เหลือบสีใต้แสงธรรมชาติ การถ่ายทอดผัสสะของดอกไม้ โดยพันธุ์ศักดิ์ จักกะพาก พฤกษศิลปินระดับโลก

เหลือบสีใต้แสงธรรมชาติ การถ่ายทอดผัสสะของดอกไม้ โดยพันธุ์ศักดิ์ จักกะพาก พฤกษศิลปินระดับโลก

ยิ่งกว่าความเหมือนจริง ภาพเขียนแนวพฤกษศาสตร์ของพันธุ์ศักดิ์ จักกะพาก มีสัมผัสแห่งชีวิต ซึ่งมาจากการซึบซับประสบการณ์และถ่ายทอดออกมาอย่างตาเห็น

 

 

พฤกษศิลป์ หรือภาพเขียนทางพฤกษศาสตร์ (Botanical Art) คือการเขียนภาพแบบเก็บรายละเอียดของพืชพันธุ์ไม้อย่างถูกต้อง มีกำเนิดมาเป็นพันปีแล้ว จากการที่สมัยโบราณไม่มีกล้องถ่ายภาพ เมื่อมีการศึกษาและทำบันทึกพืชพันธุ์ ก็ต้องมีการวาดภาพประกอบให้เห็นโครงสร้างและรายละเอียดที่แม่นยำชัดเจน

เป็นสาขาใกล้เคียงกับ Science Art Illustration ที่ศิลปะที่บันทึกภาพธรรมชาติต่างๆ ไม่จำกัดว่าเป็นพืชหรือสัตว์ แม้ว่าจะมีกล้องบันทึกภาพได้คมชัด แต่การเขียนแนวพฤกษศาสตร์ก็ยังคงมีความสำคัญเชิงศิลปะ และเป็นสาขาเฉพาะที่มีผู้ชื่นชอบมากมาย เพราะเราก็หลงรักธรรมชาติและดอกไม้กันได้ไม่ยากอยู่แล้ว

ในต่างประเทศมีทั้งสมาคม การเรียนการสอน และพิพิธภัณฑ์ที่จัดเก็บคอลเลคชั่นงานพฤกษศิลป์นี้ไว้อย่างดี ในไทยก็มีการเรียนด้านนี้แล้วเช่นกัน แต่เน้นไปที่ Science Art มากกว่า รวมถึงกลุ่มชมรมที่สนใจแนวทางเดียวกัน ร่วมแบ่งปันความรู้และทักษะการวาดภาพแนวนี้

พันธุ์ศักดิ์ จักกะพาก

แต่สำหรับศิลปินแนวพฤกษศิลป์ที่เป็นที่รู้จักกันดีที่สุดในไทยและมีฝีมือเทียบชั้นระดับโลก ก็ต้องยกให้กับอาจารย์พันธุ์ศักดิ์ จักกะพาก ผู้ที่สามารถเก็บรายละเอียดของดอกไม้ ผลไม้ กิ่งก้านใบได้ครบถ้วนสัดส่วนถูกต้อง แต่ยิ่งไปกว่านั้นคือลักษณะเฉพาะทางธรรมชาติของแต่ละพืชพันธุ์ไม่ว่าจะเป็นกลีบดอกบางเบา หรือสีขาวนุ่มนวลก็สามารถถ่ายทอดออกมาได้อย่างน่าทึ่ง ยิ่งไปกว่านั้น ภาพวาดที่สมจริงนี้ยังถูกวาดขึ้นโดยไม่ต้องใช้ดินสอร่างภาพเลย

เขียนจากธรรมชาติ ไม่ร่างภาพ

ศิษย์เก่าจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยผู้ไม่เคยเรียนสีน้ำ เขียนสีน้ำขึ้นมาเองจากความชอบ จุดเริ่มต้นอยู่ที่ร้าน Water Lily Café ที่ซานฟรานซิสโกที่อาจารย์พันธุ์ศักดิ์เปิดร่วมกับเพื่อนหุ้นส่วน

