เหตุผล? ที่ทำให้คนรุ่นใหม่ ตัดสินใจ 'ลาออก'จากงาน

เหตุผล? ที่ทำให้คนรุ่นใหม่ ตัดสินใจ 'ลาออก'จากงาน

ใครๆ ก็อยากมีความสุข และอยากก้าวหน้าในหน้าที่การงาน สายอาชีพของตัวเอง แต่บางครั้งเมื่อเข้าสู่โลกของการทำงานจริงๆ ภาวะกดดัน ความเครียดเกิดขึ้นมากมาย

Keypoint:

  • เทรนด์การทำงานของคนรุ่นใหม่ที่ให้ความสำคัญกับ Work Life Balance ส่งผลให้หลายๆคนเมื่อเจอภาวะกดดันจากการทำงาน ความเครียดต่างๆ หรือเกิดภาวะหมดไฟ อาจจะตัดสินใจลาออกจากงาน 
  • มีหลายเหตุผลที่จะลาออกจากงาน แต่จะใช้เหตุผลไหนที่ช่วยรักษาน้ำใจทั้งบริษัทเก่าและใช้แจ้งในบริษัทใหม่ 
  • ผู้ประกอบการต้องรู้เหตุผลที่พนักงานลาออกจากงาน เพราะปัจจัยส่วนใหญ่เกิดจากการค่าตอบแทน บริหารงาน รูปแบบ วัฒนธรรมขององค์กร

ไม่ว่าจะด้วยภาระงานที่ไม่ว่าจะหักไปทางไหน ก็มีแต่งานๆ จนบางคนไม่มีเวลาใช้ชีวิต สุดสัปดาห์ วันหยุดต้องทำงาน พอจะเข้าวันจันทร์ เริ่มต้นสัปดาห์ก็รู้สึกซึมเศร้าขึ้นมาทันที หรือหัวหน้างานที่ไม่ได้รับฟังความคิดเห็น เอาแต่สั่งๆ งาน จนเกิดความเบื่อหน่ายในการทำงาน และสภาพแวดล้อมงานที่อึดอัด กดดัน.....เมื่อสะสมเข้าทุกวัน ทุกวัน หลายคนเริ่มมอบหางานใหม่ หรือ คิด ‘ลาออก’ จากงาน

ยิ่งสไตล์การทำงานของคนรุ่นใหม่ อยากทำงานไปด้วยใช้ชีวิตอิสระไปด้วย และอยู่ที่ไหนก็ทำงานได้ เมื่องานไม่ตอบโจทย์ รูปแบบการทำงานไม่ได้ พวกเขาก็มักจะอยากออกจากสภาพแวดล้อมเหล่านี้

วันนี้ ‘กรุงเทพธุรกิจ’รวบรวม ‘เหตุผลในการลาออก’ ที่ใช้ได้ทั้งในบริษัทเก่า กับบริษัทใหม่ที่อยากไปสมัครงาน การจะหาเหตุผลคลูๆ  เจ๋งๆ  เพื่อใช้สนับสนุนในการลาออกจากงาน ถือเป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน รักษาน้ำใจของทั้ง 2 ฝ่าย ให้คงมิตรภาพที่ดีต่อกันไว้ เพราะชีวิตไม่มีอะไรแน่นอน อนาคตอาจจะกลับไปสมัครบริษัทเก่าก็เป็นได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ส่อง 5 ปรากฏการณ์ เขย่า “ตลาดงาน” ยุคหลังโควิด

“เศรษฐกิจถดถอย”หนุนมนุษย์เงินเดือนเอเชียลาออกครั้งใหญ่

“สมัครงานล้างแค้น” เทรนด์ใหม่เจน Z ร่อนใบสมัครไปทั่ว เพราะถูกมองข้าม-ด้อยค่า

รู้จัก "Career Cushioning" เทรนด์หางานสำรอง เผื่อตกงานไม่รู้ตัว

 

 ปัจจัยที่ทำให้คนอยากออกจากงาน

1.เงินเดือนน้อย ต้องการขอปรับเงินเดือนขึ้น

เงินเดือนเป็นปัจจัยหลักสำหรับบางคนที่จะเป็นตัวตัดสินว่าจะอยู่ต่อหรือจะลาออก อีกทั้งในปัจจุบัน การย้ายงานเป็นสิ่งเดียวที่ทำให้เงินเดือนเพิ่มได้เร็วที่สุด และหลายครั้งมักจะได้เยอะกว่าที่เดิมมาก ๆ

ถ้าเกิดมีพนักงานมาลาออกด้วยเหตุผลที่ว่าเงินเดือนของเขาน้อยเกินไป อยากให้ลองเปิดใจคุยกันว่า เงินเดือนที่ได้รับมันเหมาะสมหรือไม่เหมาะสมกันอย่างไรบ้าง แต่ถ้าเขาบอกว่างานเยอะขึ้น แล้วเขาสามารถสร้างอิมแพ็คให้กับบริษัทได้จริง แต่ก็ยังคงได้รับเงินเดือนเท่าเดิม การเพิ่มเงินเดือนให้กับเขาเป็นเรื่องที่เหมาะสมแล้วที่ควรจะทำ และถูกกว่าการจ้างคนใหม่เข้ามาทำงานโดยที่ไม่รู้ว่าเขาเก่งจริงหรือเปล่าอีกด้วย

เหตุผล? ที่ทำให้คนรุ่นใหม่ ตัดสินใจ \'ลาออก\'จากงาน

2.บริษัทลดโบนัส

บางครั้งช่วงแรกที่เข้ามาทำงาน บริษัทมีการแจกโบนัสดีอย่างต่อเนื่อง แต่ช่วงหลัง บางบริษัทอาจมีการลดโบนัสลง หรือไม่มีโบนัสให้ ส่งผลให้พนักงานอาจไม่อยากทำงานต่อ  ขณะที่ในมุมบริษัท โบนัสอาจจะเป็นจำนวนเงินที่น้อยมาก ๆ แต่สำหรับพนักงานบางคน มันเป็นจำนวนเงินที่มหาศาลมากที่ทำให้เขาสามารถนำเงินไปต่อยอดลงทุน ใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน และแบ่งเบาภาระครอบครัวได้

ถ้าเป็นไปได้อยากให้ทุกบริษัทมีการจ่ายโบนัสพนักงาน (ไม่จำเป็นต้องออกมาในรูปแบบเงิน) เพราะโบนัสจะเข้ามาเป็นตัวกระตุ้นชั้นดีที่ทำให้พนักงานรู้สึกอยากทำงานให้ออกมาดีอย่างสม่ำเสมอ ไม่ใช่แค่ทำงานให้เสร็จตามเวลาก็พอ 

 

ผู้ประกอบการต้องรู้ เมื่อพนักงานลาออก

3.หมด Passion / Burnout ไม่อยากทำงานแล้ว

หลายคนทำงานที่เดิมมานานอาจรู้สึกว่าไม่มีอะไรใหม่ ๆ มาท้าทาย หรือไม่รู้สึกว่าตัวเองเติบโตในสายงานนั้น อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เขารู้สึกหมด Passion หรือ Burn out จนอยากรู้สึกลาออกได้ ซึ่งถ้าหากพนักงานกำลังรู้สึกแบบนี้ บริษัทควรต้องหาทางแก้ไขโดยด่วน

ให้ลองสังเกตว่าพนักงานคนนั้นมีอาการที่แสดงออกถึงความเครียด หมดพลัง หรือคิดอะไรใหม่ ๆ ไม่ออกแล้วหรือไม่ ถ้าเกิดว่าเป็นแบบนั้นอาจจะให้ Team Lead ลองเรียกพนักงานคนนั้นมาพูดคุยอย่างตรงไปตรงมา ลองวาง Career Path ให้กับเขา สนับสนุนในสิ่งที่เขาอยากทำ ให้ลองทำชาเลนจ์อะไรใหม่ ๆ ที่หลากหลาย รวมถึงการชื่นชมให้กำลังใจเขาก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ช่วยเติมไฟให้เขาได้อีกหนึ่งวิธี

