9 พรรคหาเสียง เลือกตั้ง 2566 เอาใจผู้สูงวัย ให้เงิน-สร้างงาน-ดูแลสุขภาพ

9 พรรคหาเสียง เลือกตั้ง 2566  เอาใจผู้สูงวัย  ให้เงิน-สร้างงาน-ดูแลสุขภาพ

เลือกตั้ง 2566 ในเวทีสนทนานโยบายสาธารณะ (Policy Dialogue) ครั้งที่ 2 ตอบโจทย์ประชาชน “พรรคการเมืองกับนโยบายหลักประกันรายได้เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี เมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ”ในคำถามว่า “พรรคมีนโยบายและแนวทางในการรองรับสังคมผู้สูงอายุอย่างไร”  

เลือกตั้ง 2566 : 9 พรรคหาเสียง นโยบายเลือกตั้ง เอาใจผู้สูงวัย  ให้เงิน-สร้างงาน-ดูแลสุขภาพ

1. พรรคก้าวไกล

เดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต หรือ Think Forward Center พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ผู้สูงอายุที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนมีอยู่ 6-8 % พรรคเชื่อว่าสวัสดิการโดยเฉพาะเรื่อง 

หลักประกันรายได้ผู้สูงอายุ : ควรเป็นลักษณะแบบถ้วนหน้า จึงคำนวณดูอัตราควรได้รับอยู่ที่ 3,000 บาทต่อเดือน เมื่อคูณด้วยจำนวนผู้สูงอายุ 12 ล้านคน ต้องมีงบประมาณ 4 แสนล้านบาท โดยงบฯที่จะบริหารจัดการได้ในปีงบประมาณ 2567 น่าจะอยู่ที่ 2.5 แสนล้านบาท จึงจำเป็นจะต้องค่อยๆเพิ่มขึ้นอย่างถ้วนหน้า จาก 600 บาทต่อเดือนเพิ่มไปเรื่อยๆจะถึง 3,000 บาท ภายในปี 2570 เมื่อเพิ่มรายได้ส่วนนี้แล้วจะมีผู้สูงอายุที่ยากจนประมาณ 1 % ซึ่งเป็นเพราะหนี้สิ้น 

ปลูกป่าชำระหนี้ ติดตั้งโซลาร์เซลล์แบ่งรายได้ : พรรคมีนโยบายที่จะให้โอกาสผู้สูงอายุในการปลดหนี้ ทั้งการลดหนี้ลงครึ่งหนึ่ง หรือการปลูกป่าชำระหนี้ หรือการติดตั้งโซลาร์เซลล์เพื่อมาแบ่งรายได้กัน

กองทุนดูแลผู้สูงอายุระยะยาว : ส่วนกรณีที่ป่วยติดบ้านติดเตียงและการดูแลแบบประคับประคอง จึงเสนอให้มีกองทุนในการดูแลผู้สูงอายุระยะยาว 9,000 บาทต่อคนต่อเดือน ทำให้สามารถจ้างคนมาดูแลได้ รวมถึงจัดให้มีธนาคารอุปกรณ์ เช่น ถังออกซิเจน เป็นต้น

ลางานดูแลพ่อแม่ได้ 15 วัน : การให้จากไปอย่างสงบ ให้สามารถลางานมาดูแลพ่อแม่ได้ 15 วันสุดท้ายก่อนเสียชีวิต

 

2. พรรคชาติพัฒนากล้า

พรชัย มาระเนตร์  กรรมการนโยบายพรรคชาติพัฒนากล้า กล่าวว่า วิธีคิดเชิงนโยบายของพรรค ในอีก 7 ปีข้างหน้ากราฟพีระมิดของคนไทยยังเป็นแบบลูกรักบี้ คือ คนช่วงวัยแรงงานยังมากกว่าผู้สูงอายุและเด็ก แต่จากนั้นหลังจากปี 2573 จะขึ้นสู่จุดสูงสุดแล้วจำนวนประชากรของประเทศ เริ่มลดลงเรื่อยๆ ทำให้กราฟกลายเป็นรูปเห็ด มีผู้สูงอายุมากกว่าคนมีอายุน้อยๆและวัยแรงงาน เพราะฉะนั้น วันนี้ถ้ามีการนำเงินอนาคตมาใช้ก่อนที่ปัญหาจะสุกงอมเต็มที่นั่นคือความเสี่ยงมหาศาล พรรคจึงเสนอเรื่อง