“ตอนนั้นประมาณปี 1981 ก็คิดว่าควรเขียนรูปติดร้าน จึงเขียนรูปดอกบัวสายขึ้นมา แม้ไม่ได้เรียนโดยตรง แต่ก็เขียน ต่อมาร้านก็เลิกไป ผมกลับมาเมืองไทย ก็ได้นำสไลด์และรูปจริงมารูปหนึ่งมาให้อาจารย์จักรพันธุ์ดู (จักรพันธุ์ โปษยกฤต) ท่านรู้ว่าเขียนสีน้ำเป็น ช่วงนั้นผมออกจากงานโฆษณาไปช่วยงานที่บ้านท่าน บ่ายวันหนึ่งมีคนเอาดอกไม้มาให้ท่าน ท่านจัดใส่แจกันแล้วก็บอกให้ผมเขียนรูปซิ ผมก็เขียน รุ่งขึ้น อาจารย์บอกว่าไม่ต้องไปทำอย่างอื่นเขียนรูปสีน้ำดอกไม้นี่แหละ ชีวิตผมก็เริ่มตั้งแต่ตอนนั้น”

พวงคราม-อุนากรรณ ภาพแรกที่เป็นจุดเริ่มต้น

พวงคราม – อุนากรรณ

รูปดอกพวงคราม – อุนากรรณ คือภาพเขียนสีน้ำรูปดอกไม้รูปแรกที่อาจารย์จักรพันธุ์พิจารณาแล้วแนะนำแนวทางให้

“ท่านบอกผม 2 ข้อ ผมก็ปฏิบัติมาจนปัจจุบัน คือให้ผมลองเขียนโดยไม่ต้องร่าง และเขียนโดยไม่ต้องลงแบ็คกราวนด์ (พื้นหลัง) ผมก็ทำอย่างนั้นมาโดยตลอด ทุกรูปที่ผมเขียน ผมก็จะให้อาจารย์ดู ท่านก็จะติ ตอนเพิ่งเริ่มมีแต่ข้อติ ข้อบกพร่องเรามีตรงไหน ตรงไหนดีท่านก็ให้ทำต่อ ตรงไหนไม่ดีก็อย่าทำ อย่าเขียนกลางคืน อย่าเขียนจากรูปถ่าย ทุกสิ่งทุกอย่างท่านจะสอน ฝีมือเราก็เริ่มจากตรงนั้น”

หลังจากนั้นทางนิตยสาร ‘พลอยแกมเพชร’ ซึ่งกำลังจะมีนิยายที่กฤษณา อโศกสิน ศิลปินแห่งชาติ เขียนเรื่อง ‘อุทยานเครื่องเทศ’ อาจารย์จักรพันธุ์จึงแนะนำให้เขาเขียนภาพประกอบให้กับเรื่องนี้ จากนั้นชื่อของ ‘พันธุ์ศักดิ์ จักกะพาก’ ก็เป็นที่รู้จัก และผลงานก็ได้ออกสู่สายตาประชาชน

จากสีน้ำสู่พฤกษศิลป์

จุดเปลี่ยนที่ทำให้พันธุ์ศักดิ์ จักกะพากมาเขียนรูปเก็บรายละเอียดแบบพฤกษศิลป์คือตอนที่เขาเดินทางไปซานฟรานซิสโกในปี 1998

“ช่วงนั้นเรื่องที่ลงในพลอยแกมเพชรจบพอดี คุณแม่ของผมก็เสีย ผมจึงเดินทางไปซานฟรานซิสโก 6 เดือน งานแนวนี้ผมเคยผ่านตาบ้าง แต่ไม่ทราบว่ามีแขนงของ Botanical Art ผมไปสมัครเป็นสมาชิกของสมาคมสีน้ำที่แคลิฟอร์เนีย เขาก็ให้ส่งผลงานสีน้ำภาพดอกไม้เข้าไปร่วมโชว์ ผมเขียนดอกไม้อยู่แล้ว จึงส่งไปร่วมแสดงด้วย ในงานก็มีบูธของ American Society of Botanical Artist มาแสดง เขามีคอร์สสอน Botanical Art 5 ครั้ง อาทิตย์ละครั้ง ผมดูเวลาแล้วเรียนจบคอร์สก็เป็นช่วงที่จะกลับเมืองไทยพอดีจึงได้เรียน”

