"อินฟลูเอนเซอร์" รีวิวผลิตภัณฑ์สุขภาพ ผิดกฎหมาย คนซื้อเสี่ยงอันตราย

"อินฟลูเอนเซอร์" รีวิวผลิตภัณฑ์สุขภาพ ผิดกฎหมาย คนซื้อเสี่ยงอันตราย

อินฟลูเอนเซอร์มูลค่าการตลาดทั่วโลก ปี 2566 กว่า 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐ  ไทยมีอินฟลูเอนเซอร์กว่า 2 ล้านคน พบคอนเทนต์รีวิวผลิตภัณฑ์สุขภาพ มีการทำผิดกฎหมายสุขภาพจำนวนมาก อย.เดินหน้าเอาผิดส่งฟ้องศาล ส่งเรื่องสภาวิชาชีพ  

KEY

POINTS

  • ทำความรู้จัก 4 ประเภท อินฟลูเอนเซอร์ ผู้ทรงอิทธิพบในวงการตลาดและโฆษณา ปี  2566 ทั่วโลกมีมูลค่าตลาดอินฟลูเอนเซอร์ ประมาณ 21,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ประเทศไทยมีกว่า 2 ล้านคน 
  • คอนเทนต์อินฟลูเอนเซอร์ รีวิวผลิตภัณฑ์สุขภาพ พบรูปแบบที่ผิดกฎหมายสุขภาพจำนวนไม่น้อย แม้แต่บุคลากรทางการแพทย์ก็เอาด้วย อย.เดินหน้าเอาผิดตามกฎหมาย ส่งฟ้องศาล  แพทยสภาลงโทษแพทย์ที่รีวิวสินค้าเกินจริงไปทั้งสิ้น 15 รายแล้ว
  • อินฟลูเอนเซอร์ รีวิวผลิตภัณฑ์สุขภาพ ต้องระมัดระวัง และตระหนักถึงการไม่กระทำผิดกฎหมาย เพราะสุ่มเสี่ยงที่เมื่อคนหลงเชื่อแล้ว อาจได้รับอันตรายถึงแก่ชีวิต หากมีการลักลอบปนเปื้อนสารต้องห้าม

อินฟลูเอนเซอร์มูลค่าการตลาดทั่วโลก ปี 2566 กว่า 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐ  ไทยมีอินฟลูเอนเซอร์กว่า 2 ล้านคน พบคอนเทนต์รีวิวผลิตภัณฑ์สุขภาพ มีการทำผิดกฎหมายสุขภาพจำนวนมาก อย.เดินหน้าเอาผิดส่งฟ้องศาล ส่งเรื่องสภาวิชาชีพ  

รู้จัก 4 ประเภท อินฟลูเอนเซอร์

อินฟลูเอนเซอร์ คือ บุคคลที่มีอิทธิพลกับคนจำนวนมากบนโซเชียลมีเดีย โดยจะมีการทำคอนเทนต์เผยแพร่ตามแพลตฟอร์มต่างๆ เช่น Blog, Instagram, Facebook, YouTube ,Tiktok  ซึ่งมีคนสนใจติดตามและเมื่อผู้ติดตามมากก็ยิ่งมีอิทธิพลมาก

ที่สำคัญ คอนเทนต์เนื้อหาที่อินฟลูเอนเซอร์นำเสนอ พูดโน้มน้าวใจได้ง่าย และคนมักคล้อยตาม เพราะรู้สึกถึงความใกล้ชิดและจริงใจกว่าสื่อโฆษณาของแบรนด์ต่างๆ ในรูปแบบเดิม

อินฟลูเอนเซอร์ แบ่งเป็น 4 ประเภทตามจำนวนผู้ติดตาม ได้แก่

1. นาโนอินฟลูเอนเซอร์ (Nano Influencer) มีผู้ติดตาม 1,000 – 10,000 คน

 2. ไมโครอินฟลูเอนเซอร์ (Micro Influencer) มีผู้ติดตาม 10,000 – 100,000 คน

3. แมคโครอินฟลูเอนเซอร์ (Macro Influencer) มีผู้ติดตาม 100,000 – 1,000,000 คน

4. เมกะ/เซเลบริตี้อินฟลูเอนเซอร์ (Mega/ Celebrity Influencer) มีผู้ติดตาม มากกว่า 1,000,000 คนขึ้นไป

