ตรวจสุขภาพอายุ 30++ ก็ทำได้ ไม่ต้องรอถึงวันพ่อ!!

ตรวจสุขภาพอายุ 30++ ก็ทำได้  ไม่ต้องรอถึงวันพ่อ!!

วันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็น ‘วันพ่อแห่งชาติ’ ซึ่งภาครัฐ เอกชน ได้จัดกิจกรรมมากมาย ชวนเหล่าคุณพ่อและลูกๆ มาสร้างความสุขร่วมกัน

Keypoint:

  • ใกล้ถึงวันพ่อ 5 ธันวาคม หลายๆ คนอาจจะมองหาของขวัญสำหรับคุณพ่อ ซึ่งในปีนี้ขอแนะนำโปรแกรมการตรวจสุขภาพ ลดความเสี่ยงป้องกันก่อนเกิดโรคแก่คุณพ่อ
  • การตรวจสุขภาพสำหรับคุณพ่อ หรือผู้ชายตั้งแต่วัย 30 ปีขึ้นไป มีความจำเป็นอย่างมาก เพราะร่างกายหลายๆ ส่วนเริ่มเสื่อมสภาพ
  • ผู้ชายวัยกลางคน ต้องเข้าตรวจคัดกรองเบาหวาน มะเร็งต่อมลูกหมาก ตรวจหาเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และวัดระดับคอเลสเตอรอล  มะเร็งลำไส้ และมะเร็งปอด 

แต่ละปีหน่วยงานต่างๆ ได้จัดกิจกรรมฟรี!!มากมาย ชวนคุณลูกพาคุณพ่อไปทำกิจกรรมด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ รถไฟฟ้าบีทีเอส ได้จัดกิจกรรมโดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอสฟรีตลอดสาย รวมส่วนต่อขยายสายสุขุมวิท และสายสีลม รวมถึงรถไฟฟ้าสายสีทอง และรถโดยสารด่วนพิเศษบีอาร์ที ตั้งแต่เวลา 06.00 น. – 24.00 น. ในวันที่ 5 ธันวาคม 2566 เพียงแค่คุณลูกพาคุณพ่อมาแสดงตัวที่ห้องจำหน่ายตั๋วเพื่อรับบัตรโดยสารฟรี แก่คุณพ่อ 1 ท่านต่อบัตร 1 ใบ โดยจะต้องขึ้น – ลงสถานีเดียวกันกับคุณลูกเท่านั้น ส่วนรถโดยสารด่วนพิเศษบีอาร์ที ไม่ต้องติดต่อขอรับบัตร

หรือ สวนสัตว์ทั้ง 6 แห่ง ได้แก่ สวนสัตว์เปิดเขาเขียว จังหวัดชลบุรี สวนสัตว์เชียงใหม่ สวนสัตว์นครราชสีมา สวนสัตว์สงขลา สวนสัตว์อุบลราชธานี สวนสัตว์ขอนแก่น และโครงการคชอาณาจักรจังหวัดสุรินทร์ ได้จัดเตรียมพื้นที่สวนสัตว์ทั่วประเทศจัดกิจกรรม วันพ่อแห่งชาติ 5 ธันวาคม 2566 นี้ 

และที่พลาดไม่ได้!! การมอบของขวัญสุดพิเศษ อย่าง 'ตรวจสุขภาพ' แสดงความรักความใส่ใจเรื่องสุขภาพแบบ ‘ฮักพ่อ’

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ทำไมต้อง 'ตรวจสุขภาพ' ประจำปี วัยทำงานเลือกโปรแกรมแบบไหนดี?

'เป๊ะ' มาก ดีต่องาน แต่สุขภาพแย่ ทำงานหาเงินจ่ายค่าหมอแบบไม่รู้ตัว

 

'ตรวจสุขภาพคุณพ่อ' ป้องกันความเสี่ยงโรค

‘การตรวจสุขภาพ’ ไม่ใช่เรื่องที่ร่างกายต้องมีความเสี่ยง  หรืออยู่ในช่วงวัยผู้สูงอายุเท่านั้นที่ต้องตรวจ ยิ่งในยุคปัจจุบัน ที่โรคต่างๆ เกิดขึ้นได้ตั้งแต่อายุยังน้อย เพราะอายุเป็นเพียงแค่ตัวเลข โรคร้ายอาจแอบแฝงอยู่ในร่างกายของเหล่าคุณพ่อ คุณแม่ คุณลูก โดยที่ไม่รู้ตัว

