'ไข้เลือดออก'ระบาดวิทยา เปลี่ยน ! โจมตีผู้ใหญ่ เสียชีวิตค่อนข้างสูงขึ้น

'ไข้เลือดออก'ระบาดวิทยา เปลี่ยน ! โจมตีผู้ใหญ่ เสียชีวิตค่อนข้างสูงขึ้น

สธ.เผยก.ค.-ส.ค. จุดพีค “ไข้เลือดออก”ยอดป่วยสูงสุด  ปี 66 รุนแรงกว่า 2-3ปีก่อน  ป่วยสะสมเกือบ 3 หมื่นราย ระบาดวิทยาเปลี่ยน "ผู้ใหญ่-สูงอายุ" ป่วยตายมาก  กำชับต้องวินิจฉัยให้ได้เร็ว ขณะที่มีอีก 11โรค/ภัยหน้าฝนต้องระวัง  

Keypoints:

  •       ไข้เลือดออก ปีนี้ระบาดรุนแรงกว่า 2-3ปีที่ผ่านมา ด้วย 2 ปัจจัยสำคัญ  คาดยอดป่วยสูงสุดช่วงเดือน ก.ค.-ส.ค.
  •        ระบาดวิทยาไข้เลือดออกเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง  ทำให้ผู้ใหญ่และผู้สูงอายุมีอัตราเสียชีวิตค่อนข้าง ต้องไม่ละเลยในการวินิจฉัยโรค
  •          ไม่เพียงไข้เลือดออก ยังมีโรคและภัยสุขภาพอื่นที่ระบาดและต้องระวังในช่วงฤดูฝน 2566 รวม 11 โรค/ภัย ทั้งโรคทางเดินหาย โรคติดต่อจากการสัมผัส โรคที่นำโดยแมลง

       เมื่อวันที่ 10 ก.ค.2566 ที่ รพ.ราชวิถี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการ “Dengue Effective for Treatment and Prevention” การดูแลรักษาและป้องกันโรคไข้เลือดออกอย่างมีประสิทธิภาพ ว่า ปีนี้คาดการณ์ว่าไข้เลือดออกจะมีการระบาดมากกว่าหลายปีที่ผ่านมา  โดยระหว่างเดือน ก.ค.-ส.ค.น่าจะเป็นจุดสูงสุดของไข้เลือดออก
          เนื่องจากเป็นช่วงฤดูฝนที่ฝนตกสลับหยุด ทำให้มีแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายเพิ่มมากขึ้น บวกกับประเทศไทยไม่มีการระบาดของไข้เลือดออก มา 2-3 ปีจากที่โควิด-19ระบาด  คนไม่ค่อยมีการเดินทาง การระบาดของโรคไม่รวดเร็วและกว้างขวาง  คนจึงมีภูมิต้านทานต่อโรคไข้เลือดออกลดน้อยลง

ไข้เลือดออกระบาดวิทยาเปลี่ยน

       การวินิจฉัยและรักษาต้องให้เร็วขึ้น เนื่องจากระบาดวิทยาเริ่มเปลี่ยนไป จากเดิมผู้ใหญ่ไม่ค่อยเป็นไข้เลือดออก ระยะหลังเริ่มพบผู้ใหญ่และผู้สูงอายุเป็นโรคไข้เลือดออกมากขึ้น การวินิจฉัยในผู้ใหญ่จะสลับซับซ้อนแตกต่างจากเด็ก ความชำนาญของแพทย์ เพราะคิดว่าเป็นโรคในเด็ก ทำให้กุมารแพทย์จะระมัดระวัง ก็ต้องย้ำเตือนว่าผู้ใหญ่ก็เป็นได้
       อีกทั้ง การวินิจฉัยโรค ช่วงหน้าฝนมีโรคติดต่อหลายอย่างมาพร้อมกัน ทั้งไข้หวัดใหญ่ โควิด ฉี่หนู ไข้เลือดออก อาการเริ่มต้นคล้ายกัน คือ มีไข้ ปวดเมื่อยตามตัว ระยะแรกการวินิจฉัยจะแยกโรคไม่ได้ ไม่ว่าใช้เครื่องมือใดๆ ก็ตาม การติดตามผู้ป่วยเป็นระยะจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการวินิจฉัย
ไข้เลือดออก ผู้ใหญ่ตายค่อนข้างสูง

