แยกให้ออก!! อาการแบบไหน? หลงลืมตามวัย หรือ ‘ความจำเสื่อม’

แยกให้ออก!! อาการแบบไหน? หลงลืมตามวัย หรือ ‘ความจำเสื่อม’

เคยหรือไม่ กำลังจะพูด หรือเล่าเรื่องอะไรสักอย่าง แล้วก็จำไม่ได้ พยายามนึกเรื่องราวอย่างไรก็นึกไม่ออก ทั้งที่กำลังจะพูด หรือเวลาเพิ่งผ่านไปไม่นาน แล้วจะแยกอย่างไร? ว่า อาการหลงลืมเป็นไปตามวัย หรือ เสี่ยงภาวะความจำเสื่อม กันแน่!!

KEY

POINTS

  • เคยหรือไม่ กำลังจะพูด หรือเล่าเรื่องอะไรสักอย่าง แล้วก็จำไม่ได้ พยายามนึกเรื่องราวอย่างไรก็นึกไม่ออก  แล้วจะแยกอย่างไร? ว่า อาการหลงลืมเป็นไปตามวัย หรือ เสี่ยงภาวะความจำเสื่อม 
  • 'ความจำเสื่อม' เกิดจากความผิดปกติของเซลล์สมองที่ถูกทำลายด้วยหลายสาเหตุ เช่น พฤติกรรมการใช้ชีวิต ความเครียด การทำงาน การนอนหลับพักผ่อน การเสื่อมที่เกิดขึ้นตามวัย พันธุกรรม  โรคหลอดเลือดสมอง เป็นต้น
  • เทคนิคและวิธีพัฒนาความจำ พยายามลดความตึงเครียด เช่น หางานอดิเรกทำในยามว่าง ออกกำลังกาย นั่งสมาธิ  ทำทุกเรื่องด้วยสติ และรอบคอบ

เคยหรือไม่ กำลังจะพูด หรือเล่าเรื่องอะไรสักอย่าง แล้วก็จำไม่ได้ พยายามนึกเรื่องราวอย่างไรก็นึกไม่ออก ทั้งที่กำลังจะพูด หรือเวลาเพิ่งผ่านไปไม่นาน แล้วจะแยกอย่างไร? ว่า อาการหลงลืมเป็นไปตามวัย หรือ เสี่ยงภาวะความจำเสื่อม กันแน่!!

เมื่ออายุเพิ่มขึ้น ความเสื่อมของร่างกายย่อมมาเยี่ยมเยือน โดยเฉพาะคนทำงานที่ใช้ร่างกายอย่างหนัก พักผ่อนน้อย มีภาวะเครียดสะสม อาจส่งผลให้อวัยวะสำคัญอย่างสมองเกิดภาวะสมองล้า ภาวะสมองเสื่อม หรือโรคอัลไซเมอร์ โรคหลอดเลือดสมองขาดเลือดหรือเลือดออก  ซึ่งภาวะเหล่านี้ ล้วนส่งผลให้เกิด ‘ความจำเสื่อม’ ได้ทั้งสิ้น อีกทั้งยังมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตได้ในระยะยาว ฉะนั้นควรใส่ใจดูแลบำรุงสมองตั้งแต่วันนี้ก่อนสายเกินแก้

ปัจจุบันจำนวนผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามสังคมสูงวัยที่มีสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น โดยส่วนใหญ่เป็นช่วงวัยเกษียณ อายุ 60 ปีขึ้นไป โดยในแต่ละปีจะมีคนอายุ 60% ป่วยเป็นโรคสมองเสื่อม 1% และเมื่ออายุมากขึ้น สัดส่วนผู้ป่วยสมองเสื่อมจะยิ่งเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งอายุถึง 80 ปี จะมีผู้ป่วยสมองเสื่อมกว่า 20%

