'ล้างหนี้กยศ.'...เหตุใด? จากหนี้เพื่อการศึกษากลายเป็น ‘หนี้ครัวเรือน’

'ล้างหนี้กยศ.'...เหตุใด? จากหนี้เพื่อการศึกษากลายเป็น ‘หนี้ครัวเรือน’

‘หนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา’ หรือ ‘หนี้กยศ.’ กลายเป็นหนึ่งหนี้ครัวเรือนสูงที่ทางรัฐบาลชุด นายกเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ต้องการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน เพราะขณะนี้หนี้ครัวเรือนสูงเกิน 90% ของจีดีพี

Keypoint:

  • 'หนี้ กยศ.'ถือว่าเป็นประเด็นที่มีข้อเรียกร้องให้กลับมาใช้หนี้กยศ. เพื่อส่งต่อให้รุ่นน้องได้มีโอกาสทางการศึกษาเช่นเดียวกัน ทว่าส่วนใหญ่มักจะไม่ใช้หนี้ เปล่าเป็นหนี้สูญเปล่า
  • หนี้กยศ. กลายเป็นหนี้ครัวเรือน ซึ่งไม่ใช่เป็นเรื่องของบุคคล รัฐบาลชุดนายกฯเศรษฐา ทวีสิน เร่งแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน โดยจะช่วยผู้กู้กยศ. เพื่อปรับลดมากกว่า 50% จากยอดหนี้ 1 ล้านล้านบาท ของจำนวนลูกหนี้ 3.8 ล้านคน
  • กองทุนกยศ.ให้นักเรียน นักศึกษากู้ยืมไปแล้ว 6.5 ล้านราย เป็นเงินกว่า 734,127 ล้านบาท  ปัจจุบันกองทุนได้รับชำระเงินคืนจำนวน 25,719 ล้านบาท

หนี้ครัวเรือน’ คือ เงินที่สถาบันการเงินให้กู้ยืมแก่บุคคลธรรมดา ที่มีถิ่นที่อยู่ภายในประเทศ โดยบุคคลธรรมดานั้น อาจนำเงินที่กู้ยืมไปใช้จ่ายต่าง ๆ หรือเพื่อประกอบธุรกิจ ซึ่งการที่หนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้น ส่วนหนึ่งเกิดจากปัญหาเศรษฐกิจ โดยมักจะสูงขึ้นเมื่อมี ‘ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ’ หรือเป็น ‘ช่วงที่ประสบปัญหาการว่างงานหรือรายรับลดลงในครัวเรือน’ สะท้อนว่า หนี้ครัวเรือน ไม่ใช่ปัญหาระดับครัวเรือนเท่านั้น

และในวันนี้ (14 พ.ย.2566) กระทรวงการคลังจะหารือกับสภาตลาดทุนไทย  และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ปัญหาหนี้กยศ. และหนี้ครัวเรือน

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ฯ แถลงภาวะสังคมไทยไตรมาสที่ 2/2566 พบว่า หนี้ครัวเรือนในไตรมาสหนึ่ง ปี 2566 ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.6 ขณะที่คุณภาพสินเชื่อภาพรวมของธนาคารพาณิชย์ปรับตัวลดลงเล็กน้อย แต่ความเสี่ยงในการเป็นหนี้เสียของสินเชื่อยานยนต์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

พ.ร.บ.กยศ.ลดเบี้ยปรับเหลือ 0.5% มีผลบังคับใช้แล้ว

'หนี้ กยศ.' เปิดหลักเกณฑ์จ่ายหนี้ ถ้าไม่จ่ายจะโดนค่าปรับ และโดนฟ้องร้อง!

 

ล้างหนี้กยศ. เท่ากับลดหนี้ครัวเรือนจริงหรือ?

