"กุน ขแมร์" คืออะไร รู้จักกีฬาชนิดนี้ ทำไมกัมพูชาไม่ยอมใช้ชื่อมวยไทย

"กุน ขแมร์" คืออะไร รู้จักกีฬาชนิดนี้ ทำไมกัมพูชาไม่ยอมใช้ชื่อมวยไทย

"กุน ขแมร์" คืออะไร ไปดูกันว่า "กุน ขแมร์" ที่ฝั่งกัมพูชาอ้างว่าเป็นศิลปะการป้องกันตัวของชาติตัวเองและไม่ยอมรับที่จะใช้ชื่อ มวยไทย นั้น มีความคล้ายหรือเหมือนกับมวยไทยอย่างไรบ้าง โดย ไทย ยืนยันว่าจะไม่ส่งนักกีฬาเข้าร่วมในซีเกมส์ 2023 นี้

ประเด็นดราม่าที่เกิดขึ้น กรณีที่ฝ่ายจัดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ 2023 ที่ประเทศกัมพูชา ซึ่งทางเจ้าภาพยืนยันว่าจะไม่มีการบรรจุกีฬามวยไว้ในการแข่งขัน แต่จะบรรจุโดยใช้ชื่อ "กุน ขแมร์" (Kun Khmer) แทน ซึ่งแน่นอนว่าประเทศไทยจะไม่ส่งนักกีฬาเข้าร่วมในซีเกมส์ครั้งนี้ 

เกี่ยวกับเรื่องนี้ไปดูกันว่า กุน ขแมร์ ที่ฝั่งกัมพูชาอ้างว่าเป็นศิลปะการป้องกันตัวของชาติตัวเองและไม่ยอมรับที่จะใช้ชื่อ มวยไทย นั้น มีความคล้ายหรือเหมือนกับมวยไทยอย่างไรบ้าง

ก่อนหน้านี้ทาง สหพันธ์มวยไทยนานาชาติ (IFMA) ก็ประกาศยืนยันชัดเจนว่า กีฬามวยไทยและคิกบ็อกซิ่งในซีเกมส์จะต้องใช้ชื่อ "มวย" เท่านั้น พร้อมประกาศย้ำด้วยว่า หากชาติใดส่งนักกีฬาเข้าแข่งขันรายการดังกล่าวก็จะถูกแบนจากแมตช์ที่ อีฟม่า รับรองแน่ๆ

ซึ่งความคืบหน้าล่าสุดนั้น มีเพียง 3 ชาติที่ยืนยันว่าจะส่งนักกีฬาร่วมแข่งขัน กุน ขแมร์ ในซีเกมส์ครั้งนี้ ได้แก่ กัมพูชา (เจ้าภาพ) ลาว และ เมียนมา อย่างไรก็ตาม ตามกฎของสหพันธ์ซีเกมส์แล้วนั้น กีฬาแต่ละชนิดจะต้องมีประเทศเข้าร่วมแข่งอย่างน้อย 4 ชาติ ซึ่งต้องรอดูต่อไปว่า กุน ขแมร์ จะได้จัดการแข่งขันในซีเกมส์ครั้งนี้หรือไม่ ทั้งนี้ มวยไทย ถูกบรรจุในมหกรรมกีฬาซีเกมส์เป็นครั้งแรกในปี ค.ศ.2005 โดยชาติที่อนุมัติคือ ประเทศฟิลิปปินส์ เจ้าภาพาซีเกมส์ในครั้งนั้น โดยใช้ชื่อการแข่งขันว่า "Muay Thai" (มวยไทย)

"กุน ขแมร์" คืออะไร

เป็นกีฬาศิลปะการต่อสู้พื้นบ้านของประเทศกัมพูชา มีชื่อทางการว่า "Kbach Kun Pradal Khamm" หมายถึง การต่อสู้อย่างอิสระ เป็นศิลปะการต่อสู้ท่ายืนโดยมีเป้าหมายเพื่อน็อกคู่ต่อสู้ บีบให้ยอมแพ้หรือการชนะคะแนน โดยใช้อวัยวะ 4 อย่างเป็นอาวุธในการต่อสู้ ประกอบด้วย หมัด เท้า เข่า ศอก โดยนักสู้ชาวกัมพูชามักจะใช้ศอกโจมตีมากกว่าศิลปะการต่อสู้อื่นๆในภูมิภาคนี้ 

"กุน ขแมร์" มีมาตั้งแต่ยุคอาณาจักรขอม เป็นการต่อสู้ที่ใช้ในกองทหารของอาณาจักร มีรากฐานมาจากการต่อสู้แบบประชิดตัว จากหลักฐานในภาพนูนต่ำและนูนสูงตามปราสาทหินต่างๆแสดงให้เห็นว่ามีรูปแบบคล้ายการต่อสู้ชนิดนี้มาตั้งแต่ศตวรรษที่ 9

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

- จับโป๊ะ! ภาพอ้างศิลปะการต่อสู้ "โบกาตอร์" BOKATOR ที่แท้เป็นครูมวยไทย

 

