เปิดประสบการณ์ตรง 'ไบโพลาร์' รู้วิธีรักษาที่ถูกต้อง ทำไงให้หายดี?

เปิดประสบการณ์ตรง 'ไบโพลาร์' รู้วิธีรักษาที่ถูกต้อง ทำไงให้หายดี?

"วันไบโพลาร์โลก" ปีนี้ กรมสุขภาพจิตร่วมรณรงค์ไปพร้อมทั่วโลก โดยจัดเวทีเสวนาให้ความรู้ พร้อมเชิญผู้ป่วย "ไบโพลาร์" อย่าง "ดีเจเคนโด้" มาเปิดประสบการณ์ในการเอาชนะโรคอารมณ์สองขั้ว พร้อมแนะวิธีรักษายังไงให้หายดี? รู้ที่นี่

30 มีนาคม 2564 เป็น "วันไบโพลาร์โลก" หน่วยงานด้านสุขภาพจิตทั่วโลก ต่างออกมาร่วมรณรงค์ให้คนในสังคมเข้าใจผู้ป่วย "ไบโพลาร์" อย่างถูกต้องและไม่ตัดสินผู้ป่วย ประเทศไทยเองก็เช่นกัน ปีนี้กรมสุขภาพจิตได้จัดเสวนาให้ความรู้เกี่ยวกับโรคไบโพลาร์ อาการ และวิธีรักษา

อีกทั้งได้เชิญเคสผู้ป่วยตัวจริงอย่าง "ดีเจเคนโด้" หรือ เกรียงไกรมาศ พจนสุนทร นักจัดรายการวิทยุ พิธีกรและผู้ประกาศข่าว ผู้เคยผ่านมรสุมโรคอารมณ์สองขั้วมาด้วยตัวเองและครอบครัว จนถึงวันนี้เขาหายดีเป็นปกติ กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนรู้จัก "ไบโพลาร์" ให้เข้าใจมากขึ้นผ่านเคสดังกล่าว

  • เปิดอาการ "ไบโพลาร์" จากประสบการณ์ผู้ป่วยตัวจริง!

"ดีเจเคนโด้" นักจัดรายการวิทยุ พิธีกรและผู้ประกาศข่าว เป็นหนึ่งในผู้ป่วย "ไบโพลาร์" ที่ไม่ปิดบังต่อสังคมว่าตนเองป่วยเป็นไบโพลาร์ และเข้าสู่กระบวนการรักษาทันทีเมื่อทราบว่าตนมีอาการเข้าข่าย จนถึงวันนี้เขาสามารถหายดีเป็นปกติ โดยดีเจเคนโด้ได้แชร์อาการป่วยของตนเองในช่วงแรกๆ ที่ยังไม่รู้ตัวว่าเป็นไบโพลาร์ โดยเล่าว่า

บางช่วงเวลาตนเองจะรู้สึกเพลิดเพลินเจริญใจมากกว่าปกติ ไม่ต้องนอนก็ได้ เป็นเจ้าโปรเจค คิดโปรเจคอะไรใหม่ๆ ออกมาตลอด รู้สึกว่าตนเองทำอะไรก็สำเร็จไปหมด มั่นใจสูง รู้สึกว่าตัวเองใหญ่ที่สุด เก่งที่สุด ดีที่สุด อยากโดดเด่นกว่าคนอื่น

ต่อมาก็เริ่มคิดว่าตนเองสื่อสารกับเทพได้ เนื่องจากก่อนหน้านี้ตนนับถือเทพเจ้าจี้กงอยู่ พอถึงช่วงที่มีอาการป่วยจะรู้สึกว่าพูดคุยกับท่านได้ มีทั้งรูปภาพเทพจี้กง น้ำเต้า ไม้เท้า ตั้งอยู่ในห้อง บางวันก็จะมีอาการเหมือนคนเข้าทรง ตัวสั่น พูดจาภาษาที่ไม่รู้เรื่อง ซึ่งอาการเหล่านี้คุณแม่จะเห็นอยู่ตลอด และเข้ามาช่วยเขย่าให้รู้สึกตัว จนตนเองสงบลง

ต่อมาก็คือตอนที่อาการเปลี่ยนขั้ว จากที่สนุกสนานร่าเริงเบิกบาน แล้วพอมีปัจจัยเรื่องงานที่ไม่ประสบความสำเร็จมากระทบจิตใจ มันกลายเป็นซึมเศร้า ไม่อยากทำอะไร ไม่อยากมีอะไร ร้องไห้ไม่หยุด ซึ่งตามปกติมันก็ไม่ควรจะเศร้าขนาดนั้น

โชคดีที่มีโอกาสได้เจอ หมอเบิร์ท-พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ จิตแพทย์และผู้ช่วยโฆษก ศบค. ท่านแนะนำว่าอาการแบบนี้เข้าข่ายโรคซึมเศร้า ให้ไปพบแพทย์ พอไปพบแพทย์และได้คุยเพิ่มเติมก็ได้รู้ตัวว่าป่วยเป็ฯไบโพลาร์ และได้เข้าสู่กระบวนการรักษาทันที

161760400679       "ดีเจเคนโด้" หรือ เกรียงไกรมาศ พจนสุนทร ผู้ป่วยไบโพลาร์

  • โรคไบโพลาร์ รักษาหายหรือไม่? แพทย์มีคำตอบ!