เสลา

เสลา

เมื่อกลับเมืองไทยแนวทางเขียนรูปของอาจารย์พันธุ์ศักดิ์ก็เปลี่ยนไปเลย “ผมเริ่มสนุก เขียนจากของจริงให้เหมือนจริง แล้วผมก็ไปเรียนให้อาจารย์จักรพันธุ์ทราบ ท่านก็บอกว่าเป็นแนวที่ท่านไม่ถนัดเลย แต่ยังแนะนำให้เขียนจากของจริง ไม่เขียนจากรูปถ่าย เมื่อท่านได้ดูงานของผมก็ชมว่าการเขียนใบบัวของเรามันมีนวลนะ ทำอย่างไร สิ่งที่ผมทำก็คือ พยายามเขียนจากสิ่งที่เห็น ถ่ายทอดให้เหมือนมากที่สุด ท่านก็ได้รู้ว่าผมเจอทางของผมแล้ว”

ทุกสิ่งที่ตาเห็นล้วนเป็นสี

สิ่งที่ทำให้ภาพเขียนแนวพฤกษศาสตร์ของอาจารย์พันธุ์ศักดิ์อยู่ในระดับโลก และต่างจากภาพของคนอื่นก็คือความรู้สึกถึงความเป็นธรรมชาติ และลักษณะเฉพาะของดอกไม้นั้นๆ โดยเฉพาะความนุ่มนวลที่สื่อออกมาจากภาพ เป็นพลังที่ผู้ชมทุกคนสัมผัสได้ แม้แต่ดร.เชอร์ลี่ เชอร์วูด (Dr. Shirley Sherwood OBE (เครื่องราชอิสริยาภรณ์ของอังกฤษเทียบได้กับคุณหญิง)) ซึ่งเป็นกรรมการตัดสินงาน Botanical Art สำคัญระดับโลกทั้งหมดผู้ผ่านตางานของศิลปินพฤกษศิลป์ชั้นนำของโลกมานับแสนภาพ ยังบอกว่า ใบไม้ของเขาดีที่สุดในโลก

มหาพรหม

มหาพรหม

ถามถึงเทคนิควิธีการ อาจารย์ตอบกลับมาอย่างเรียบง่ายว่าเขียนอย่างที่ตาเห็น แต่ในความง่ายของคำตอบนั้นคือวิทยาศาสตร์และประสบการณ์ที่แท้

“ความนุ่มนวลที่แสดงออกในรูปผมก็มาจากคำแนะนำของอาจารย์จักรพันธุ์ คือเขียนจากของจริง เขียนในแสงธรรมชาติ เพราะเราเขียนธรรมชาติ สีจากธรรมชาติเกิดจากแสงธรรมชาติ การเขียนใต้แสงไฟฟ้ามันมีความอมเขียว อมเหลือง และเงาที่ตกกระทบก็เข้ม ไม่เป็นธรรมชาติ นี่ผมนำมาตีความตามประสบการณ์ ทำให้เราเห็นว่าผิวของพลาสติกและผิวของดอกไม้ต่างกันที่ Complexion คือเหลือบของธรรมชาติจะมีสีต่างๆ ที่ผสมกันจนดูมีชีวิต สิ่งที่เราเห็นก็คือสีทั้งนั้นซึ่งทำให้เกิดความรู้สึก”