        ระยะหลังพบว่าไข้เลือดออกในผู้ใหญ่มีอัตราการเสียชีวิตค่อนข้างสูง ย้ำว่าคนมีอาการไข้ ไม่จำเป็นอย่างรับประทานยาที่ทำให้เลือดออกมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นยาแอสไพรินหรือกลุ่มยาเอ็นเสด ขอให้งดเว้น เพราะหากกินแล้วเกิดเป็นไข้เลือดออกก็จะทำให้เลือดออกง่าย และเป็นปัจจัยหนึ่งทำให้เสียชีวิต ผู้ใหญ่ต้องระมัดระวังให้ดี 
         

ติดเชื้อครั้งที่ 2 อาการรุนแรง

     ผู้สื่อข่าวถามถึงวัคซีนไข้เลือดออก นพ.โอภาส  กล่าวว่า การใช้วัคซีนแต่ละโรคแต่ละชนิดแตกต่างกัน ซึ่งเดงกีมี 4 สายพันธุ์ การผลิตวัคซีนต้องครบถ้วนทั้ง 4 สายพันธุ์ และการใช้วัคซีนก็มีความสลับซับซ้อนแตกต่างจากโรคติดเชื้ออื่นๆ เนื่องจากธรรมชาติการเกิดโรคไข้เลือดออกนั้น ในการติดเชื้อครั้งแรกอาการมักไม่รุนแรง จะรุนแรงต่อเมื่อติดเชื้อครั้งที่สองต่างสายพันธุ์
วัคซีนไข้เลือดออกยังไม่ใช้วงกว้าง 
          “แม้จะมีวัคซีนไข้เลือดออกขึ้นทะเบียนในไทยแล้ว แต่การฉีดเป็นวงกว้าง การกำหนดว่ากลุ่มไหนควรฉีด ฉีดเมื่อไหร่อย่างไรจึงมีความสำคัญมาก เช่น เคยติดเชื้อมาก่อนหรือไม่ ความเสี่ยงการเกิดโรคมากน้อยแค่ไหน และระยะเวลาการฉีดเป็นอย่างไร เป็นต้น จึงต้องอาศัยข้อมูลทางระบาดวิทยามาคำนวณและข้อมูลทางวิชาการมาประกอบการตัดสินใจอย่างรอบคอบครบถ้วน”นพ.โอภาสกล่าว 

\'ไข้เลือดออก\'ระบาดวิทยา เปลี่ยน ! โจมตีผู้ใหญ่ เสียชีวิตค่อนข้างสูงขึ้น

         นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า  เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว มีการเอาวัคซีนไข้เลือดออกในเชิงพาณิชย์มาใช้ ก็มีการเรียกร้องให้ สธ.เอาวัคซีนมาใช้ในวงกว้าง แต่เมื่อดูข้อมูลแล้ววัคซีนไข้เลือดออกสลับซับซ้อนกว่าวัคซีนโรคติดเชื้ออื่นๆ จึงพิจารณาว่ายังไม่ควรจะรีบเอาวัคซีนมาใช้ ซึ่งก็มีประเทศหนึ่งแถบอาเซียนนำมาใช้ในเด็กหลายล้านคน แทนที่จะทำให้การติดเชื้อและเสียชีวิตลดน้อยลง กลับทำให้การติดเชื้อและเสียชีวิตมากขึ้น เป็นบทเรียนที่ต้องพิจารณาอย่างครบถ้วน ซึ่งมีทีมวิชาการ คณาจารย์ต่างๆ โรงเรียนแพทย์กำลังศึกษาการนำวัคซีนมาใช้ในวงกว้าง คงต้องรอข้อมูลอีกสักระยะหนึ่งที่จะพิจารณาการตัดสินใจ ถ้าเป็นการขอฉีดรายบุคคล ก็ขอให้ปรึกษาแพทย์ที่ดูแล
กำจัดแหล่งเพาะลูกน้ำยุงลาย