เหตุผล? ที่ทำให้คนรุ่นใหม่ ตัดสินใจ \'ลาออก\'จากงาน

4.ชอบการทำงานแบบ Remote Working มากกว่าเข้าออฟฟิศ

ตั้งแต่ปี 2020 เป็นต้นมาที่มีเหตุการณ์การแพร่ระบาดของ Covid-19 ครั้งใหญ่ก็ทำให้หลายบริษัทมีนโยบายให้พนักงานทำงานแบบ Remote Working หรือทำงานจากที่บ้านได้ แต่เมื่อเหตุการณ์เริ่มกลับมาดีขึ้น บางบริษัทก็เรียกให้พนักงานกลับมาทำงานที่ออฟฟิศแบบ 100% ด้วยเหตุนี้จึงทำให้พนักงานหลายคนไม่อยากกลับไปทำงานแบบนั้นอีกแล้ว จนบางคนตัดสินใจลาออก

สำหรับวิธีแก้ไข บริษัทควรมีนโยบายการทำงานแบบ Hybrid หรือแบบผสมระหว่างการ Remote Working และการเข้าออฟฟิศ 

5.ไม่มี Work Life Balance ที่ดี

พอนอกเวลางานแล้วทุกคนอยากมีเวลาเป็นของตัวเอง เพื่อไปใช้ชีวิตส่วนตัว ไปทำในสิ่งที่ตัวเองชอบ พักผ่อน หรือหาความรู้เพิ่มเติมในส่วนอื่น ๆ มากขึ้น Work Life Balance จึงเป็นสิ่งที่พนักงานส่วนใหญ่ต้องการ

บริษัทจึงควรมีการคำนึงถึง Work Life Balance ของพนักงานแต่ละคนไว้ด้วย เพราะช่วยให้การทำงานออกมาอย่างมีประสิทธิภาพเหมือนกัน หากชีวิตมีแต่งาน พักผ่อนไม่เพียงพอ ไม่มีเวลาไปทำสิ่งใหม่ ๆ หรือหาความรู้เพิ่มเติม การสร้างสรรค์ก็จะเกิดขึ้นได้ยาก สิ่งที่จะตามมาคือ ภาวะหมดไฟในการทำงาน นำไปสู่การลาออกนั่นเอง

 20 เหตุผลที่ใช้ลาออกจากงาน

JobsDB ได้ออกมาแนะนำการให้เหตุผลในการลางานที่สามารถนำไปยื่นแจ้งในการลาออกที่ทำงานเก่า และการเขียนในใบสมัครงาน หรือตอบสัมภาษณ์เวลาสมัครงานใหม่ อีกทั้งอันนำไปเสียงสะท้อนจากพนักงานกลับไปปรับปรุงองค์กร เริ่มด้วย

1. อยากเปลี่ยนสายงาน

คนเราย่อมมีความถนัดหลายด้าน บางครั้งเมื่อทำสิ่งเดิมๆ ซ้ำๆ ทุกวันเป็นเวลานาน ก็อาจเกิดอาการ Burn out หรือรู้สึกอิ่มตัวได้ ดังนั้นการแจ้งเหตุผลในการออกว่าอยากเปลี่ยนสายงาน จึงถือเป็นเหตุผลที่ฟังขึ้น แถมบางคนเมื่อเรียนจบมาแล้ว กลับได้ทำงานที่ไม่ตรงสายก็มี เมื่อโอกาสใหม่ที่ตรงกับสิ่งที่ถนัดหยิบยื่นเข้ามาก็ต้องคว้าเอาไว้ แต่ถ้าหากโชคดีที่บริษัทปัจจุบันมีตำแหน่งว่างที่ตรงกับสายงานใหม่ที่ต้องการ ก็อาจได้รับโอกาสใหม่ในการขยับขยายแบบที่ไม่ต้องหางานใหม่

2.มองหาเงื่อนไขการทำงานที่ยืดหยุ่น

ในยุคที่เทรนด์เรื่อง Work Life Balance เป็นเรื่องสำคัญ เพราะชีวิตคนเราไม่ได้มีแต่เรื่องงานอย่างเดียว ไหนจะสภาวะทางเศรษฐกิจหรือสังคมต่างๆ ที่ก่อให้ความเครียดได้เช่นกัน ดังนั้นหากรู้สึกว่างานปัจจุบันส่งผลให้คุณเครียดเป็น 2 เท่า แล้วอยากได้ความยืดหยุ่นที่มากขึ้นจากที่ทำงานใหม่ ก็สามารถใช้เหตุผลนี้ได้