โครงการอนามัยโลก ประมาณการว่าในปี 2593 หรือ 28 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะมีผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมกว่า 2,400,000 คน เลยทีเดียว ดังนั้น เราควรป้องกันปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรคสมองเสื่อมตั้งแต่อายุยังน้อย คือดูแลสุขภาพ ป้องกันไม่ให้เป็นโรคหลอดเลือด โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคอ้วน และความดันโลหิตสูง เพราะโรคเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคสมองเสื่อมด้วย

แยกให้ออก!! อาการแบบไหน? หลงลืมตามวัย หรือ ‘ความจำเสื่อม’

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

เช็ก 10 สัญญาณเตือน 'อัลไซเมอร์ 'เนื่องใน 'วันอัลไซเมอร์โลก'

ระวัง ใช้โซเชียลมากเกินไปอาจ “สมองเสื่อม” แก้ได้ด้วย “โซเชียลดีท็อกซ์”

รู้จักสมอง บันทึกความจำอย่างไร?

ผศ.นพ.รุ่งนิรันดร์ ประดิษฐสุวรรณ ภาควิชาอายุรศาสตร์ Faculty of Medicine Siriraj Hospital คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล อธิบายว่า สมองเป็นอวัยวะที่มีความสำคัญยิ่งของเรา ว่ากันว่าการทำงานของสมองนั้นมีความสลับซับซ้อนและสมบูรณ์แบบยิ่งกว่าคอมพิวเตอร์เสียอีก และหน้าที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งก็คือการบันทึกความจำ

ความจำ เริ่มต้นด้วยกระบวนการที่สมองรับรู้ข้อมูลจากสิ่งเร้าทั้งหลาย และกลั่นกรองส่วนสำคัญเพื่อเก็บบันทึกในสมองส่วนที่เกี่ยวข้องและสามารถดึงเอาสิ่งที่บันทึกไว้ออกมาใช้ได้เมื่อต้องการ ซึ่งความทรงจำแบ่งได้เป็น 3 ประเภท คือ

1. ความจำทันที(immediate memory) หมายถึง ความจำที่เกิดทันทีที่มีการรับรู้จากสิ่งเร้า โดยยังไม่มีการทบทวนหรือใส่ใจ ทำให้ลืมได้ง่ายภายในไม่กี่วินาที

2. ความจำระยะสั้น(short-term memory) หมายถึง ความจำซึ่งเราตั้งใจจดจำไว้ชั่วคราวไม่กี่นาที และถ้าไม่มีการทบทวนความทรงจำก็จะลืมไปได้เช่นกัน

3. ความจำระยะยาว (long-term memory) หมายถึง ความจำที่เราทบทวนอยู่เสมอ ทำให้เปลี่ยนจากความจำระยะสั้นมาเป็นความจำระยะยาว ซึ่งอาจอยู่ได้นานเป็นปี หรือตลอดชีวิตก็ได้

เมื่ออายุมากขึ้นสมองก็จะเริ่มแสดงอาการผิดปกติออกมาให้เห็น เช่น อาการหลงลืมเป็นครั้งคราว ซึ่งเราต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่ากระบวนการความจำในร่างกายมนุษย์จะมีการเปลี่ยนแปลงไปตามอายุที่มากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้ผู้สูงอายุสูญเสียความสามารถในการปฏิบัติงานต่าง ๆ รวมถึงการช่วยเหลือตนเอง

แยกให้ออก!! อาการแบบไหน? หลงลืมตามวัย หรือ ‘ความจำเสื่อม’

ใช้ชีวิตแบบไหน เสี่ยง ‘ความจำเสื่อม’

‘ภาวะความจำเสื่อม หรืออัลไซเมอร์’ เกิดขึ้นกับคนไทย และยังเป็นปัญหาสุขภาพที่คุกคามคนไทยมานานแล้ว ซึ่งเกิดจากความผิดปกติของเซลล์สมองที่ถูกทำลายด้วยหลายสาเหตุ เช่น พฤติกรรมการใช้ชีวิต การทำงาน การนอนหลับพักผ่อน การเสื่อมที่เกิดขึ้นตามวัย พันธุกรรม อุบัติเหตุทางสมอง โรคหลอดเลือดสมอง เป็นต้น

