รู้สึกไม่มีค่า ไม่ดีพอ ? เช็กอาการ เข้าข่าย ‘โรคเกลียดตัวเอง’

รู้สึกไม่มีค่า ไม่ดีพอ ? เช็กอาการ เข้าข่าย ‘โรคเกลียดตัวเอง’

เคยรู้สึกไม่ชอบตัวเองหรือไม่ รู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่า ไม่ดีพอที่จะได้รับสิ่งดีๆ ความรู้สึกแบบนี้อาจเกิดจากสภาพแวดล้อมในการทำงาน คนรอบข้าง ครอบครัว หรือแม้กระทั่งความสัมพันธ์ในรูปแบบต่างๆ ความคิดลบที่เกิดขึ้นอาจส่งผลให้เกิดภาวะที่เรียกว่า ‘โรคเกลียดตัวเอง’

Key Point : 

  • หลายคนเมื่อเจอเรื่องผิดหวังในชีวิตมักจะโทษตัวเอง รู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่าหรือไม่ดีพอ อาการแบบนี้ อาจเข้าข่าย 'โรคเกลียดตัวเอง' หรือ Self-hatred
  • โรคเกลียดตัวเอง แม้จะไม่ได้ถือว่าเป็นโรคทางจิตเวช แต่เป็นอาการคิดลบกับตัวเอง แต่หากเริ่มกระทบกับชีวิตประจำวัน จนไม่สามารถจัดการได้ อาจส่งผลต่อ 'ภาวะซึมเศร้า' 
  • โรคเกลียดตัวเอง จะไม่สามารถทำร้ายตัวเองได้หากรู้วิธีแก้ไขที่ถูกต้อง รู้จักสังเกตตัวเอง และให้อภัยตัวเองเมื่อทำผิด จะช่วยให้เรารับมือกับอาการเกลียดตัวเองได้ 

 

สภาพแวดล้อมในปัจจุบันที่หลายคนต้องพบเจออาจส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทำงาน คนรอบข้าง ครอบครัว หรือแม้กระทั่งความสัมพันธ์ในรูปแบบต่าง ๆ และส่งผลให้เกิดภาวะที่เรียกว่า 'โรคเกลียดตัวเอง' หรือ Self-hatred หมายถึง ความรู้สึกที่ไม่ชอบตัวเอง เกลียดตัวเอง คิดว่าตัวเองไม่ดีพอ ซึ่งไม่ใช่โรคหรืออาการผิดปกติทางจิต ทำให้ยากที่จะคัดกรองหรือตรวจวินิจฉัยออกมา ต้องอาศัยตัวเองในการบอกเล่าความรู้สึกที่เรามีต่อตัวเองจึงจะค้นพบได้ว่าตัวเองกำลังเผชิญกับความรู้สึกนึกคิดนี้อยู่

 

ผศ.นพ.คมสันต์ เกียรติรุ่งฤทธิ์ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อมูล ผ่านเว็บไซต์ RAMA Channel ว่า อาการเกลียดตัวเอง อาจจะไม่ได้ถือว่าเป็นโรคทางจิตเวช แต่เป็นลักษณะความคิดเป็นลบเกี่ยวกับตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นรูปร่างหน้าตา คิดลบเกี่ยวกับทักษะความสามารถ ขาดความนับถือตัวเอง

 

สาเหตุ อาการเกลียดตัวเอง มีดังนี้ 

- คนที่มีความพึงพอใจในตัวเองต่ำ (low self-esteem) ไม่มั่นใจในตัวเอง หรือคิดว่าตัวเองไม่สมควรได้รับสิ่งดี ๆ ความคาดหวังในตัวเองสูง ชอบเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น คนเหล่านี้มักรู้สึกผิดหวังและโทษตัวเองเมื่อผลลัพธ์ที่ได้ไม่ตรงกับที่คาดหวังไว้

- การถูกทำร้ายร่างกายในวัยเด็ก (child abuse) จากผู้ปกครองหรือคนอื่น เช่น การทุบตี ด่าทอ ล่วงละเมิดทางเพศ หรือผ่านเหตุการณ์ที่ทำร้ายร่างกายและจิตใจ

- ความสัมพันธ์ที่ไม่ดี ทั้งความสัมพันธ์กับเพื่อน เพื่อนร่วมงาน หรือคนรัก อาจทำให้เกิดบาดแผลในจิตใจได้

- การถูกกลั่นแกล้ง (bully) พบในเด็กที่ถูกรังแกจากเพื่อนที่โรงเรียน พี่น้อง หรือญาติ ผู้ใหญ่ที่ถูกกลั่นแกล้งในที่ทำงาน และการกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์ (cyberbullying)

- เหตุการณ์อื่น เช่น การถูกเหยียดสีผิว เพศ หรือเชื้อชาติ (racism)

- โรคทางจิตเวช เช่น โรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า หรือโรคไบโพลาร์ (bipolar disorder)

 

