รู้หรือไม่ ในแต่ละปี ทั่วโลกมีคน 'ฆ่าตัวตาย' สำเร็จกว่า 1 ล้านคน
10 ก.ย. ของทุกปี เป็น 'วันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก' (World Suicide Prevention Day) ในแต่ละปี มีการฆ่าตัวตายสำเร็จกว่า 1 ล้านคน หรือคิดเป็น 1 ชีวิตต่อ 40 วินาที ขณะที่ประเทศไทย มีการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นจาก 7.35 ต่อแสนประชากร ในปี 2564 เป็น 7.97 ต่อแสนประชากรในปี 2565
องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดให้ วันที่ 10 ก.ย. ของทุกปี เป็นวันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก (World Suicide Prevention Day) โดยประกาศเป็นครั้งแรกเมื่อ ปี ค.ศ. 2003 จากสถิติ พบว่า แต่ละปีมีการฆ่าตัวตายสำเร็จกว่า 1 ล้านคน หรือคิดเป็น 1 ชีวิตต่อ 40 วินาที ทำให้เกิดความสูญเสียต่อสังคม เศรษฐกิจทั่วโลก
การฆ่าตัวตายหรือพยายามฆ่าตัวตาย ยังเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทย แต่ละปีจะมีผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายประมาณ 4,500-5,000 คนต่อปี ข้อมูลจาก กรมสุขภาพจิต ในปี 2565 ที่ผ่านมา ประมาณการของผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย จากใบมรณบัตร โดยกองยุทธศาสตร์และแผนงาน กระทรวงสาธารณสุข พบว่า อยู่ที่ 7.97 ต่อแสนประชากรต่อปี ซึ่งสูงกว่าปี 2564 ที่มีอัตราอยู่ที่ 7.35 ต่อแสนประชากรต่อปีอีกด้วย นอกจากนี้ ประเทศไทยยังพบผู้ป่วยภาวะซึมเศร้ากว่า 1.5 ล้านคน ซึ่งก่อให้เกิดความสูญเสียต่อครอบครัว สังคม และประเทศชาติอย่างมาก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- รู้สึกไม่มีค่า ไม่ดีพอ ? เช็กอาการ เข้าข่าย ‘โรคเกลียดตัวเอง’
- คุณมี ความสุข ครั้งล่าสุดเมื่อไร? สำรวจ 'ภาวะสิ้นยินดี' เร่งฟื้นใจให้ฟู
- ระวัง เผือกเรื่องชาวบ้านผ่านสื่อมากเกินไป เสี่ยงเป็น "ภาวะซึมเศร้า"
เมื่อวันที่ 9 ก.ย. 2566 ที่ศูนย์การค้ายูเนี่ยนมอลล์ กรุงเทพฯ กรมสุขภาพจิต สานพลัง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่าย จัดนิทรรศการรณรงค์เนื่องในวันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก มุ่งป้องกันการฆ่าตัวตาย สอดคล้องกับเป้าหมายระดับชาติ ปี 2564-2565 ให้ไม่เกิน 8 ต่อแสนประชากร ที่ผ่านมา กรมสุขภาพจิต มีบริการสายด่วนสุขภาพจิต 1323 แพลตฟอร์มประเมินสุขภาพจิต Mental Health Check In Line OA KHUIKUN (คุยกัน) และเครือข่าย อสม. ช่วยเหลือ แก้ปัญหาด้านสุขภาพจิตในชุมชน
