กว่า 4 แสนลบ. ปี 66 ไทยนำเข้า "ผลิตภัณฑ์สุขภาพ"

กว่า 4 แสนลบ. ปี 66 ไทยนำเข้า "ผลิตภัณฑ์สุขภาพ"

กองด่านอย.เผยปี 66 ไทยนำเข้าผลิตภัณฑ์สุขภาพกว่า 4 แสนล้านบาท จำนวนรายการเพิ่มจากปี 65 ราว 13% เดินหน้าOne ด่าน One Lab One Day คุมเข้มผักผลไม้ เตรียมยกร่างพ.ร.บ.นำเข้า-ส่งออก ขึ้นทะเบียนshipping

เมื่อวันที่ 25 มี.ค. 2567  ที่ รพ.สะเดา จ.สงขลา  ดร.วัฒนศักดิ์  ศรรุ่ง ผู้อำนวยการกองด่านอาหารและยา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวภายในการประชุมเชิงปฏิบัติการร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายเพื่อประชาสัมพันธ์และเพิ่มประสิทธิภาพการกำกับดูแลผลิตภัณฑ์สุขภาพของด่านอาหารและยา ว่า ปัจจุบัน อย.มีด่านอาหารและยา 52 ด่าน อยู่ในการกำกับของ อย. 28 ด่าน และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) 24 ด่าน ภาพรวมปี 2566 ด่าน อย.มีการตรวจสอบการนำเข้าผลิตภัณฑ์สุขภาพผ่านระบบ National Single Window (NSW) โดยเชื่อมโยงข้อมูลการนำเข้ากับกรมศุลกากร มีใบขนส่งสินค้า 239,212 ใบ รวม 1,693,236 รายการ เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ประมาณ 13.8%  มูลค่า 439,884 ล้านบาท เพิ่มจากปี 2565ที่มี มูลค่า 427,438 ล้านบาท และปี 2564 ที่มีมูลค่าประมาณ 370,660 ล้านบาท  มากที่สุดเป็นอาหาร สามารถตรวจและปล่อยภายใน 24 ชั่วโมงได้ถึง 89% ตรวจปล่อยภายใน 48 ชั่วโมง 6% รวมทั้งหมดเป็น 95% โดยอีก 5% สามารถตรวจปล่อยเกิน 48 ชั่วโมง

สำหรับการพิจารณาอนุญาตผลิตภัณฑ์สุขภาพผ่าน e-Submission  ปี 2565 มี 32,654 รายการ เพิ่มเป็น 52,051 รายการในปี 2566 หรือเพิ่มขึ้น 59.4% ส่วนการพิจารณาเชื่อมโยงใบรับรอง (Certificate) สถานที่ผลิต เพื่อลดการดูเอกสารที่ด่านพบว่า ปี 2565 อยู่ที่ 3,619 คำขอ ปี 2566 เพิ่มเป็น 5,120 คำขอ เพิ่มขึ้น 41.48% การสุ่มตรวจสัมภาระผู้เดินทางเข้าประเทศ ปี 2565 อยู่ที่ 55,818 ราย ปี 2566 เพิ่มเป็น 114,024 ราย เพิ่มขึ้น 104.28%  ตรวจสอบพัสดุทางไปรษณีย์ ปี 2565 อยู่ที่ 28,998 ราย ปี 2566 ลดลงเหลือ 21,643 ราย หรือลดลง 25.36%

การดำเนินงานเพื่อตอบสนองนโยบายรัฐบาล มีทั้งเรื่อง "IGNITE Thailand" อย่างศูนย์กลางเมืองท่องเที่ยว มีการปรับปรุงระเบียบการนำอาหารติดตัวเข้ามาของนักท่องเที่ยว ปรับปรุงกฎเกณฑ์การนำเครื่องมือแพทย์บางชนิดมาใช้เฉพาะโดยไม่ต้องมีใบรับรองแพทย์ , ศูนย์กลางอาหาร ปรับปรุงการพิจารณาอนุญาตนำเข้าอาหารที่ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อการจำหน่ายผ่านระบบ e-Submission ,
ศูนย์กลางด้านการแพทย์และสุขภาพ มีโครงการ GIP+ ส่งเสริมสนับสนุนผู้ประกอบการนำเข้าผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ดี เฝ้าระวังตรวจผู้เดินทางเข้าประเทศและผ่านแดน , ศูนย์กลางขนส่งของภูมิภาค และศูนย์กลางการบิน ปรับหลักเกณฑ์การนำเข้าผลิตภัณฑ์สุขภาพติดตัวของผู้โดยสารระหว่างประเทศ การขนส่งสินค้าทางไปรษณีย์

