อย่าหาทำ ! แกว่งสารส้มในน้ำมะพร้าว สลายนิ่ว

อย่าหาทำ ! แกว่งสารส้มในน้ำมะพร้าว สลายนิ่ว

จากกรณี ที่มีการแชร์เกี่ยวกับการ แกว่งสารส้มในน้ำมะพร้าว เพื่อสลายนิ่วในโลกโซเชียลนั้น ซึ่งหลายปีที่ผ่านมา มีผู้เชี่ยวชาญได้ออกมาเตือนในเรื่องนี้ เนื่องจากไม่ได้อ้างอิงผลวิจัยทางการแพทย์ และการบริโภคน้ำที่มีอะลูมิเนียมสูงยังส่งผลต่อสุขภาพ

 

วนกลับมาอีกครั้งกับความเชื่อหรือคำแนะนำเกี่ยวกับสุขภาพที่ผิดๆ ซึ่งคราวนี้ใน TikTok ได้มีการแชร์เคล็ดลับการสลายนิ่ว โดยการ แกว่งสารส้มในน้ำมะพร้าว อย่างไรก็ตาม เมื่อหลายปีก่อนหน้านี้ มีการพูดถึงเรื่องนี้กันมาแล้ว และมีผู้เชี่ยวชาญออกมาเตือน เพราะไม่ได้อ้างอิงผลวิจัยทางการแพทย์ ไม่น่าเชื่อ และไม่ควรทำตาม

 

ทำความรู้จัก ‘สารส้ม’ กันก่อน

ข้อมูลจากเว็บไซต์ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) อธิบายว่า สารส้ม Ammonium alum และ Potassium alum คือ เกลือเชิงซ้อนของสารประกอบที่มี ธาตุ อะลูมิเนียม และ ซัลเฟต เป็นส่วนประกอบหลัก หรือ รู้จักกันในนามว่าสารส้ม (alum) หรือ ผลึกเกลือ

 

ประโยชน์ สารส้ม นำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างกว้างขวางทั้งในอุตสาหกรรมและที่เกี่ยวข้องกับผิวหนังของคน กล่าวคือ

1 การใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรม ส่วนมากจะใช้ในอุตสาหรรมการประปา รองลง มาได้แก่ อุตสาหกรรมกระดาษ ย้อมผ้า ฟอกหนัง ผสมเป็นยาดับเพลิง สารดับกลิ่น ฟอกสี และ ผสมทำผงฟูใช้ในการทำขนมปัง เป็นต้น

2 การใช้เกี่ยวข้องกับผิวหนัง ใช้ดับกลิ่นตัวได้ทุกส่วนของร่างกายตามที่ต้องการ โดยเฉพาะที่ใต้วงแขน ( รักแร้ ) และ เท้า

  • สามารถระงับ กลิ่นได้ 100 % นานถึง 24 ช.ม และหน่วงการเกิดกลิ่นได้ไม่ต่ำกว่า 10 ช.ม
  • ใช้ทาหลังโกนหนวดจะไม่ทำให้เกิดการระคายเคือง ช่วยห้ามเลือดและสมานบาดแผลที่เกิดจากมีดโกนบาด หรือ บาดแผลเล็กน้อย
  • ใช้ทาที่ส้นเท้าจะรักษาและป้องกันส้นเท้าแตก
  • ทาแก้คันตามผิวหนังเมื่อถูกยุงกัดหรือคันจากสาเหตุอื่น

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

ข่าวปลอม อย่าแชร์! เกลือทะเล ไม่ทำให้ไตวาย

รู้หรือไม่ 'ผู้หญิง' ก็เป็น 'ไส้เลื่อน' ได้ ไม่ได้เกิดแค่ผู้ชายเท่านั้น

ภาวะตากระตุก ลางร้าย ? หรือสัญญาณเตือนสุขภาพ

 

 

