ประเมินความเสี่ยงการเสียชีวิตจาก ‘โรคไม่ติดต่อ’ | ศุภวุฒิ สายเชื้อ

ประเมินความเสี่ยงการเสียชีวิตจาก ‘โรคไม่ติดต่อ’ | ศุภวุฒิ สายเชื้อ

“All I want to know is where I’m going to die, so I’ll never go there.” - Charlie Munger ความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้คือ ยิ่งอายุมากขึ้น โอกาสจะตายก็เพิ่มขึ้น ดังนั้น คำถามที่ตามมาคือ จะตายจากสาเหตุใด

ผมเป็นผู้สูงอายุและอายุก็จะมีแต่เพิ่มขึ้นพร้อมกับความเสี่ยงที่จะเสียชีวิต ข้อมูลนี้ผมหาในประเทศไทยไม่พบ แต่มีข้อมูลของสหรัฐ ซึ่งพอจะสรุปได้ดังนี้

ผู้ชายอายุ 67 ปี (ตัวผม) มีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิต 2% (ผู้หญิงอายุ 67 ปีมีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิต 1% เปรียบเทียบกับผู้ชายอายุ 37 ปีที่มีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตเพียง 0.3% (ผู้หญิง 0.1%) และหากผมโชคดีอายุยืนไปถึง 97 ปี ก็ต้องรับรู้ว่าความเสี่ยงในการเสียชีวิตในปีนั้นเท่ากับ 33%

 สำหรับข้อมูลของประเทศไทยเกี่ยวกับสาเหตุการเสียชีวิต 10 อันดับแรกนั้น ผมนำมาสรุปดังที่ปรากฏตารางประกอบ

ผมได้นำเอาข้อมูลในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา เพื่อดูแนวโน้มการเสียชีวิตของคนไทย ซึ่งผมมีข้อสังเกตดังนี้

1.โรคหัวใจขาดเลือดและโรคหลอดเลือดในสมอง เป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิต และความเสี่ยงนี้เพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก รวมกันจากเกือบ 118 คน ต่อ 100,000 คน ในปี 2543 มาเป็นเกือบ 146 ต่อ 100,000 คน ในปี 2562 กล่าวคือเพิ่มขึ้นถึง 23.7%

แม้ว่าเรามักจะเข้าใจว่าการดูแลรักษาด้วยยาชนิดใหม่ๆ และเทคโนโลยีล้ำยุคจะช่วยลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคดังกล่าวได้ ทำให้เราต้องหันมาถามตัวเองว่าเราจะพยายามดูแลตัวเองให้ดีขึ้นอย่างไร

2.ดูเสมือนว่ามีข่าวดีอยู่บ้าง คืออุบัติเหตุจากการใช้ยานพาหนะลดลง แต่ควรจะลดลงได้มากกว่านี้ รวมถึงโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) แต่โรคที่ดูเหมือนว่าจะตกอันดับจาก 10 โรคแรก คือ โรคเอดส์ ซึ่งไม่ปรากฏในข้อมูลชุดนี้

3.การเสียชีวิตของคนไทยนั้นเกือบทั้งหมดเกิดจากโรคไม่ติดต่อ ยกเว้นโรคเอดส์ อุบัติเหตุจากยานพาหนะ และโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง ซึ่งโรคหลังนี้ดูเสมือนว่าเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยส่วนหนึ่งอาจเกิดจากคุณภาพอากาศย่ำแย่ลงจากการเพิ่มขึ้นของฝุ่น PM2.5 ก็เป็นได้

4.โรคที่ “มาแรง” อีกโรคหนึ่งคือ โรคสมองเสื่อม ที่เพิ่มขึ้นจาก 19 คนต่อ 100,000 คน มาเป็น 33 คน ต่อ 100,000 คน ภายในเวลา 10 ปี (เพิ่มขึ้น 68.5%) และโรคไตที่เพิ่มขึ้นจาก 26 คนต่อ 100,000 คน มาเป็น 39 คนต่อ 100,000 คน (เพิ่มขึ้น 50.8%)

ประเมินความเสี่ยงการเสียชีวิตจาก ‘โรคไม่ติดต่อ’ | ศุภวุฒิ สายเชื้อ

5.การเสียชีวิตจากโรคเบาหวานนั้น ดูเสมือนว่าจะไม่ได้เพิ่มขึ้นมากในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา แต่เป็นที่ทราบกันดีว่าการเป็นโรคเบาหวานนั้นเพิ่มความเสี่ยงจากการเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง และภาวะไตล้มเหลว เป็นต้น

นอกจากนั้นโรคเบาหวานเสี่ยงที่จะทำให้เส้นเลือดฝอยเสียหาย ซึ่งเสี่ยงอย่างมากที่จะทำให้ตาบอด จากการศึกษาข้อมูลด้านสุขภาพมาร่วม 10 ปี ผมมีความเห็นว่าโรคเบาหวานนั้นเป็นภัยอันตรายอย่างมาก 

และในหนังสือ Outlive ของ นพ.Peter Attia นั้นได้เปรียบเทียบการเป็นโรคเบาหวานเหมือนกับการขึ้นรถไฟในสถานีแรกบนเส้นทางที่นำไปสู่โรคไม่ติดต่อเรื้อรังต่างๆ ดังนั้น จึงควรจะหลีกเลี่ยงการขึ้นรถไฟสายที่จะนำไปสู่การเป็นโรคเบาหวานให้จงได้

ผมก็ยังได้นำข้อมูลเดียวกันสำหรับปี 2562 แต่แบ่งเป็นข้อมูลของผู้ชายไทยและผู้หญิงไทย ดังที่ปรากฏในตาราง จะเห็นได้ว่า ข้อมูลผู้หญิงไทยและผู้ชายไทยแตกต่างกันอย่างมาก ผู้ชายมีความเสี่ยงจากการตายด้วยโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมองมากกว่าผู้หญิง รวมทั้งการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจากยานพาหนะ

สำหรับผู้หญิงนั้น ผมแปลกใจที่เป็นโรคเอดส์ในอัตราที่สูงมาก (18 คนต่อ 100,000 คน) และยังเป็นโรคสมองเสื่อมสูงมากถึง 42.7 คนต่อ 100,000 คน ข้อมูลของผู้ชายไม่ได้ปรากฏใน 10 อันดับแรก แต่ผมเชื่อว่าคงจะเพิ่มขึ้นอย่างมากในอนาคต

นอกจากนั้นแล้ว โรคมะเร็ง (ในข้อมูลชุดนี้จะมีโรคมะเร็งตับ มะเร็งปอด และหลอดลม) ก็ยังเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตที่ลำดับต้นๆ ของทั้งผู้ชายและผู้หญิงอีกด้วย ซึ่งในส่วนของมะเร็งตับนั้น เพิ่มขึ้นอย่างมากจนน่าเป็นห่วงครับ

คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์+สุขภาพ

ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยภัทร

กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร