หน้าร้อน!เช็กโรคฮิตที่พบบ่อย รู้ก่อนป้องกันได้

หน้าร้อน!เช็กโรคฮิตที่พบบ่อย รู้ก่อนป้องกันได้

นับวันอากาศยิ่งร้อนมากขึ้นเรื่อยๆ ถึงประเทศไทยจะเรียกได้ว่ามีฤดูร้อนแทบทั้งปี แต่ดูเหมือนว่า…เดือนเมษายนนี่แหละที่อากาศร้อนแบบสุดๆ ร้อนจนแบบนั่งเฉยๆ เหงื่อยังไหล แถมอากาศที่ร้อน(จนเกินไป)อาจนำโรคมามากมาย 

KEY

POINTS

  • โรคหน้าร้อนที่คนไทยต้องระวัง เพราะความไม่สบายเนื้อไม่สบายตัวและอาการเจ็บป่วยแบบนี้ มันมากับความร้อน ชาวเมืองร้อนอย่างเรา ๆ ต้องรู้ให้เท่าทัน ป้องกันได้
  • 7 โรคฮิตที่มาพร้อมกับหน้าร้อนในทุกๆปี ที่ทุกคนต้องเฝ้าระวัง ไม่ว่า ฮีทสโตรก พิษสุนัขบ้า โรคอุจจาระร่วง โรคบิด  อหิวาตกโรค อาหารเป็นพิษ ที่ต้องเฝ้าระวัง
  • เลือกกินอาหารที่ปรุงสุก สะอาด งดเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ ล้างมือ ดื่มน้ำที่สะอาด หมั่นออกกำลังกาย และพักผ่อนให้เพียงพอ

นับวันอากาศยิ่งร้อนมากขึ้นเรื่อยๆ ถึงประเทศไทยจะเรียกได้ว่ามีฤดูร้อนแทบทั้งปี แต่ดูเหมือนว่า…เดือนเมษายนนี่แหละที่อากาศร้อนแบบสุดๆ ร้อนจนแบบนั่งเฉยๆ เหงื่อยังไหล แถมอากาศที่ร้อน(จนเกินไป)อาจนำโรคมามากมาย 

กรมอุตุนิยมวิทยา รายงานในช่วงวันที่ 8 – 11 เม.ย. 67 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ในขณะที่ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด ประกอบกับมีลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้และอ่าวไทยเข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้นในระยะแรก โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง ลูกเห็บตก ฝนตกหนักบางแห่ง รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ โดยจะเริ่มมีผลกระทบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือก่อน ส่วนภาคอื่นๆ จะได้รับผลกระทบในระยะต่อไป

ประกอบกับในช่วงวันที่ 9 – 11 เม.ย. 67 จะมีคลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันตกเคลื่อนผ่านประเทศเมียนมาและผ่านภาคเหนือตอนบน 

พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า ความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีอากาศร้อนถึงร้อนจัดโดยทั่วไปกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน ขอให้ประชาชนดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจาก สภาพอากาศร้อนถึงร้อนจัด โดยหลีกเลี่ยงการทำงานหรือการประกอบกิจกรรมในที่โล่งแจ้งเป็นระยะเวลานานไว้ด้วย 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

"ฮีทสโตรก"โรคประจำหน้าร้อน ยิ่งร้อนยิ่งเกิดโรค

นพ.ณัฏฐ์ บุญตะวัน แพทย์ประจำสาขาอายุรกรรม โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ  กล่าวว่า อากาศที่ร้อนขึ้นในช่วงหน้าร้อน ไม่เพียงทำให้รู้สึกหงุดหงิด แต่ยังเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคบางอย่างได้ง่ายขึ้นอีกด้วย เพราะเชื้อโรคบางชนิดจะเจริญเติบโตได้ดีในสภาพอากาศร้อน เราจึงควรระมัดระวังด้วยการรู้เท่าทันและหาทางป้องกันไว้ก่อน ซึ่งได้แก่

  •  โรคฮีทสโตรก (Heat stroke) หรือ โรคลมแดด

เป็นโรคที่ร่างกายเกิดความร้อนสะสม โดยมีอุณหภูมิสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส มักเกิดในหน้าร้อน โดยอาการที่สังเกตได้ คือ รู้สึกเมื่อย ล้า อ่อนเพลีย ตัวร้อนมาก ปวดศีรษะ หน้ามืด จากนั้นอุณหภูมิในร่างกายจะสูงขึ้นเรื่อยๆ จนรูขุมขนปิด ทำให้เหงื่อไม่ออก ชีพจรเต้นเร็ว ใจสั่น จนถึงขั้นชักกระตุก เกร็ง และหมดสติได้