คุณสมบัติ

1 ไม่มีสีและกลิ่น ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่พิเศษของมัน เหมาะสำหรับผู้ที่ชอบใช้น้ำหอม เพราะจะไม่มีกลิ่นไปรบกวนหรือหักล้างกลิ่นน้ำหอมที่ใส่อยู่ กล่าวคือ สารดับกลิ่นตัวส่วนมากจะผสมน้ำหอมลงไปด้วย ทำให้ไปรบกวนกลิ่นของน้ำหอมราคาแพงที่ใส่อยู่

2 ไม่เปื้อนเสื้อผ้า เพราะไม่มีส่วนผสมของ ครีม และน้ำมัน

3 ปลอดภัย กับร่างกาย กล่าวคือ ไม่อุดตันรูขน ไม่ซึมเข้าสู่ร่างกายเพราะตัวมันทำให้เกิดประจุลบจึงไม่สามารถที่ผ่านผนังเซลได้ ไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมและไม่ทำลายโอโซน

4 ไม่เสื่อมสภาพ มีความคงทนต่อสภาพแวดล้อมไม่เสื่อมสภาพที่อุณหภูมิห้อง

 

สารส้มแกว่งน้ำมะพร้าว สลายนิ่วได้จริงหรือ ?

ประเด็น สารส้มแหว่งน้ำมะพร้าว สลายนิ่ว ความจริงมีการพูดถึงมาหลายปี โดยในปี 2560 (อ.เจษฎ์) รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาเตือนผ่านเพจ อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ เรื่อง ระวัง 'กินสารส้ม สลายนิ่ว' จะอันตรายจากอะลูมิเนี่ยม ใจความว่า

 

มีคำถามว่า ที่แชร์กันเรื่อง ‘กินสารส้มสามารถสลายนิ่วในกระเพาะปัสสาวะได้’ หรือ ‘นำน้ำมะพร้าว มาผสมสารส้มดื่มสลายนิ่วให้ออกมาทางปัสสาวะได้’ นี่ทำได้จริงหรือเปล่า ... เท่าที่อ่านเนื้อหาดู มันแค่ความเชื่อนะ ไม่ได้อ้างอิงผลวิจัยทางการแพทย์อะไร ไม่ได้น่าเชื่อถือให้ทำตาม

 

'สารส้ม' หรือ 'ไฮเดรตเต็ดโพแทสเซียมอะลูมิเนียมซัลเฟต (หรือ โพแทสเซียมอะลัม)' นั้น แม้จะมีระดับความเป็นพิษค่อนข้างน้อย สามารถนำมาใช้แกว่งให้น้ำใสขึ้น ก่อนจะแยกเอาน้ำไปดื่ม แบบคนโบราณทำกันได้นั้น แต่ๆๆๆ ถ้าได้รับเป็นปริมาณมาก ก็จะเป็นอันตรายได้ จากปริมาณของอะลูมิเนียมที่กินเข้าไป

 

 

 

กินน้ำที่มีสารส้มปนเปื้อนสูง จะเกิดอะไร

ย้อนกลับไป ในปี 2555 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ออกแถลงการณ์แนะนำให้ระมัดระวังการบริโภคอะลูมิเนียมในปริมาณที่มากเกินไปเนื่องจากอาจจะส่งผลข้างเคียง ใจความบางส่วนระบุว่า

 

“ในชีวิตประจําวันของคนทั่วไปมีโอกาสได้รับอะลูมิเนียมเข้าสู่ร่างกายหลักๆ มาจากการบริโภคอาหารและน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำบริโภคที่มีความใสจากการใช้สารส้มแกว่งให้ตกตะกอน และไม่มีการควบคุมตรวจสอบปริมาณอะลูมิเนียมในน้ำให้มีปริมาณที่ปลอดภัยต่อการบริโภค หากบริโภคน้ำที่มีอะลูมิเนียมหรือสารส้มปนเปื้อนอยู่ในปริมาณที่สูงอาจทำให้เกิดอาการอาเจียน ท้องร่วง เกิดผื่นคันเป็นแผลร้อนในได้ และที่สำคัญที่สุด คือ เกิดภาวะสมองเสื่อม และเป็นโรคอัลไซเมอร์ เนื่องจากอะลูมิเนียมเป็นโลหะที่มีประสิทธิภาพในการทำลายเนื้อเยื่อประสาท”