ศ.นพ.ชวนันท์ ชาญศิลป์ นายกสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ให้ความรู้เกี่ยวกับโรคไบโพลาร์ว่า ไบโพลาร์เป็นโรคในกลุ่มโรคความผิดปกติทางอารมณ์ หรือเรียกง่ายๆ ว่าโรคอารมณ์ 2 ขั้ว มันไม่ใช่นิสัย มันไม่ใช่บุคลิกของผู้ป่วย และที่สำคัญมันสามารถรักษาให้หายได้ โดยมีลักษณะอาการของโรค ดังนี้

1. ผู้ป่วยจะมีอารมณ์ไปในขั้วมาเนีย (Mania) ก็คือมีอารมณ์คึก รู้สึกสนุก มีอารมณ์ดีเกินกว่าปกติที่เคยเป็น 

2. ผู้ป่วยจะมีอารมณ์ไปในขั้วซึมเศร้า (Depressed) มีอาการเหมือนผู้ป่วยโรคซึมเศร้าทุกประการ

3. อาการทั้งสองขั้วนี้ จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของผู้ป่วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการทำงาน เรื่องของความสัมพันธ์ แล้วมันไม่ได้เกิดจากการใช้สารเสพติด ฉะนั้นคนที่ใช้สารเสพติดแล้วมีอาการเหล่านี้ ก็ไม่ได้เรียกว่าเป็นไบโพลาร์

161760400569

  • เกณฑ์การวินิฉัย แบบไหนเรียกป่วย "ไบโพลาร์" แน่ๆ?

นพ.สุทธา สุปัญญา สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา ได้อธิบายถึงเกณฑ์การวินิจฉัยของแพทย์ในการคัดกรองผู้ป่วยไบโพลาร์ ทั้งการตรวจอาการ ซักประวัติ พูดคุยจนทราบได้แน่ชัดว่าผู้ป่วยมีอาการเข้าข่ายโรคนี้จริงๆ ไม่ใช่นิสัยส่วนตัว โดยมีเกณฑ์การวินิฉัยอาการ ดังนี้ 

1. อารมณ์ดีผิดปกติ มีพลังพิเศษ ไม่นอนก็ทำงานได้

ผู้ป่วยจะมีความรู้สึกว่าตัวเองมีความสามารถพิเศษ มีพลังพิเศษ เก่งกว่าคนอื่น มีกำลังวังชาเยอะมาก ไม่ต้องนอนก็ทำงานได้ มีความคิดทำอะไรต่างๆ มากมายในหัว ซึ่งอาการเหล่านี้จะมาพร้อมกับอารมณ์ที่ก่อนหน้านี้ คืออารมณ์ที่ดีมากกว่าปกติ โดยช่วงมาเนีย ผู้ป่วยจะรู้สึกดีมาก แล้วไม่สามารถปรับอารมณ์ลงมาได้ มันจะอารมณ์ดีลอยอยู่อย่างนั้นติดต่อกันหลายๆ วัน 

2. ควบคุมตัวเองน้อยลง ไม่เบรคตัวเอง 

ผู้ป่วยจะมีความสามารถในการควบคุมตัวเองน้อยลง คือไม่มีความจำเป็นต้องเบรคตัวเอง อดนอนอยู่ได้ทั้งคืน รู้สึกว่าตัวเองเก่ง ทำได้ทุกอย่าง อยากลงทุน อยากทำอะไรที่มีความเสี่ยงโดยเขาก็จะไม่รู้ตัว เขาจะมีความอยากเสี่ยงอยากลงทุนทำทุกอย่าง

3. ติดต่อสื่อสารกับบางสิ่งบางอย่างได้ (คนปกติสื่อสารไม่ได้)

ผู้ป่วยส่วนหนึ่งที่มีอาการหนักขึ้นมาอีกหน่อย จะมีอาการที่เรียกว่า "กลุ่มอาการที่คุณติดต่อสื่อสารกับบางสิ่งบางอย่างได้ ในขณะที่คนปกติติดต่อไม่ได้" เช่น มีเสียงมาพูดกับเรา มีคนมาบอกว่าทำสิ่งนั้น ให้ทำสิ่งนี้ ซึ่งมาพร้อมกับอารมณ์ที่ดีมากๆ หรือบางคนก็จะมาพร้อมกับจะอารมณ์เสีย หงุดหงิดมาก ก็เป็นอาการของขั้วมาเนียเช่นกัน