“ไตรมาสหนึ่ง ปี 2566 หนี้สินครัวเรือนมีมูลค่า 15.96 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.6 คงที่เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา ขณะที่สัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อ จีดีพี อยู่ที่ร้อยละ 90.6 ชะลอตัวเล็กน้อยจากไตรมาสก่อน”

ทั้งนี้ สำหรับกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เป็นกองทุนหมุนเวียนที่มุ่งสร้างโอกาสทางการศึกษา โดยการสนับสนุนค่าเล่าเรียน ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษา และค่าครองชีพ ให้กับนักเรียนและนักศึกษาที่มีความจำเป็น โดยไม่คิดดอกเบี้ยระหว่างที่ศึกษาอยู่ แต่ต้องชำระเงินคืนหลังจากจบการศึกษาแล้ว เหมาะสำหรับผู้ที่มีทุนทรัพย์ไม่มาก

ขณะเดียวกัน หากพิจารณาการก่อหนี้ครัวเรือน  พบว่า ครัวเรือนมีการก่อหนี้เพื่ออสังหาริมทรัพย์ และอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลเพิ่มขึ้น ด้านความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนภาพรวมลดลงเล็กน้อย โดยหนี้ NPLs มีมูลค่า 1.44 แสนล้านบาท หรือมีสัดส่วน NPLs ต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ร้อยละ 2.68 เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.62 ของไตรมาสก่อน

\'ล้างหนี้กยศ.\'...เหตุใด? จากหนี้เพื่อการศึกษากลายเป็น ‘หนี้ครัวเรือน’

ส่วนหนี้กยศ. ซึ่งเป็นหนึ่งในปัญหาหนี้ครัวเรือน เช่นเดียวกับ หนี้ครู หนี้ตำรวจ และเพื่อแบ่งเบาภาระหนี้สินเหล่านี้ ล่าสุด ‘นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี’  กล่าวว่า ในวันนี้ (14 พ.ย.2566) จะมีความชัดเจนของแนวทางกระตุ้นเศรษฐกิจ 2 เรื่อง คือ

แนวทางที่ 1  รัฐบาลจะประกาศข่าวดีเกี่ยวกับมาตรการแก้หนี้ครัวเรือน ผู้ที่มีหนี้ในกองทุนเงินให้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) จะได้รับการปรับหนี้ให้เป็นไปตามข้อกำหนดในพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2566 ที่มีผลบังคับใช้ไปเมื่อวันที่ 20 มี.ค.2566 ปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ไม่เกิน 1% ต่อปี กรณีผิดนัดชำระจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยเหลือไม่เกิน 0.5% ต่อปี และไม่ต้องมีผู้ค้ำประกัน

 

ผู้กู้กยศ.กว่า 6 ล้านคน ชำระหนี้อยู่ร้อยละ 53 

“เราจะทำให้เห็นผลตามกฎหมาย ซึ่งจะทำให้หนี้เฉพาะในส่วนของ กยศ.ปรับลดมากกว่า 50% จากยอดหนี้ 1 ล้านล้านบาท ของจำนวนลูกหนี้ 3.8 ล้านคน” นายกิตติรัตน์ กล่าว

ทั้งนี้ สถิติข้อมูล กยศ. วันที่ 30 ก.ย.2566 มีจำนวนผู้กู้กยศ. ทั้งหมด 6,739,085ราย แบ่งเป็น ผู้ที่อยู่ระหว่างการชำระหนี้ 3,537,022 ราย หรือ ร้อยละ 53 อยู่ในช่วงปลอดหนี้ 1,299,490 ราย ร้อยละ 19 ชำระหนี้เสร็จสิ้น 1,830,978 ราย ร้อยละ 27% และเสียชีวิต/ทุพพลภาพ 71,595 ราย ร้อยละ 1

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน กยศ.ได้มีการขยายกรอบวงเงินให้กู้ยืมปีการศึกษา 2566 จากเดิมที่กำหนดไว้ 40,790 ล้านบาท เป็นจำนวน 46,168 ล้านบาท เพื่อรองรับผู้ขอกู้ยืมที่เพิ่มขึ้น และเตรียมนำร่องการกู้ยืมหลักสูตรอาชีพระยะสั้น (Reskill Upskill)  เพื่อขยายโอกาสทางการศึกษาตาม พ.ร.บ. กยศ. ฉบับใหม่

โดยในปีนี้มีผลการรับชำระหนี้ 25,719 ล้านบาท (ยอด ณ วันที่ 12 ก.ย. 66) และกองทุนเตรียมทำสัญญาระงับข้อพิพาทก่อนฟ้องและสัญญาปรับโครงสร้างหนี้สำหรับลูกหนี้ก่อนฟ้องและหลังฟ้องทุกกลุ่มในปลายปี 2566 นี้

