'ข้อพิพาททะเลจีนใต้' ตอใหญ่ขวางโครงการวางสายเคเบิลเอเชีย

'ข้อพิพาททะเลจีนใต้'  ตอใหญ่ขวางโครงการวางสายเคเบิลเอเชีย

'ข้อพิพาททะเลจีนใต้' ตอใหญ่ขวางโครงการวางสายเคเบิลเอเชีย โดยโครงการเดินสายเคเบิลอินเทอร์เน็ตใต้ทะเลของภูมิภาคเอเชียประสบปัญหาล่าช้า เพราะรัฐบาลปักกิ่งแก้เผ็ดที่รัฐบาลวอชิงตันพยายามต่อต้านเทคโนโลยีและบริษัทโทรคมนาคมของจีน

สายเคเบิลอินเทอร์เน็ตใต้ทะเลของเอเชียที่บรรจุข้อมูลของโลกไว้จำนวนมาก กลายเป็นประเด็นร้อน ท่ามกลางความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับประเทศจีน เพราะบริษัทโทรคมนาคมชั้นนำของโลกและบริษัทเทคโนโลยีหลายแห่ง ประสบปัญหาล่าช้าในการติดตั้งสายเคเบิลตามเส้นทางในทะเลจีนใต้

เจ้าของสายเคเบิลในพื้นที่ดังกล่าว อาทิ นิปปอน เทเลกราฟ แอนด์ เทเลโฟนของญี่ปุ่น, เทเลคอมมิวนิเคชันของสิงคโปร์ และบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของสหรัฐ อย่าง กูเกิลและเมตา พยายามก้าวข้ามความขัดแย้งที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในทะเลจีนใต้  ซึ่งรัฐบาลปักกิ่งอ้างว่า พื้นที่ดังกล่าวเกือบทั้งหมดเป็นของจีน ซึ่งหมายความว่า การวางสายเคเบิลและดำเนินธุรกิจในพื้นที่ดังกล่าว จะมีต้นทุนสูงกว่าเดิม

การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วด้านเทคโนโลยี เป็นอุปสรรคใหญ่ของหลายประเทศในภูมิภาคนี้ เพราะการเชื่อมต่อเครือข่ายอย่างรวดเร็ว เป็นสิ่งสำคัญที่นำมาซึ่งชีวิตอันทันสมัย โดยเฉพาะการดำเนินชีวิต หลังเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ผู้คนต้องใช้เวลาอยู่บ้านและพึ่งพาโลกออนไลน์มากขึ้น

“เทย์ หยาง ฮวี” หัวหน้าฝ่ายพัฒนาสายเคเบิลใต้ทะเลของสิงเทล ผู้มากประสบกาณ์ในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมสิงคโปร์ กล่าวว่า ความท้าทายต่าง ๆ ทำให้บริษัทต้องปรับตัวมาตลอดหลายปีมานี้
 

สายไฟเบอร์ออปติกยาวถึง 10,500 กิโลเมตร ที่มีสายบางส่วนทอดผ่านจีนแผ่นดินใหญ่ ฮ่องกง และไต้หวัน ยังไม่สามารถดำเนินการให้เสร็จได้ตามกำหนดปี 2563 ซึ่งข้อตกลงเดินสายเคเบิลนี้ลงนามตั้งแต่ปี 2561

ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการนี้ บอกว่า เจ้าหน้าที่รัฐบาลจีนออกใบอนุญาตติดตั้งสายเคเบิลล่าช้าและเรียกโครงการ Southeast Asia-Japan 2 (SJC2) ว่าเป็นโครงการสำรวจทะเลจีนใต้ ที่สร้างความกังวลต่อความมั่นคงแห่งชาติของจีน

เทย์ ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวนิกเคอิ เอเชียว่า เขาเชื่อมั่นว่าโครงการดังกล่าวจะแล้วเสร็จในครึ่งหลังของปี 2567 และมั่นใจมากขึ้น หลังโครงการผ่านอุปสรรคที่สำคัญเมื่อเดือน เม.ย. มาได้

สิงเทล เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวางสายเคเบิลใต้ทะเล ที่เชื่อมต่อญี่ปุ่นและสิงคโปร์เข้าด้วยกัน เช่นเดียวกับเมตาและเคดีดีไอ บริษัทโทรคมนาคมที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 2 ของญี่ปุ่น

ผู้เล่นในอุตสาหกรรมหลายแห่งและนักวิเคราะห์อย่างเทย์ มีความเห็นว่า กรณีพิพาททางทะเลและดินแดนของภูมิภาค ประกอบกับการแข่งขันระหว่างสหรัฐ-จีน ทวีความรุนแรงมากขึ้น อาจเป็นอุปสรรคที่ส่งผลกระทบต่อเส้นทางการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตในภูมิภาคนี้มากที่สุด ทำลายความเชื่อมั่นของกลุ่มลูกค้าที่คาดหวังว่าโครงการนี้จะหนุนการค้าและการสื่อสารของโลก

\'ข้อพิพาททะเลจีนใต้\'  ตอใหญ่ขวางโครงการวางสายเคเบิลเอเชีย
 

“เราต้องยอมรับความจริงว่า ภูมิภาคนี้มีอุปสรรคใหญ่ในการทำธุรกิจ ขณะที่โครงการ SJC2 เสร็จล่าช้าไป 2-3 ปี ทำให้ไม่สามารถพิจารณาโครงการอื่นๆได้เลย” เทย์ กล่าว

เจ้าหน้าที่รัฐบาลจีนมีขั้นตอนการอนุมัติใบอนุญาตนาน โดยเฉพาะโครงการดำเนินงานในเขต “เส้นปะ 9 ขีด” ของจีน ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ทะเลจีนใต้เกือบทั้งหมด และการกล่าวอ้างสิทธิเหนือเขตแดนดังกล่าวของจีนก็เป็นที่ถกเถียงกันมาตลอด

เมื่อปี 2559 ศาลโลกที่กรุงเฮก ตัดสินว่าเส้นปะ 9 ขีด ไม่มีกฎหมายพื้นฐานรองรับ ส่วนในปี 2563 อังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมนี ประเทศที่ล้วนอยู่ห่างจากทะเล เป็นหนึ่งใน 9 ประเทศที่ออกแถลงการณ์คัดค้านการกล่าวอ้างสิทธิเหนือดินแดนของจีน ขณะที่กองทัพเรือสหรัฐ ยังคงเดินเรือทำภารกิจ freedom-of-navigation ในพื้นที่ดังกล่าว

ผู้บริหารโครงการเดินสายเคเบิลอินเทอร์เน็ตใต้ทะเล กล่าวว่า ก่อนสมาคมโทรคมนาคมจะยื่นขอใบอนุญาตอย่างเป็นทางการ ต้องได้รับหนังสือยืนยันจากกองทัพปลดแอกประชาชนจีน (พีแอลเอ)

นักวิเคราะห์บางคน มีความเห็นว่า โครงการเดินสายเคเบิลอินเทอร์เน็ตใต้ทะเลที่ประสบปัญหาล่าช้า เป็นเพราะรัฐบาลปักกิ่งแก้เผ็ด รัฐบาลวอชิงตันที่พยายามกีดกันบริษัทเทคโนโลยีและบริษัทโทรคมนาคมของจีน ไม่ให้เข้าไปมีส่วนร่วมกับโครงข่ายดิจิทัลของสหรัฐ

ความขัดแย้งทวิภาคีระหว่างสหรัฐและจีนรุนแรงขึ้นตั้งแต่ปี 2563 เมื่อรัฐบาลสหรัฐภายใต้การบริหารประเทศของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ยกเลิกการมีส่วนร่วมของจีนในโครงการต่าง ๆ รวมถึงโครงการวางสายเคเบิลอินเทอร์เน็ตใต้ทะเล โดยรัฐบาลวอชิงตันได้ทำการยกเลิกหรือแก้ไขโครงการวางสายเคเบิลใหม่ที่เชื่อมโยงกับฮ่องกง ท่ามกลางการปราบปรามเสรีภาพการแสดงออกในฮ่องกงของรัฐบาลจีน

การแข่งขันชิงดีชิงเด่นระหว่างสหรัฐ-จีน ผลักดันให้บริษัทหลายแห่งต้องกระจายเส้นทางการวางสายเคเบิลอินเทอร์เน็ตใต้ทะเล ซึ่ง “มาร์วิน แทน” นักวิเคราะห์วิจัยจากเทเลจีโอกราฟี เผยว่า บรรดาผู้จัดทำโครงการเดินสายเคเบิลจำนวนมาก พยายามหลีกเลี่ยงอุปสรรคในทะเลจีนใต้ จึงตัดสินใจเดินสายเคเบิลใหม่ ให้ผ่านญี่ปุ่น ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และพื้นที่อื่น ๆ และใช้ประโยชน์จากสายเคเบิลภายในเอเชียที่มีอยู่ เพื่อเชื่อมต่อกับจีน

ภายในปี 2567 เมตาและกูเกิล คาดว่าจะสร้างเอคโค สายเคเบิลที่เชื่อมรัฐแคลิฟอร์เนียเข้ากับสิงคโปร์ ผ่านเกาะกวมของสหรัฐและอินโดนีเซีย ขณะที่เมตาและเคปเพล บริษัทโทรคมนาคมและการขนส่งของสิงคโปร์ วางแผนเดินสายเคเบิลไบฟรอสต์ ซึ่งเป็นสายเคเบิลข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกสายแรกที่ผ่านเกาะชวา 

ในปีเดียวกัน เมตา, กูเกิล, เอ็นทีที และบริษัทเทคโนโลยีอื่น ๆ หวังว่า จะเดินทางสายแอปริคอทให้เสร็จเช่นกัน ซึ่งเป็นสายเคเบิลในเอเชียสายแรกที่เลี่ยงเดินสายผ่านทะเลจีนใต้ โดยเดินสายผ่านน่านน้ำตะวันออกเฉียงเหนือของฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียแทน

ผู้บริหารบริษัทเทคโนโลยีรายหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับโครงการดังกล่าว เผยว่า “2-3 ปีที่ผ่านมานี้ เราประสบปัญหาเกี่ยวกับการขอใบอนุญาต โดยเฉพาะน่านน้ำที่จีนอ้างว่าเป็นอาณาเขตของจีน การหาวิธีลดความเสี่ยงให้เหลือน้อยที่สุด จึงเป็นหนึ่งในสิ่งที่เราให้ความสำคัญเป็นอันดับต้น ๆ ของการทำโครงการใหม่ ๆ”

ด้านเทย์ บอกว่า สิงเทลสำรวจเส้นทางเดินสายเคเบิลอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน เพื่อเชื่อมต่อข้อมูลเข้ากับศูนย์ข้อมูล แต่ในฐานะผู้ให้บริการด้าโทรคมนาคม การหลีกเลี่ยงเดินสายเคเบิลออกจากทะเลจีนใต้ทั่งหมดทำได้ยากมาก

“เราวางแผนเดินสายเคเบิลในระยะ 5 -10 ปี และถ้ายังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง การดำเนินงานคงเป็นไปได้ยากขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเดินสายเคเบิลใต้ทะเล แต่เราอยู่ในละแวกนี้ เราจึงต้องอยู่กับสถานการณ์แบบนี้ให้ได้” เทย์ กล่าว