“การใช้งบประมาณเพื่อเตรียมความพร้อมของ 4 ปี” ได้แก่

  • ปรับเศรษฐกิจ เห็นคุณค่าของผู้สูงอายุมีความสามารถในการทำงาน ภาคธุรกิจที่รับผู้สูงอายุไปทำงาน รัฐให้การสนับสนุนเดือนละ 5,000 บาท 
  • มีกองทุนสร้างสรรค์สูงสุด 1 ล้านบาทสนับสนุนให้ทำธุรกิจ ทำโครงการให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ และให้เงินบ้านละ 50,000 บาท เพื่อปรับบ้านให้เป็นอารยสถาปัตย์
  • ป้องกันการป่วย หกล้มและลดค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้ป่วยติดเตียง

 

3.พรรคชาติไทยพัฒนา

อุดมศักดิ์ ศรีสุทิวา รองเลขาธิการพรรคและกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์ พรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า พรรคเน้นสวัสดิการภายใต้แนวคิด ว้าวไทยแลนด์(WOW)

  • W (Wealth) ความมั่งคั่ง
  • O (opportunity) สร้างโอกาสให้มีความเท่าเทียมกันในสังคม
  • W (Welfare for all ) เพื่อให้ทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แก้ไขปัญหาวันนี้และอนาคตร่วมกัน

ผู้สูงอายุเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่สำคัญในส่วนที่

- ผู้สูงอายุที่แข็งแรงขยายเกษียณผู้สูงอายุเป็น 65 ปี สร้างงานให้ผู้สูงอายุ สำหรับผู้ที่ต้องการทำงานมีรายได้ 

- สร้างศูนย์ดูแลผู้สูงอายุทั่วประเทศ ผู้ดูแล 1 คนดูแล ผู้สูงอายุ 5 คนเป็นการจ้างงานให้คนมีงานทำด้วย

9 พรรคหาเสียง เลือกตั้ง 2566  เอาใจผู้สูงวัย  ให้เงิน-สร้างงาน-ดูแลสุขภาพ

 

4. พรรคไทยสร้างไทย

ปริเยศ อังกูรกิตติ ผู้อำนวยการด้านการสื่อสารและการประชาสัมพันธ์ พรรคไทยสร้างไทย กล่าวว่า สังคมสูงอายุเป็นโอกาสในการคืนชีวิตให้กับผู้สูงวัย โดยใช้

30 บาทพลัส : ทำให้ผูัสูงอายุสามารถเข้าสู่ระบบสาธารณสุขได้ง่ายขึ้นและประหยัดค่าใช้จ่าย

เฮสท์เครดิต : ค่าน้ำค่าไฟต่างๆจะมี เฮสท์เครดิตโดยผู้สูงวัยที่มีสุขภาพแข็งแรง สามารถนำไปเป็นเครดิตลดทอนค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับรัฐได้

หนี้นอกระบบ : มีเงิน 5,000-50,000 บาทนำไปใช้แก้ไขเรื่องหนี้นอกระบบ

บำนาญประชาชน : เติมเงินเรื่องบำนาญประชาชนเดือนละ 3,000 บาทจะช่วยให้ผู้สูงวัยมีเงินเพิ่มและสร้างเงินหมุนเวียนภายในชุมชน

การขยายศักยภาพให้ผู้สูงวัย : สามารถสร้างงานให้ผู้สูงอายุได้ในชุมชนเพียงมีการจัดการที่ดี

บัตรเครดิตประชาชน : คนที่ต้องการทำธุรกิจของตัวเอง บัตรเครดิตประชาชนจะเข้าไปช่วยให้มีทุน

กองทุนสร้างไทย : ถ้ามีการรวมกลุ่ม กองทุนสร้างไทย สนับสนุนวิสาหกิจชุมชน ช่วยสร้างจีดีพีได้ด้วย 

