เข้าใจ 'ไบโพลาร์' บางครั้งอารมณ์ดี บางครั้งซึมเศร้า

เข้าใจ 'ไบโพลาร์' บางครั้งอารมณ์ดี บางครั้งซึมเศร้า

30 มีนาคมของทุกปี วันไบโพลาร์โลก (World bipolar day) ทำความเข้าใจ "ไบโพลาร์" อาการป่วยที่บางครั้งอารมณ์ดี บางครั้งซึมเศร้า ไม่ใช่โรคแปลกหรือน่ากลัว สามารถหายได้ถ้าได้รับการรักษาที่ถูกต้อง

KEY

POINTS

  • 30 มีนาคม ของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็น วันไบโพลาร์โลก (World bipolar day) เพื่อให้เกิดความตระหนักสร้างความรู้ความเข้าใจ และเปิดใจให้กับ “โรคไบโพลาร์” หรือ โรคอารมณ์ 2 ขั้ว
  • โรคไบโพลาร์ ไม่ใช่โรคแปลกหรือน่ากลัว สามารถหายได้ถ้าได้รับการรักษาที่ถูกต้อง เกิดจากการทำงานที่ผิดปกติของสมอง โดยมีสารสื่อประสาทที่ไม่สมดุล อีกทั้งยังมีปัจจัยทางพันธุกรรมเกี่ยวข้องค่อนข้างมาก
  • ช่วงที่ผู้ป่วยอารมณ์ซึมเศร้า อาจมีเบื่อหน่าย ท้อแท้ หงุดหงิดง่าย บางคนมีความคิดอยากตายซึ่งมีไม่น้อยที่นำไปสู่การฆ่าตัวตาย ขณะที่ช่วงอารมณ์ดีผิดปกติ จะรู้สึกว่าตัวเองมีความสำคัญหรือความสามารถมาก นอนน้อย คิดเร็ว มีกิจกรรมมาก สมาธิลดลง การตัดสินใจไม่เหมาะสม

30 มีนาคมของทุกปี วันไบโพลาร์โลก (World bipolar day) ทำความเข้าใจ "ไบโพลาร์" อาการป่วยที่บางครั้งอารมณ์ดี บางครั้งซึมเศร้า ไม่ใช่โรคแปลกหรือน่ากลัว สามารถหายได้ถ้าได้รับการรักษาที่ถูกต้อง

30 มีนาคม วันไบโพลาร์โลก (World bipolar day) กำหนดขึ้นเพื่อให้ตระหนักสร้างความรู้ความเข้าใจ และเปิดใจให้กับ “โรคไบโพลาร์” หรือ โรคอารมณ์ 2 ขั้ว ซึ่งสาเหตุสำคัญ คือ ความผิดปกติของสารเคมีในสมอง อาการมีอารมณ์แปรปรวนผิดปกติ ร่าเริงผิดปกติ ไม่หลับ ไม่นอน พูดมาก พูดเร็ว เชื่อมั่นในตัวเองสูง อารมณ์เศร้าผิดปกติ ไม่อยากพบใคร ไม่อยากทำอะไร คิดลบ คิดช้า ไม่มีสมาธิ คิดว่าตัวเองไม่มีคุณค่า อาจคิดฆ่าตัวตายได้

 

ขณะเดียวกัน ครอบครัวเป็นส่วนสำคัญในการดูแลให้ผู้ป่วยรับประทานยาและปฏิบัติตามขั้นตอนการรักษา คอยให้กำลังใจ สังเกตอาการ ควบคุมกิจกรรมที่ผู้ป่วยทำในช่วง Mania และคอยรับฟังผู้ป่วยอย่างสม่ำเสมอ

 

รู้จัก ไบโพลาร์

“โรคไบโพลาร์” (Bipolar disorder) หรือ โรคอารมณ์แปรปรวนสองขั้ว ข้อมูลจาก คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้อธิบายไว้ว่า เป็นความผิดปกติทางอารมณ์ประเภทหนึ่ง ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้จะมีลักษณะอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปมา ระหว่างอารมณ์ซึมเศร้า (major depressive episode) สลับกับช่วงที่อารมณ์ดีมากกว่าปกติ (mania หรือ hypomania)

 

โดยอาการในแต่ละช่วงอาจเป็นอยู่นานเป็นสัปดาห์ หรือหลายเดือน โดยอาการเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของผู้ป่วยทั้งในด้านการงาน การประกอบอาชีพ ความสัมพันธ์กับบุคคลอื่น และการดูแลตนเองอย่างมาก ทำให้ไม่สามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างเป็นปกติ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