           "ไข้เลือดออกเดงกี มียุงลายเป็นพาหะซึ่งยุงอยู่กับบ้าน บ้านที่มีที่ให้ยุงวางไข่ มีภาชนะน้ำขัง ยุงลายจะมาวางไข่ ถ้ายุงลายมีเชื้อก็จะมีการระบาดของโรค มาตรการป้องกันสำคัญคือประชาชนต้องสำรวจบ้านตนเองมีภาชนะน้ำขัหรือไม่ ให้เปลี่ยนถ่ายน้ำ อะไรไม่ใช้ก็เอาไปทิ้งตามมาตรการ 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค เก็บบ้าน เก็บขยะ เก็บน้ำ ยังช่วยป้องกันโรคไข้ปวดข้อยุงลายด้วย" นพ.โอภาสกล่าว

สถานการณ์โรคไข้เลือดออก

          นพ.นิติ เหตานุรักษ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวว่า สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในไทยตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 28 มิ.ย. 2566 พบผู้ป่วยไข้เลือดออกสะสม 27,377 ราย มีรายงานผู้เสียชีวิต 33 ราย โดยตั้งแต่ มิ.ย.พบผู้ป่วยสัปดาห์ละ 1,500 - 2,400 ราย เสียชีวิตสัปดาห์ละ 1-3 ราย ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอายุ 5-14 ปี ตามด้วยกลุ่มอายุ 15-24 ปี ที่ผ่านมา
           กรมควบคุมโรคได้เพิ่มกลยุทธ์เพื่อควบคุมจำนวนผู้ป่วยไข้เลือดออกในประเทศ โดยเร่งสร้างความตระหนักรู้ให้กับประชาชนในชุมชนต่างๆ ในการป้องกันตนเอง การทำลายแหล่งเพาะพันธุ์โรค ร่วมกับมาตรการการเฝ้าระวัง การสอบสวนโรค การประเมินแนวโน้มพื้นที่การระบาดของโรคหรือความชุกชุมของแหล่งโรค เพื่อประกาศเป็นโรคระบาดเฉพาะพื้นที่และวางมาตรการตอบโต้ รวมทั้งเน้นการควบคุมโรคให้เหมาะกับบริบทพื้นที่โดยเฉพาะ

\'ไข้เลือดออก\'ระบาดวิทยา เปลี่ยน ! โจมตีผู้ใหญ่ เสียชีวิตค่อนข้างสูงขึ้น

8 โรค 3 ภัยสุขภาพหน้าฝน66
     ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 8 มิ.ย.2566 กรมควบคุมโรค ได้ออกประกาศกรมควบคุมโรค เรื่อง การป้องกันโรคและภัยสุขภาพ ที่เกิดในช่วงฤดูฝนของประเทศไทย พ.ศ. 2566 รวม 11 โรค/ภัย แยกเป็น 8 โรคและ 3 ภัยสุขภาพ

โรคติดต่อทางเดินหายใจ

  • โรคไข้หวัดใหญ่ พบได้ทุกกลุ่มอายุ ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีโรคประจำตัว
  • โรคปอดอักเสบ เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย พบผู้ป่วยได้ทุกกลุ่มอายุ ติดต่อทางการสัมผัสน้ำมูก น้ำลายหรือไอจามรดกัน