 

5. พรรคประชาธิปัตย์

พิสิฐ ลี้อาธรรม ประธานคณะกรรมการนโยบายพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า จะปลดล็อกเรื่องอายุ เพิ่มทักษะให้สามารถทำงานใหม่ๆได้ และใช้ประสบการณ์มาทำงานได้ 

  • ตั้งชมรมผู้สูงอายุโดยอุดหนุนปีละ 30,000 บาททุกหมู่บ้าน
  • นโยบาย 1 ล้านล้านบาท ลดหนี้ของครัวเรือน เคลี่ยร์หนี้ผู้สูงอายุที่เป็นเกษตรกรและมีหนี้กับธกส.
  • ผลักดันเรื่องการออมภาคบังคับ โดยจะเสนอให้มีกฎหมายการออมถ้วนหน้า 
  • กำหนดกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้เป็นภาคบังคับ ซึ่งต้องอาศัยการออมเพื่อใช้ยามชราของประชาชน
  • ส่วนผู้สูงอายุที่ไม่มีการออมเพียงพอและไม่พร้อมเข้าสู่สูงวัย จัดระบบให้มีงานทำ

 

6. พรรคพลังประชารัฐ

สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์  ประธานยุทธศาสตร์การเมือง พรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า ผู้สูงอายุต้องการหลักประกัน ตัวเลข 3,000 บาทเป็นข้อมูลที่ออกมาว่าทำให้ผู้สูงอายุมีหลักประกันรายได้ นโยบายพรรค จึงมีเรื่อง 3,000 4,000 5,000 โดยมองว่าอายุมากขึ้น 70-80 ปีมีภาระดูแลสุขภาพมากขึ้น จึงต้องทำเรื่องเหล่านี้ ส่วนผู้ป่วยติดเตียง ประเมินว่ามี 5 แสน-1 ล้านคนในอนาคต มี 2 เรื่องต้องทำ

1.ส่งเสริมกองทุนสวัสดิการสังคม สร้างอาสาสมัครบริบาลท้องถิ่น ตั้งเป้าหมาย 1 แสนอัตรา เพื่อดูแลผู้ป่วยติดเตียง รวมถึง การใช้เทเลเมด การแพทย์ทางไกล ใช้รพ.สต.เป็นหัวใจหลัก

2.ทำให้ผู้สูงอายุมีรายได้ การฝึกอบรมผู้สูงอายุในการทำมาหากิน การสร้างแรงจูงใจให้บริษัทที่จ้างงานผู้สูงอายุ เช่น เรื่องภาษี หรือผลประโยชน์อื่นใด เป็นต้น

 

9 พรรคหาเสียง เลือกตั้ง 2566  เอาใจผู้สูงวัย  ให้เงิน-สร้างงาน-ดูแลสุขภาพ

 

7. พรรคเพื่อไทย

ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์  คณะกรรมการสื่อสารการเมือง พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า นโยบายพรรคอยู่ภายใต้แนวคิด ผู้สูงอายุต้องอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี และสามารถเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจหรือคุณภาพสังคม การแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืนต้องทำให้เศรษฐกิจของประเทศแข็งแรง โดยทุกคนต้องได้รับการดูแลเท่าเทียม ดิจิทัลวอลเล็ต ผู้ที่อายุ 16 ปีขึ้นไป สามารถที่จะได้รับเงินทันที 10,000 บาทจากภาครัฐ ใช้จ่ายใกล้บ้าน 4 กิโลเมตร

รวมถึง สนับสนุนให้ผู้ประกอบการจ้างงานสัดส่วนต่อจำนวนแรงงาน หรือประโยชน์ทางด้านภาษี เป็นต้น ในส่วนของ 30 บาท จะมีผู้เชี่ยวชาญดูแลเรื่องการให้คำปรึกษา เทเลเมดิซีน มีสถานชีวาภิบาลดูแลผู้สูงอายุ

 

8. พรรคภูมิใจไทย

ศุภชัย ใจสมุทร นายทะเบียนพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า นโยบายสำคัญของพรรค คือ เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย สร้างโอกาส โดยการ