จากการสำรวจผู้ป่วย “โรคไบโพลาร์” ในประชากรทั่วไป พบได้สูงถึงร้อยละ 1.5 -5 ซึ่งอัตราการเกิดโรคครั้งแรกพบบ่อยที่สุดที่ช่วงอายุ 15-19 ปี และรองลงมา คือ อายุ 20-24 ปี โดยกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยจะมีอาการครั้งแรกก่อนอายุ 20 ปี นอกจากนี้ “โรคไบโพลาร์” ถือเป็นโรคที่มีการดำเนินโรคในระยะยาวเรื้อรัง และเป็นโรคที่มีโอกาสกลับเป็นซ้ำได้สูง ประมาณ 70-90%

 

ไบโพลาร์ เกิดขึ้นได้อย่างไร

ปัจจุบันยังไม่พบสาเหตุที่ชัดเจน แต่พบว่าเกิดจากการทำงานที่ผิดปกติของสมอง โดยมีสารสื่อประสาทที่ไม่สมดุล โรคนี้มีปัจจัยทางพันธุกรรมเกี่ยวข้องค่อนข้างมาก ผู้ที่มีคนในครอบครัวเป็นโรคนี้ หรือโรคทางจิตเวชอื่น จะมีโอกาสเป็นมากกว่าคนทั่วไป ส่วนสิ่งแวดล้อม เช่น การเลี้ยงดูในวัยเด็ก หรือความเครียด มักเป็นเพียงปัจจัยเสริม

 

สังเกตอาการผิดปกติ

หลายคนอาจสงสัยว่าคนปกติก็ต้องมี การขึ้นลงของอารมณ์มากบ้าง น้อยบ้าง ตามนิสัย แล้วเมื่อไหร่จึงจะเรียกว่าผิดปกติหรือเป็นโรค การที่บอกว่าป่วยแน่นอนต้องใช้เกณฑ์การวินิจฉัยโดยจิตแพทย์ แต่ทั่วไปเราควรคำนึงถึงโรคนี้ และไปปรึกษาจิตแพทย์เมื่อ

  • การขึ้นลงของอารมณ์มากกว่าคนทั่วไป
  • มีความผิดปกติของการกินการนอนร่วมด้วย
  • มีอาการเหล่านี้เป็นเวลา 1-2 สัปดาห์
  • กระทบต่อการทำงาน หรือความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง

 

อาการ "ไบโพลาร์" เป็นอย่างไร

ช่วงอารมณ์ซึมเศร้า

  • อาจมีเบื่อหน่าย
  • ท้อแท้ไม่อยากทำอะไร
  • หรือหงุดหงิดง่าย
  • บางคนมีความคิดอยากตายซึ่งมีไม่น้อยที่นำไปสู่การฆ่าตัวตาย

 

ช่วงที่อารมณ์ดีผิดปกติ

  • รู้สึกว่าตัวเองมีความสำคัญหรือความสามารถมาก
  • นอนน้อยกว่าปกติ โดยไม่มีอาการเพลีย หรือต้องการนอนเพิ่ม
  • พูดเร็ว พูดมาก หรือพูดไม่หยุด
  • ความคิดแล่นเร็ว มีหลายความคิดเข้าในสมอง
  • สมาธิลดลง เปลี่ยนความสนใจ เปลี่ยนเรื่องพูด หรือทำอย่างรวดเร็วตอบสนองต่อสิ่งเร้าง่าย
  • มีกิจกรรมมากผิดปกติ อาจเป็นแผนการหรือลงมือกระทำจริงๆ แต่มักทำได้ไม่ดี
  • การตัดสินใจไม่เหมาะสม เช่น ใช้จ่ายเงินฟุ่มเฟือย ทำเรื่องที่อันตราย หรือผิดกฎหมาย 
  • บางคนจะหงุดหงิดก้าวร้าวจนถึงทะเลาะทำร้ายร่างกายผู้อื่น
  • ในรายที่เป็นมากอาจมีอาการของโรคจิตร่วมด้วย เช่น คิดว่าตนเองเป็นเทวดา หรือมีความสามารถผิดมนุษย์ ได้ยินเสียงหรือเห็นภาพที่คนอื่นไม่ได้ยิน ไม่ได้เห็น

 

ผู้ป่วยควรปฏิบัติตัวอย่างไร

  • นอนพักผ่อนให้เพียงพอ เพราะการอดนอนมีผลต่ออาการของผู้ป่วย
  • ดูแลสุขภาพทั่วไป เช่น ออกกำลังกาย มีกิจกรรมที่ช่วยคลายเครียด หลีกเลี่ยงสุราสารเสพติด
  • รับประทานยาตามจิตแพทย์สั่ง ถ้ามีปัญหา ผลข้างเคียงจากยา ควรปรึกษาจิตแพทย์ก่อน ไม่ควรหยุดยาเอง
  • หมั่นสังเกตอาการของตนเอง เรียนรู้อาการเริ่มแรกของโรค และรีบไปพบจิตแพทย์ก่อนจะมีอาการมาก
  • บอกคนใกล้ชิดถึงอาการเริ่มแรกของโรคให้ช่วยสังเกตและพาไปพบจิตแพทย์