โรคนี้มีระยะเวลาในการก่อโรคนาน 15 – 20 ปี กว่าจะแสดงออกถึงอาการให้เห็นอย่างชัดเจน เดิมพบว่าคนที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปจะเป็นโรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ 10% ส่วนคนที่อายุ 85 ปีขึ้นไป มีโอกาสเป็นโรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ 40 – 50%

มีการศึกษาพบว่าโรคความจำเสื่อม จะเริ่มมีอาการเริ่มต้น คือความจำถดถอยก่อน ตั้งแต่อายุ 50 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นการยากในการวินิจฉัย จากภาวะความจำถดถอยตามอายุ จากภาวะความจำถดถอยที่เป็นการเริ่มต้นของโรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ จากการศึกษาจะเห็นมีสถิติของผู้ป่วยด้วยโรคอัลไซเมอร์ทั่วโลกถึงเกือบ 50 ล้านคน และในเมืองไทยคาดว่าจะมีผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์เพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงระยะเวลา ใน 10 ปีข้างหน้า

พฤติกรรม สาเหตุภาวะความจำเสื่อมที่พบบ่อย

  • ความเครียด วิตกกังวล หรือ ซึมเศร้า จะบั่นทอน working memory (ความจำเพื่อนำไปใช้ หรือ ความจำที่นำมาใช้งาน หรือ ความสามารถในการเก็บไปประมวลผล ด้วยการดึงข้อมูลในสมองมาใช้ตามสถานการณ์ได้ทันทีโดยอัตโนมัติ เป็นการทำงานของสมองส่วนหน้า เช่น คิดค่าอาหาร เข้าใจภาษา การทำอาหาร การเขียนหนังสือ อ่านหนังสือ การตัดสินใจแทนกลุ่ม เป็นต้น)
  • การทำงานอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์นานเกินไป ทำให้สารสื่อประสาทในสมองซึ่งเป็นสารเคมีที่ทำหน้าที่เชื่อมต่อข้อมูลสัญญาณไฟฟ้าระหว่างเซลล์ของระบบประสาทเสียสมดุล ประสิทธิภาพการทำงานของสมองจึงแย่ลง
  • นอนดึก พักผ่อนไม่เพียงพอ ขาดการออกกำลังกาย
  • ความเสื่อมตามวัย ขี้ลืม นึกนาน เรียนรู้ช้า
  • โรคอัลไซเมอร์ ลืมเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นไปแล้ว ทำซ้ำๆถามซ้ำๆเพราะจำไม่ได้
  • โรคหลอดเลือดสมองทั้งขาดเลือดและเลือดออก
  • ภาวะขาดวิตามิน บี 12
  • สูบบุหรี่ หรือดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ ซึ่งบุหรี่เป็นปัจจัยเสี่ยงของภาวะหลอดเลือดสมองตีบ ส่วนแอลกอฮอล์จะไปยับยั้งการดูดซึมของวิตามินบี12 ทั้งนี้การดื่มแอลกอฮอล์มาเป็นระยะเวลานานหรือดื่มในปริมาณมากอาจทำลายสมองส่วนต่างๆได้
  • ภาวะเส้นเลือดสมองตีบ ซึ่งมักพบในผู้ป่วยอายุน้อยที่มีภาวะเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และไขมันในเลือดสูง ทำให้เส้นเลือดฝอยในสมองตีบ ส่งผลให้เซลล์สมองตาย
  • ฮอร์โมนผิดปกติ โดยเฉพาะฮอร์โมนไทรอยด์ที่มีระดับต่ำกว่าปกติ