- ลดรายจ่ายผู้สูงวัย จะช่วยอย่างยิ่ง ด้วยการให้อสม.ไปดูแลผู้ป่วยติดเตียง ผู้สูงวัยในแต่ละหมู่บ้าน เป็นหลักประกันได้ดูแลเรื่องสุขภาพ รวมถึง เรื่องการทำโซลาร์รูฟในบ้าน ลดเรื่องค่าไฟ

- กรมธรรม์ประกันชีวิตผู้อายุครบ 60 ปี 1 แสนบาทเสียชีวิตจะได้เงิน สามารถยืมเงินตัวเองส่วนนี้มาใช้ได้ 20,000 บาท กู้ฉุกเฉินได้ในวงเงิน 50,000 บาทคืนภายใน 1 ปี ผ่อนวันละ 150 บาท สิ่งเหล่านี้ผู้สูงวัยที่มีชีวิตอยู่ราว 12 ล้านคน สามารถเข้าถึงแหล่งเงินได้

- คุ้มครองความยากจนผู้สูงอายุ ซึ่งในหลายพื้นที่ของต่างจังหวัด อายุ 60 ปีแล้วยังทำงานอยู่ก็มีรายได้จะการเปิดให้โอกาสกู้เงินตัวเองได้ ช่วยคลี่คลายสถานการณ์หนี้นอกระบบให้ผู้สูงวัยก่อน และมีโอกาสเริ่มต้นชีวิตใหม่

 

9. พรรครวมไทยสร้างชาติ

บุญยอด สุขถิ่นไทย  คณะทำงานสื่อสารและประชาสัมพันธ์ พรรครวมไทยสร้างชาติ กล่าวว่า ปรับโครงสร้างสังคมให้ดีขึ้นเพื่อสนับสนุนผู้สูงอายุ ในส่วนของ หลักประกันรายได้ผู้สูงอายุ ต้องดูที่ข้อมูลความจริง โดยปี 2567 ผู้สูงอายุจะมีจำนวน 14 ล้านคน ถ้าให้ 1,000 บาทต่อเดือน เป็นเงินราว 1.68 แสนล้านบาท ปี 2570 จำนวนราว 15 ล้านคน 1.87 แสนล้านบาท ปี 2575 จำนวน 17.98 ล้านคน 2.15 แสนล้านบาท

เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ให้ 600 ,700,800 บาทตามอายุ แต่มีกองทุนให้ผู้สูงอายุมากู้ได้ไปประกอบอาชีพ ซึ่งได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐปีละ 70 ล้านบาท ถ้ามีโอกาสให้มากขึ้นเพื่อให้ประกอบอาชีพได้ มีอพม.ดูแลผู้สูงอายุได้ 1.2 ล้านคน สนับสนุนต่อเรื่องกองทุนการออมแห่งชาติ ที่มีการทำอยู่แล้วให้คนที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไปออม ก็จะมีเงินใช้ยามสูงวัย

 

ขณะที่ ‘แหล่งงบประมาณ’ ในการดำเนินนโยบายต่างๆ โดยมีหลายแนวทางที่สอดคล้องกัน เช่น การปรับลดงบประมาณ หรือรีดไขมันที่ไม่จำเป็น เพิ่มการจัดเก็บภาษีในรูปแบบใหม่ การกระตุ้นเศรษฐกิจให้ตัวเลขจีดีพีสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนอย่างน้อยปีละ 5-6% การลดหนี้ครัวเรือน การเจรจาการค้ากับต่างประเทศเพิ่ม

การผลักดัน Health & Wellness Center เพื่อดึงดูดผู้สูงวัยจากต่างประเทศให้เข้ามารับการดูแลในประเทศไทย ซึ่งจะช่วยสร้างงานได้หลายแสนตำแหน่ง ตลอดจนการนำระบบ Blockchain เข้ามาปรับใช้ เพื่อลดปัญหาการทุจริตคอรัปชั่น ซึ่งจะช่วยดึงงบประมาณที่สูญเสียไปได้ด้วยในตัว