 

แล้วถ้าเป็น ‘นิ่ว’ ต้องรักษาอย่างไร

ข้อมูลจาก โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ อธิบายว่า นิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ คือ ตะกอนที่ตกอยู่ในน้ำปัสสาวะ ซึ่งปกติน้ำปัสสาวะจะเป็นของเหลวและในน้ำปัสสาวะก็จะมีสารหลายๆ อย่างที่ละลายอยู่ในน้ำปัสสาวะ สภาวะบางอย่างทำให้สารต่าง ๆ เหล่านี้ตกตะกอนกลายเป็นผลึกและจากหลายๆ ผลึกจะรวมกันเป็นก้อนได้ง่ายมากขึ้น

 

โดยมีปัจจัยที่เกี่ยวข้อง คือ ปริมาณสารต่างๆ เหล่านั้นมีมากเกินไปในน้ำปัสสาวะ หรือดื่มน้ำน้อยเกินไปทำให้น้ำปัสสาวะน้อยก็จะเอื้อต่อการตกตะกอนของผลึกต่างๆ จนกระทั่งกลายเป็นก้อนนิ่วได้ง่ายมากขึ้น รวมทั้งค่าความเป็นกรดด่างของน้ำปัสสาวะ เช่น น้ำปัสสาวะที่มีความเป็นกรดมากก็จะเอื้อต่อการตกตะกอนของกรดยูริกง่ายมากขึ้น

 

อาการเข้าข่าย นิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ

อาการค่อนข้างหลากหลาย ขึ้นอยู่กับขนาดและตำแหน่ง รวมถึงการอุดตันของทางเดินปัสสาวะ เนื่องจากก้อนนิ่วนั้นๆ ว่ามีการอุดตันมากน้อยแค่ไหน ในบางกรณีผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บปวดรุนแรงบริเวณท้องหรือบริเวณหลังหรือในตำแหน่งที่นิ่วอุดตันอยู่ ซึ่งจะเจ็บปวดทุรนรายมากจนกระทั่งทำให้ผู้ป่วยต้องรีบมาพบแพทย์ หรือในผู้ป่วยบางคนอาจ ไม่มีอาการอะไรเลย แต่สามารถตรวจพบในกรณีที่ผู้ป่วยรับการตรวจสุขภาพ และ/หรือ ได้พบว่าไตได้สูญเสียการทำงานไปแล้ว หรือที่เรา เรียกว่า ภาวะไตวาย

 

หากมีอาการผิดปกติควรทำอย่างไร

หากมีอาการดังกล่าวข้างต้น แนะนำผู้ป่วยให้มาพบแพทย์ โดยแพทย์จะทำการสอบถามอาการและทำการตรวจร่างกาย แต่อย่างไรก็ตาม โรคนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ จำเป็นจะต้องทำการตรวจเพิ่มเติม เพื่อช่วยระบุตำแหน่งหรือขนาดของนิ่ว โดยการทำเอกซเรย์ หรือการทำอัลตร้าชาวนด์ เพื่อจะดูผลจากการอุดตันของก้อนนิ่วนั้นๆ หลังจากนั้นแพทย์จะแนะนำวิธีรักษาที่ถูกต้องแก่ผู้ป่วยต่อไป

 

แนวทางการรักษา

ในปัจจุบันการรักษโรคนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ มีการรักษาด้วยวิธีต่างๆ ที่หลากหลาย โดยขึ้นอยู่กับขนาดและตำแหน่งของนิ่วที่อุดตันอยู่ในผู้ป่วยแต่ละราย ซึ่งแพทย์จะให้คำแนะนำผู้ป่วยเป็นรายๆ ไป

 

การเอานิ่วออก

1.การรอให้ก้อนนิ่วหลุดออกมาเอง มักใช้ในกรณีที่ก้อนนิ่วมีขนาดเล็กมาก (ไม่เกิน 5 มิลลิเมตร โดยการให้ผู้ป่วยดื่มน้ำมากๆ เพื่อให้ร่างกายขับนิ่วออกมาเองตามธรรมชาติ