หน้าร้อน!เช็กโรคฮิตที่พบบ่อย รู้ก่อนป้องกันได้

หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและทันท่วงที อาจทำให้หัวใจหยุดเต้นและถึงแก่ชีวิตได้ โดยความรุนแรงของโรคลมแดด (Heat Stroke) จะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น โรคประจำตัวอย่างเบาหวาน หัวใจ ความดันโลหิตสูง หรือมีภาวะขาดน้ำ โดยในกลุ่มที่ติดสุราเรื้อรังโรคก็จะยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น

เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคลมแดด ควรดื่มน้ำให้เพียงพอ อย่างน้อยวันละ 8 แก้ว ใส่เสื้อผ้าสีอ่อน ผ้าโปร่ง ระบายอากาศได้ดี หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดดหรือออกกำลังกายในสภาพอากาศที่ร้อนจัด และงดเครื่องดื่มแอลกฮอล์

โรคฮิตที่มาพร้อมกับหน้าร้อน รู้ทันป้องกันได้

  • โรคพิษสุนัขบ้า หรือ โรคกลัวน้ำ

เกิดจากการติดเชื้อไวรัสที่มีอยู่ในน้ำลายสัตว์ ผ่านการกัด ข่วน หรือถูกเลียบริเวณแผล หรือแม้แต่น้ำลายนั้นเข้าตา ปาก จมูก หลังการติดเชื้อผู้ป่วยจะมีอาการทางระบบประสาท เช่น ชัก ประสาทหลอน หรืออัมพาต ที่สำคัญเมื่อมีอาการแล้วจะเสียชีวิตทุกราย

ดังนั้น หากถูกสุนัขหรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกัด หรือเป็นผู้สุ่มเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อ ให้รีบล้างแผลด้วยสบู่และน้ำสะอาดหลายๆ ครั้ง แล้วรีบไปพบแพทย์เพื่อฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และควรนำสุนัขหรือสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนทุกปี เพื่อความปลอดภัยสำหรับคนในบ้านและสัตว์เลี้ยง

  • โรคอุจจาระร่วง หรือ ท้องเสีย

เกิดจากการกินอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อโรคต่างๆ เช่น แบคทีเรีย ไวรัส โปรโตซัว พยาธิ หรือในบางรายอาจได้รับเชื้อโรคจากการใช้มือหยิบจับสิ่งของที่ปนเปื้อนแล้วนำเข้าปาก

อาการของโรคอุจจาระร่วงคือ การถ่ายเหลวหรือถ่ายเป็นน้ำอย่างน้อย 3 ครั้งขึ้นไปต่อวัน หรือถ่ายเป็นมูกปนเลือด 1 ครั้งขึ้นไปต่อวัน หากปล่อยไว้ร่างกายจะสูญเสียน้ำและเกลือแร่ ทำให้อ่อนเพลีย อวัยวะต่างๆ เสียสมดุลการทำงาน และเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ตามมาจนทำให้เกิดภาวะช็อก หมดสติ และเสียชีวิตได้

  •  อาหารเป็นพิษ

เป็นโรคในระบบทางเดินอาหารที่เกิดจากการกินอาหารหรือดื่มน้ำที่มีการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรีย รวมถึงอาหารกึ่งสุกกึ่งดิบ หรืออาหารดิบ

โดยอาการจะมีหลายอย่าง เช่น มีไข้ คลื่นไส้อาเจียน ปวดเมื่อยตามตัว ปวดท้อง ท้องร่วง บางรายอาจถ่ายเหลวเป็นน้ำจนร่างกายเกิดภาวะขาดน้ำและเกลือแร่ หรือเกิดการติดเชื้อไปยังอวัยวะอื่นๆ หากเกิดในเด็กทารกหรือผู้สูงอายุอาจทำให้ภูมิต้านทานลดลงมากจนทำให้เสียชีวิตได้

 

หน้าร้อน!เช็กโรคฮิตที่พบบ่อย รู้ก่อนป้องกันได้

  •  อหิวาตกโรค

เป็นโรคติดต่อที่มีสาเหตุมาจากการกินอาหารหรือดื่มน้ำที่มีเชื้อแบคทีเรียวิบริโอ โคเลอรี (Vibrio Cholerae) ปนเปื้อนอยู่ โดยเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้จะทำปฏิกิริยากับเยื่อบุผนังลำไส้เล็ก ส่งผลให้มีอาการถ่ายเหลวหรือถ่ายเป็นน้ำอย่างรุนแรง โดยไม่มีอาการปวดท้อง

หากปล่อยไว้ อาจก่อให้เกิดอาการขาดน้ำและเกลือแร่อย่างรวดเร็ว จนทำให้หมดสติ ในบางรายที่มีอาการรุนแรงมากๆ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้

  •  โรคบิด

เกิดจากการกินอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียหรืออะมีบา อาหารกึ่งสุกกึ่งดิบ เมื่อเชื้อเข้าสู่กระเพาะอาหารจะผ่านเข้าสู่ลำไส้ จากนั้นผนังลำไส้จะเกิดอาการบวม อักเสบ ทำให้มีไข้ขึ้น ปวดเมื่อยตามตัว ปวดท้องแบบปวดเบ่งที่ทวารหนักคล้ายถ่ายไม่สุด และถ่ายเป็นมูกปนเลือดบ่อยครั้ง

  • โรคไข้ไทฟอยด์ หรือ โรคไข้รากสาดน้อย

เกิดจากการกินอาหารหรือน้ำดื่มที่มีเชื้อแบคทีเรียซัลโมเนลล่า ไทฟี่ (Salmonella typhi) ซึ่งโรคไข้ไทฟอยด์จะทำให้ผู้ป่วยมีไข้สูงลอย ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามตัว เบื่ออาหาร อาจท้องผูกหรือท้องเสียร่วมด้วย ในผู้ป่วยบางรายอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง และแม้จะหายจากโรคแล้วก็ยังเป็นพาหะแพร่เชื้อไปยังผู้อื่นได้

  • ผิวหนังไหม้แดด

ร้อนจัดแบบนี้ใครจำเป็นต้องออกไปทำงานนอกสถานที่ เห็นทีต้องระวังอาการผิวแสบร้อนจากแดดให้มาก โดยอาการไหม้แดดจะเกิดเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับสีผิวของแต่ละคน ยิ่งผิวขาวมากเท่าไรก็จะยิ่งไหม้เร็วเท่านั้น อาการจะเริ่มจากคันผิว ผิวแสบแดง ปวดแสบปวดร้อน ผิวบวมแดง ไปถึงขั้นพุพองเหมือนโดนน้ำร้อนลวก ซึ่งถ้ามีอาการถึงขั้นนี้ควรรีบปรึกษาแพทย์ เพราะหากแผลแตกจะทำให้เกิดการอักเสบที่ผิวหนังได้เลย

วิธีป้องกันก็คือ พยายามอย่าอยู่กลางแดดจัด และต้องไม่ลืมทาครีมกันแดดแม้จะไม่ได้อยู่กลางแจ้ง เพราะรังสียูวีสามารถสะท้อนจากพื้นขึ้นมาทำลายผิวได้อยู่ดี 

  • เพลียแดด

สาเหตุเกิดจากการอยู่ในสภาวะอากาศร้อนจัดเป็นเวลานาน ทำให้อุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้น แต่ยังไม่ถึง 40 องศาเซลเซียสเหมือนกับโรคลมแดด แต่ก็เพียงพอที่จะทำให้รู้สึกปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย ไม่มีแรง เป็นตะคริวและมีไข้ได้ แต่คนมีอาการเพลียแดดยังคงมีสติอยู่ และเป็นสัญญาญเตือนว่า ต้องรีบแก้ไขก่อนที่จะเกิดลมแดด ซึ่งอันตรายมากกว่าเพราะทำให้เสียชีวิตได้

หน้าร้อน!เช็กโรคฮิตที่พบบ่อย รู้ก่อนป้องกันได้

รู้เท่าทัน ป้องกันโรคได้

จะเห็นได้ว่า โรคที่มากับหน้าร้อนส่วนใหญ่ มักเป็นโรคติดต่อที่เกิดจากการกินอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อโรค ดังนั้นเพื่อหลีกเลี่ยงและลดเสี่ยงโรคต่างๆ ในหน้าร้อน เราจึงควรทำดังนี้