 

ครอบครัวจะช่วยได้อย่างไร

  • เข้าใจอารมณ์และพฤติกรรมผิดปกติที่ผู้ป่วยแสดงออกนั้นเป็นความเจ็บป่วย ไม่ใช่นิสัย
  • ดูแลให้ผู้ป่วยกินยาอย่างต่อเนื่อง ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของจิตแพทย์และไม่ควรหยุดยาเอง
  • สังเกตอาการของผู้ป่วย เรียนรู้และเข้าใจอาการของโรค หากผู้ป่วยมีอาการผิดปกติ ควรรีบพาไปจบจิตแพทย์ก่อนจะมีอาการมาก
  • ช่วยควบคุมเรื่องของการใช้จ่ายและพฤติกรรมเสี่ยงต่ออันตราย เช่น ดื่มสุรา การใช้สารเสพติด
  • เมื่อผู้ป่วยหายจากอาการ ให้กำลังใจในการกลับไปเรียนหรือทำงาน หรือหากิจกรรมที่ผ่อนคลายที่มีประโยชน์ให้ผู้ป่วย

 

การรักษา

  • จิตแพทย์จะให้ยาและคำแนะนำเกี่ยวกับโรคและยา รวมถึงการดูแลตนเองในด้านต่างๆ ควบคู่ไปด้วย
  • ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายจากอาการใน 2-8 สัปดาห์ และกลับใช้ชีวิตประจำวันได้เหมือนก่อนป่วย
  • ในผู้ป่วยบางรายจิตแพทย์อาจแนะนำให้ทำจิตบำบัดร่วมด้วยเพื่อให้จัดการกับความเครียดได้ดีขึ้นและลดความขัดแย้ง

 

ทั้งนี้ เนื่องจากโรคนี้เกิดจากสารสื่อประสาทที่ไม่สมดุลจึงต้องใช้ยาที่จะปรับสารสื่อประสาท ปัจจุบันมียาควบคุมอารมณ์หลายชนิดที่มีประสิทธิภาพ ยาในกลุ่มนี้ไม่ใช่ยากล่อมประสาทหรือยานอนหลับไม่ทำให้ติดยาเมื่อใช้ในระยะยาว นอกจากยาควบคุมอารมณ์ จิตแพทย์อาจใช้ยากลุ่มอื่นร่วมด้วยเพื่อประสิทธิภาพในการรักษาที่ดีขึ้น

 

ยาทางจิตเวชก็เหมือนกับยาอื่นที่ทุกตัวจะมีผลข้างเคียง แต่อาการและความรุนแรงจะต่างกัน ผลข้างเคียงส่วนใหญ่จะไม่เป็นอันตรายมากผู้ป่วยควรได้พูดคุยกับจิตแพทย์เพื่อเลือกยาที่ เหมาะสมและปรึกษาจิตแพทย์ ถ้ามีอาการข้างเคียงเนื่องจากยาทุกตัวไม่ปลอดภัยสำหรับสตรีมีครรภ์ หรือให้นมบุตรควรปรึกษาจิตแพทย์ก่อน

 

โรคนี้มีอัตราการกลับเป็นซ้ำสูงมากถึง 90% ฉะนั้นโดยทั่วไปหลังจากหายแล้ว จิตแพทย์มักแนะนำให้กินยาต่ออย่างน้อย 1 ปี เพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำหรืออาจนานกว่านี้ ขึ้นอยู่กับจำนวนครั้งที่เคยเป็นและความรุนแรงของอาการในครั้งก่อนๆ

 

ไบโพลาร์ หายเองได้หรือไม่

ถ้าไม่รักษาอาการต่างๆ ก็อาจดีขึ้นเองได้ในบางราย แต่ต้องใช้เวลานาน และกว่าอาการจะดีขึ้น ก็จะส่งผลกระทบมากมายทั้งต่อตัวผู้ป่วยและคนรอบข้าง บางคนก่อหนี้สินมากมาย บางคนใช้สารเสพติดบางคนต้องออกจากงานหรือโรงเรียน บางคนทำผิดกฎหมาย และที่รุนแรงที่สุด คือ ฆ่าตัวตาย หรือทำร้ายผู้อื่น และถ้าเป็นหลายหลายครั้ง อาการครั้งหลังจะเป็นนานขึ้นและถี่ขึ้น

 

 

อ้างอิง : ศูนย์สุขภาพจิตที่ 7กรมสุขภาพจิต