เพราะการเห็นของมนุษย์ แท้จริงคือการเห็นสีทั้งหมด แต่เมื่อรวมกันกับความจำได้หมายรู้ก็กลายเป็นความรู้สึกที่อยู่ในจิตใต้สำนึกของการรับรู้ทั้งสิ้น ทั้งหมดที่อาจารย์พันธุ์ศักดิ์ทำก็คือการถ่ายทอดสีอย่างที่ตาเห็น จึงได้ภาพที่ซื่อตรงและสื่อตรงเข้ามายังใจเราที่สุด

แต่ทั้งนี้ฝีมือก็ไม่มีทางลัด “อยากเก่งต้องทำเยอะๆ” เขายังจำคำของอาจารย์จักรพันธุ์ จึงทำงานเยอะและต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้อาจารย์ยังไม่เคยข้ามขั้นตอน การเขียนสีน้ำที่ศิลปินท่านอื่นอาจเห็นค้านว่าสีน้ำไม่เขียนกันอย่างนี้ แต่ในเมื่อศิลปะไม่มีข้อจำกัด ศิลปินก็สามารถใช้ทุกเทคนิคเพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย ภาพวาดดอกไม้ที่สดสะอาด ต้องการความอดทนในการค่อยๆ เก็บรายละเอียด

ผมไม่ใช่ผู้วิเศษ

เคยได้ยินคนยกย่องฝีมือเขียนภาพของอาจารย์พันธุ์ศักดิ์ว่าอยู่ในระดับเทพ แต่เขาก็ยืนยันว่าเขาเป็นมนุษย์ธรรมดา หากจะสร้างงานระดับนี้ได้ ก็ต้องใช้เวลาค่อยๆ ทำไปทีละขั้น

“แต่ละภาพใช้เวลาเขียนนาน มากน้อยขึ้นอยู่กับการจัดองค์ประกอบของภาพและรายละเอียด บางภาพผมใช้เวลาถึง 6 เดือน อย่างภาพลูกสนญี่ปุ่น ซึ่งผมถ่ายภาพต้นแบบมาจากหน้าพระราชวังในเกียวโต พอเริ่มเขียนแทบท้อเลยครับ เพราะมีรายละเอียดซ้ำๆ แต่ผมไม่เคยเขียนรูปไม่เสร็จ ก็เลยทำไปเรื่อยๆ ความนานยังขึ้นกับขั้นตอนของการเขียน Botanical Art ต่อให้ผมทำงานมาเยอะ มีความชำนาญ มีประสบการณ์มาอย่างไร ก็ข้ามขั้นตอนไม่ได้ เพราะสีน้ำเป็นสีที่มีความโปร่งแสง จะให้เหมือนกับธรรมชาติ ต้องทับแล้วทับอีกหลายครั้ง จึงใช้เวลามาก

ลูกสนญี่ปุ่น

ลูกสนญี่ปุ่น

“บางทีผมไปเป็นวิทยากรสอนคน อาทิตย์หนึ่งเขาทำเสร็จมาแล้ว คุณข้ามขั้นตอน สียังไม่แห้งคุณไปลงสีทับ ก็ดึงสีเก่าขึ้นมา ทำให้รูปของคุณเขรอะ ผมใช้เวลาเป็นเดือนกว่าจะเสร็จ เพราะผมไม่ใช่ผู้วิเศษ ผมมีขั้นตอน ถ้าข้ามขั้นตอนงานก็เสีย ผมบอกอย่างนี้บางคนแปลกใจ เพราะไม่เคยมีความอดทนในสิ่งที่คุณสามารถทำได้ และไม่เคยเรียนรู้ในสิ่งที่คุณทำพลาด”

คล้ายกับคนทำงานวรรณกรรมชั้นดี ที่บอกว่าตัวเองไม่ได้เก่งกว่าใคร แต่ความอึดที่มีมากกว่านั้นช่วยดึงศักยภาพที่มีออกมา จึงเป็นการย้ำพื้นฐานของการทำงาน อยากเก่งด้านไหนก็ต้องทำให้มาก มั่นคงอยู่ในเส้นทาง และเรียนรู้จากความผิดพลาด คนธรรมดาก็สามารถสร้างผลงานที่แสนวิเศษได้