ทั้ง 2 โรคป้องกันได้ด้วยการรักษาสุขภาพ พักผ่อนให้เพียงพอ ทำร่างกายให้อบอุ่น หมั่นล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจล ไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น และสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยทุกครั้งเมื่อต้องคลุกคลีกับผู้อื่น
โรคติดต่อจากการสัมผัส

  • โรคมือ เท้า ปาก โรคติดต่อที่พบได้บ่อยในเด็กเล็ก จากการสัมผัสโดยตรงกับน้ำมูก น้ำลาย ผื่น ตุ่มน้ำใส หรืออุจจาระของผู้ป่วย อาการผู้ป่วยคือ จะมีแผลหรือตุ่มในช่องปาก กระพุ้งแก้ม มีผื่นแดงหรือตุ่มบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า และอาจพบที่แขน ขา หรือก้น ส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรงและหายเองได้
  • โรคเลปโตสไปโรซิส หรือโรคไข้ฉี่หนู เป็นโรคติดต่อระหว่างสัตว์และคน พบได้ทุกเพศทุกวัย แต่จะพบบ่อยในผู้มีอาชีพเกษตรกรรมที่ต้องสัมผัสกับดินหรือน้ำอยู่เป็นประจำ อาการที่พบบ่อย ได้แก่ มีไข้สูง ปวดศีรษะรุนแรง หนาวสั่น ตาแดง และปวดกล้ามเนื้อน่องอย่างรุนแรง การป้องกันคือ หลีกเลี่ยงการทำงานที่ต้องลุยน้ำย่ำโคลนเป็นเวลานาน หากจำเป็นควรสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันที่เหมาะสมทุกครั้ง เช่น สวมรองเท้าบูทยาว ถุงมือยาว
  • โรคเมลิออยโดสิส ติดเชื้อจากการสัมผัสดินหรือน้ำเป็นเวลานาน หรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าไป กลุ่มเสียง คือ ผู้ที่ทำงานสัมผัสดินน้ำโดยตรง เช่น เกษตรกรและผู้มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง มีอาการไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว
    โรคติดต่อนำโดยยุงลาย
  • โรคไข้เลือดออก เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเด็งกี ที่มียุงลายเป็นพาหะนำโรค ผู้ป่วยจะมีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระดูก มีจุดแดงที่ผิวหนัง หากอาการรุนแรงจะเกิดภาวะช็อกได้
  • โรคไข้ปวดข้อยุงลาย หรือโรคชิคุนกุนยา เกิดจากการติดเชื้อไวรัสชิคุนกุนยา มียุงลายสวน และยุงลายบ้านเป็นพาหะนำโรค พบได้ทุกกลุ่มอายุ อาการจะคล้ายกับโรคไข้เลือดออก แต่ต่างกันที่ไม่มีการรั่วของพลาสมาออกนอกเส้นเลือด จึงไม่พบผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงมากจนถึงมีอาการช็อก
  • โรคติดเชื้อไวรัสซิกา เกิดจากการถูกยุงลายที่มีเชื้อไวรัสซิกากัด การถ่ายทอดเชื้อจากแม่สู่ทารกในครรภ์หรือระหว่างการคลอด การมีเพศสัมพันธ์กับผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสซิกา หลังได้รับเชื้อจะแสดงอาการได้เร็วที่สุด 3 วัน และช้าที่สุด 12 วัน โดยเฉลี่ยอยู่ในช่วง 4-7 วัน อาการมีไข้ต่ำๆ มีผื่นแดงตามบริเวณลำตัวและแขนขา รวมถึงอาจมีผื่นที่ฝ่ามือได้ เยื่อบุตาอักเสบ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ อาจมีต่อมน้ำเหลืองโต และอุจจาระร่วง
    ภัยสุขภาพ
  • การบาดเจ็บ และเสียชีวิตจากการถูกฟ้าผ่า
  •  อันตรายจากการกินเห็ดพิษ
  • อันตรายจากการถูกงูพิษกัด