"ฉีดฟิลเลอร์" เสี่ยง "ตาบอด" อยากสวยต้องระวัง! เช็กผลข้างเคียงก่อนทำ

"ฉีดฟิลเลอร์" เสี่ยง "ตาบอด" อยากสวยต้องระวัง! เช็กผลข้างเคียงก่อนทำ

ทำบุญสวยชาติหน้า แต่ทำหน้าสวยชาตินี้! อยากสวยไม่ว่า แต่ต้องศึกษา "ภาวะแทรกซ้อน" ให้ดีก่อนตัดสินใจ "ฉีดฟิลเลอร์" บนใบหน้า เพราะอาจเสี่ยง "ตาบอด" แบบไม่ทันตั้งตัว

การทำ “หัตถการความงาม” และ “ศัลยกรรมใบหน้า” กลายเป็นเรื่องปกติของผู้คนยุคนี้ไปแล้ว ใครๆ ก็ล้วนมีสิทธิที่จะสวยขึ้นและดูดีขึ้นได้ ซึ่งหนึ่งในวิธีฟื้นฟูผิวหน้าที่ได้รับความนิยมมากก็คือการ “ฉีดฟิลเลอร์” เพื่อเติมเต็มริ้วรอยและร่องลึกจากวัย รวมถึงใช้ฉีดเสริมจมูก คาง และปากได้ด้วย

 

  • สถิติชี้คนทั่วโลก “ฉีดฟิลเลอร์” มากถึง 3.7 ล้านครั้ง

มีข้อมูลจากงานวิจัย “Nonvascular Complications of Injectable Fillers” ที่เผยแพร่ในวารสารการแพทย์ “Indian Journal of Plastic Surgery” (ณ ปี 2563) ระบุว่า ในทศวรรษที่ผ่านมามีข้อบ่งชี้ในการใช้ฟิลเลอร์ฉีดในความงามบนใบหน้าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

จากการรวบรวมข้อมูลทั่วโลกที่จัดทำโดย สมาคมศัลยแพทย์ตกแต่งเสริมสวยนานาชาติ (ISAPS) แสดงให้เห็นว่าผู้คนทั่วโลกนิยม “ฉีดฟิลเลอร์” มากถึง 3.7 ล้านครั้ง (เพิ่มขึ้น 11.6% จากปี 2560) ซึ่งเป็นหัตถการความงามยอดนิยมอันดับ 2 รองจาก “ฉีดโบท็อกซ์” (โบทูลินัมท็อกซิน) ที่พบว่าผู้คนทำมากที่สุดถึง 6 ล้านครั้ง (เพิ่มขึ้น 17.4% จากปี 2560)

 

  • ยิ่งฉีดลึกมาก ก็ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงหลอดเลือดอุดตัน

เมื่อความนิยมในการฉีดฟิลเลอร์เพิ่มขึ้น จำนวนของ "ภาวะแทรกซ้อน" ก็เพิ่มขึ้นตามมาเช่นกัน โดยพบว่าผู้เข้ารับบริการมักมีภาวะแทรกซ้อนหลายรูปแบบ และยิ่งฉีดลึกลงใต้ผิวหนังเท่าไรก็ยิ่งเสี่ยงสูงเท่านั้น

หากฉีดแค่ที่ผิวหนังเพื่อแก้ไขริ้วรอยและร่องลึกจากวัยมักจะไม่ค่อยพบภาวะแทรกซ้อน แต่หากฉีดลึกลงไปใต้ผิวหนังโดยหวังผลเรื่องการเพิ่มปริมาตรและการปรับรูปใบหน้า (เสริมจมูก คาง ปาก) พบว่ามีรายงานภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ เพิ่มขึ้นจากหลายเคสทั่วโลก เช่น การติดเชื้อ, ฝี,  ภาวะแทรกซ้อนของหลอดเลือด, การสูญเสียการมองเห็น (ตาบอด) ที่เชื่อมโยงกับอาการหลอดเลือดจากการฉีดฟิลเลอร์ และช่วงไม่กี่ปีมานี้ พบอุบัติการณ์เพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ

ดังนั้นก่อนจะตัดสินใจฉีดสารต่างๆ เข้าสู่ใบหน้านั้น ผู้เข้ารับบริการก็ควรเช็กผลข้างเคียงและ “ภาวะแทรกซ้อน” ให้ดี เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นภายหลังให้ได้มากที่สุด

 

  • พบเคสในไทย! ฉีดฟิลเลอร์แล้วตาซ้ายมองไม่เห็น

สำหรับในประเทศไทยก็มีตัวอย่างเคสหนึ่งที่ได้รับ "ผลข้างเคียงจากการฉีดฟิลเลอร์" โดยสาขาวิชาผิวหนัง คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้แชร์ข้อมูลผ่านเพจ “Ramadermatology” (6 ก.ค. 65) ระบุว่า พบเคสผู้ป่วยหญิงอายุ 39 ปี ได้รับการฉีด HA filler บริเวณหว่างคิ้วเหนือจมูก ภายหลังฉีดมีอาการตามัว ปวดตาข้างซ้าย ซึมลง ร่วมกับมีอาการขาอ่อนแรงทันที

\"ฉีดฟิลเลอร์\" เสี่ยง \"ตาบอด\" อยากสวยต้องระวัง! เช็กผลข้างเคียงก่อนทำ

เมื่อแพทย์ตรวจวินิจฉัยเคสดังกล่าวพบว่า ตาซ้ายคนไข้มองไม่เห็น ไม่มีการตอบสนองต่อแสง รูม่านตาขยาย ไม่มีแสงสะท้อน เจอจุดสีแดงในดวงตา ซึ่งบ่งบอกว่ามีภาวะการอุดตันของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงจอตา (retina) ร่วมกับภาวะขาดเลือดไปเลี้ยงจอตา นอกจากนี้ยังพบเส้นประสาทควบคุมกล้ามเนื้อบกพร่อง แขนขวาอ่อนแรง เมื่อตรวจด้วย MRI พบภาวะสมองขาดเลือดบริเวณสมองซีกซ้าย

โดยผู้ป่วยรายนี้ ได้รับการรักษาด้วยยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ต้านการอักเสบ (methylprednisolone) อย่างไรก็ตามในเคสนี้ไม่ได้ทำการฉีดสลายด้วยยาสลายฟิลเลอร์ (Hyaluronidase) และหลังจากติดตามภายหลังการรักษา 2 สัปดาห์ พบว่าอาการอ่อนแรงเริ่มดีขึ้น แต่ผู้ป่วยยังมองไม่เห็นเหมือนเดิม 

 

  • จักษุแพทย์แนะเลี่ยง "ฉีดฟิลเลอร์" ที่หว่างคิ้วและจมูก

ไม่นานหลังจากเกิดเคสข้างต้น เมื่อวันที่ 4 ก.ย. 65 ที่ผ่านมา ในสังคมทวิตเตอร์ก็มีการแชร์ข้อความเตือนภัยเกี่ยวกับ “ฉีดฟิลเลอร์เสี่ยงตาบอด” ด้วยเช่นกัน ซึ่งชาวเน็ตต่างก็ออกมาแสดงความคิดเห็นในประเด็นนี้อย่างล้นหลาม ล่าสุด.. มีจักษุแพทย์อย่าง “พญ.ศศิ ใหญ่สว่าง” ออกมาให้ความเห็นด้วยว่า 

“กรณีฉีดฟิลเลอร์นั้น หากตอนฉีดปลายเข็มเฉี่ยวเข้าหลอดเลือด หลอดเลือดที่ใบหน้าต่อกันหมด ฟิลเลอร์ที่ฉีดมีโอกาสพุ่งเข้าไปอุดหลอดเลือดเลี้ยงตาส่งผลให้ “ตาบอด” และปัจจุบันยังไม่มีการรักษาที่มีประสิทธิภาพ การฉีดทุกบริเวณบนใบหน้ามีความเสี่ยง แต่เสี่ยงมากที่สุด คือ หว่างคิ้วและจมูก แนะนำหลีกเลี่ยง”

\"ฉีดฟิลเลอร์\" เสี่ยง \"ตาบอด\" อยากสวยต้องระวัง! เช็กผลข้างเคียงก่อนทำ

นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลจากบทความวิชาการของ ผศ.พญ.มาริษา พงศ์พฤฒิพันธ์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย อธิบายไว้ด้วยว่า ผลข้างเคียงจากฟิลเลอร์นั้น แม้ไม่รุนแรงถึงชีวิตแต่ก็เกิดขึ้นได้หลากหลายรูปแบบ และอาจกระทบต่อสุขภาพร่างกายได้ไม่น้อย แบ่งเป็น 3 รูปแบบคือ

1. ผลข้างเคียงในระหว่างการฉีด : เส้นเลือดอุดตัน ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะเนื้อตาย และสารฟิลเลอร์อาจเข้าไปสู่เส้นเลือดที่เลี้ยงดวงตาทำให้ “ตาบอด” ได้ รวมถึงมีภาวะฟกช้ำที่เกิดจากเข็มผ่านเส้นเลือด

2. ผลข้างเคียงในระยะแรก : มีลักษณะบวม นูน เป็นก้อนและขรุขระ เกิดการติดเชื้อเฉียบพลัน

3. ผลข้างเคียงในระยะยาว : เกิดตุ่ม ก้อน และบวมในภายหลังจากการแพ้หรือติดเชื้อ มีหนองหรือน้ำเหลือง ซึมจากการใช้ฟิลเลอร์ถาวร

อย่างไรก็ตาม หากใครอยากจะเสริมความงามด้วยการฉีดฟิลเลอร์ก็สามารถทำได้ แต่ต้องใช้ความระมัดระวังอย่างสูง โดยกลุ่มแพทย์จากเพจ Ramadermatology ให้คำแนะนำไว้ด้วยว่า สำหรับแพทย์สิ่งสำคัญที่สุดคือแพทย์ต้องรู้เรื่องกายวิภาคใบหน้า (anatomy) อย่างแม่นยำ ฉีดด้วยความระมัดระวัง และสามารถตรวจคัดกรองได้รวดเร็วหากพบว่าคนไข้มีภาวะแทรกซ้อน ส่วนประชาชนก็ควรตรวจสอบแพทย์ว่าเป็นแพทย์จริงๆ มีใบประกอบวิชาชีพ และเลือกใช้บริการกับสถานพยาบาลที่ไว้ใจได้

------------------------------------------

อ้างอิง : หมอพาย lifeoflemonpieComplications of Injectable Fillers, Ramadermatology, chulalongkornhospital