มูลค่าตลาดอินฟลูเอนเซอร์

ข้อมูลจาก Influencer Marketing Hub และNielsen ระบุว่า นับตั้งแต่ปี 2549 มูลค่าตลาดอินฟลูเอนเซอร์ทั่วโลกเติบโตอย่างต่อเนื่อง

  • ปี 2549 มูลค่าตลาดอยู่ที่ 1,700 ล้านเหรียญสหรัฐ
  • ปี 2565 มูลค่าตลาดอยู่ที่ 16,400 ล้านเหรียญสหรัฐ
  • ปี 2566 มูลค่าตลาดอยู่ที่ 21,100 ล้านเหรียญสหรัฐ
  • ในปี 2567 คาดการณ์มูลค่าตลาดอยู่ที่ 24,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
  • ภายในปี 2573คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 140,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

อินฟลูเอนเซอร์ในประเทศไทย

สำหรับประเทศไทย Nielsen รายงานว่า ในปี 2565 มีจำนวนอินฟลูเอนเซอร์กว่า 2 ล้านคนเป็นอันดับ 2 รองจากประเทศอินโดนีเซีย ขณะที่ในกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) มีจำนวนอินฟลูเอ็นเซอร์รวมกัน 13.5 ล้านคน โดยประเทศไทย และมีแนวโน้มมากขึ้น

อินฟลูเอนเซอร์ไทยสร้างรายได้ เฉลี่ยตั้งแต่ 800-700,000 บาทขึ้นไปต่อโพสต์

อุตสาหกรรมที่มีการใช้การตลาดอินฟลูเอนเซอร์มากที่สุด ได้แก่
1.อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม  39%
2.แฟชั่นและความงาม 17.4%  
3. อุปกรณ์เสริม(Gadgets)  
4.แบรนด์เครื่องมือสื่อสาร มีสัดส่วน10.6 %  

ผ่านช่องทาง เฟซบุ๊ก (Facebook)  คิดเป็นสัดส่วน 35.3 %,อินสตาแกรม (Instagram) 24.2 %  ,ยูทูบ(YouTube)  16.5%   ติ๊กต๊อก (TikTok) 14.6 % และทวิตเตอร์ (Twitter)  9.4 %  

อย.เตือนอินฟลูเอนเซอร์

หนึ่งในคอนเทนต์อินฟลูเอนเซอร์ที่มีการนำเสนอมากรูปแบบหนึ่ง คือ การรีวิวผลิตภัณฑ์สุขภาพ แต่ก็พบว่ามีอินฟลูอินเซอร์บางรายมีการกระทำที่เข้าข่ายผิดกฎหมายสุขภาพ

ภก.วีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า  สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ตรวจพบการรีวิวสินค้าประเภทอาหารเสริมโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง อ้างรักษาโรค ลดความอ้วน โดยดารา นักแสดง พิธีกรดัง ผู้ประกาศข่าว ผู้มีชื่อเสียง อินฟลูเอนเซอร์ แพทย์ เภสัชกรจำนวนมาก การกระทำดังกล่าวมีความผิดตามพรบ.อาหาร พ.ศ. 2522

  • มาตรา 40 ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหาร อันเป็นเท็จหรือเป็นการหลอกลวงให้เกิดความหลงเชื่อโดยไม่สมควร ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 40 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับตามมาตรา 70
  • มาตรา 41 ผู้ใดประสงค์จะโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณ ของอาหารทางวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ ทางฉายภาพ ภาพยนตร์ หรือทางหนังสือพิมพ์ หรือสิ่งพิมพ์อื่น หรือด้วยวิธีอื่นใดเพื่อประโยชน์ในทางการค้า ต้องนำเสียง ภาพ ภาพยนตร์ หรือข้อความที่จะโฆษณาดังกล่าวนั้นให้ผู้อนุญาตตรวจพิจารณาก่อน เมื่อได้รับอนุญาตแล้วจึงจะโฆษณาได้ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 41 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาทตามมาตรา 71

เอาผิดอินฟลูเอนเซอร์ 

ทุกรายที่มีการตรวจสอบพบการกระทำผิด อย. ดำเนินคดีตามกฎหมาย โดยหลายรายศาลพิพากษาจำคุก

หากเป็นผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพ อย. ประสานความร่วมมือสภาวิชาชีพ พิจารณาโทษทางจริยธรรมแห่งวิชาชีพต่อ ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา อย. ได้รับแจ้งจากแพทยสภาว่าลงโทษแพทย์ที่รีวิวสินค้าเกินจริงไปทั้งสิ้น 15 รายแล้ว

“เตือนดารา นักแสดง พิธีกร ผู้ประกาศข่าว ผู้มีชื่อเสียง อินฟลูเอนเซอร์ แพทย์ เภสัชกร อย่ารับรีวิวอาหารเสริมโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง หาก อย. ตรวจพบจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายกำหนด”ภก.วีระชัยกล่าว 

สำหรับประชาชน อย่าหลงเชื่ออาหารเสริมอ้างลดความอ้วน หุ่นเฟิร์มกระชับ หายปวดเข่า รักษาโรคตับ ไต เป็นต้น อย. ไม่เคยอนุญาตสรรพคุณอาหารเสริมในการรักษาโรค

 หากพบการกระทำผิดสามารถร้องเรียน แจ้งเบาะแสมายังสายด่วน อย. โทร. 1556

รีวิวแบบผิดกฎหมาย เสี่ยงรับสารอันตราย

อย่างไรก็ตาม ไม่เพียงแต่ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเท่านั้นที่มีรูปแบบรีวิวที่เข้าข่ายผิดกฎหมายในส่วนของเครื่องสำอาง ยา หรือเครื่องมือแพทย์ก็พบเช่นเดียวกัน 

ยิ่งหากเป็นการรีวิวโดยที่ไม่ทราบหรือไม่ได้มีการตรวจสอบว่าผลิตภัณฑ์สุขภาพนั้น มีส่วนผสมหรือได้รับอนุญาตผลิตภัณฑ์จากอย.แล้วหรือไม่ ก็สุ่มเสี่ยงที่จะมีการลักลอบปนเปื้อนสารอันตราย ที่ส่งผลต่อร่างกายได้

อย่างเช่น กรณีที่มีการเผยแพร่คลิปวิดีโอทาง Tik Tok สาธิตวิธีใช้เซรั่มที่ทาเพียงหยดเดียวตีนกาหายวับทันที การโฆษณาเครื่องสำอางในลักษณะดังกล่าว มีความผิดตามพรบ.เครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

สารอันตรายในเครื่องสำอาง

เบื้องต้นพบว่ามีส่วนผสมหลักที่เป็นอันตราย 4 ชนิด ได้แก่
1. ปรอท (mercury)
มีกลไกยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ไทโรซิเนส (tyrosinase) ลดการสร้างเม็ดสีเมลานิน (melanin) ทำให้ผิวขาวและยังป้องกันสิวได้ด้วย
ทำให้เกิดการแพ้ ผื่นแดง ผิวหน้าดำ เกิดฝ้าถาวร เกิดพิษสะสมในผิวหนัง และดูดซึมเข้าสู่กระแสโลหิต ทำให้ตับและไตอักเสบ

2. ไฮโดรควิโนน (Hydroquinone)
มีกลไกยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ไทโรซิเนส (tyrosinase) ที่ทำหน้าที่ในการสร้างเม็ดสีเมลานิน (melanin) ส่งผลให้ผิวขาวขึ้น
ทำให้ มีอาการแสบร้อน ตุ่มแดง ผิวคล้ำมากในบริเวณที่ทา อาจเกิดเป็นฝ้าถาวร และเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งผิวหนัง