อย่างไรก็ตาม ภาวะสมองเสื่อมเกิดจากเซลล์สมองถูกทำลาย ความเสียหายนี้ขัดขวางความสามารถของเซลล์สมองในการสื่อสารระหว่างกัน เมื่อเซลล์สมองไม่สามารถสื่อสารได้ตามปกติ ความคิด พฤติกรรม และความรู้สึกก็จะได้รับผลกระทบไปด้วย

สมองมีหลายส่วนที่แตกต่างกัน ซึ่งแต่ละส่วนมีหน้าที่ในการทำงานที่แตกต่างกัน (เช่น ความจำ การตัดสินใจ และการเคลื่อนไหว) เมื่อเซลล์บริเวณใดบริเวณหนึ่งได้รับความเสียหาย บริเวณนั้นจะไม่สามารถทำงานตามปกติได้

ภาวะสมองเสื่อมชนิดต่างๆ ขึ้นอยู่กับบริเวณที่สมองได้รับความเสียหาย ตัวอย่างเช่น ในโรคอัลไซเมอร์ มีระดับโปรตีนบางชนิดสูงทั้งภายในและภายนอกเซลล์สมอง ทำให้เซลล์สมองยากที่จะสื่อสารกันในแต่ละเซลล์

บริเวณสมองที่เรียกว่าฮิปโปแคมปัส ซึ่งเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้และความจำในสมอง เซลล์สมองในบริเวณนี้มักจะได้รับความเสียหายเป็นอันดับแรกๆ การสูญเสียความทรงจำจึงมักเป็นอาการเริ่มแรกของโรคอัลไซเมอร์

แยกให้ออก!! อาการแบบไหน? หลงลืมตามวัย หรือ ‘ความจำเสื่อม’

สังเกตอาการเบื้องต้นโรคความจำเสื่อมคนอายุน้อย 

  • ลืมเรื่องง่ายๆ เช่น วัน เดือน ปี สถานที่ที่เพิ่งไปมา ลืมนัดสำคัญหรือบางคนถึงขั้นลืมวันเกิดตัวเอง มักจะต้องใช้ตัวช่วย เช่น สมาร์ทโฟน หรือสมุดโน้ตมาช่วยจำ
  • บุคลิกภาพเปลี่ยน เช่น พูดไม่ได้ใจความ บางครั้งพูดติดๆ ขัดๆ หรือพูดซ้ำๆ ทำให้ประสิทธิภาพในการสื่อสารกับคนรอบข้างถดถอยลง
  • การตัดสินใจแย่ลง การตัดสินใจไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ หรือต้องใช้เวลานานในการตัดสินใจ
  • มักเกิดความผิดพลาดในการกะระยะ การบอกสี บอกความแตกต่าง ซึ่งเป็นปัญหามากถ้าผู้ป่วยต้องขับรถ
  • ภาวะเครียด ซึมเศร้า แยกตัวออกจากสังคม ไม่ว่าจะครอบครัวหรือเพื่อนร่วมงาน
  • ประสิทธิภาพการทำงานลดลง ไม่มีสมาธิ กระวนกระวาย ย้ำคิดย้ำทำ

สังเกตความผิดปกติโรคความจำเสื่อมในสูงวัย

  • อาการหลงลืม เช่น หลงลืมสิ่งของ ลืมนัด จำเหตุการณ์หรือคำพูดที่เพิ่งผ่านมาไม่ได้ ลืมสิ่งใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้น ลืมวันสำคัญหรือเหตุการณ์สำคัญที่ผ่านมา
  • สับสนเรื่องเวลา สถานที่ ฤดูกาล กลับบ้านไม่ถูก หลงทิศทาง หรือไม่รู้ว่าจะไปสถานที่นั้นๆ ได้อย่างไร
  • จำบุคคลที่เคยรู้จัก เพื่อน หรือสมาชิกในครอบครัวไม่ได้ คิดว่าเป็นคนแปลกหน้า
  • มีปัญหาเรื่องการสื่อสาร หรือเรียกสิ่งของไม่ถูก พูดคำหรือประโยคซ้ำๆ
  • ไม่สนใจในสิ่งที่เคยสนใจ เช่น กิจกรรมประจำวัน งานอดิเรก
  • มีปัญหาเรื่องการนับหรือทอนเงิน การใช้โทรศัพท์ การดูนาฬิกา
  • มีพฤติกรรมที่อาจเกิดปัญหายุ่งยาก เช่น ออกนอกบ้านเวลากลางคืน พฤติกรรมก้าวร้าว
  • ไม่สนใจดูแลความสะอาดของตัวเอง เช่น แปรงฟันไม่เป็น อาบน้ำไม่เป็น