วันพ่อ’ ปีนี้ ‘กรุงเทพธุรกิจ’ ชวนเหล่าคุณลูกพาคุณพ่อไปตรวจสุขภาพร่างกาย ป้องกันโรคร้าย ค้นหาความเสี่ยงของแต่ละช่วงวัยที่ไม่เหมือนกัน  เนื่องจากบางคนอาจจะเสี่ยงด้วยวัยที่เพิ่มมากขึ้น หรือเสี่ยงจากกรรมพันธุ์  เสี่ยงมาจากการใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งสาเหตุเหล่านี้ทำให้การเลือกตรวจสุขภาพในแต่ละครั้งจำเป็นต้องเลือกตรวจสุขภาพให้ครอบคลุมตามความเสี่ยงของแต่ละช่วงวัย

ตรวจสุขภาพสำหรับช่วงวัย 30 ปีขึ้นไป หรือช่วงวัยกลางคน เหล่าคุณพ่อในช่วงวัยนี้ ร่างกายจะเริ่มมีความเสื่อมถอยลงไป ทำให้ระบบการทำงานต่างๆในร่างกาย ทำงานได้ไม่เหมือนสมัยตอนวัยรุ่นแล้ว โดยมีสาเหตุมาจากความเครียด ความกดดันต่างๆ ความรับผิดชอบ หรือการพักผ่อนน้อย ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้เป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคร้ายได้ง่ายยิ่งขึ้น

ตรวจสุขภาพอายุ 30++ ก็ทำได้  ไม่ต้องรอถึงวันพ่อ!!

แต่หากได้มีการดูแลสุขภาพอย่างจริงจัง หรือมีการตรวจสุขภาพอยู่เป็นประจำทุกปี ก็จะช่วยป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยรายการตรวจหากเป็นผู้หญิงก็จะเน้นเกี่ยวกับ อัลตร้าซาวด์ช่องทั้งหมด หรือตรวจมะเร็งปากมดลูก และตรวจมะเร็งเต้านม แต่หากเป็นผู้ชายก็จะเน้นตรวจมะเร็งต่างๆ เช่น มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งตับ มะเร็งปอด

 

วันพ่อปีนี้ มอบของขวัญด้วยการ 'ตรวจสุขภาพ'

ขณะที่เหล่าคุณพ่ออายุ 60 ปี ขึ้นไป ช่วงวัยที่สุขภาพเริ่มถดถอยอ่อนแอ่ไปตามกาลเวลา ส่งผลให้ระบบต่างๆในร่างกายทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ความแข็งลดลง และเมื่อเจ็บป่วยมักจะมีอาการรุนแรงมากกว่าผู้ที่มีอายุน้อย เนื่องจากเซลล์มีความเสื่อมสภาพลงทำให้ระบบภูมิคุ้มกันต่างๆในร่างกาย ก็ไม่แข็งแรงพอที่จะสามารถป้องกันความเสี่ยงต่อการเกิดโรคร้ายต่างๆได้ ซึ่งรายการตรวจสุขภาพจะตรวจเน้นเกี่ยวกับความหนาแน่นของกระดูก หัวใจ ไต ตับ และมะเร็งลำไส้

ทั้งนี้ การตรวจสุขภาพสำหรับผู้ชาย ด้วยวัยที่ร่างกายเสื่อมตามสภาพ ฉะนั้นจึงต้องตรวจคัดกรองโรคอย่างครอบคลุม ดังต่อไปนี้

1.ตรวจระดับค่าน้ำตาล สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงเป็นเบาหวาน หรือผู้ป่วยเบาหวานที่ยังต้องคุมระดับน้ำตาลในเลือด และต้องติดตามทุกๆ 3 เดือน เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดจะมีอยู่ 2 วิธี

  • ตรวจระดับน้ำตาลในเลือด (FBS)
  • ตรวจระดับน้ำตาลเฉลี่ยสะสมในเลือด  (HbA1c)

ตรวจสุขภาพอายุ 30++ ก็ทำได้  ไม่ต้องรอถึงวันพ่อ!!

2.ตรวจระดับไขมันในเลือด เป็นการเจาะเลือดตรวจระดับค่าของไขมันทุกชนิดในกระแสเลือด ว่ามีการไหลเวียนที่ปกติหรือมีปริมาณการอุดตันในหลอดเลือดมากน้อยแค่ไหน เพื่อหาความเสี่ยงของการเกิดโรคเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งควรตรวจติดตามระดับไขมันทุกๆ 3-6 เดือน

3.ตรวจการทำงานของตับและไต สำหรับผู้ป่วยกลุ่มโรคเรื้อรัง NCDs ที่ยังต้องใช้ยาควบคุมค่าต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นค่าไขมัน ความดัน น้ำตาลในเลือด เพื่อหาแนวทางในการปรับเปลี่ยนชนิดยาหรือปริมาณยาให้เหมาะสม ซึ่งแพทย์จะตรวจติดตามทุกๆ 3-6 เดือน

เมื่อถึงอายุ 30 ปีขึ้นไป หรืออายุ 40 ปี วัยกลางคน ผู้ชายในวัยนี้จะมีประเด็นเรื่องสุขภาพมากขึ้น ซึ่งทำให้ต้องเข้าตรวจคัดกรองเบาหวาน มะเร็งต่อมลูกหมาก ตรวจหาเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และวัดระดับคอเลสเตอรอล และเมื่อเข้าสู่วัย 50 ปี ก็ควรการตรวจมะเร็งชนิดต่างๆ เช่น มะเร็งลำไส้ มะเร็งต่อมลูกหมาก และมะเร็งปอด รวมถึงตรวจมวลกระดูกเพื่อหาโรคกระดูกพรุน เพิ่มเติมด้วย

ผู้ชายอายุ 30–64 ปี ควรตรวจสุขภาพอะไรบ้าง?

แบ่งเป็นการตรวจพื้นฐานและการตรวจจำเพาะ มีรายละเอียดดังนี้ 

  • การตรวจพื้นฐาน
  • การซักประวัติและ การตรวจร่างกายโดยแพทย์
  • การตรวจประเมินสุขภาพจิตทั่วไป การใช้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่
  • การตรวจดัชนีมวลกาย
  • การตรวจวัดสัญญาณชีพทั่วไป
  • ตรวจการได้ยินทั่วไป (Finger Rub Test)
  • ตรวจตาทั่วไป
  • การตรวจคัดกรองโรคความดันโลหิตสูง
  • การตรวจเม็ดเลือด (CBC)
  • การตรวจคัดกรองโรคเบาหวาน (FBS)
  • การตรวจคัดกรองโรคไขมันในเลือดสูง
  • การตรวจเอกซเรย์ทรวงอก
  • ตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง
  • ตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมาก
  • การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ
  • ตรวจหาเชื้อไวรัสตับอักเสบบี
  • การตรวจจำเพาะ
  • การตรวจสมรรถภาพและความแข็งแรงของร่างกาย (Fitness Test)
  • การตรวจฟัน
  • การตรวจสายตา
  • การตรวจหาโรคจากสิ่งแวดล้อม เช่น โลหะหนัก เอกซเรย์ทรวงอกเพื่อหาโรคปอดจากสิ่งแวดล้อม การตรวจสมรรถภาพปอด
  • การตรวจหาโรคการทำงาน เช่น การตรวจสมรรถภาพการได้ยิน สมรรถภาพการมองเห็น การตรวจหาโรคจากความร้อน/ความเย็น/แรงสั่นสะเทือน สารเคมีที่ตกค้างในร่างกาย โรคปอดจากการทำงาน 
  • โรคติดเชื้อในวัยเจริญพันธุ์
  • มะเร็งทวารหนัก (สำหรับกลุ่มเฉพาะ)
  • ตรวจหาภาวะกระดูกบางและกระดูกพรุน

ตรวจสุขภาพอายุ 30++ ก็ทำได้  ไม่ต้องรอถึงวันพ่อ!!

ตรวจร่างกายแต่ละส่วน บ่งบอกโรคอะไรบ้าง? 

การตรวจความดันโลหิต

  • ควรตรวจความดันโลหิตอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง แต่หากว่า มีเลขความดันโลหิตตัวบน (Systolic number) อยู่ระหว่าง 120-139 หรือเลขความดันโลหิตตัวล่าง (Diastolic number) อยู่ระหว่าง 80-89 mmHg หรือมากกว่านั้น ก็ควรตรวจทุกปี

การตรวจระดับคอเลสเตอรอลกับการป้องกันโรคหัวใจ

  • ผู้ชายในวัย 40-64 ปี ควรได้รับการตรวจระดับคอเลสเตอรอลทุกๆ 5 ปี 
  • ผู้ที่มีคอเลสเตอรอลสูงอยู่แล้ว และเป็นโรคเบาหวาน โรคหัวใจ หรือโรคไตร่วมด้วย อาจต้องตรวจบ่อยครั้งขึ้น
  • หากมีปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหัวใจ เช่น เป็นโรคเบาหวาน ให้เริ่มตรวจตั้งแต่อายุ 20 ปี
  • ผู้ชายบางคนอาจมีคอเลสเตอรอลสูงจนต้องใช้ยาแอสไพรินเพื่อป้องกันภาวะหัวใจวาย ซึ่งต้องปรึกษาแพทย์ก่อนเริ่มใช้ยาดังกล่าว เนื่องจากยานี้จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการมีเลือดออกได้

การตรวจเบาหวาน

  • หากมีอายุ 45 ปีขึ้นไป ควรเข้ารับการตรวจเบาหวานทุกๆ 3 ปี
  • หากคุณมีน้ำหนักเกินเกณฑ์ ควรสอบถามแพทย์ว่า ควรเข้ารับการตรวจตั้งแต่ช่วงอายุน้อยหรือไม่
  • หากมีความดันโลหิตสูงกว่า 135/80 mmHg หรือมีปัจจัยเสี่ยงต่อโรคเบาหวานร่วมด้วย แพทย์อาจให้ตรวจระดับน้ำตาลในเลือดเพื่อดูว่า มีภาวะเบาหวานหรือไม่

การตรวจมะเร็งลำไส้ใหญ่

  • ผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 50 ปี และคนในครอบครัวมีประวัติเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ หรือติ่งเนื้อเมือก หรือตัวคุณเองมีปัจจัยเสี่ยงอย่างเคยเป็นโรคลำไส้ใหญ่อักเสบ หรือมีติ่งเนื้อเมือกมาก่อน ควรเข้ารับการตรวจมะเร็งลำไส้ใหญ่ 
  • ส่วนผู้ที่มีอายุระหว่าง 50-75 ปี ควรเข้ารับการตรวจมะเร็งลำไส้ใหญ่ทุกคน โดยการคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ทำได้หลายวิธี ดังนี้
  • การตรวจหาเม็ดเลือดแดงในอุจจาระทุกๆ ปี
  • การตรวจส่องกล้องมะเร็งลำไส้ใหญ่ทุกๆ 10 ปี
  • ทั้งนี้คุณอาจต้องเข้ารับการตรวจส่องกล้องลำไส้ใหญ่ หากคุณมีปัจจัยเสี่ยงต่อโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ เช่น
  • เป็นโรคลำไส้ใหญ่อักเสบชนิดเป็นแผล
  • มีประวัติเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ หรือคนในครอบครัวเคยเป็นโรคนี้
  • มีประวัติพบเนื้องอกในลำไส้ใหญ่

การตรวจโรคกระดูกพรุน

  • หากคุณมีอายุ 50-70 ปี และมีปัจจัยเสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุนข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้ คุณควรปรึกษากับแพทย์เกี่ยวกับการตรวจต่างๆ
  • ใช้ยาสเตียรอยด์เป็นเวลานาน 
  • น้ำหนักน้อย 
  • สูบบุหรี่ 
  • ดื่มแอลกอฮอล์หนัก 
  • เคยกระดูกหักหลังจากอายุ 50 ปี 
  • คนในครอบครัวมีประวัติโรคกระดูกพรุน

ตรวจสุขภาพอายุ 30++ ก็ทำได้  ไม่ต้องรอถึงวันพ่อ!!

การตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมาก

  • ผู้ชายที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปควรปรึกษากับแพทย์เกี่ยวกับการตรวจมะเร็งต่อมลูกหมาก โดยเฉพาะผู้ที่บุคคลในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคนี้
  • คุณสามารถเข้ารับการตรวจเลือด PSA เพื่อคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมากได้ทุกปี
  • ผู้ชายที่ไม่มีอาการของโรคมะเร็งต่อมลูกหมากจะไม่แนะนำให้ตรวจคัดกรองเป็นประจำ

การตรวจคัดกรองมะเร็งปอด

  • คณะป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกาแนะนำว่า หากมีอายุระหว่าง 55-80 ปี มีประวัติสูบบุหรี่ 30 แพ็คต่อปี และกำลังสูบบุหรี่อยู่ หรือเลิกบุหรี่ไปแล้วภายในช่วง 15 ปี ควรตรวจคัดกรองมะเร็งปอดเป็นประจำทุกปีด้วยการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ความเข้มรังสีต่ำ (LDCT)  

การตรวจฟัน

  • ควรเข้าพบทันตแพทย์ 1-2 ครั้งต่อปี เพื่อตรวจสุขภาพฟันและทำความสะอาดช่องปาก เช่น ขูดหินปูน โดยทันตแพทย์อาจประเมินและแจ้งให้คุณมาพบบ่อยกว่านั้นตามกรณี

การตรวจตา

  • ผู้ที่มีอายุ  40-54 ปี ควรเข้ารับการตรวจสุขภาพตาทุก 2-4 ปี และตรวจทุก 1-3 ปี เมื่อมีอายุ 55-64 ปี แต่แพทย์อาจแนะนำให้คุณเข้ารับการตรวจบ่อยกว่านั้นหากคุณมีปัญหาสายตา หรือมีความเสี่ยงต่อโรคต้อหิน 
  • หากเป็นเบาหวาน ควรเข้ารับการตรวจสายตาอย่างน้อย 1 ครั้งต่อปี

ผู้ชายอายุ 40-64 ปี ควรฉีดวัคซีนอะไรดี? 

  • หลังจากที่อายุ 19 ปี ควรได้รับการฉีดวัคซีนรวมคอตีบ บาดทะยัก และไอกรน (Tdap) ซึ่งเป็นวัคซีนที่แนะนำให้ฉีดกระตุ้นทุก 10 ปี หลังจากได้รับวัคซีนครบตามที่กำหนดแล้ว อาจพิจารณาฉีดเพียงวัคซีนป้องกันบาดทะยักได้
  • ควรรับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ทุกปี
  • หากไม่เคยเป็นโรคอีสุกอีใส และไม่เคยฉีดวัคซีนอีสุกอีใสมาก่อน ควรเข้ารับวัคซีนอีสุกอีใส
  • วัคซีนโรคหัด คางทูม หัดเยอรมัน (MMR) อย่างน้อย 1 ครั้ง
  • วัคซีนงูสวัด
  • หากมีโรคประจำตัวบางชนิด แพทย์อาจแนะนำให้ท่านฉีดวัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบ
  • แพทย์อาจแนะนำให้คุณฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันเพิ่มเติม หากคุณมีภาวะสุขภาพ หรือความเสี่ยงอื่นๆ เช่น เป็นโรคเบาหวาน

อย่างไรก็ตาม ตรวจสุขภาพสำหรับผู้ชาย เพื่อชีวิตและไลฟ์สไตล์ของเพศชาย จำเป็นต้องมีตรวจสุขภาพตั้งแต่อายุ 30 ปีขึ้นไป แต่หากมีสุขภาพร่างกายที่ไม่แข็งแรงและอยู่ในกลุ่มเสี่ยง เช่น มีภาวะน้ำหนักเกิน เป็นโรคอ้วน บุคคลในครอบครัวมีโรคประจำตัว (เบาหวาน มะเร็ง) หรือมีอาการผิดปกติใดๆ ในร่างกาย ก็จำเป็นต้องรีบตรวจสุขภาพประจำปี และควรตรวจสุขภาพซ้ำทุกปี

อ้างอิง:โรงพยาบาลเปาโล โชคชัย4  , โรงพยาบาลกรุงเทพ hd สุขภาพดี เริ่มต้นที่นี่