4. ภาวะซึมเศร้า รู้สึกตัวเองไม่มีค่า

ในขณะเดียวกัน เนื่องจากโรคนี้มี 2 ขั้ว ผู้ป่วยก็จะมีช่วงที่อารมณ์ซึมเศร้า อาการก็จะคล้ายๆ กับโรคซึมเศร้า โดยอาการจะแตกต่างกับอาการเศร้าของคนทั่วไป เช่น คนทั่วไปถ้าสัตว์เลี้ยงตายหรือไม่ถูกหวย ก็จะเศร้าบ้างนิดหน่อย เศร้าแค่ช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น แต่ผู่ป่วยโรคนี้เวลาเศร้า จะเศร้าหนักมาก ความเศร้าจะลึกลงไปอีก เช่น หมดอะไรตายอยาก รู้สึกว่าตัวเองไม่มีค่า ชีวิตนี้ไม่มีค่า โลกนี้ไม่มีอนาคตสำหรับเขา ไม่รู้จะตื่นขึ้นมาทำอะไร หมดแรง เป็นต้น

161760403034

  • วิธีรักษา "ไบโพลาร์" ทั้งทางการแพทย์และทางสังคม

มาถึงคำถามที่หลายคนอยากรู้มากที่สุด นั่นคือ จะรักษาโรคไบโพลาร์อย่างไรให้หายดี? เรื่องนี้ นพ.สุทธา สุปัญญา และ ดีเจเคนโด้ ได้ร่วมกันให้คำตอบ ดังนี้

1. แพทย์รักษาด้วยยา แบ่งให้ยา 2 ช่วง

ในทางการแพทย์หลักๆ ก็จะรักษาด้วยการให้ยา โดยแพทย์จะแบ่งการรักษาเป็น 2 ช่วง คือ เป็นการให้ยาในช่วงรักษาอาการป่วย และการให้ยาในช่วงการป้องกันไม่ให้อาการกลับมาเป็นซ้ำอีก

ทั้ง 2 ช่วงเนี่ยก็จะมียาที่แตกต่างกัน จริงๆ แล้วผู้ป่วยต้องได้รับยาหลายกลุ่มนะครับ แต่โดยหลักแล้วจะมียากลุ่มจิตเวชกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเพื่อให้ผู้ป่วยคงอารมณ์ได้ ไม่ให้อารมณ์เหวี่ยงขึ้นลงผิดปกติ ส่วนการให้ยาในระยะหลัง ก็มียากลุ่มอื่นเข้ามาช่วย เช่น กลุ่มยากันชัก ที่จะช่วยให้อารมณ์ไม่แปรปรวน เป็นต้น 

2. ผู้ป่วยต้องรู้จักอาการของโรค รักษาจิตใจตนเอง

นอกจากจะรักษาด้วยยาแล้ว ตัวผู้ป่วยเองก็ต้องทำความเข้าใจโรค และสังเกตตัวเองให้เท่าทันอาการของโรค เช่น  ต้องรู้ว่าเมื่อไหร่อารมณ์ตัวเองกำลังจะขยับเป็นขั้วมาเนีย เมื่อไหร่จะเปลี่ยนขั้วไปเป็นขั้วซึมเศร้า เพื่อที่จะได้ปรับจิตใจได้ทัน จะควบคุมตัวเองได้ 

3. ครอบครัว คนรอบข้าง ต้องช่วยรักษาผู้ป่วยทางอ้อม

สำหรับครอบครัวและคนรอบข้างผู้ป่วย ก็มีส่วนในการรักษาผู้ป่วยทางอ้อมเพื่อให้หายดีได้เร็วขึ้น หมายความว่า ต้องเข้าใจอาการป่วย ต้องช่วยสนับสนุนแนวทางการรักษาของแพทย์ เช่น 

- ช่วยเรื่องของความสม่ำเสมอในการกินยา และการรักษากับแพทย์อย่างต่อเนื่อง

- ในช่วงที่ผู้ป่วยอารมณ์เริ่มเปลี่ยนขั้วและเขาก็ไม่รู้ตัว โดยเฉพาะช่วงที่เกิด "ขั้วมาเนีย" ที่ผู้ป่วยมีอารมณ์คึก อยากจะทำเรื่องเสี่ยงๆ อยากลงทุนที่ใช้เงินมาก อยากรูดบัตรเครดิตเยอะๆ แบบไม่คิด คนในครอบครัวก็ต้องคอยห้ามไว้

- คนในครอบครัวควรช่วยดึงให้ผู้ป่วยไปออกกำลังกาย ดูแลเรื่องอาหารการกินที่มีประโยชน์ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงและปรับสมดุลสารเคมีในสมอง ช่วยรับฟังเรื่องต่างๆ ที่ผู้ป่วยมักจะพูดซ้ำๆ พูดเรื่องเดิมๆ คนรอบข้างก็ต้องใจเย็นและทำความเข้าใจอาการเหล่านี้ ก็จะทำให้ผู้ป่วยหายได้เร็วขึ้น 

-------------------------------

ที่มา : กรมสุขภาพจิต, งานเสวนาเปิดใจให้ไบโพลาร์