แยกให้ออก!! อาการแบบไหน? หลงลืมตามวัย หรือ ‘ความจำเสื่อม’

การนอนน้อย จะทำให้ความจำเสื่อม

นอกจากนั้น การนอนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตสมองและร่างกาย ใช้ช่วงเวลาขณะหลับในการบำรุงซ่อมแซมส่วนต่าง ๆ ให้ดีขึ้น เพื่อให้ร่างกายมีประสิทธิภาพที่ดีในการทำงาน ดังนั้น การนอนหลับที่เพียงพอจึงมีความสำคัญต่อคุณภาพชีวิตที่ดี มนุษย์ใช้เวลานอนหลับ 1 ใน 3 ของเวลาทั้งหมด ความต้องการในการนอนหลับของแต่ละคนไม่เท่ากัน

คนส่วนใหญ่ต้องการนอนวันละ 8 ชั่วโมง บางคนนอนแค่วันละ 5-6 ชั่วโมง โดยไม่มีอาการง่วงนอน ทุกคนมีโอกาสเกิดการนอนไม่หลับขึ้นได้ ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งของชีวิต และร้อยละ 10 พบปัญหานอนไม่หลับเรื้อรัง ซึ่งอาจต้องใช้ยาเพื่อช่วยในการนอนหลับ โดยพบเพิ่มขึ้นตามอายุที่สูงขึ้น พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ผู้ที่ทำงานเป็นกะผลัดเวร เกิดปัญหานอนไม่หลับง่ายกว่างานอื่นค่ะ

“การนอนหลับไม่เพียงพอจะทำให้สมองไม่ได้พักผ่อนและมีโอกาสซ่อมแซมตัวเองน้อย ซึ่งผลกระทบแบบไม่รุนแรง คือมีอาการเบลอ มึนงง แต่ถ้าเป็นหนักอาจกระเทือนถึงความจำ”

ล่าสุด ในการประชุมประจำปีของสมาคมระบบประสาทวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกาพบว่า หากช่วงเวลาในการนอนหลับสนิทหายไปแค่ 2 ชั่วโมง ก็แทบจะกู้ความจำกลับมาไม่ได้อีกแล้ว ตามกระบวนการทำงานของระบบจดจำ สมองจะซึมซับเรื่องราว เหตุการณ์ ประสบการณ์ที่เกิดขึ้น แล้วเรียกขึ้นมาประมวลซ้ำๆ ในระหว่างที่เรานอนหลับ เสมือนช่วงเวลาในการลงบันทึก ส่งผลให้เกิดเป็นความจำระยะสั้น ก่อนที่จะพัฒนาเป็นความจำระยะยาว

แต่เมื่อนอนหลับไม่เพียงพอ สมองไม่ได้พัก กระบวนการจดจำดังกว่าวจึงถูกขัดขวาง มิหนำซ้ำหากปล่อยให้นอนหลับไม่พอบ่อยๆ สมองจะลืมสิ่งที่เคยทำหรือสิ่งที่คิดว่ากำลังจะทำ ซึ่งแม้แต่การนอนให้มากขึ้นในวันถัดไปก็ไม่สามารถนำความจำส่วนนั้นกลับมา จนกระทั่งอาจถึงขั้นจดจำการทำอะไรง่ายๆ ไม่ได้ ไม่ต่างจากอาการของโรคอัลไซเมอร์

เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว เริ่มกู้สมอง กู้ไฟล์ที่ถูกลบ โดยการฝึกคลายเครียดหรือทำสมาธิก่อนนอนเพื่อให้หลับสนิทยิ่งขึ้น และจัดเวลาในการนอนให้เหมาะสม เพียงพอในแต่ละวัน  เพียงเท่านี้เราก็จะมีความจำที่แม่นยำกันแล้ว

แยกให้ออก!! อาการแบบไหน? หลงลืมตามวัย หรือ ‘ความจำเสื่อม’

การนอนไม่พอส่งผลกระทบอย่างไรบ้าง

ผลกระทบขึ้นอยู่กับปริมาณและจำนวนที่นอนไม่หลับ โดยพบว่า

  • คุณภาพชีวิตลดลง
  • อัตราของการขาดงานเพิ่มขึ้น
  • ประสิทธิภาพการทำงานลดลง
  • มีการใช้บริการทางการแพทย์สูงขึ้น เนื่องจากปัญหาด้านสุขภาพ เช่น ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย เฉื่อยชา รู้สึกไม่สดชื่นร่าเริง หงุดหงิด ขาดสมาธิ
  • ความสามารถในการดำเนินชีวิตลดลง
  • ประสบอุบัติเหตุได้ง่าย มีรายงานว่าถ้าขับรถยนต์ โอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุจะเพิ่มสูงขึ้น 2.5 เท่า

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดอาการคล้ายสมองเสื่อม

1. รับประทานยาหลาย ๆ ชนิดพร้อมกัน และยาบางชนิดอาจมีผลข้างเคียงต่อสมอง

2. ดื่มเครื่องดื่มที่มีแแอลกอฮอล์ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน

3. ได้รับอุบัติเหตุที่ส่งผลกระทบกระเทือนศีรษะ

4. มีอาการเครียดเป็นประจำ และมีอาการซึมเศร้า

5. มีอาการของโรคต่อมไธรอยด์

6. เป็นโรคหลอดเลือดสมอง

แยกให้ออก!! อาการแบบไหน? หลงลืมตามวัย หรือ ‘ความจำเสื่อม’

หลีกเลี่ยงอาการสมองเสื่อมทำได้ 

1.งดเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ทุกชนิด

2.ระวังเรื่องการใช้ยา ไม่ควรรับประทานยาสุ่มสี่สุ่มห้า ควรให้แพทย์เป็นผู้สั่งยาทุกครั้งและควรนำยาที่ท่านรับประทานเป็นประจำไปให้แพทย์ดูด้วยเพื่อหลีกเลี่ยงการสั่งยาซ้ำซ้อน

3.ระมัดระวังการเกิดอุบัติเหตุที่ส่งผลกระทบกระเทือนศีรษะ

4.สำหรับผู้สูงอายุที่เดินลำบากควรมีคนดูแล เช่น เวลาเข้าห้องน้ำควรมีคนไปเป็นเพื่อน เพราะอาจเกิดการหกล้มในห้องน้ำได้

5.เมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุควรหมั่นไปตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี และไม่ควรลืมเจาะเลือดเพื่อตรวจหาเบาหวานและโรคไขมันในเลือดสูง

6.หมั่นไปตรวจความดันเลือดสม่ำเสมอตามที่แพทย์นัด หากพบว่าเป็นความดันโลหิตสูงก็ต้องปฏิบัติตนตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด เพราะมีผลกระทบต่อภาวะสมองเสื่อมได้

7.หมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สูงอายุจะต้องระมัดระวังไม่ให้หักโหมจนเกินไป แต่เพราะแทนที่จะเกิดประโยชน์อาจทำให้เกิดโทษได้

8.หากิจกรรมที่ทำให้ผ่อนคลายความตึงเครียด เช่น อ่านหนังสือ ฟังเพลง ดูโทรทัศน์ หมั่นเข้าร่วมกิจกรรมของชมรมผู้สูงอายุ และกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ตามสมควร