  • เลือกกินอาหารที่ปรุงสุก สะอาด ไม่บูด หรือไม่นำวัตถุดิบที่เริ่มเสียมาปรุงอาหาร
  • งดเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์
  • ล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง ทั้งก่อนและหลังมื้ออาหาร รวมถึงหลังใช้ห้องน้ำ
  • ดื่มน้ำที่สะอาด เช่น น้ำดื่มบรรจุขวดที่มีเครื่องหมาย อย. หรือน้ำต้มสุก
  • ดื่มน้ำให้เพียงพออย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว โดยจิบบ่อยๆ ทั้งวัน
  • หมั่นออกกำลังกายสม่ำเสมอ
  • พักผ่อนให้เพียงพอ

นอกจากนี้ การตรวจเช็กสุขภาพประจำปีก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้เราได้รู้จักร่างกายของตนเองดีขึ้น จะได้ระมัดระวังโรคต่างๆ ได้ง่ายขึ้น ซึ่งหากมีอาการใดๆ ที่ผิดสังเกต ก็ควรรีบพบแพทย์ เพื่อให้ได้รับการตรวจและรักษาอย่างทันท่วงที เพราะโรคติดเชื้อหลายโรค ก็สามารถทำให้เสียชีวิตได้ในเวลาอันรวดเร็ว

หน้าร้อน!เช็กโรคฮิตที่พบบ่อย รู้ก่อนป้องกันได้

4 โรคที่พบบ่อยในเด็ก…ในช่วงหน้าร้อน

พญ. พรนภา แซ่ตั้ง แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกุมารเวชศาสตร์ ศูนย์สุขภาพเด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลพญาไท นวมินทร์ กล่าวว่าร่างกายที่อ่อนเพลียจากอุณหภูมิที่สูงขึ้น อาจทำให้เด็กๆ ที่มีภูมิต้านน้อยอยู่แล้วเจ็บป่วยได้ง่ายขึ้น และโรคที่พบบ่อยในช่วงหน้าร้อนนั้น ได้แก่

  • โรคอุจจาระร่วง และ อาหารเป็นพิษ

อุณหภูมิที่สูงขึ้นทำให้เชื้อโรคเติบโตเร็ว ทั้งเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย ทำให้อาหารเสียได้ง่ายรวมถึงอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่สะอาดนั้นเป็นสาเหตุที่ทำให้เด็กๆ เกิดโรคอุจจาระร่วงและอาหารเป็นพิษได้ง่าย

อาการ : ปวดท้องแบบปวดเกร็งในท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลวตั้งแต่ 3 ครั้งขึ้นไป ใน 1 วัน ถ้าอาการรุนแรงจะถ่ายเป็นมูกเลือดได้ ซึ่งหากเกิดจากเชื้อแบคทีเรียควรต้องกินยาฆ่าเชื้อ จึงควรรีบมาพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ

การดูแล : ดื่มน้ำเกลือแร่เพื่อชดเชยภาวะขาดน้ำและเกลือแร่ รักษาตามอาการ เช่น ยาลดอาการอาเจียนและปวดท้อง แต่ไม่ควรกินยาหยุดถ่าย เพราะจะเป็นการขจัดสารพิษออกจากระบบทางเดินอาหาร ถ้าหากใน 1 วันอาการยังไม่ดีขึ้น ควรรีบพาเด็กมาพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างถูกต้อง

การป้องกัน : ดูแลสุขอนามัยในการรับประทานอาหาร ควรเลือกรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ เครื่องดื่มสะอาด รวมทั้งควรดูแลสุขอนามัยอื่นๆ เช่น ล้างมือบ่อย ๆ โดยเฉพาะก่อนกินอาหาร และหลังจากเข้าห้องน้ำทุกครั้ง และดูแลของใช้ของเด็กๆ ให้สะอาดอยู่เสมอ

  • โรคลมแดด หรือ โรคฮีทสโตรก (Heat Stroke)

การที่อุณหภูมิรอบๆ ตัวสูงขึ้น ทำให้อุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้นตามไปด้วย บางครั้งอาจสูงจนถึง 40 องศาเซลเซียสหรือมากกว่านั้น ซึ่งส่งผลให้เกิดโรคลมแดดหรือโรคฮีทสโตรกได้นั่นเอง

อาการ : ชีพจรเต้นเร็ว ปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน เป็นผื่นแดงๆ ตามร่างกาย อาจมีอาการสับสน กระวนกระวาย เพ้อ และชักหรือหมดสติได้

การดูแล : ควรรีบพาเด็กเข้าในร่ม ที่ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก ถอดเสื้อผ้าและคลายเครื่องแต่งกายที่รัดแน่นจนเกินไป ให้เด็กนอนหงายและเช็ดตัวเพื่อให้อุณหภูมิในร่างกายลดลงเร็วขึ้น