\'ล้างหนี้กยศ.\'...เหตุใด? จากหนี้เพื่อการศึกษากลายเป็น ‘หนี้ครัวเรือน’

นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ได้เปิดเผยว่าขณะนี้ คณะกรรมการกองทุนได้มีมติอนุมัติขยายกรอบการให้กู้ยืมในปีการศึกษา 2566 จากเดิมที่กำหนดไว้ 40,790 ล้านบาท เป็นจำนวนเงิน 46,168 ล้านบาท เพื่อรองรับนักเรียน นักศึกษาผู้กู้ยืมจากเดิม 643,256 ราย เนื่องจากมีจำนวนผู้ยื่นขอกู้ยืมเพิ่มขึ้นมากกว่าที่ประมาณการไว้กว่า 117,000 ราย รวมจำนวนผู้กู้ยืมทั้งสิ้น 760,256 ราย และเพื่อเป็นการช่วยเหลือนักเรียน นักศึกษาและผู้ปกครองที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ

ตลอดปีที่ผ่านมา กองทุนได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้ค้างชำระของผู้กู้ยืมอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ กฎหมายที่ได้แก้ไขใหม่ได้กำหนดให้กองทุนคิดอัตราดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 1 ต่อปี อัตราเบี้ยปรับกรณีผิดนัดชำระไม่เกินร้อยละ 0.5 ต่อปี ไม่ต้องมีผู้ค้ำประกันในทุกกรณี ปรับลำดับการตัดชำระหนี้ใหม่โดยหักจากเงินต้น ดอกเบี้ย และเบี้ยปรับตามลำดับ

รวมถึงผู้กู้ยืมสามารถขอปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อขยายระยะเวลาผ่อนชำระหนี้ได้ตามเงื่อนไขที่กองทุนกำหนด สำหรับการปรับโครงสร้างหนี้ตาม พ.ร.บ. กยศ. ใหม่ กองทุนคาดว่าจะเปิดทำสัญญาระงับข้อพิพาทก่อนฟ้องและสัญญาปรับโครงสร้างหนี้สำหรับลูกหนี้ก่อนฟ้องและหลังฟ้องทุกกลุ่มเข้ามาดำเนินการได้ในช่วงปลายปีนี้ และจะปลดภาระผู้ค้ำประกันเมื่อผู้กู้ยืมเงินได้ทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้แล้วเสร็จ

เร่งปรับโครงสร้างหนี้สินกยศ.

ปัจจุบัน กองทุนได้ให้โอกาสแก่นักเรียน นักศึกษาทั่วประเทศไปแล้วทั้งสิ้น 6.5 ล้านราย เป็นเงิน ให้กู้ยืมกว่า 734,127 ล้านบาท สำหรับภาพรวมการรับชำระหนี้ในปีนี้ กองทุนได้รับชำระเงินคืนจำนวน 25,719 ล้านบาท

จากการประชุมคณะทำงานคณะทำงานการปรับโครงสร้างหนี้สินรวมถึงการบังคับคดีเพื่อช่วยเหลือประชาชนให้ได้รับความเป็นธรรมและให้เป็นไปตามกฎหมาย โดยมี นายสมบูรณ์ ม่วงกล่ำ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะประธานคณะทำงาน เมื่อวันที่  11 พ.ย.2566 ที่ผ่านมา ได้ข้อสรุปร่วมกัน ดังนี้

1. กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาจะคำนวณภาระหนี้ตามพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืม เพื่อการศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2566 ในคดีที่ขายทอดตลาดได้ ตั้งแต่วันที่ 20 มี.ค.66 และคดีที่มีการอายัดเงินไว้แต่ยังไม่ได้ทำบัญชีแสดงรายการรับ-จ่ายเงิน และส่งให้กรมบังคับคดีภายในเดือน ธ.ค.66 เนื่องจากการคิดหนี้ตามพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2566 จะทำให้ภาระหนี้ของลูกหนี้ลดลง โดยกรมบังคับคดีจะส่งข้อมูลคดีกลุ่มดังกล่าวให้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา

2. กรณีที่ลูกหนี้กองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาได้ปิดบัญชีตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 2566 ซึ่งเป็นวันที่กฎหมายมีผลบังคับใช้ หากมีกรณีลูกหนี้ชำระเกินไปกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาจะคืนเงินส่วนที่ชำระเกินแก่ลูกหนี้

\'ล้างหนี้กยศ.\'...เหตุใด? จากหนี้เพื่อการศึกษากลายเป็น ‘หนี้ครัวเรือน’

3. ในการพัฒนาโปรแกรมการคำนวณหนี้ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาจะหาหน่วยงานมาช่วยพัฒนาเพื่อให้โปรแกรมเสร็จโดยเร็ว

4. กรมบังคับคดีและกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาพร้อมอำนวยความสะดวกให้ลูกหนี้ โดยลูกหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาสามารถยื่นหนังสือยินยอมให้การงดการบังคับคดีและลงทะเบียนเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ที่ทุกสำนักงานทั่วประเทศของกรมบังคับคดีและที่กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา

ย้ำมาตรการลดหย่อนชำระหนี้กยศ.ในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม มาตรการลดหย่อนการชำระหนี้ กยศ.มีการเปลี่ยนแปลงบ่อยครั้ง เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ โดยล่าสุด จะมีการดำเนินการคือ

  • การลดดอกเบี้ยเงินกู้ยืมจากเดิมร้อยละ 1 ต่อปี เหลือร้อยละ 0.01 ต่อปี สำหรับผู้กู้ยืมเงินที่อยู่ระหว่างการชำระเงินคืนกองทุนและไม่เคยเป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้
  • ลดเงินต้นร้อยละ 5 สำหรับผู้กู้ยืมเงินที่ไม่เคยเป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้และต้องการปิดบัญชีในคราวเดียว
  • การลดเบี้ยปรับร้อยละ 100 สำหรับผู้กู้ยืมเงินทุกกลุ่มที่ชำระหนี้ปิดบัญชี โดยแยกเป็น ผู้กู้ยืมเงินที่ยังไม่ถูกดำเนินคดี สามารถชำระได้ที่ธนาคารกรุงไทยและธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยทุกสาขา

ส่วนผู้กู้ยืมเงินที่ถูกดำเนินคดีแล้ว ต้องลงทะเบียนขอรับสิทธิและนัดหมายวันที่ประสงค์จะชำระหนี้ปิดบัญชีได้  เนื่องจากมีขั้นตอนที่ผู้กู้ยืมกยศ.ต้องชำระค่าทนายความและค่าฤชาธรรมเนียมศาลให้เสร็จสิ้นก่อนปิดบัญชี และลดเบี้ยปรับร้อยละ 80 สำหรับผู้กู้ยืมเงินที่ยังไม่ถูกดำเนินคดีที่ชำระหนี้ค้างทั้งหมดให้มีสถานะปกติ

\'ล้างหนี้กยศ.\'...เหตุใด? จากหนี้เพื่อการศึกษากลายเป็น ‘หนี้ครัวเรือน’

ล้างหนี้กยศ. ก่อนถูกบังคับคดี

ตามที่กระทรวงยุติธรรม ได้กำหนดโครงการ Quick Win ของแต่ละหน่วยงานในกระทรวงยุติธรรม โดยกรมบังคับคดีดำเนินการในเรื่อง การบังคับคดีเชิงรุก แก้ไขปัญหาหนี้สิน พัฒนากลไกการบังคับใช้กฎหมายในคดีแพ่งผ่านการทำงานของกรมบังคับคดี ซึ่งการแก้ไขปัญหาหนี้ ก.ย.ศ.เป็นหนึ่งในภารกิจของกรมบังคับคดี ที่ต้องเร่งดำเนินการ เนื่องจาก พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 2566 นั้น มีผลต่อการดำเนินงานของกรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม เกี่ยวกับการบังคับคดีลูกหนี้ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ที่อยู่ในบังคับคดี