9.เมื่อสังเกตว่าตนเองเริ่มมีอาการหลง ๆ ลืม ๆ มากผิดปกติ หรือมีอาการบ่งชี้อื่น ๆ ที่น่าสงสัยก็ควรรีบไปพบประสาทแพทย์ หรือแพทย์เวชศาสตร์ผู้สูงอายุทันที

เทคนิคและวิธีพัฒนาความจำ

1. พยายามตั้งสมาธิเมื่อปฏิบัติกิจกรรมต่าง ๆ

2. พยายามนึกสร้างภาพในใจเมื่อต้องจดจำสิ่งหนึ่งสิ่งใด และถ้าภาพประทับใจก็ยิ่งทำให้จดจำได้ง่ายขึ้น 

3. เลือกจำเฉพาะข้อมูลที่สำคัญเท่าที่จำเป็นเท่านั้น

4. ควรมีสมุดบันทึกพกติดตัวตลอดเวลา เพื่อใช้จดข้อมูลต่าง ๆ กันลืม

5. พยายามจัดหมวดหมู่สิ่งของไว้เป็นพวก ๆ เก็บเป็นที่เป็นทางเพื่อความสะดวกในการใช้งานและไม่สับสน

6. ทำทุกเรื่องด้วยสติ และรอบคอบ ถ้าไม่แน่ใจก็ตรวจทานอีกครั้งเพื่อป้องกันความผิดพลาด

7. พยายามลดความตึงเครียด เช่น หางานอดิเรกทำในยามว่าง, ออกกำลังกาย, นั่งสมาธิ เป็นต้น

สำหรับผู้สูงอายุที่มีอาการหลงลืมเป็นประจำก็อย่าเพิ่งตื่นตระหนกจนเกินไป เพราะอาการหลงลืมเป็นเรื่องปกติของผู้สูงอายุและท่านอาจไม่ได้เป็นโรคสมองเสื่อมก็ได้ ส่วนผู้ที่เริ่มมีอาการของโรคสมองเสื่อม หรือสงสัยว่ากำลังจะมีอาการก็ควรรีบปรึกษาแพทย์โดยด่วนที่สุดเพื่อหาวิธีป้องกันและรักษาอย่างทันท่วงที

แยกให้ออก!! อาการแบบไหน? หลงลืมตามวัย หรือ ‘ความจำเสื่อม’

ป้องกันโรคความจำ สมองเสื่อมไม่ให้ล้า

ลดภาวะสมองล้า ป้องกันโรคความจำ จำเป็นที่จะต้องปรับวิธีการใช้ชีวิต ทั้งในด้านพฤติกรรม อาหาร จิตใจ การออกกำลังกาย รวมถึงการล้างสารพิษ ได้แก่

  • ควบคุมการใช้เทคโนโลยีในเวลาที่เหมาะสม ไม่นานจนเกินไปหรือตลอดทั้งวัน ควรหยุดพักบ้างเป็นระยะ
  • คิดบวก มองโลกในแง่ดี มีอารมณ์ขัน ไม่เครียด
  • ทานอาหารที่มีประโยชน์ช่วยบำรุงสมอง
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอวันละ 7 – 8 ชั่วโมง และควรนอนในเวลา 4 ทุ่มไม่เกินเที่ยงคืน
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพราะช่วยให้สุขภาพสมองแข็งแรง
  • เลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ และไม่ดื่มกาแฟในช่วงเย็นเพราะอาจรบกวนการนอนหลับ
  • ท่องเที่ยวธรรมชาติเพื่อผ่อนคลายและได้สูดออกซิเจนให้เต็มปอด ช่วยเติมพลังชีวิตได้ดี

อ้างอิง :โรงพยาบาลกรุงเทพ, โรงพยาบาลสมิติเวช ,โรงพยาบาลนครธน