ของโหล ๆ ยกระดับให้เท่ได้...ในดีไซน์ Massclusive

ของโหล ๆ ยกระดับให้เท่ได้...ในดีไซน์ Massclusive

"เหมาโหลถูกกว่า" คำคุ้นหูและติดอยู่ในความทรงจำมาหลายสิบปี มาจากหนังสือเรื่อง Cheaper by the Dozen เขียนโดย Frank Gilbreth Jr. กับ Ernestine Gilbreth Carey (พิมพ์ปี1948) แปลเป็นไทยโดย เนื่องน้อย ศรัทธา ในชื่อ เหมาโหลถูกกว่า...

 

        บ้านตัวอย่างในรูปแบบตึกแถวrere

     บ้านตัวอย่างในรูปแบบตึกแถว

          เรื่องราวในหนังสือมาจากชีวิตจริงของครอบครัวชาวอเมริกันหลังสงครามที่มีลูกเยอะถึง 12 คน พ่อแม่จึงต้องคิดหาทางประหยัดทุกหนทาง ต่อมาเป็นภาพยนตร์ฮอลลีวู้ด นำแสดงโดยดาราตลก สตีฟ มาร์ติน

         การซื้อของยกโหลหรือซื้อทีละมาก ๆ ก็จะได้ราคาถูกกว่า คนซื้อประหยัดสตางค์แต่ของที่ได้ก็จะเป็นของพื้น ๆ ของธรรมดา ๆ ที่ผลิตจำนวนมาก ความหมายของการซื้อของยกโหล กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของคนเซปต์ในงาน บ้านและสวนแฟร์ 2018 ที่นำเสนอการออกแบบและตกแต่งบ้าน ภายใต้แนวคิด Massclusive

          เจรมัย พิทักษ์วงศ์ กรรมการผู้จัดการ บอกว่า “ปีนี้นำเสนอธีมแต่งบ้านสนุก ๆ จากการใช้วัสดุที่เห็นจนชินตา เป็นของราคาไม่แพงจากการผลิตซ้ำ ๆ เยอะ ๆ หากนำมาใช้จนเกิดเป็นจังหวะที่สวยงาม กลายเป็นของพิเศษขึ้นมาได้”

          อรรถ ประพันธ์วัฒนะ รองบรรณาธิการอำนวยการนิตยสาร “บ้านและสวน” ขยายความว่า

          “Massclusive มาจากคำว่า "แมส" หรือผลิตมาก ๆ เป็นคอนเซปต์ที่เราใช้เล่าเรื่องของงาน คือตอนนี้ทุกวงการออกแบบ ทั้งการก่อสร้าง แฟชั่น ไลฟ์สไตล์ต่าง ๆ ให้ความสำคัญกับการผลิตเยอะ ๆ หรืองานแมส แต่พอเป็นงานแมสทุกคนก็รู้สึกว่าไม่อยากใช้ของซ้ำกับคนอื่น เลยเติมคำว่า Exclusive หมายถึงงานแมสที่มีความพิเศษ ขึ้นอยู่กับการใช้งานของแต่ละบุคคล”

Massclusive Style

         ดีไซน์แบบ Massclusive

        คนคิดประเด็น Massclusive ออกแบบบ้านตัวอย่างและรายละเอียดของงานตกแต่งให้คนดูเกิดไอเดียต่อยอดไปปรับปรุงบ้านของตัวเอง อย่างง่าย ๆ และลดต้นทุนจากวัสดุที่ “แมส” ของโหล ๆ ราคาย่อมเยา

          “เช่น ซุ้มประตูทางเข้า ทำจากกระดาษลูกฟูกสำหรับทำลังใส่ของ ที่ผลิตได้ทีละเยอะ ๆ เราสั่งจำนวน 4,000 ชิ้น นำมาออกแบบเป็นโมดูล คล้าย ๆ จิ๊กซอว์ที่มีตัวต่อแค่ 1 ชิ้น แต่สามารถประกอบเข้าด้วยกันได้หลากหลาย ทำเป็นรูปทรงและโครงสร้างของซุ้ม เหมือนนำผนังมาวางซ้อนเหลื่อมกัน แล้วใช้ไลท์ติ้งและพรรณไม้ให้ดูสวยงามแปลกตา