เหตุผล? ที่ทำให้คนรุ่นใหม่ ตัดสินใจ \'ลาออก\'จากงาน

3.ต้องการความก้าวหน้าในสายอาชีพ

เหตุผลนี้จริงๆ แล้วอาจดูค่อนไปทางเชิงลบกับบริษัทเก่าอยู่เช่นกัน จึงอาจต้องหาวิธีที่ดีในการพูด เพราะโดยปกติแล้ว คนทำงานทุกคนย่อมต้องการความก้ามหน้าในสายอาชีพ หากงานเก่ามาถึงทางตันและไม่สามารถขยับให้สูงขึ้นได้ ก็ควรต้องแจ้งความจริงกับที่ทำงานเก่า บางบริษัทก็อาจเข้าใจได้ เพราะมีขั้นตอนต่าง ๆ มากมายในเรื่องของการปรับตำแหน่ง หรืออาจต้องใช้เวลาหลายปี รวมถึงบางบริษัทก็ไม่มีตำแหน่งในระดับดังกล่าวที่เราต้องการ 

4.ต้องการเงินเดือนที่เพิ่มมากขึ้น

ข้อนี้ถือเป็นอีกเหตุผลยอดฮิตของคนที่คิดอยากลาออกจากงานเก่าเช่นเดียวกัน การลาออกเพื่ออัพเงินเดือนจึงถือเป็นเรื่องปกติที่สามารถนำมาใช้ได้ เพราะบริษัทส่วนใหญ่แล้ว กว่าจะมีการปรับเงินเดือนก็ต้องใช้เวลา 6 เดือน – 1 ปี เป็นอย่างต่ำ ดังนั้นการไปทำงานที่ใหม่เพื่ออัพเงินเดือน ถือเป็นทางลัดที่หลายคนเลือก อีกทั้งเรื่องเงินถือเป็นสิ่งจำเป็นในการดำเนินชีวิต ทุกคนต่างมีภาระที่ต่างกัน อย่างไรแล้วบริษัทเก่าก็สามารถเข้าใจเหตุผลข้อนี้ได้

5. วางแผนในการเรียนต่อ

การวางแผนเรียนต่อ ถือเป็นเหตุผลที่ดีเลยทีเดียว เพราะเรื่องของการเรียนรู้ไม่มีวันสิ้นสุด แถมบางครั้งการทำงานในบางตำแหน่งที่สูงขึ้น อาจต้องใช้วุฒิการศึกษาที่สูงตามไปด้วย บริษัทจึงเข้าใจได้ว่าพนักงงานต้องการพัฒนาตัวเอง และมีความมุ่งมั่นใจที่ค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติมเพื่อการเติบโตในสายงาน 

6. สไตล์การทำงานไม่ตรงกับหัวหน้าหรือเพื่อนร่วมทีม

ปัญหาสุดคลาสสิกที่สามารถเจอได้ในทุกออฟฟิศ หากจะว่าไปแล้ว เรื่องของคนก็ถือเป็นหนึ่งเหตุผลหลักลำดับต้น ๆ ที่มนุษย์เงินเดือนอยากลาออกเพื่อหนีปัญหานี้ เหตุผลนี้ค่อนข้างต้องระมัดระวังและใช้เหตุผลที่เหมาะสมมากพอเพื่อไม่ให้เกิดผิดใจกัน 

7. ต้องใช้เวลาดูแลครอบครัว

ครอบครัว ถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิต ดังนั้นหากในครอบครัวมีเราแค่คนเดียวที่สามารถทำหน้าที่นั้นได้ หรือสามารถออกจากงานเพื่อไปปฏิบัติหน้าที่ในการดูแลคนในครอบครัวได้ ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ ญาติผู้ใหญ่ หรือการออกจากงานเพื่อเป็นแม่บ้านเต็มตัวและดูแลลูก ดังนั้นเหตุผลข้อนี้จึงมีความสมเหตุสมผลในการลาออก

