สุข(ภาพ)ดี ที่สองแคว

สุข(ภาพ)ดี ที่สองแคว

เมื่ออาหารก็เป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงของสุขภาพวันนี้ แล้วเราจะมีเหตุผลอะไรที่จะไม่เอาใจใส่วัตถุดิบที่จะนำมาเสริฟบนโต๊ะกินข้าว เหมือนอย่างที่ชาวสองแควเขาทำ

ทุกๆ ชั่วโมงจะมีคนไทยตายเพราะโรคมะเร็ง 7 คน รวมๆ 1 ปีตัวเลขจะอยู่ที่ประมาณ 60,000 คน (ข้อมูลจากสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข ปี พ.ศ. 2559) มะเร็งจึงเป็นสาเหตุแห่งการตายอันดับ 1 ของประเทศไทย

แล้วทำไมคนไทยจึงเป็นโรคมะเร็งเยอะขึ้น? 

แน่นอนว่า มีปัจจัยเสี่ยงมากมายที่ทำให้เกิดโรคมะเร็ง หนึ่งในนั้นคือ “อาหาร” 

BA056170-AA76-49F2-B47478CEF418C7EF

ผักสวย ซ่อนเสี่ยง

ประเทศไทยเคยเป็น “ดินแดนสุวรรณภูมิ” ที่อุดมสมบูรณ์ “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” แต่นับตั้งแต่มี “การปฏิวัติเขียว” (The Green Revolution) พ.ศ.2504 จาก “อู่ข้าวอู่น้ำ” ก็ค่อยๆ กลายสภาพเป็น “แผ่นดินอาบยาพิษ” เนื่องด้วยการส่งเสริมให้มีการใช้สารเคมีเพื่อเป็นปัจจัยในการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร

 แต่...ไม่ใช่แค่ปริมาณผลผลิตทางการเกษตรหรอกที่เพิ่มขึ้นอย่างน่าอัศจรรย์ ปริมาณผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากการสะสมของสารเคมีเหล่านั้นก็ก้าวกระโดดขึ้นเป็นเงาตามตัว และไม่ใช่แค่ตัวเกษตรกรเอง แต่ “ทุกคน” ได้รับผลกระทบนั้น

ข้อมูลจาก เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือ Thai Pan ซึ่งมีการสุ่มตรวจตัวอย่างในแม่และเด็กทารกแรกเกิด พบว่ามี “สารพาราควอต” (สารกำจัดศัตรูพืช) ที่ทำให้เกิดโรคพาร์กินสัน “สารไกลโฟเสต” (สารกำจัดวัชพืชชนิดดูซึม) ที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งและโรคไต รวมถึง “สารคลอร์ไพริฟอส” (สารกำจัดแมลง) ที่ทำให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภค ใน “ขี้เทา” ของทารกแรกเกิด และแม่ในปริมาณสูง นั่นจึงเป็นข้อพิสูจน์ที่ไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่า สารเคมีในภาคการเกษตรนั้นเกี่ยวข้องกับทุกชีวิตจริงๆ

modernghana

ในขณะที่รัฐบาลประกาศให้ประเทศไทยขับเคลื่อนไปสู่การเป็นสังคม “เกษตรอินทรีย์” ทว่า ในภาคการปฏิบัติดูเหมือนจะสวนทางกัน เพราะจากสถิติการนำเข้าสารเคมีพบว่ามีปริมาณการนำเข้าสูงขึ้นทุกปี และแม้ประเทศไทยจะไม่ได้มีพื้นที่เพาะปลูกอยู่ในอันดับต้นๆ ของโลก แต่กลับมีการใช้ยาฆ่าหญ้า ยาฆ่าแมลง รวมถึงฮอร์โมนเคมี ติดอันดับ 4-5 ของโลก ซึ่งเมื่อเทียบกับขนาดพื้นที่แล้ว ประเทศไทยถือเป็นแชมป์โลกในการนำเข้าความตายเลยทีเดียว

แผ่นดินอาบยาพิษขนาดนี้ พืชผักที่บริโภคเข้าไปจะปราศจากสารปนเปื้อนได้อย่างไร เริ่มเข้าใจแล้วใช่มั้ย ว่าทำไมคนไทยเป็นมะเร็งเยอะขึ้น

รัก(ตัว)เอง ปลูกเอง

เพราะห่วงใยในสุขภาพ และไม่มั่นใจในพืชผักผลไม้ตามท้องตลาดที่ตรวจพบสารเคมีอยู่เป็นประจำ หลายปีมานี้จึงมีผู้บริโภคจำนวนมากผันตัวเองมาเป็นผู้ผลิตอาหารเอง โดยเริ่มจากการ ปลูกผัก เลี้ยงสัตว์แบบง่ายๆ เหลือกินก็แจกจ่าย หรือแบ่งขายในรูปแบบของผักอินทรีย์

แต่...เมื่อไม่มีมาตรฐานรับรอง ความน่าเชื่อถือก็ติดลบ!!

 “สองแควออร์แกนิก” เป็นการรวมกลุ่มกันของผู้บริโภคในจังหวัดพิษณุโลกที่รักและห่วงใยในสุขภาพ จึงค่อยๆ ผันตัวเองมาเป็นเกษตรกรมือใหม่ เพาะปลูกพืชผักโดยใช้หลักการเกษตรอินทรีย์และปฏิเสธการใช้สารเคมีทุกชนิด ทำให้สมาชิกกลุ่มกินอาหารที่ผลิตเองได้อย่างสบายใจ

IMG_1668

ณัฐวัฒน์ วัฒนาประสิทธิ์ แกนนำผู้ริเริ่มก่อตั้งเครือข่ายสองแควออร์แกนิก กล่าวว่า การรวมกลุ่มสร้างเครือข่ายจะได้ประโยชน์หลายอย่าง ทั้งการแลกเปลี่ยนชนิดผักกันภายในกลุ่มเพื่อสร้างความหลากหลาย การเติมเต็มความรู้ใหม่ๆ ให้แก่กัน การสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับผู้บริโภค ตลอดจนสร้างความเข้มแข็งทางการตลาดด้วย

เครือข่ายสองแควออร์แกนิกใช้รูปแบบ มาตรฐานเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม หรือ PGS (Participatory Guarantee System) 

มีใจความสำคัญอยู่ที่การมีส่วนร่วมในการรับรองมาตรฐานจากเกษตรกรผู้ผลิตด้วยกันเอง เป็นระบบการรับประกันคุณภาพที่ตั้งอยู่บนฐานของความเชื่อถือ เครือข่ายทางสังคม และการแลกเปลี่ยนความรู้

“เรานำข้อกำหนดของมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ไทย (Organic Thailand) และมาตรฐานของต่างประเทศ เช่น IFOAM มาออกแบบเพื่อให้เข้ากับกลุ่มของเรา ซึ่งข้อกำหนดที่เราคัดสรรออกมาเพื่อใช้กับกลุ่มสองแควออร์แกนิกจะมีอยู่ 9 ข้อ ถือเป็นมาตรฐานกลุ่มที่เราเคร่งครัดมาก”

ณัฐวัฒน์ ว่า มาตรฐาน PGS เป็นมาตรฐานที่ตั้งอยู่บนฐานของความเชื่อมั่น ซื่อสัตย์ โปร่งใส โดยจะมีการทบทวนการทำเกษตรและร่วมกันตรวจแปลงสม่ำเสมอ ซึ่งผู้บริโภคเองก็สามารถเป็นหนึ่งในผู้ตรวจที่จะเข้ามาตรวจแปลงเกษตร หรือศึกษาวิธีการผลิตพืชผักอินทรีย์ที่ปลอดภัยได้ตลอดเวลา

“อีกอย่างหนึ่งที่จะช่วยสร้างความมั่นใจ คือเรามีการส่งผัก ดิน น้ำ ไปตรวจอยู่เสมอ ทั้งกับสาธารณสุขจังหวัด และล่าสุดสถาบันบริการตรวจสอบคุณภาพและมาตรฐานผลิตภัณฑ์(IQS) มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ก็มาร่วมตรวจเพื่อสร้างความมั่นใจตรงนี้ ซึ่งแน่นอนว่า ไม่พบสารปนเปื้อนใดๆ” ณัฐวัฒน์ กล่าว

IMG_1669

แข็งแรง แบ่งปัน

ปัจจุบัน ผลผลิตจากเครือข่าย “สองแควออร์แกนิก” มีจำหน่ายอยู่ในร้านจำหน่ายสินค้าเพื่อสุขภาพหลายแห่งทั่วพิษณุโลก หนึ่งในนั้นคือ “ร้านสาระพัน มาร์เก็ตเพลส” ซึ่งตั้งอยู่บริเวณชั้น 1 ภายในโรงพยาบาลพิษณุเวช ร้านค้าแห่งนี้ถือเป็นตลาดหลักของกลุ่มสองแควออร์แกนิกเลยก็ว่าได้

“โจทย์ในวันนี้คือให้คนปลูกมีความสุข คนกินมีความสุข คนขายก็มีความสุข แล้วทุกคนก็มีสุขภาพดี พิษณุเวชเป็นโรงพยาบาลเอกชนก็จริง แต่เราไม่ต้องการให้มีคนป่วยเยอะๆ เราต้องการให้ทุกคนแข็งแรง สุขภาพดี เพราะฉะนั้นเราจึงเปิดพื้นที่ตรงนี้เพื่อสร้างสิ่งดีๆ ให้เกิดขึ้น” ภญ.วรรณศิริ นิ่มพิทักษ์พงศ์ ประธานกรรมการโรงพยาบาลพิษณุเวช และประธานกรรมการบริษัท ประชารัฐรักสามัคคีพิษณุโลก (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด กล่าว

IMG_1663

ด้านผู้บริโภคอย่าง พองาม เหลี่ยมศิริวัฒนา ผู้ช่วยผู้อำนวยการวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยนเรศวร ที่บริโภคผักอินทรีย์เป็นประจำ บอกว่า คุณสมบัติของผักอินทรีย์คือจะมีอายุในการเก็บได้นานกว่าผักทั่วไป แถมรสชาติดีกว่าอย่างเห็นได้ชัด

“คนทั่วไปจะชอบทักว่า ทำไมอาจารย์ซื้อผักแพงกว่าที่อื่น สำหรับเรา เรามองว่าเมื่อเทียบกับสุขภาพเราลงทุนเพิ่มขึ้นอีกแค่ไม่กี่บาท แต่ในระยะยาวเราสุขภาพดี ไม่ต้องไปเสียเงินค่าดูแลสุขภาพ ไม่เป็นมะเร็ง มันคุ้มกว่ามากๆ”

พืชผักส่วนใหญ่ นอกจากผักหลักๆ เช่น คะน้า กวางตุ้ง ผักบุ้ง ถั่วฝักยาว ฯลฯ สองแควออร์แกนิกก็ยังผลิตพืชผักอื่นๆ เพื่อสร้างความหลากหลาย บางชนิดชื่ออาจจะแปลกไปบ้าง แต่ทางกลุ่มก็แนบข้อมูลและวิธีการนำผักไปประกอบอาหารให้ด้วย

“เราคิดว่ามันประยุกต์ได้หลายอย่างนะ แทนที่เราจะตั้งเมนูเป็นหลัก เรามาช้อปผักก่อนก็ได้ แล้วค่อยไปคิดทำเมนู สนุกดี มันก็จะได้กินที่หลากหลาย ก่อนหน้านี้จะหาซื้อผักอินทรีย์ยากนิดนึง แล้วพอดีมาตรวจสุขภาพประจำปีที่โรงพยาบาลพิษณุเวช มาเจอโดยบังเอิญว่ามีผักอินทรีย์ขายที่นี่ จากนั้นก็จะแวบมาซื้อตลอด ดีใจที่มีเป็นเรื่องเป็นราว และก็จะมาแอบผูกตะกร้าด้วย อยากลงทุนกับสุขภาพในวันนี้ เพื่อที่จะได้มีสุขภาพที่แข็งแรงปลอดภัยในวันหน้า” อาจารย์พองาม สรุป

สำหรับตะกร้าผักที่อาจารย์เอ่ยถึงคือ

โครงการ CSA (Community Supported Agriculture) ที่ผู้บริโภคสามารถร่วมสนับสนุนตะกร้าอาหารอินทรีย์ที่เกษตรกรปลูกตามรอบผลิต โดยจะส่งผักผลไม้และอาหารปลอดภัยจากสมาชิกในเครือข่ายส่งตรงถึงบ้านผู้บริโภคในทุกๆ สัปดาห์

เรียกว่า ช่วยลดภาระการจับจ่ายได้อย่างดีทีเดียว

“ไม่มีใครดูแลสุขภาพของเราได้ดีเท่ากับตัวของเราเอง” นี่คือเรื่องจริงที่มนุษย์ทุกคนรับรู้ร่วมกันมาเนิ่นนาน

ถึงบรรทัดนี้แล้ว คุณเริ่มหรือยังที่จะกลับมา “รักตัวเอง”

IMG_1654

ข้อกำหนด 9 ข้อ ภายใต้มาตรฐาน “สองแควออร์แกนิก” 

1.ไม่ใช้สารเคมีสังเคราะห์ทางการเกษตรทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นปุ๋ยเคมี ยาฆ่าหญ้า สารเคมีกำจัดศัตรูพืชและฮอร์โมนสังเคราะห์

2.ปรับปรุงบำรุงดินด้วยอินทรียวัตถุ ตลอดจนการปลูกพืชหมุนเวียน เพื่อให้พืชแข็งแรง มีความต้านทานต่อโรคและแมลง

3.เน้นการใช้เมล็ดพันธุ์จากเกษตรอินทรีย์ และส่งเสริมการเก็บเมล็ดพันธุ์และแลกเปลี่ยนกันในเครือข่าย

4.มีตัวชี้วัดระบบนิเวศตามธรรมชาติของท้องถิ่น และมีความหลากหลายทางชีวภาพ

5.มีการป้องกันมิให้มีการปนเปื้อนของสารเคมีจากภายนอก ทั้งจากดิน น้ำ และอากาศ รวมถึงมีมาตรการจัดการเครื่องมือเครื่องใช้ให้มีความปลอดภัยจากสารเคมี

6.ไม่ปลูกพืชคู่ขนานเกษตรเคมีและเกษตรอินทรีย์ในแปลงเดียวกัน

7.ทำเกษตรปศุสัตว์โดยคำนึงถึงหลักการสวัสดิภาพของสัตว์ (Animal Welfare)

8.เก็บเกี่ยวและแปรรูปโดบวิธีธรรมชาติ ปลอดภัยและประหยัดพลังงาน

9.มีการจัดทำข้อมูลการผลิต การใช้ปัจจัยการผลิต และการขายผลผลิต

**การร่วมจำหน่ายผลผลิตกับกลุ่ม สมาชิกต้องผ่านระบบการปรับเปลี่ยนมามากกว่า 1 ปี