กระดาษลูกฟูกrere

         ซุ้มประตูทางเข้าทำจากกระดาษลูกฟูก ของโหล ๆ ราคาถูก

          บ้านตัวอย่างปีนี้เป็นตึกแถว เพื่อบอกว่า การอยู่บ้านจัดสรรหรือที่อยู่อาศัยก็มาจากการผลิตซ้ำ ๆ เช่น คอนโด ทาวน์โฮม บ้านเดี่ยว คือทำซ้ำจากแบบเดิม ๆ ไปเรื่อย ๆ ทุกคนมาใช้ชีวิตในบ้านที่ทำซ้ำ แต่เขาตกแต่งเองให้เหมาะกับฟังก์ชั่นการใช้งาน เราจำลองตึกแถวแต่จะทำให้พิเศษด้วยวิธีไหน จากโครงสร้างห้องแถว 2 ห้อง 2 ชั้น หรือ 12 ยูนิต โดยเปลี่ยนการใช้งานห้องต่าง ๆ ด้วยการยกระดับที่แตกต่างกันในแต่ละยูนิต ได้แก่ ห้องพักผ่อน ห้องรับประทานอาหาร ห้องน้ำ และห้องนอน และการนำวัสดุที่คุ้นชินมาเปลี่ยนการเล่าเรื่องใหม่ เช่น บล็อกช่องลม กระจกบานเกล็ด และแผ่นหลังคาลอนใส โดยใช้เป็นส่วนหนึ่งของฟาสาด (facade) การนำแผ่นพื้นหินขัดสำเร็จรูปที่จัดเรียงให้แตกต่างจากหินขัดที่เราคุ้นตา เพื่อให้บ้านตึกแถวดูพิเศษขึ้นได้จากวัสดุที่มีการผลิตในระบบอุตสาหกรรม”

พื้นและผนังในบ้านทำจากวัสดุเรียบง่ายrere

         ผนังและพื้นทำจากวัสดุเรียบง่าย ราคาถูก

         ของโหล ๆ ออกแบบให้ดูดีมีระดับ ตั้งแต่บันไดทางขึ้นชั้นสอง ที่เจาะเพดานสูงใส่ต้นไม้ เพื่อให้เห็นความสูงจากระยะของต้นไม้ (จริง) พอขึ้นมาชั้นสองก็พบวัสดุที่คุ้นชิน เช่น กระเบื้องลอนมุงหลังคาที่เปลี่ยนบริบทในการเล่าเรื่องใหม่ โดยเอาแผ่นโพลีคาร์บอเนตที่โดยทั่วไปใช้ทำหลังคารถ ทำศาลาหรือตกแต่งสวน เอามาทำเป็นผนัง

          “ยังมีกระเบื้องหลังคาลอนโปร่งใสอีกลายหนึ่งทำจากโพลีคาร์บอเนตประเภทหนึ่งเหมือนกัน แต่เราเปลี่ยนใหม่เพราะอยากสร้างจุดเด่นคือให้แสงส่องเข้ามาในบ้านได้ และช่วยลดการใช้ไฟ หรือออกแบบคล้าย ๆ บล็อกแก้วก็ได้ พอเราใส่ไฟยื่นออกมาหน้าบ้านก็ทำให้เรืองแสง เกิดจุดเด่นขึ้นมา