ในช่วงเวลานั้น อาณาจักรขอมหรือเขมรได้ควบคุมพื้นที่ส่วนใหญ่ในภูมิภาคนี้ กินพื้นที่ทั้งในกัมพูชา ลาว ไทย และบางส่วนของเวียดนาม ส่งผลให้กัมพูชามีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมไทยและลาวอย่างมาก สิ่งนี้ทำให้ชาวเขมรยืนยันว่ารูปแบบการชกมวยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหมดเริ่มต้นจากชาวมอญและเขมรในยุคแรกๆ ซึ่งรวมถึง "มวยไทย" ที่ชาวกัมพูชาเชื่อว่าเป็นการต่อสู้ที่มีรากฐานมาจาก กุน ขแมร์ ด้วย

กุน ขแมร์ แบบดั้งเดิมจะเป็นการต่อสู้ในหลุมดิน มือถูกพันด้วยเชือก หรือที่เรียกว่า "คาดเชือก" บางครั้งมีการนำเปลือกหอยมาพันรอบข้อนิ้วเพื่อเพิ่มการบาดเจ็บให้คู่ต่อสู้ และการต่อสู้กันจนถึงแก่ความตายก็ไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับการต่อสู้แบบนี้

อย่างไรก็ตาม ช่วงยุคอาณานิคม ศิลปะการต่อสู้ชนิดนี้ถูกเจ้าอาณานิคมจากยุโรปมองว่าเป็นสิ่งโหดร้ายและไร้อารยธรรม ส่งผลให้ชาวฝรั่งเศสพยายามเปลี่ยนศิลปะการต่อสู้ชนิดนี้ให้กลายเป็นกีฬาโดยเพิ่มกติกาบางอย่างเข้าไป ไม่ว่าจะเป็นการจับเวลา แบ่งการแข่งขันเป็นยกการสู้ในเวทีมวย และให้ใช้นวมชกมวยแบบตะวันตกเพื่อลดอาการบาดเจ็บ

จากนั้น กัมพูชา ได้พยายามที่จะฟื้นฟูศิลปะวัฒนธรรมดั้งเดิมกลับคืนมาอีกครั้งและ "กุน ขแมร์" ก็เป็นหนึ่งในสิ่งที่ได้รับการฟื้นฟูขึ้นมาด้วย โดยเริ่มมีโรงยิมเพื่อฝึกฝนอย่างเป็นจริงเป็นจัง พัฒนามาสู่การมีนักสู้ต่างชาติเข้ามาฝึก รวมถึงการจัดการแข่งขันทุกๆสัปดาห์ ขยายไปสู่การไปแข่งขันในประเทศต่างๆทั่วโลก

ปัจจุบัน กุน ขแมร์ ควบคุมโดยสหพันธ์มวยกัมพูชา (CBF) ที่ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 1961 โดยผู้ตัดสินและนักมวยทุกคนต้องมีการขึ้นทะเบียนอนุญาตจาก CBF สถานีโทรทัศน์ที่จัดการแข่งขันมวยก็ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของ CBF

ในส่วนของ รูปแบบการแข่งขัน กุน ขแมร์ ในปัจจุบัน กำหนดการชก 5 ยก (ยกละ 3 นาที) และและจะมีการพักระหว่าง 1 นาทีครึ่งถึง 2 นาที ส่วนกฏ กติกานั้น คือการใช้ศิลปะการต่อสู้ หมัด เท้า เข่า ศอก โดยห้ามชกเมื่อคู่ต่อสู้ล้มลงกับพื้น ห้ามกัด ไม่อนุญาตให้ทำร้ายด้านหลังของฝ่ายตรงข้าม ห้ามจับเชือกหรือเกี่ยวเชือก ห้ามต่อยที่จุดยุทธศาสตร์ของนักมวย การน็อกเอาต์เกิดขึ้นเมื่อนักมวยล้มลงกับพื้นและไม่สามารถชกต่อไปได้หลังจากกรรมการนับ 1-10 หรือ กรรมการสามารถยุติการชกได้ทันที หากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดอยู่ในสภาพที่ไม่สามารถสู้ได้ สุดท้ายหากสู้กันครบ 5 ยกจะตัดสินด้วยคะแนน กรณีไม่มีการน็อกเกิดขึ้น

สรุปได้ว่า กุน ขแมร์ มีกติกาที่แทบจะเหมือนกับ มวยไทย เป๊ะๆ ต่างกันที่รูปแบบ สไตล์ หรือลักษณะการต่อสู้ของนักมวยแต่ละคนเท่านั้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ฝั่งไทย โดยสมาคมกีฬามวยไทยสมัครเล่นแห่งประเทศไทย ยืนยันหนักแน่นว่า จะไม่ส่งนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันในครั้งนี้เด็ดขาด เพราะที่ผ่านมาในซีเกมส์มีการตกลงกันไว้แล้วว่าให้ใช้ชื่อ "มวย" เท่านั้น