การป้องกัน : ในวันที่อากาศร้อนมาก ควรให้เด็กสวมเสื้อผ้าโปร่งที่ระบายลมได้ดี ดื่มน้ำบ่อยๆ และพยายามอยู่ในที่ที่อากาศถ่ายเทได้สะดวก

หน้าร้อน!เช็กโรคฮิตที่พบบ่อย รู้ก่อนป้องกันได้

  • โรคผดร้อน

“เหงื่อ” ที่ร่างกายขับออกมาเพื่อช่วยระบายความร้อน เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคผิวหนัง  และโรคที่พบมากในเด็กคือ  “โรคผดร้อน” ที่เกิดจากการอุดตันของต่อมเหงื่อนั่นเอง

อาการ : คัน มีผื่นเป็นเม็ดแดงๆ เล็กๆ ปรากฏได้ทั่วร่างกายบริเวณใบหน้า ซอกคอ หน้าอก หลัง และต้นขา

การดูแล : คอยดูแลให้บริเวณที่เกิดผดนั้นเย็นและแห้งอยู่เสมอ โรคนี้สามารถหายได้เองภายใน 2-3 วัน แต่หากผดร้อนและอาการอื่นๆ ที่ปรากฏมีความรุนแรงขึ้น แพทย์อาจให้ผู้ป่วยใช้ยารักษาตามอาการ

การป้องกัน : ป้องกันโดยใส่เสื้อผ้าบางสบาย อย่าให้ผิวหนังอับชื้นจากเหงื่อ หลีกเลี่ยงการทาครีม โลชั่นที่มีส่วนผสมของปิโตรเลียมเจลลี่เพราะทำให้รูขุมขนอุดตัน

  • โรคไข้หวัดใหญ่

เป็นโรคติดต่อของระบบทางเดินหายใจที่เกิดจากเชื้อไวรัส พบได้ตลอดปีและพบได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ แต่หากพบในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ หรือในผู้สูงอายุ มักมีอาการรุนแรงมากกว่าวัยอื่นๆ และมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนได้

อาการ : เริ่มจากรู้สึกครั่นเนื้อครั่นตัว ปวดหัวปวดเมื่อยตามตัวมาก และปวดเบ้าตา มีอาการไข้สูง 39-40 องศาเซลเซียส ไอมีเสมหะ มักไม่ค่อยมีน้ำมูก ถ้าหากเป็นรุนแรงอาจเกิดภาวะปอดอักเสบแทรกซ้อนได้

การดูแล :

กลุ่มเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ ผู้สูงอายุ และคนที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ หอบหืด จะเป็นกลุ่มที่มีโอกาสเป็นรุนแรง จะให้ยาต้านไวรัสโดยตรง

กลุ่มเด็กโตหรือผู้ใหญ่ ส่วนใหญ่มักจะหายได้เอง หากมีอาการไม่รุนแรงสามารถดูแลเองที่บ้านหรือรักษาตามอาการได้ เช่น เช็ดตัว กินยาลดไข้ ดื่มน้ำเยอะๆ และพักผ่อนให้เพียงพอ แต่ถ้ามีอาการรุนแรงควรมาพบแพทย์เพราะอาจมีภาวะแทรกซ้อน

การป้องกัน : เนื่องจากโรคไข้หวัดใหญ่เป็นโรคที่ติดต่อได้ง่ายจากการไอจาม สัมผัสน้ำมูกน้ำลายของผู้ป่วย รวมถึงอยู่ในสถานที่แออัด อากาศไม่ถ่ายเท ดังนั้นทั้งเด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 5 ขวบตลอดจนผู้สูงอายุ ควรได้รับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ทุกปี ปีละ 1 ครั้งเพื่อเป็นการป้องกันโรค

หน้าร้อน!เช็กโรคฮิตที่พบบ่อย รู้ก่อนป้องกันได้

โรคต่างๆ ที่พาเหรดกันมาในช่วงหน้าร้อน ทำให้คุณพ่อคุณแม่ยิ่งต้องระมัดระวังในการดูแลสุขภาพของลูกน้อยเป็นพิเศษ เพื่อปกป้องลูกน้อยไม่ให้เจ็บป่วย …อย่าให้ความร่าเริงของเด็กๆ ต้องมาสะดุด เพราะ “โรคในหน้าร้อน"

 

 

อ้างอิง : กรมอุตุนิยมวิทยา ,โรงพยาบาลพญาไท ,โรงพยาบาลเปาโล