ในคอลเลคชั่นระดับโลก

งานพฤกษศิลป์ของอาจารย์พันธุ์ศักดิ์ได้เข้าไปอยู่ในคอลเลคชั่นของ Shirley Sherwood Gallery of Botanical Art ซึ่งอยู่ใน Royal Botanic Gardens Kew หรือ Kew Gardens กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษเกือบ 50 ภาพจากจำนวนนับพันภาพ ถือเป็นศิลปินไทยคนเดียวจากศิลปินทั่วโลกกว่า 300 คนที่ผลงานได้ถูกสะสมไว้ในคอลเลคชั่น Botanical Art ที่ใหญ่ที่สุดและดีที่สุดในโลก

“ตระกูลของดร.เชอร์วูดได้ลงทุนสร้างพิพิธภัณฑ์ที่ดีที่สุดสำหรับแสดงงาน Botanical Art โดยเฉพาะขึ้นที่ Kew Garden โดยมีคุณภาพการเก็บรักษางานดีมาก เพื่อที่จะให้อยู่ไปได้อย่างยาวนาน เพราะเรานับถือพุทธศาสนา ผมยังเคยคิดเล่นๆ เลยว่า หากได้เกิดมาชาติหน้า ก็ขอให้เกิดมาเราไปดูรูปเราเองก็ยังอยู่ให้เราได้เห็น หากสมความปรารถนา อย่างน้อยได้เป็นคนเฝ้ารูปเราก็ยังดี ชาตินี้เราก็อุ่นใจว่าผลงานของเราไม่น้อยที่สะสมอยู่ที่นั่น”

Shirley Sherwood Gallery of Botanical Art จะหมุนเวียนผลงานออกมาจัดแสดงปีละ 2 ครั้ง ทุกฤดูใบไม้ผลิและใบไม้ร่วง โดยเปลี่ยนหัวข้อไปเรื่อยๆ งานในคอลเลคชั่นจึงได้ผลัดกันมาให้ผู้ชมได้ชม นอกจากนี้ยังมีพิพิธภัณฑ์ในประเทศต่างๆ ติดต่อนำผลงานไปจัดแสดงด้วย ผลงานของอาจารย์พันธุ์ศักดิ์จึงได้เดินทางท่องโลกด้วย

กุหลาบ

กุหลาบ

ผ่านการแสดงงานมามากมาย นิทรรศการล่าสุดของอาจารย์พันธุ์ศักดิ์ก็ได้จัดขึ้นที่ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย นิทรรศการ 75 พฤกษชาติ ฉลอง 75 ปีธนาคารแห่งประเทศไทย ผลงานทั้งหมดเป็นงาน Re-Production ด้วยคุณภาพระดับพิพิธภัณฑ์ทั้งหมดทั้งกระดาษ หมึก วิธีการพิมพ์ การเข้ากรอบ เท่าที่วัสดุที่ดีที่สุดในตลาดที่หาได้ เพราะแม้กระทั่งตัวศิลปินเองนั้น ยังไม่มีภาพเขียนจริงอยู่กับตัวเองเลย ทุกภาพล้วนมีเจ้าของทั้งหมดแล้ว

แต่ต่อให้เป็นงาน Re-Production ก็ยังรู้สึกได้ถึงความเป็นธรรมชาติที่แผ่ออกมาจากผลงานทุกชิ้น พิศอยู่นานและรู้คำตอบแล้วก็ยังอดทึ่งไม่ได้ว่าศิลปินเขียนภาพขนาดนี้ได้อย่างไร

นิทรรศการเปิดให้ชมฟรีแล้ววันนี้ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2562 ณ ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดวันอังคาร – วันอาทิตย์ เวลา 9.30 น. – 20.00 น.

เทียนหยด

เทียนหยด

รัตนพฤกษ์

รัตนพฤกษ์