อาการโรคเกลียดตัวเอง

  • ไม่มีตรงกลาง มองตัวเองแค่ดีหรือไม่ดี
  • มีความคิดแง่ลบ มองโลกในแง่ร้าย
  • ใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล
  • ความพึงพอใจในตัวเองต่ำ (low self-esteem) เอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่น
  • ชีวิตขึ้นอยู่กับคนอื่น ฟังความเห็นของทุกคนยกเว้นตัวเอง
  • ไม่ยอมรับคำชม ปฏิเสธเวลาที่คนอื่นชื่นชมหรือพูดถึงในแง่ดีเพราะคิดว่าไม่คู่ควร
  • พยายามทำตัวให้เข้ากับคนอื่น รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนนอกตลอดเวลาเลยต้องทำตัวดี ๆ ให้เข้ากับคนอื่น
  • เก็บทุกคำตำหนิมาใส่ใจ
  • ขี้อิจฉา รู้สึกอิจฉาที่คนอื่นดีกว่า
  • กลัวมิตรภาพ ไม่กล้ามีเพื่อนสนิท รู้สึกไม่ดีถ้ามีคนเข้ามาใกล้ชิดมากเกินไป
  • ไม่กล้าทำอะไรเพราะกลัวล้มเหลว
  • ไม่ให้อภัยตัวเอง จมอยู่กับสิ่งที่ทำผิดพลาด

 

 

ทั้งนี้ หากเกิดความรู้สึกเกลียดตัวเองจนกระทบกับชีวิตประจำวันกลายเป็นความรุนแรงที่ไม่สามารถจัดการได้ อาจจะกลายเป็นภาวะทางจิตได้ เช่น โรคซึมเศร้า

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

 

สัญญาณเตือน คุณกำลังเกลียดตัวเองอยู่หรือไม่ ?

  • มีความคิดเชิงลบ
  • ไม่พอใจกับความสามารถ
  • เบื่อเศร้ามากขึ้น
  • คิดลบจนแยกตัวจากผู้อื่นบ่อยๆ เพราะคิดว่าผู้อื่นเกลียดหรือไม่ชอบ
  • เริ่มส่งผลกระทบต่อการทำงาน
  • อารมณ์เสียง่าย หงุดหงิด

 

ผลกระทบต่อสุขภาพ เมื่อเกิดอาการเกลียดตัวเอง

ทั้งนี้ อาการเกลียดตัวเอง สามารถส่งผลต่อ ภาวะซึมเศร้า ซึ่งคนที่มีโรคซึมเศร้า อาจจะเบื่ออาหาร นอนไม่หลับ ส่งผลต่อสุขภาพกาย และบางคนอาจจะมีความคิดฆ่าตัวตาย ไม่อยากอยู่ ทำร้ายตัวเอง อาจนำไปสู่การฆ่าตัวตายได้ ดังนั้น ควรหมั่นตระหนักรู้ว่าเรามีความคิดลบต่อตัวเองมากเกินไปหรือไม่ มีอะไรที่อาจจะไม่ได้เป็นอย่างที่เราคิด และมองหาข้อดีในแต่ละวันของตัวเอง เป็นดูแลเบื้องต้น แต่หากพยายามหลายวิธีแต่ยังเกลียดตัวเงออยู่อย่างมา จนกระทั่งเริ่มส่งผลต่อการทำงาน ความสัมพันธ์กับผู้อื่น แนะนำให้ปรึกษาจิตแพทย์

 

วิธีการรับมือ เมื่อรู้สึกเกลียดตัวเอง

  • สังเกตและหลีกเลี่ยงปัจจัยที่กระตุ้น เช่น เมื่อถูกกลั่นแกล้งจากคนที่ทำงาน ควรหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับคนเหล่านั้น และแจ้งหัวหน้างานเพื่อแก้ปัญหาต่อไป
  • เปลี่ยนความคิดในแง่ลบให้เป็นแง่บวก เช่น เปลี่ยนจาก “ฉันไม่มีทางทำได้หรอก” เป็น “ฉันทำได้อยู่แล้ว”
  • รู้จักให้อภัยตัวเองเมื่อทำผิด ไม่จมอยู่กับการโทษตัวเอง และนำข้อผิดพลาดไปปรับปรุงแก้ไข
  • รู้ขีดจำกัดของตัวเอง คิดไว้เสมอว่าเราไม่สามารถควบคุมทุกสิ่งให้เป็นไปตามที่ต้องการได้ และปฏิเสธการทำสิ่งที่เกินความสามารถ
  • ทำกิจกรรมร่วมกับคนที่รัก เช่น เพื่อนสนิทหรือคนในครอบครัว
  • ดูแลตัวเอง เช่น กินอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกาย ทำกิจกรรมผ่อนคลายความเครียด เช่น นั่งสมาธิ เล่นโยคะ ทำงานอดิเรก
  • ปรึกษาจิตแพทย์เมื่อไม่สามารถรับมือได้

 

โรคเกลียดตัวเอง จะไม่สามารถทำร้ายตัวเองได้หากรู้วิธีแก้ไขที่ถูกต้อง คนเราเกิดมาหนึ่งชีวิตแล้วเราก็มีเพียงชีวิตเดียว เป็นคนเก่งในสายตาคนอื่นแล้ว ก็อย่าลืมเป็นคนเก่งในสายตาตัวเอง ไม่มองข้ามคุณค่าในตัวเอง รักตัวเองให้มาก ๆ ใส่ใจ และลองฟังเสียงหัวใจตัวเองดูบ้างว่าลึก ๆ แล้วความต้องการคืออะไร รวมทั้งหาเวลาให้รางวัลแก่ชีวิตเป็นการเติมไฟ เสริมให้การใช้ชีวิตนั้นให้มีความมั่นใจมากขึ้น”