          ตึกแถวหน้ากว้าง 3.6 เมตร สูง 2.4 เมตร เหมือนกล่อง พื้นใช้แผ่นเซลโลกรีต (Cellocrete) ที่มักใช้เป็นฉนวนกันความร้อนหรือกันเสียง จากการออกแบบพิกัดสัดส่วน ทำให้สามารถใช้แผ่นพื้นปูได้พอดีโดยไม่เหลือเศษเลย หมายถึงจะมีวัสดุเหลือทิ้งน้อยมาก และแสดงถึงการเลือกใช้วัสดุที่มีความหลากหลาย ลดภาพจำจากเดิมว่าวัสดุแบบนี้ต้องใช้อย่างนี้ เราเปลี่ยนการใช้ในระนาบที่แตกต่างกัน

การใช้อิฐบล็อกตกแต่งพื้นและผนังrere

         การใช้อิฐบล็อกตกแต่งพื้นและผนังให้มีดีไซน์แตกต่าง

          อย่างอิฐบล็อกที่เราเห็นทั่วไป เราใช้เทคโนโลยีเลเซอร์คัท ฉลุให้เกิดลวดลายเดียวกับอิฐบล็อก แต่ที่จริงคือผนังเบาอีกแบบหนึ่ง หลอดไฟที่ห้อยลงมาจากเพดาน ที่จริงมาจากหลอดฟลูออเรสเซนส์แบบกลมที่ใช้ตามบ้าน เราก็จัดเรียงใหม่ให้เหมือนแชนเดอเลียร์

          กระทั่งวอลเปเปอร์ที่มีเท็กซ์เจอร์นำมาฉาบสีใหม่ ใช้ตกแต่งพื้นผิวเฟอร์นิเจอร์บิลด์-อิน ก็เกิดเป็นเฉดสีและเท็กซ์เจอร์ใหม่ ๆ ยังมีวอลเปเปอร์ที่ปกติเป็นลวดลายต่าง ๆ แต่เราดีไซน์ใหม่ได้จากวอลเปเปอร์ชนิดนี้ที่ทำจากเยื่อกระดาษกับโพลีมอร์ จัดอยู่ในกลุ่มวอลเปเปอร์แต่ทำสีได้ตามต้องการ สามารถทำเป็นวัสดุปิดผิวได้ทั่วไป

ดวงไฟทรงกลมดัดแปลงเป็นแชนเดอเลียร์rere

         ดวงไฟทรงกลมดัดแปลงเป็นแชนเดอเลียร์

        ในแง่เศรษฐกิจ การทำซ้ำเรื่อย ๆ คือทำให้ทุกอย่างราคาถูกลง วัสดุที่ทุกบ้านมีเหมือนกันแต่ดีไซน์ให้แปลกแตกต่างได้”

          เมื่อเดินขึ้นลงภายในตึกแถวโปร่งแสง ทำให้มองทะลุไปถึง “เทรนด์” การแต่งบ้านปีนี้และปีหน้า ซึ่งคุณอรรถ อธิบายต่อว่า

          “เทรนด์การออกแบบบ้าน พูดให้ชัด ๆ ตอนนี้เทรนด์เป็นการผสมผสานไปหมดแล้ว เราเรียกว่า design movement ไม่ใช่โมเดิร์น ไม่ใช่วินเทจ ไม่ใช่อะไรหรอก แต่เทรนด์ที่ว่านี้เหมือนไม่เป็นเทรนด์ โดยไลฟ์สไตล์จะเป็นตัวกำหนดชีวิตและการออกแบบ เช่น ห้องที่ได้รับความสนใจของบ้าน ส่วนใหญ่จะเป็นห้องครัว หรือห้องกินข้าว  พอเอาทีวีไปตั้ง ลูก ๆ ทำการบ้านที่โต๊ะกินข้าว  คุณแม่ก็ยังทำครัวได้ เพื่อนมาปาร์ตี้ก็ไปที่โต๊ะกินข้าว กลายเป็นห้องที่เปนหัวใจสำคัญของบ้านได้เลยทีเดียว

