้นคือ “เกาหลีใต้

รัฐบาลเกาหลีใต้ออกมาตรการมอบเงินช่วยเหลือเยาวชนอายุระหว่าง 9-24 ปีที่เก็บตัว และมีแนวโน้มเป็นโรคฮิคิโคโมริ เดือนละ 650,000 วอน หรือประมาณ 17,000 บาท เพื่อกระตุ้นให้พวกเขาออกไปใช้ชีวิตข้างนอก พร้อมสนับสนุนด้านการสร้างงาน สุขภาพและการศึกษา ตลอดจนค่าศีลยกรรมความงาม หากพวกเขามีแผลเป็นที่ทำให้พวกเขาไม่มั่นใจ หรือเป็นปมในชีวิต

กระทรวงความเท่าเทียมทางเพศและครอบครัวของเกาหลีใต้ให้คำนิยามของ “เยาวชนที่เก็บตัว” ว่าเป็นกลุ่มวัยรุ่นที่อาศัยอยู่ในพื้นที่จำกัดเป็นระยะเวลานาน ตัดขาดจากโลกภายนอก และประสบปัญหาในการใช้ชีวิตตามปกติ ซึ่งมุ่งหวังว่ามาตรการแจกเงินจะช่วยให้พวกเขาได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตประจำวัน และกลับคืนสู่สังคม

จากข้อมูลของสถาบันสุขภาพและกิจการแห่งเกาหลี พบว่าผู้คน 350,000 คนในเกาหลีที่มีอายุระหว่าง 19-39 ปี กำลังเผชิญกับความโดดเดี่ยวทางสังคมอย่างรุนแรง ซึ่งคิดประมาณ 3% ของกลุ่มอายุดังกล่าว โดยจุดเริ่มต้นของปัญหาของพวกเขามักมาจากเหตุการณ์จากสมัยเด็กที่มีเหตุการณ์กระทบกระเทือนจิตใจ หรือเป็นกลุ่มคนด้อยโอกาส

เยาวชนคนหนึ่งที่รัฐบาลเกาหลีใช้อ้างเป็นกรณีศึกษาระบุว่า เขาเผชิญกับความรุนแรงในครอบครัวตั้งแต่อายุ 15 ปี ทำให้เขารู้สึกหดหู่และเป็นซึมเศร้า จนกลายเป็นคนเซื่องซึม อยากหลับอยู่ตลอดเวลา ใช้ชีวิตอยู่เพื่อการกินและนอนเท่านั้น

 

  • ยิ่งกดดัน ยิ่งอยากหนี

คนหนุ่มสาวทั่วโลกกำลังประสบกับปัญหาค่าแรงไม่เพียงพอต่อค่าครองชีพ ตกงาน และไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง (อาศัยอยู่กับพ่อแม่) แต่ชาวเกาหลีใต้และญี่ปุ่น รวมถึงชาวเอเชียอีกหลายประเทศต้องเผชิญกับค่านิยมทางสังคมที่ยึดถือปฏิบัติกันมาจากคนรุ่นก่อน จนกลายเป็น “ความสำเร็จ” ที่ทุกคนต้องปฏิบัติตาม ซึ่งตามมาด้วยความคาดหวังทั้งเรื่องการเรียนและหน้าที่การงานที่มีการแข่งขันสูงและตึงเครียดอย่างมาก จนไม่มีเวลาออกไปใช้ชีวิตทำตามแรงปรารถนาของตน 

จนทำให้เกาหลีใต้กลายเป็นประเทศที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงที่สุดในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว เมื่อต้องเผชิญกับแรงกดดันที่เข้ามาจากทุกทิศทาง จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่คนรุ่นใหม่จำนวนมากต้องการหลีกหนีจากสังคม

คิม ซูจิน ผู้จัดการอาวุโสของ Seed:s ที่พึ่งพิงสำหรับผู้ที่กำลังต่อสู้กับฮิคิโคโมริกล่าวว่า คนเกาหลีถูกคาดหวังให้มีวิถีชีวิตตามกรอบที่สังคมขีดไว้ ตามแต่ละช่วงอายุที่ควรมี แต่พอพวกเขาทำตามไม่ได้ ก็จะคิดว่าตนเองล้มเหลว ดีไม่พอ ค่านิยมทางสังคมและการกดดันตัวเองล้วนบั่นทอนความภาคภูมิใจในตนเอง และลงเอยด้วยการตัดขาดจากสังคมในที่สุด

คิม ฮเยวอน หัวหน้าผู้อำนวยการของ PIE for Youth องค์กรให้คำแนะนำและโปรแกรมสำหรับเยาวชนเก็บตัวและผู้ดูแล เปิดเผยกับ BBC ว่า เธอยินดีที่รัฐบาลให้ความสำคัญกับโรคฮิคิโคโมริ และต้องการแก้ไขปัญหานี้กับกลุ่มวัยรุ่น

“เป็นเรื่องดีที่มาตรการนี้มุ่งเน้นไปที่กลุ่มวัยรุ่น เนื่องจากวัยรุ่นส่วนใหญ่ยังคงเป็นหนึ่งของสังคมโรงเรียนอยู่ เป็นวัยที่เหมาะสมในการป้องกันอาการฮิคคิโคโมริ เพราะเมื่อเข้าสู่วัยทำงานเราจะพบพวกเขาได้ยากมาก”

 

เยาวชนไทยเองก็ยังคงถูคาดหวังจากครอบครัวที่มีแนวคิดอนุรักษนิยมอยู่ จนกลายเป็นแรงกดดันทำให้พวกเขามีปัญหาด้านสุขภาพจิตเพิ่มมากขึ้น อาจจะถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยจะต้องให้ความสำคัญกับโรคฮิคิโคโมริและปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ก่อนที่พวกเขาจะหันหลังให้กับสังคม และไม่กลับมาอีกเลย


ที่มา: BBCCreative ThailandDAZEDTelegraphThe Conversation