เนื่องจาก พ.ร.บ.ดังกล่าวบัญญัติให้ กองทุนฯ อาจผ่อนผันการชำระหนี้ ระยะเวลาการลดหย่อนหนี้ การชำระคืน ตลอดจนการปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้ และมีผลต่อลูกหนี้ที่อยู่ระหว่างการดำเนินคดี หรือมีคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุด หรืออยู่ในระหว่างการบังคับคดี ตามมาตรา 44 พ.ร.บ.กองทุนฯ (ฉบับที่ 2) โดยหลักเกณฑ์ดังกล่าวคณะกรรมการ กองทุนกยศ. ต้องออกหลักเกณฑ์กำหนด และอยู่ระหว่างดำเนินการของกองทุนฯ

กรมบังคับคดีมีลูกหนี้กยศ.ที่อยู่ระหว่างการบังคับคดีในปัจจุบันเป็นจำนวน 46,004 คดี ทุนทรัพย์ 6,633,172,319.77   บาท แบ่งเป็น

  • คดียึดทรัพย์ จำนวน  22,322 คดี ทุนทรัพย์ 3,156,435,215.75  บาท
  • คดีอายัด จำนวน 23,692  คดี ทุนทรัพย์ 3,476,172,319.77  บาท

\'ล้างหนี้กยศ.\'...เหตุใด? จากหนี้เพื่อการศึกษากลายเป็น ‘หนี้ครัวเรือน’

ทั้งนี้ ลูกหนี้ดังกล่าวต้องได้รับประโยชน์จาก พ.ร.บ. กองทุน กยศ. (ฉบับที่ 2) ด้วยโดยการหักชำระหนี้ต้องนำเงินที่ชำระไปหักต้นเงินเฉพาะส่วนที่ครบกำหนดก่อน ในส่วนของเบี้ยปรับที่ลดลงเหลือ 0.5 ต่อปี และดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 1 ต่อปี (ตาม พ.ร.บ.กองทุนกยศ. ฉบับเดิม คิดอัตราเบี้ยปรับไม่เกินร้อยละ 7.5  ต่อปี คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 1 ต่อปี) ตลอดจนการหลุดพ้นของผู้ค้ำประกัน กรมบังคับคดีจึงได้เร่งดำเนินการเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ กองทุนฯ ตาม พ.ร.บ.กองทุน กยศ. (ฉบับที่ 2) และเป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ดังนี้

1.คดีที่อยู่ระหว่างประกาศขายทอดตลาดและกองทุนฯ ได้มีหนังสือแจ้งต่อกรมบังคับคดีของดการบังคับคดี ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีงดการขายทอดตลาดไว้ และมีหนังสือแจ้งให้ลูกหนี้ และผู้มีส่วนได้เสียให้ความยินยอมในการงดการบังคับคดี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

2.คดีที่อายัดทรัพย์สิน ให้รอการทำบัญชีแสดงรายการรับ - จ่ายเงินไว้ก่อน และกรมบังคับคดีได้แจ้งให้ กองทุน กยศ.ตรวจสอบและแจ้งยอดหนี้ เพื่อให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.กองทุน กยศ. (ฉบับที่ 2) 

3.คดีที่มีการขายทอดตลาด หรืออายัดทรัพย์สินของลูกหนี้ หรือผู้ค้ำประกันไปแล้วทั้งก่อนและหลังวันที่ 20 มีนาคม 2566 กรมบังคับคดีได้ชะลอการจัดทำบัญชีแสดงรายการรับ - จ่ายไว้ก่อน และขอให้กองทุน ฯ เร่งตรวจสอบยอดหนี้ตาม พ.ร.บ.กองทุนฯ (ฉบับที่ 2) ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับลูกหนี้ในเรื่องอัตราดอกเบี้ย และเบี้ยปรับตามที่กำหนดไว้ในคำพิพากษา 

 4.การดำเนินการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ระหว่างกองทุนฯ กับลูกหนี้ เมื่อได้ทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้แล้วจะมีผลให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากหนี้ และงดการบังคับคดีตามสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ 

 5.ในกรณีที่กองทุนฯ จำเป็นต้องบังคับคดีเนื่องจากจะพ้นระยะเวลาการบังคับคดี และลูกหนี้ยังไม่ได้ทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้กับกองทุนฯ ก่อนการบังคับคดีกองทุนฯ ต้องแถลงภาระหนี้ตาม พ.ร.บ.กองทุนฯ (ฉบับที่ 2)