เหตุผล? ที่ทำให้คนรุ่นใหม่ ตัดสินใจ \'ลาออก\'จากงาน

8. ต้องย้ายกลับต่างจังหวัด

สำหรับคนที่มีภูมิลำเนาอยู่ต่างถิ่นกับออฟฟิศ เช่นคนที่อยู่จังหวัดอื่น แต่มาทำงานในกรุงเทพฯ ก็อาจแจ้งเหตุผลในการลาออกได้ว่า มีเหตุผลทางครอบครัวหรือเหตุผลส่วนตัวอื่น ๆ ที่ต้องย้ายไปกลับอยู่ที่ถิ่นฐานบ้านเกิด  ฉะนั้นแล้วการย้ายที่อยู่จึงเป็นเหตุผลในการลาออกที่เหมาะสม

9. ประสบกับปัญหาสุขภาพ

เรื่องโรคภัยไข้เจ็บก็ถือเป็นสิ่งที่ไม่สามารถกำหนดได้เช่นกัน ยิ่งในยุคนี้ที่โรคภัยใหม่ ๆ อุบัติขึ้นมากมาย การใช้เหตุผลนี้จึงถือว่าเหมาะสม โดยโรคที่ใช้เป็นเหตุผลควรมีความสมเหตุสมผล ที่สามารถนำมาประกอบเหตุผลในการลาออกได้ 

10. ต้องไปรับช่วงต่อในการดูแลธุรกิจของครอบครัว

บางครอบครัวก็เป็นครอบครัวที่มีกิจการเป็นของตัวเองอยู่แล้ว และมักจะให้ลูกออกไปหาประสบการณ์ในการทำงานจากการทำงานในองค์กรสักระยะ เพื่อตักตวงความรู้และทักษะต่าง ๆ แล้วกลับมาปรับใช้กับธุรกิจของครอบครัว เมื่อถึงเวลาหนึ่งลูก ๆ จึงต้องกลับไปดูแลกิจการของที่บ้านต่อ จึงสามารถใช้เป็นเหตุผลในการลาออกได้

11. มีเป้าหมายในชีวิตที่ต่างจากองค์กร

คนที่ทำงานไปสักระยะ ก็มักจะได้เรียนรู้ถึงเป้าหมายขององค์กรได้มากขึ้น หากสุดท้ายแล้วเป้าหมายของตัวเราเองไม่ตรงกับสิ่งที่องค์กรตั้งไว้ ก็ไม่ใช่เรื่องผิดที่จะมองหาเป้าหมายใหม่ของตัวเอง เพราะอย่างไรเสียเป้าหมายขององค์กรก็เป็นสิ่งที่ตั้งไว้มานานและยากที่จะเปลี่ยนแปลง การจะรั้งพนักงานไว้ ก็อาจจะเป็นการเสียเวลาทั้งสองฝ่าย 

12.อยากเริ่มต้นธุรกิจของตัวเอง

บางคนเมื่อทำงานเก็บเงินไปสักระยะ อาจรู้สึกว่าอิ่มตัวกับงานในระบบบริษัท เบื่อกับการเป็นลูกน้องและอยากออกมาเป็นเจ้านายตัวเอง ด้วยการเริ่มต้นธุรกิจสักอย่างของตัวเองอย่างจริงจัง อีกทั้งยุคนี้ที่หลายคนหันมาค้าขายออนไลน์กันมากขึ้น การเริ่มธุรกิจของตัวเองจึงถือเป็นการลาออกจากงานที่สมหตุสมผลอีกข้อหนึ่ง

13. เวลาทำงานส่งผลต่อชีวิตประจำวัน

เหตุผลนี้เหมาะสำหรับคนที่ทำงานเป็นกะหรือต้องทำงานล่วงเวลาบ่อย ๆ เช่น บางคนต้องเข้ากะดึก หรือเลิกงานดึกมาก ๆ ก็อาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตรวมไปถึงเรื่องสุขภาพได้ จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้หลายคนตัดสินใจลาออกจากงาน เพื่อหางานใหม่ที่มีเวลาทำงานแบบปกติ ข้อนี้จึงสามารถใช้ในการแจ้งลาออกแก่องค์กรได้ 

14. ไม่สะดวกในการเดินทาง

เรื่องของการเดินทางอาจใช้เป็นข้ออ้างได้ยาก เพราะตอนเริ่มต้นทำงานทางบริษัทจะระบุสถานที่ตั้งของออฟฟิศไว้ให้อยู่แล้ว แต่กรณีที่ออฟฟิศซึ่งเคยทำงานแบบ work from home  มาก่อน และจ้างพนักงานที่ทำงานแบบ remote work ทำให้พนักงานทำงานจากที่ไหนก็ได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงระยะทางในการเดินทางเข้าออฟฟิศ แต่หลังจากมีการเปลี่ยนนโยบายให้เข้าออฟฟิศ จึงทำให้เดินทางไม่สะดวก จุดนี้สามารถใช้เป็นเหตุผลในการลาออกได้

15. เริ่มต้นชีวิตครอบครัวกับชาวต่างประเทศ

หลายคนที่แต่งงานและมีครอบครัวแล้ว นอกจากเรื่องลูกที่ต้องดูแล อาจมีการตกลงกันในครอบครัวเพื่อย้ายถิ่นฐานไปอาศัยในต่างประเทศ หรือสามีจำเป็นต้องย้ายไปประจำการทำงานในต่างประเทศ ทำให้จำเป็นต้องลาออกจากงานในประเทศไทย ข้อนี้จึงถือเป็นอีกเหตุผลที่สามารถแจ้งได้โดยตรง 

เหตุผล? ที่ทำให้คนรุ่นใหม่ ตัดสินใจ \'ลาออก\'จากงาน

16. ต้องออกไปเลี้ยงลูก

ผู้หญิงหลายคนเมื่อแต่งงาน สร้างครอบครัว และมีลูกแล้ว อาจจะพูดคุยกับคนในครอบครัวเพื่อออกมาทำหน้าที่แม่บ้านและเลี้ยงลูก รวมถึงไปรับส่งลูกที่โรงเรียน โดยเฉพาะผู้ที่มีลูกมากกว่า 1 คนขึ้นไป อีกทั้งไม่มีใครช่วยดูแล ข้อนี้ก็เป็นเหตุผลที่สามารถใช้แจ้งลาออกได้

17. วางแผนไปทำงานต่างประเทศ

การไปทำงานในต่างประเทศ ถือเป็นอีกหนึ่งกระแสที่มาแรงในยุคนี้ สำหรับการหาโอกาสใหม่ ๆ ให้ชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของคุณภาพชีวิตหรือการฝึกภาษา รวมทั้งการเรียนรู้วัฒนธรรมใหม่ ๆ ที่บางครั้งการทำงานในประเทศอาจไม่ตอบโจทย์ 

18. อยากไปทำตามความฝันของตัวเอง

บางครั้งเรื่องของการทำงานและเรื่องความฝัน อาจไม่ได้มาคู่กันเสมอไป งานแรกที่หลายคนทำอาจไม่ใช่สิ่งที่ตรงใจ แต่ต้องทำไปก่อนเพื่อรายได้ของตัวเอง แต่สุดท้ายแล้วบางคนอาจฝันอยากเป็นแอร์โฮสเตส เชฟ นักร้อง หรือนักแสดง เมื่อมีโอกาสเหล่านี้เข้ามา หลายคนจึงตัดสินใจลาออกจากงานที่ทำอยู่แล้วเลือกอาชีพในฝันเฟล่านั้นแทน

19. อยากเกษียณอายุตัวเองก่อนกำหนด

เหตุผลนี้อาจเหมาะกับคนที่ทำงานมาเป็นเวลานานแล้ว ซึ่งในปัจจุบันก็มีคนจำนวนมากที่อยากเกษียณตัวเองเพื่อออกมาใช้ชีวิตก่อนอายุ 55 ปีหรือ 60 ปี โดยอาจมีเหตุผลส่วนตัวอื่น ๆ ประกอบด้วย 

20. ได้งานใหม่

ปิดท้ายด้วยเหตุผลที่ง่ายและคลาสสิกสุด ๆ อีกหนึ่งข้อ นั่นก็คือการแจ้งเหตุผลที่ออกจากงานไปตรง ๆ ว่าได้งานใหม่ ไม่ต้องกลัวว่าจะผิดใจกัน เพราะเป็นเหตุผลที่เกิดขึ้นได้และเป็นเรื่องปกติ หากมีการถามข้อมูลเพิ่มเติมก็สามารถแจ้งได้ตามจริงเท่าที่เราอยากจะแจ้ง ทั้งนี้อาจะเสริมด้วยเหตุผลอื่นด้วย เช่น การได้งานในตำแหน่งที่ต้องการและที่เก่าไม่มีตำแหน่งนี้ ฯลฯ

เหตุผลอะไรที่ไม่ควรใช้ เมื่อจะลาออก 

สำหรับเหตุผลการลาออกจากที่ทำงานเก่า ที่ควรใช้

  • การปรับลดพนักงงานขององค์กร เนื่องจากผลกระทบทางเศรษฐกิจ 
  • บริษัทเก่าปิดกิจการ
  • ที่ทำงานเก่าไกลบ้าน เลยเลือกสมัครงานที่นี่ เพราะใกล้บ้านมากขึ้น
  • ที่ทำงานใหม่ตอบโจทย์เรื่องการทำงานที่ยืดหยุ่นมากขึ้น
  • อยากเพิ่มก้าวหน้าในสายอาชีพของตัวเอง หรือความท้าทายในการรับตำแหน่งที่สูงขึ้น
  • อยากลองทำงานในสายอาชีพใหม่ ที่ตนเองมีความถนัดในด้านนี้เช่นกัน

เหตุผลการลาออกจากที่ทำงานเก่า ที่ไม่ควรใช้

  • มีปัญหาเรื่องคนหรือเข้ากับหัวหน้าที่ทำงานเก่าไม่ได้
  • อยากได้เงินเดือนมากขึ้น เพราะบริษัทใหม่อาจมองว่าคุณหวังเรื่องเงิน มากกว่าความก้าวหน้าทางอาชีพ
  • ไม่พอใจในบริษัทเก่า หรือพูดถึงบริษัทเก่าแง่ลบ ตอนสัมภาษณ์งานใหม่
  • งานที่บริษัทเก่าเยอะเกินไป หรือมีการจัดการเรื่องงานที่ไม่เหมาะสม

สิ่งที่ผู้สัมภาษณ์งานใหม่ควรคำนึก 

เมื่อลาออกจากงาน หลายคนอาจต้องไปสัมภาษณ์งานใหม่ โดยสิ่งที่ผู้ไปสัมภาษณ์งานใหม่ควรคำนึงมีดังนี้ 

  • ตอบเหตุผลที่เราเลือกมาสมัครกับองค์กรนี้ โดยยกแง่มุมในการทำงานขององค์กรที่ทำให้เราอยากทำงานด้วยแบบเฉพาะเจาะจง 
  • เน้นย้ำถึงประสบการณ์และทักษะที่เราได้รับมา 
  • แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของตัวเราที่ทำให้เราเหนือกว่า Candidate คนอื่นๆ
  • เลี่ยงการแชร์ข้อมูลที่เป็นส่วนตัวมากจนเกินไป 
  • ไม่พูดถึงด้านลบขององค์กรเดิม หรือเพื่อนร่วมงานในบริษัทเดิม
  • ให้ข้อมูลหรือเหตุผลที่เป็นบวกเข้าไว้

อย่างไรก็ตาม การลาออกจากงานไม่ใช่เรื่องแปลกและไม่ใช่สิ่งที่ต้องกังวล แต่เรื่องสำคัญคือการให้เหตุผลที่ดี เหมาะสม และควรเป็นไปในทางที่ไม่กระทบกับที่เก่าหรือภาพลักษณ์ของตนเอง ที่สำคัญไม่ควรพูดแง่ลบถึงบริษัทเก่า ควรเน้นเหตุผลจำเป็นหรือความก้าวหน้าส่วนบุคคล

อ้างอิง : JobsDB  , indeedthebalancemoney ,thegrowthmaster