 

2.การรักษาโดยการเอานิ่วออก

2.1 การสลายนิ่วด้วยคลื่นกระแทก (Extracorporeal Shock Wave Lithotripsy : ESWL) เป็นการใช้คลื่น Shock wave ส่งผ่านผิวหนังไปยังก้อนนิ่ว เพื่อทำให้ก้อนนิ่วแตกออกเป็นชิ้นเล็กๆ และไหลหลุดออกมากับปัสสาวะโดยไม่ต้องผ่าตัด ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพ และความปลอดภัยสูง แต่อาจไม่ได้ผลในกรณีนิ่วก้อนใหญ่ แข็ง หรือผู้ป่วยที่มีรูปร่างค่อนข้างใหญ่

2.2 การส่องกล้องผ่านท่อไต (Ureteroscopy : URS) เป็นการใส่เครื่องมือเข้าไปทางท่อไตและเข้าไปยังตำแหน่งของก้อนนิ่วทั้งในท่อไตหรือในไตจากนั้นใช้เลเซอร์ทำให้นิ่วมีขนาดเล็กลงแล้วจึงใช้เครื่องมีอนำเศษนิ่วเหล่านั้นออกมาโดยไม่ทำให้เกิดแผลใดๆ

2.3 การผ่าตัดโดยการเจาะและส่องกล้องสลายนิ่วภายในไต (Percutaneous Nephrolithotomy : PCNL) ใช้ในกรณีที่ก้อนนิ้วมีขนาดใหญ่ หรือเป็นนิ่วเขากวางที่มีกิ่งก้าน หลายกิ่งจนไม่สามารถเอาออกด้วยวิธีอื่นได้ โดยจะทำการเจาะรูขนาดประมาณ 1 เซนติเมตร ผ่านผิวหนังบริเวณหลังเข้าไปที่ไต จากนั้นใช้เครื่องมือกรอสลายก้อนนิ่วและดูดออกมา

 

การรักษาที่สาเหตุของโรค

เนื่องจากการเอานิ่วออกเพียงอย่างเดียวโดยไม่ได้แก้ที่ต้นเหตุของการเกิดโรค อาจทำให้ผู้ป่วยกลับมาเป็นนิ่วช้ำได้อีก ซึ่งการรักษาที่สาเหตุนี้ ยกตัวอย่างเช่น

  • นิ่วที่เกิดจากการมีปัสสาวะคั่งค้างในกระเพาะปัสสาวะ แพทย์ต้องตรวจวินิจฉัยให้แน่ชัดว่าการคั่งค้างนั้นเกิดจากอะไร แล้วทำการรักษาไปพร้อมกัน เช่น หากการคั่งค้างของปัสสาวะเกิดจากต่อมลูกหมากโต จะต้องใช้วิธีส่องกล้องเพื่อผ่าตัดต่อมลูกหมาก หรือทำการขยายท่อปัสสาวะในกรณีที่มีการตีบตันร่วมด้วย
  • ส่วนนิ่วที่เกิดจากกระเพาะปัสสาวะทำงานผิดปกติ เช่น บีบตัวไม่ดี ผู้ป่วยจำเป็นต้องใช้สายสวนในการช่วยปัสสาวะ

 

โรคนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะป้องกันได้

  • ลดการรับประทานอาหารที่กระตุ้นให้เกิดสารก่อนิ่วในน้ำปัสสาวะ เช่น เนื้อสัตว์ที่เป็นเนื้อแดง อาหารที่มีรสเค็ม เครื่องในสัตว์
  • เพิ่มประมาณการดื่มน้ำในแต่ละวัน เพราะน้ำจะช่วยลดการตกตะกอนของสารก่อนิ่วได้เป็นอย่างดี โดยประมาณน้ำดื่มที่แนะนำต่อวันคือประมาณ 2.5 - 3 ลิตร