          ด้วยไลฟ์สไตล์ของคนยุคใหม่เทรนด์จึงเปลี่ยนไปตามการใช้ชีวิต ใครจะบอกห้องนั่งเล่นสำคัญ มีโซฟา โต๊ะ ทีวี ก็ใช่เพราะขึ้นอยู่กับการใช้ชีวิตของคน ๆ นั้นเลย ส่วนการตกแต่งภายในก็ขึ้นอยู่กับความชอบ ปกติดีไซเนอร์ส่วนใหญ่จะบอกว่า การออกแบบฟาสาด ผนัง หรือพื้นผิวของอาคารคืออย่างแรกที่ให้ความสำคัญเพราะเหมือนเราแต่งหน้าทาปาก ถ้าเราสวยคนก็มองเยอะ ดังนั้น ผนังแบบต่าง ๆ ระแนง เลยเอามาติดที่บ้านเพื่อให้มีการตกแต่งที่พื้นที่ภายนอก เพราะฉะนั้นการใช้งานเป็นตัวกำหนดการออกแบบเพื่อให้สอดคล้องกับผู้อยู่อาศัย

       ส่วนสีภายใน ปีนี้เรานำคีย์วิชช่วลมาใส่ ทำให้เกิดเป็นเอกภาพ เช่น สวนมีการใช้วัสดุทำซ้ำ ๆ ใช้อิฐ บล็อกช่องลม ไม้ระแนง ทุกอย่างนำมาเป็นโจทย์ในการออกแบบ และช่วยลดต้นทุน จากคำว่า “เหมาโหลถูกกว่า” การผลิตเชิงแมส เวลาซื้อก็ถูกกว่าสั่งทำพิเศษอยู่แล้ว แต่เอามาเล่าเรื่องผ่านการออกแบบที่สวยงาม และตอบโจทย์ตรงใจก็ใช้งานได้และสวยงามด้วย”

ไม้กระถางในบ้านrere

       ตามมุมต่าง ๆ ในตึกแถวยังมี “ต้นไม้ในบ้าน” ที่กำลังเป็นเทรนด์เติมสีเขียวให้ผู้อยู่อาศัย

      “ปีนี้เทรนด์ต้นไม้คือการใช้ไม้ใบมาตกแต่งในบ้าน เพราะทุกคนไม่ได้มีพื้นที่จัดสวนและปลูกต้นไม้เยอะ ๆ การเอาต้นไม้มาอยู่ในบ้านคือวิธีตอบโจทย์ของคนเมืองในระดับหนึ่ง เทรนด์ อินดอร์ แพลนท์ หรือไม้ใบในบ้านที่เรานำเสนอในบ้านตัวอย่างคือ นำต้นไม้ในกระถางไปวางตามจุดต่าง ๆ ในนิตยสารเล่มใหม่ เราก็เล่าเรื่องไม้ใบกับการใช้พรรณไม้ในบ้าน คนเมืองส่วนใหญ่ไม่มีสวน และสวนสาธารณะมีไม่มากพอที่เราจะไปใช้หรือเรามีเวลาไม่ว่างพอจะไป เราเลยนำต้นไม้มาไว้ในบ้าน เช่น แคคตัส กระบองเพชร ไม้อวบน้ำ ไม้ใบต่าง ๆ ได้แก่ ยางอินเดีย ฟิโล พลูฉีก ไม้อวบน้ำกุหลาบหิน ซึ่งกำลังนิยมไม่แพ้กระบองเพชรและเฟิร์น”

พืชอวบน้ำปลูกในห้องนอนrere

     ตามมุมห้องตกแต่งด้วยไม้กระถางและพืชอวบน้ำ

         มีสีเขียวอยู่ข้างตัวช่วยเพิ่มปริมาณออกซิเจนให้บ้าน ทั้งคนทั้งต้นไม้อยู่ด้วยกันอย่างสดชื่น ต้นไม้ไม่แพง วัสดุโหล ๆ เห็นซ้ำ ๆ ก็ไม่แพง เป็นการอยู่อย่างประหยัด รักษ์โลก และเท่ได้ด้วยงานดีไซน์...

แคคตัสกลับมานิยมrere