ดร.ชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. กล่าวว่า สสส. สนับสนุนให้ทุกคนมีสุขภาวะที่ดีทั้งทางกาย และทางใจ เน้นวิธีการ 'สร้างนำซ่อม' เน้นสร้างการมีส่วนร่วมสร้างเสริมสุขภาพจิต ควบคู่การพัฒนาระบบซ่อมสุขภาพให้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะการเข้าถึงบริการแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพจิตจากผู้เชี่ยวชาญ พร้อมสื่อสารรณรงค์สร้างความเข้าใจ เข้าถึงได้ง่าย ผ่านแคมเปญ 'บ้านพลังใจ' 'บ่อจอย' เพื่อให้คนที่เจอปัญหาได้รับแนวทางแก้ไขจากผู้ที่มีประสบการณ์ตรงในเรื่องเดียวกัน เพื่อช่วยให้เกิดความสบายใจ พบความสุขกับตัวเอง พร้อมขยายผลพัฒนาแกนนำ 'นักส่งเสริมสุขภาพจิตชุมชน (นสช.)' เพื่อช่วยสนับสนุนการป้องกันและแก้ไขปัญหาสุขภาพจิตทุกพื้นที่
ดูแลสภาพจิตใจตัวเอง...อย่างไร
ข้อมูลจาก ดร.นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น โฆษกกรมสุขภาพจิต ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการป้องกันปัญหาสุขภาพจิต ผ่านเว็บไซต์ สสส. ว่า ความทุกข์ ความไม่สบายใจ เป็นช่วงเวลาที่ไม่ถาวร ผ่านมาแล้วก็จะผ่านไปเสมอ ถ้าหากเริ่มรู้สึกว่าสภาพจิตใจไม่ปกติ เริ่มไม่รู้สึกดีกับตัวเอง สิ่งแรกที่ทุกคนจะต้องมี คือ สติ การรู้เท่าทันความรู้สึกภายในของตนเอง
และพยายามจัดการกับความรู้สึกของตนเองให้เร็ว โดยไม่ปล่อยให้จมอยู่กับความรู้สึกไม่ดีเหล่านั้นนานเกินไป เพราะอาจเป็นสาเหตุที่นำไปสู่การเป็นภาวะซึมเศร้าจนนำไปสู่การฆ่าตัวตายได้ และที่สำคัญบุคคลรอบข้างต้องไม่ตีตราแต่ต้องให้ความเข้าใจ เห็นอกเห็นใจ ให้กำลังใจ เพื่อให้ผู้ที่กำลังมีปัญหาสุขภาพจิตใจผ่านช่วงเวลาที่ไม่ดีนั้นไปได้อย่างไม่รู้สึกโดดเดี่ยว
6 วิธี ป้องกันปัญหาสุขภาพจิตใจ
- รู้จักตัวเอง ตระหนักรู้ว่ามีความรู้สึกอย่างไร รู้เท่าทันความรู้สึกของตัวเอง
- รักตัวเองให้มาก ให้เวลา เห็นคุณค่า และให้กำลังใจตัวเองก่อนเสมอ ไม่ว่าจะเจอกับปัญหาอะไรก็ตาม
- เมื่อเกิดความเครียด ให้พยายามจัดการกับความรู้สึกของตนเองให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยไม่ปล่อยให้นานเกินไป
- รู้จักให้อภัยตัวเอง พาตัวเองออกไปพบกับความสุข ได้ทำสิ่งใหม่ ๆ ให้ความสุขกับตัวเองบ้าง
- ลดเวลาของความทุกข์ เพิ่มเวลาของความสุขให้มากขึ้น เอาความทุกข์เข้ามาในชีวิตให้น้อยลง ปล่อยวางอย่างเข้าใจ
- หากเริ่มรู้สึกว่าไม่สามารถรับมือกับความรู้สึกของตัวเองได้แล้ว ให้รีบพบจิตแพทย์เพื่อรับคำปรึกษาในการดูแลสุขภาพจิตต่อไป
การฆ่าตัวตายป้องกันได้ ต้องเริ่มที่รักตัวเองให้เป็น เห็นคุณค่าในตัวเองให้มากพอ ในชีวิตคนเราต่างพบเจอเรื่องราวปัญหาที่ไม่เหมือนกัน ไม่ว่าชีวิตจะพบเจอกับปัญหาใหญ่แค่ไหน หากเรารู้เท่าทันจิตใจและความรู้สึกของตัวเอง รักและเห็นคุณค่าในตัวเอง พร้อมเชื่อมั่นเสมอว่าตัวเราจะก้าวข้ามทุกความรู้สึกหรือเหตุการณ์ที่แย่เหล่านั้นไปได้ด้วยความเข้าใจ เราจะผ่านช่วงเวลาเหล่านั้นไปได้เสมอ