เรื่อง "SOFT POWER" ปรับปรุงระบบ e-Submission รองรับการนำเข้าผลิตภัณฑ์สุขภาพ เพื่อการถ่ายภาพยนตร์ในประเทศ การนำมาจัดนิทรรศการ ปรับปรุงกฎหมายแก้ไขการนำยาติดตัวเข้ามาได้ 30 วัน เป็นต้น

นอกจากนี้ จะจัดทำร่าง พ.รบ.นำเข้า-ส่งออก ผลิตภัณฑ์สุขภาพ เนื่องจากด่านเวลาตรวจสินค้าต้องใช้กฎหมายตามผลิตภัณฑ์สุขภาพนั้นๆ ต้องเข้ากรรมการแต่ละชุด เช่น อาหาร ยา เครื่องสำอาง เครื่องมือแพทย์ วัตถุอันตราย ซึ่งหากมีกฎหมายนี้ ก็จะสามารถทำให้การทำงานรวดเร็วขึ้นทันสถานการณ์มากขึ้น

และ ด่านฯมีแนวทางในการทำ One ด่าน One Lab One Day โดยจะประสานศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ในการตั้งแล็บในด่าน อย. เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคเรื่องของผักและผลไม้  นอกจากนี้ จะมีการพัฒนาระบบวิธีการประเมินความเสี่ยงที่จะมีการกำหนดว่ามีปัจจัยเสี่ยงโดยระบุเป็นแหล่งต้นทาง ชนิดสินค้า เพื่อให้ระบบวิเคราะห์และดำเนินการเปิดตู้เพื่อสุ่มตรวจ

ถามถึงการยกร่าง  พ.ร.บ.นำเข้า-ส่งออก ผลิตภัณฑ์สุขภาพ จะเข้ามาช่วยการทำงานอย่างไร  ดร.วัฒนศักดิ์ กล่าวว่า อย.มีแนวความคิดว่าจะยกร่าง พ.ร.บ.นำเข้า-ส่งออกผลิตภัณฑ์สุขภาพ จะขับเคลื่อนให้ได้ภายในปี 2571 ซึ่งร่างกฎหมายนี้จะช่วยกำหนดวิธีการตรวจของด่าน อย.ได้ เพราะปัจจุบันด่านยังต้องอาศัยประกาศกระทรวง ระเบียบกฎหมายของทุกผลิตภัณฑ์สุขภาพ เป็นฐานอำนาจให้เจ้าหน้าที่ด่านตรวจปล่อย

ถ้ามี พ.ร.บ.นี้ ก็จะมาเขียนวิธีการหลักเกณฑ์ได้รวดเร็วขึ้น หรืออย่างการประกาศตั้งด่าน อย.แต่ละครั้ง ก็ต้องไปเข้าการพิจารณาของตามกฎหมายผลิตภัณฑ์สุขภาพแต่ละตัว กว่าจะตั้งด่านได้แต่ละที่ก็ใช้เวลาครึ่งปีกว่า ถ้าบางผลิตภัณฑ์ยังไม่ผ่าน เช่น ยา ด่านก็จะตรวจยาไม่ได้ ซึ่งปัจจุบันกรมศุลกากรหรือกรมประมงเองต่างก็มีกฎหมายลักษณะนี้ในการกำหนดการทำงานของด่านเอง ซึ่งจะทำให้เรามีโครงสร้างอัตรากำลังต่างๆ ตามมาด้วย

"เกิดประโยชน์ต่อผู้ประกอบการ เพราะบางครั้งมีการสื่อสารไม่เข้าใจทั้งshipping (ชิปปิ้ง) ผู้นำเข้า เกิดความล่าช้า แล้วบอกว่าของมาติดด่าน ถ้ามี พ.ร.บ.จะช่วยผู้ประกอบการหาคนมาทำงานที่มีประสิทธิภาพมีความรู้ความสามารถ โดยช่วงนี้เรายังไม่มีกฎหมาย ก็หารือกับศุลกากรด่านท่าเรือฯ มาร่วมกันทำท่าเรือแบบ Pilot Project ขึ้นทะเบียนชิปปิ้ง ผู้แทนออกของ ซึ่งจริงๆ ต้องมีใบอนุญาตดำเนินการ ถ้าเรามี พ.ร.บ.ตรงนี้ก็จะดีขึ้น สำหรับรายละเอียดของกฎหมายนี้จะเน้นขั้นตอนวิธีการ ไม่มีบทลงโทษ ซึ่งจะไปใช้ตามกฎหมายของผลิตภัณฑ์สุขภาพแต่ละตัวแทนในฐานความผิดนั้น" ดร.วัฒนศักดิ์กล่าว