\"อินฟลูเอนเซอร์\" รีวิวผลิตภัณฑ์สุขภาพ ผิดกฎหมาย คนซื้อเสี่ยงอันตราย

3. สเตียรอยด์ (Steroid)
มีฤทธิ์ยับยั้งการสร้างสารเคมีสื่อกลาง (mediators) เช่น โพรสตาแกลนดิน (prostaglandin) และลิวโคไตรอีน (leukotrienes) ที่ใช้สร้างเม็ดสีเมลานิน (melanin) ส่งผลให้ผิวขาวขึ้น
ทำให้เกิด ผดผื่นขึ้นง่าย ผิวบาง อ่อนไหวต่อมลภาวะภายนอก และเห็นเส้นเลือดแดงตามใบหน้าชัดขึ้น

4. กรดเรติโนอิก (Retinoic acid)
กระตุ้นการแบ่งเซลล์และเร่งการผลัดเซลล์เยื่อบุผิว (epithelial tissue) ลดการเคลื่อนย้ายเม็ดสีมาที่เซล์ลผิวหนัง ยั้บยั้งการสร้างเม็ดสีเมลานิน และยังป้องกันการเกิดสิวอุดตัน (comedone) ได้ด้วย
ทำให้เกิดระคายเคืองผิวหนัง ผิวหน้าลอก อักเสบ แพ้แสงแดดได้ง่าย อาจเกิดภาวะผิวด่างขาวหรือผิวคล้ำได้ และอาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์

สารอันตรายในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร

สารอันตรายห้ามใช้ ที่มีการลักลอบผสมในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร  อาทิ

1.ไซบูทรามีน (Sibutramine) จัดเป็นวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทในประเภท 1 ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 พ.ศ.2565 ซึ่งมีรายงานถึงผลกระทบต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด ทำให้เกิดผลเสียร้ายแรงจนถึงแก่ชีวิต
 2.ออริสแตท  อาการไม่พึงประสงค์ ผิวหนังไวต่อแสงมากกว่าปกติ วิตกกังวล ปวดศีรษะ การนอนหลับผิดปกติ คลื่นไส้ ปวดกล้ามเนื้อ

3.บิซาโคดิล อาการไม่พึงประสงค์ ปวดเกร็งท้อง  ท้องเสีย ถ่ายเป็นเลือด เวียนศีรษะ บ้านหมุน ทวารหนักระคายเคืองและอักเสบ

4.ฟลูออกซิทีน อาการไม่พึงประสงค์ วิตกกังวล มึนงง ง่วงซึม นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร อ่อนแรง ตัวสั่น เจ็บหน้าอก ใจสั่น

5.ฟีนอล์ฟทาลีน อาการไม่พึงประสงค์ ผื่นผิวหนัง ระดับโพแทสเซียมในเลือดต่ำ

6.เฟนฟลูรามีน อาการไม่พึงประสงค์ ง่วงซึม ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน นอนไม่หลับ มึนงง ปวดศีรษะ ซึมเศร้า
7.ซิลเดนาฟิล อาการไม่พึงประสงค์ หน้าแดง ตัวแดง ท้องเสีย ปวดกล้ามเนื้อ นอนไม่หลับ กระเพาะอาหารอักเสบ เพิ่มเอนไซม์ตับ

8.ทาดาลาฟิล อาการไม่พึงประสงค์ ความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นเร็ว เจ็บหน้าอก

9.เฟนเทอร์มีน อาการไม่พึงประสงค์  มองเห็นภาพไม่ชัด นอนไม่หลับ กระวนกระวาย หัวใจเต้นเร็ว

10.ฟูโรซีไมด์ อาการไม่พึงประสงค์  ความดันโลหิตต่ำเฉียบพลัน หลอดเลือดอักเสบ อาการทางสมองที่เกิดจากการทำงานของตับบกพร่อง

11. 2-ไดเฟนิล เมทิลไพโรลิดีน  อาการไม่พึงประสงค์  ประสาทหลอน หวาดระแวง มีพฤติกรรมรุนแรง หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ

อ้างอิง : อย.,ฝ่ายเภสัชกรรม คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล