'นวัตกรรมกายภาพแขน' ฝีมือคนไทย ตัวช่วยฟื้นฟูผู้ป่วย 'หลอดเลือดสมอง'

'นวัตกรรมกายภาพแขน' ฝีมือคนไทย ตัวช่วยฟื้นฟูผู้ป่วย 'หลอดเลือดสมอง'

'นวัตกรรมกายภาพแขน' อุปกรณ์ฟื้นฟูรยางค์ส่วนบนหรือแขนสำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง (Stoke) ฝีมือคนไทย เป็น feedback ระดับความพร้อมของเทคโนโลยี TRL 7 ลดการนำเข้า ปัจจุบัน มีการทดลองใช้ 3 แห่ง ปักหมุด รพ.สต. เพื่อเพิ่มการเข้าถึงประชาชน

KEY

POINTS

  • 'นวัตกรรมกายภาพแขน' อุปกรณ์ฟื้นฟูรยางค์ส่วนบนหรือแขนสำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง (Stoke) ฝีมือคนไทย เป็น feedback ระดับความพร้อมของเทคโนโลยี TRL 7 ลดการนำเข้า
  • ปัจจุบัน มีการใช้งานอยู่ 3 แห่ง ได้แก่ ศูนย์การแพทย์และฟื้นฟูบึงยี่โถ จ.นครปฐม , รพ.สต. หนองสีดา จ.สระบุรี และ ศูนย์พัฒนาศักยภาพผู้สูงอายุ เทศบาลเมืองแสนสุข จ.ชลบุรี
  • เล็งกระจายสู่ รพ.สต. เนื่องจาก มีศักยภาพ มีสถานที่ นักกายภาพบำบัด และกลุ่มผู้ป่วยที่มารับบริการ เพิ่มการเข้าถึงการรักษา ลดการนำเข้าเทคโนโลยี

'นวัตกรรมกายภาพแขน' อุปกรณ์ฟื้นฟูรยางค์ส่วนบนหรือแขนสำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง (Stoke) ฝีมือคนไทย เป็น feedback ระดับความพร้อมของเทคโนโลยี TRL 7 ลดการนำเข้า ปัจจุบัน มีการทดลองใช้ 3 แห่ง ปักหมุด รพ.สต. เพื่อเพิ่มการเข้าถึงประชาชน

โรคหลอดเลือดสมอง (stoke) เป็นสาเหตุการตายเป็นอันดับ 2 และการพิการเป็นอันดับ 3 ทั่วโลก สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ เผยข้อมูล การสำรวจประชากร ขององค์กรโรคหลอดเลือดสมองโลก พบว่า ปี 2563 มีผู้ป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมองกว่า 80 ล้านคน ผู้เสียชีวิตราว 5.5 ล้านคน ผู้ป่วยใหม่เพิ่มขึ้นถึง 14.5 ล้านคนต่อปี 1 ใน 4 เป็นผู้ป่วยที่มีอายุ 25 ปีขึ้นไป

 

ปี 2562 ประเทศไทย มีผู้ป่วย Stroke จำนวน 355,671 ราย (อัตราผู้ป่วย 543 ต่อประชากรแสนคน) มีผู้ป่วยเสียชีวิตจำนวน 34,728 ราย (อัตราตาย 53 ต่อประชากรแสนคน) กรมควบคุมโรค ประมาณการณ์ความเสี่ยงของการเกิด Stroke พบว่า ทุก 4 คนจะป่วยด้วยโรคหลอดเลือดสมอง 1 คน โดยร้อยละ 80 ของประชากรโลกมีความเสี่ยงที่สามารถป้องกันได้

 

ขณะเดียวกัน ในผู้ป่วยเอง การได้ฟื้นฟูร่างกายอย่างต่อเนื่องเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้สามารถกลับไปดำเนินชีวิต ช่วยเหลือตัวเองให้ได้ อย่างไรก็ตาม อุปกรณ์ที่ใช้ในการกายภาพส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าและมีราคาสูง โดยเฉพาะอุปกรณ์ที่ช่วยกายภาพแขน ช่วงบน ที่ยังคงมีไม่มาก

 

นวัตกรรมคนไทยจากหิ้งสู่การใช้จริง

เป็นที่มาของการคิดค้น อุปกรณ์ฟื้นฟูแขนแบบสองข้างพร้อมกันด้วยกลไกส่งถ่ายแรงที่มีระบบตรวจจับการออกแรง (Arm Booster) อุปกรณ์ฟื้นฟูรยางค์ส่วนบนหรือแขนสำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง (Stoke) โดย “เมธาสิทธิ์ เกียรติ์ชัยภา” กรรมการผู้จัดการ บริษัท เกรท เทค แอนด์ อินโนเวชั่น จำกัด ซึ่งให้สัมภาษณ์กับ “กรุงเทพธุรกิจ” ถึงจุดเริ่มต้นนวัตกรรมดังกล่าว เป็นการต่อยอดจากการวิจัยระหว่างเรียนปริญญาโท วิศวกรรมเครื่องกล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในปี 2562

 

\'นวัตกรรมกายภาพแขน\' ฝีมือคนไทย ตัวช่วยฟื้นฟูผู้ป่วย \'หลอดเลือดสมอง\'

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

“การกายภาพบำบัดมีการฝึกหลายอย่างทั้งเคลื่อนไหว การเดิน ฝึกแขน การเคี้ยว การกลืน โดยเรามุ่งเน้นที่การเคลื่อนไหวรยางค์ส่วนบนหรือแขน ในระยะเวลา 50 ปีที่ผ่านมา อุปกรณ์ส่วนใหญ่จะเป็นแบบชักลอก หรือ จักรยานปั่นมือ ซึ่งผู้ป่วยใช้ไปสักพักจะเบื่อและกลายเป็นว่าการกายภาพบำบัดแขนไม่สม่ำเสมอ ไม่มีผลออกมาว่าดีขึ้นจริงหรือไม่”

 

จะเห็นว่าผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองมีปัญหาทางด้านการเคลื่อนไหวแขนมากกว่าการเดิน เพราะปัญหาเหล่านี้ยังไม่มีอุปกรณ์หรือนวัตกรรมที่เข้ามาช่วยนักกายภาพบำบัดในการติดตามการฟื้นฟูของผู้ป่วยได้ ขณะเดียวกัน หากเป็นเครื่องมือจากต่างประเทศจะมีอยู่ไม่กี่ราย ซึ่งราคาสูงกว่า 3 – 13 ล้านบาท

 

อย่างไรก็ตาม แม้นวัตกรรมดังกล่าว จะประกวดและได้รางวัลมาหลายเวที อีกทั้ง ผลการทดสอบพบว่าสามารถใช้ได้ดีในกลุ่มผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง แต่การจะผลักดันให้คนเหล่านี้ได้ใช้งานจริงๆ ค่อนข้างยาก เพราะราคาค่อนข้างสูงกว่า 400,000 บาท

 

เนื่องจากประกอบด้วย เซ็นเซอร์โหลดเซลล์ 3 แกน บริเวณมือจับทั้ง 2 ข้าง, กลไกเชื่อมโยงสำหรับสร้างพิสัยการเคลื่อนที่ และหน้าจอแสดงผลแบบ real-time ผ่าน แสดงผลการเปรียบเทียบการออกแรงของแขนทั้ง 2 ข้าง เพื่อเป็น feedback กลับไปยังผู้ป่วยและนักกายภาพบำบัดแบบ real-time ในการกระตุ้นให้มีการออกแรงของแขนข้างอ่อนแรงและเคลื่อนไหวตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

 

\'นวัตกรรมกายภาพแขน\' ฝีมือคนไทย ตัวช่วยฟื้นฟูผู้ป่วย \'หลอดเลือดสมอง\'

ปักหมุด รพ.สต. สร้างการเข้าถึง

เมธาสิทธิ์ อธิบายต่อไปว่า ความตั้งใจแรก คือ ทำแบบ Home Use แต่ไม่เวิร์กในหลายด้าน ทั้งเรื่องต้นทุนและบริบทของการกายภาพที่ต้องฝึกโดยอยู่ภายใต้การดูแลของนักกายภาพบำบัด ดังนั้น บริบทที่ผู้ป่วยจะสามารถใช้ได้จริง คือ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ที่มีศักยภาพ มีสถานที่ นักกายภาพบำบัด และกลุ่มผู้ป่วยที่มารับบริการ โดยเครื่องแรก ได้ถูกนำไปใช้ที่ “ศูนย์การแพทย์และฟื้นฟูบึงยี่โถ จ.นครปฐม” เป็นรพ.สต.ต้นแบบที่ผู้ป่วยหลอดเลือดสมองเข้ามาทำกายภาพบำบัดได้ และได้ผลค่อยข้างดี ยิ่งเป็นผู้ป่วยที่ในระยะ 3 เดือนแรกจะยิ่งเห็นผลชัดเจนมากขึ้น

 

ขณะเดียวกัน การจะผลักดันให้นวัตกรรมไปสู่การใช้งานจริง ต้องทำมาตรฐาน ทั้งมาตรฐานโรงงาน มาตรฐานเครื่องมือแพทย์ และหากจะไประดับสากล ต้องทำมาตรฐานซอฟต์แวร์เครื่องมือแพทย์ มาตรฐานกลไกเครื่องมือแพทย์ และมาตรฐานไฟฟ้า เป็นที่มาของการก่อตั้งบริษัทและยื่นขอทุนกับ “กองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม” (TED Fund) ของ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในปี 2565 ซึ่งได้รับทุนมาดำเนินการทดสอบมาตรฐานและอยู่ระหว่างการปรับแก้ รวมถึง ขึ้นทะเบียนโรงงานเพื่อให้ผ่านมาตรฐาน อย. ควบคู่ไปด้วย เพื่อผลักดันนวัตกรรมสู่การใช้งานจริง

 

ระดับความพร้อม TRL7

เมื่อนวัตกรรมตอบโจทย์ทั้งบริบทสังคม การใช้งาน ล่าสุด ได้รับทุนสนับสนุนจาก องค์การเภสัชกรรม (อภ.) “โครงการศึกษากลไกการพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมใหม่ของ อภ. หรือ GPO Ignite Program” ในการผลิตผลงานนวัตกรรมเสร็จสิ้นสมบูรณ์ส่งมอบให้ศูนย์พัฒนาศักยภาพผู้สูงอายุ เทศบาลเมืองแสนสุข จังหวัดชลบุรี เพื่อเป็นสาธารณประโยชน์แก่ประชาชนผู้รับบริการ โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มผู้ป่วยที่จำเป็นต้องฟื้นฟูกล้ามเนื้อ และผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง

 

ซึ่งหากเทียบระดับความพร้อมของเทคโนโลยี (Technology Readiness Level: TRL) ที่มีทั้งหมด 9 ระดับ ปัจจุบัน “นวัตกรรมกายภาพแขน” อยู่ในระหว่าง TRL 7 เป็นการทดสอบในสภาวะจริง เก็บผลเพิ่มเติม และหากจะไปถึง TRL 8 จะต้องผ่านมาตรฐานและมียอดขาย ปัจจุบัน มีการใช้งานอยู่ 3 แห่ง ได้แก่ ศูนย์การแพทย์และฟื้นฟูบึงยี่โถ จ.นครปฐม , รพ.สต. หนองสีดา จ.สระบุรี และ ศูนย์พัฒนาศักยภาพผู้สูงอายุ เทศบาลเมืองแสนสุข จ.ชลบุรี โดยมีงานวิจัยรองรับว่า ผู้ที่ใช้อุปกรณ์ดังกล่าว แขนเคลื่อนไหวดีขึ้น เทียบกับการฟื้นฟูโดยนักกายภาพอย่างเดียว

 

ท้ายนี้ “เมธาสิทธิ์” มองว่า ตลาดนี้ยังเป็นตลาดที่คู่แข่งค่อนข้างน้อย และ Pain Point ที่เราเข้ามาแก้จริงๆ เป็น Pain Point ที่ยังไม่มีใครแก้ อีกทั้ง โซลูชั่นในการแก้ปัญหาค่อนข้างยาก ดังนั้น การวิจัย พัฒนา เป็นสิ่งที่คุ้มค่ากับสิ่งที่จะเกิดขึ้น งานที่จะเกิดขึ้นจากงานวิจัย เป็นสิ่งที่ใหม่และมี Impact ในการแก้ปัญหาได้

 

“คาดหวังว่า นวัตกรรมนี้ จะเป็นโครงสร้างพื้นฐานในการกายภาพบำบัดรยางค์ส่วนบน เพราะการกายภาพบำบัดแขน ยังไม่มีระบบที่จะวัดข้อมูลเป็นตัวเลข ฉะนั้น การที่สามารถวัดข้อมูลได้ จึงไม่เพียงแค่การกายภาพบำบัด แต่อาจจะครอบคลุมไปถึงการออกกำลังกาย หรือ ดูแลเรื่องออฟฟิศซินโดรม ความผิดปกติของรยางค์ส่วนบนได้อีกด้วย”

 

อีกทั้ง มีแผนที่จะพัฒนาอุปกรณ์ที่เข้ามาแก้ปัญหาอีกหลายอย่างที่ทำให้ผู้ป่วยและคนไทยเข้าถึงได้ง่ายขึ้น และแน่นอนว่าเมื่อทำมาแล้ว จะต้องมีศักยภาพทางการแข่งขันกับต่างชาติ จึงเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา และต้องศึกษากฎหมายของแต่ละประเทศด้วย

 

\'นวัตกรรมกายภาพแขน\' ฝีมือคนไทย ตัวช่วยฟื้นฟูผู้ป่วย \'หลอดเลือดสมอง\'

 

เครื่องมือแพทย์ เติบโต 5.5-7.0% ต่อปี

อัตราการเจ็บป่วยที่มีแนวโน้มสูงขึ้นจากการเข้าสู่สังคมสูงวัย การเกิดโรคอุบัติใหม่ การเติบโตของตลาดท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ กระแสการดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน รวมถึงความต้องการเครื่องมือ/อุปกรณ์การแพทย์ที่เพิ่มขึ้นในตลาดส่งออกสำคัญของไทย และนโยบายภาครัฐส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติและศูนย์กลางการผลิตเครื่องมือแพทย์ในอาเซียน

 

ปัจจัยข้างต้น สะท้อนโอกาสการเติบโตของอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ในประเทศไทย วิจัยกรุงศรี เผยว่า ปี 2566-2568 ตลาดเครื่องมือแพทย์ของไทยมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง โดยคาดว่ามูลค่าจำหน่ายเครื่องมือแพทย์ในประเทศจะเติบโตเฉลี่ย 5.5-7.0% ต่อปี ขณะที่มูลค่าส่งออกจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 6.5-7.5% ต่อปี

 

ขณะเดียวกัน “การส่งออกเครื่องมือแพทย์ของไทย” ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มวัสดุสิ้นเปลือง “การผลิตภัณฑ์นำเข้า” ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มวัสดุสิ้นเปลืองทางการแพทย์และครุภัณฑ์ โดยเครื่องมือแพทย์ที่ผลิตในไทยส่วนใหญ่มีความซับซ้อนทางนวัตกรรมและเทคโนโลยีไม่สูงนัก เป็นการผลิตอุปกรณ์ขั้นพื้นฐานซึ่งเน้นใช้วัตถุดิบในประเทศเป็นหลัก ได้แก่ ยาง และพลาสติก

 

ความท้าทายของธุรกิจที่อาจจำกัดการเติบโตของอุตสาหกรรม อาทิ ผู้ประกอบการของไทยส่วนใหญ่เป็น SMEs ซึ่งผลิตวัสดุสิ้นเปลืองทางการแพทย์นับเป็นข้อจำกัดในการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง นอกจากนี้ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ต้องนำเข้าอุปกรณ์การผลิตซึ่งรวมถึงเทคโนโลยีจากต่างประเทศ จึงอาจเผชิญความเสี่ยงจากความผันผวนของค่าเงินและต้นทุนสินค้านำเข้ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

 

รวมถึงอาจมีข้อจำกัดด้านเงินทุน และท้ายสุด คือ ภาระต้นทุนที่อาจเพิ่มขึ้นจากการปรับตัวสู่การผลิตเครื่องมือแพทย์ที่เน้นใช้วัสดุที่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ เพื่อลดมลภาวะทางสิ่งแวดล้อมและสอดคล้องกับทิศทางการขับเคลื่อนสู่ Zero waste society ของโลก