รู้ไหมที่ “เทอดไท” 20 บาทมีค่าแค่ไหน

รู้ไหมที่ “เทอดไท” 20 บาทมีค่าแค่ไหน

สำรวจปัญหา ทุพโภชนาการของเด็กๆ บนพื้นที่ห่างไกล ผ่าน “งบอุดหนุนอาหารกลางวัน 20 บาท” ที่ทำให้ เด็กๆ ที่ ต.เทอดไท จ.เชียงราย ขาดสารอาหารไม่ต่างจากเด็กเอธิโอเปีย

“20 บาทซื้ออะไรได้บ้าง”

บางคน อาจจะนึกถึงขนมอบกรอบบางยี่ห้อ

บางคน น่าจะได้เครื่องดื่มจากร้านสะดวกซื้อที่คุ้นเคย

บางคน ไม่แน่จะอยากได้อะไรรองท้องก่อนมื้ออาหาร

แต่สำหรับเด็กๆ กว่า 800 ชีวิตที่ ต.เทอดไท อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย

20 บาท มีความหมายมากกว่านั้น

IMG_8252

20 บาท...เป็นค่าข้าวกลางวันที่พวกเขาได้รับแบ่งปันมา

20 บาท...ต่อคน ต่อมื้อ

แน่นอน อัตราเดียวกันกับ โรงเรียนเด็กเล็กทั่วประเทศ

ค่าอาหารกลางวันก้อนนี้ มาจากมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2556 ที่เพิ่มค่าอาหารกลางวันจากวันละ 13 บาทต่อคน เป็นวันละ 20 บาทต่อคน

โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) บริหารจัดการงบอาหารมื้อนี้

แต่เมื่อ 20 บาทในเมือง มีค่าไม่เท่ากับ 20 บาทในป่า นับประสาอะไรกับเงินก้อนนี้ที่ต้องถูกเปรียบเทียบไปโดยปริยาย

น้ำเปล่าที่มีราคาถึง 15 บาทกลางสยาม อาจเหลือแค่ 5 บาทที่เทอดไท

แต่สมการนี้ใช้กับ “ค่าอาหารกลางวันเด็ก” ไม่ได้

เพราะยิ่งไกล ราคาก็ยิ่งแพง

จาก 20 บาท ที่บ้านเทอดไท อาจต้องบวกไปถึง 10 บาท เมื่อเดินทางไปถึง ศูนย์เด็กเล็กบ้านจะตีที่ห่างออกไป 30 กิโลเมตร

นี่เป็นความเหลื่อมล้ำที่ พนาวรรณ วิชาชัย นักวิชาการศึกษา อบต.เทอดไท หนึ่งในทีมทำงานเรื่องนี้แจกแจงให้ดู

เด็กไม่ถึง 15 คน x 20 ถามคนทำกับข้าว คำนวณมุมไหนก็ไม่คุ้ม

ผลก็คือ ครู 1 คนต้องตื่นตั้งแต่ตี 4 ขึ้นมาทำกับข้าว หิ้วไปสอน หลังเที่ยงก็เก็บล้าง และทำหลักสูตรการสอน

ศูนย์เด็กเล็กอีก 2 แห่งใน 18 แห่งก็มีชะตาไม่ต่างจากนี้

ถาม : ทำไมไม่ปิดศูนย์ไปให้รู้แล้วรู้รอด?

ตอบ : แล้วเด็กๆ จะเรียนกับใคร

จัดสรรงบเฉลี่ยไม่ได้ เพราะรายชื่อกับเม็ดเงินจ่ายตรงตัว เกินกว่านั้นคือ “ส่อทุจริต”

ความพยายามจัดสรรทรัพยากรเท่าที่จึงเป็น “ทางเลือกสุดท้าย” ที่ดูไม่ค่อยจะมีทางเลือกเท่าไหร่

เด็กๆ ส่วนใหญ่จึงมีภาวะ “ทุพโภชนาการ” ถึงแม้จะได้กินข้าวครบ 3 มื้อก็ตาม

IMG_8229

จากการลงพื้นที่เก็บข้อมูลภาวะโภชนาการเด็กเล็ก สุกัญญา บัวศรี จากคณะพยาบาลศาสตร์ วิทยาลัยเชียงรายในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของคณะทำงานเรื่องนี้พบว่า เด็กเล็กกว่าร้อยละ 18 มีระดับโภชนาการ “ต่ำกว่าเกณฑ์”

ตัวเลขนี้ สง่า ดามาพงษ์ นักโภชนาการที่ปรึกษาสมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทยยืนยันว่า เท่ากับภาวะโภชนาการต่ำของเด็กเอธิโอเปียเลยทีเดียว

ขณะที่ภาวะโภชนาการต่ำตามมาตรฐานของประเทศไทยอยู่ที่ ร้อยละ 8

เกิดอะไรขึ้นกับเด็กเทอดไท

ที่เทอดไทมีกลุ่มชาติพันธุ์ 7 กลุ่ม คือ อาข่า ลาหู่ จีนยูนนาน ไทยใหญ่ ม้ง ลีซอ และลั๊วะ กระจายอยู่ทั้ง 18 หมู่บ้าน และบ้านบริวารอีก 16 ชุมชน

มีวิถีวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ตามแบบฉบับของคนบนพื้นที่สูงที่สืบทอดกันมารุ่นสู่รุ่น

ข้อมูลในการลงพื้นที่ของทีมศึกษาค้นพบ ก็คือ อาหารพื้นบ้านของคนที่นี่โดยทั่วไปก็คือ “ผัก” และอีกนานับชนิด

แต่เวลาเปลี่ยน คนก็เปลี่ยน

การพัฒนาเดินทางมาพร้อมกับความเปลี่ยนแปลง ข้าวของจาก “ข้างล่าง” ถูกลำเลียงมาสร้างความทันสมัยให้ชุมชน

พอๆ กับค่านิยม จากเพื่อยังชีพ เป็นเพื่อค้าขาย

หลายอย่างที่เคยปลูกได้ก็กลายมาเป็นต้องซื้อกิน เพราะเชื่อว่า “ของข้างล่าง” ดีกว่า

ฟักทองในร้านสะดวกซื้อยังมีคุณค่าทางโภชนาการมากกว่าฟักทองที่ตัดขั้วมาจากดินหน้าบ้านตัวเองด้วยซ้ำ

ขณะที่เกษตรอุตสาหกรรมก็พาเหรดเข้ามายึดหัวหาด

ผักก็ยังปลูกอยู่นั่นแหละ แต่หน้าไหนที่เฮโลกันปลูกอะไร บนโต๊ะกับข้าวก็มีอย่างนั้น

กะหล่ำปลี ข้าวโพดอ่อน และอีกสารพัดผักที่ปลูกขาย

ครั้งหนึ่งที่สัปปะรดล้นตลาดยังเอามากองข้างทางแจกกันฟรีก็เคย

ให้ตายเหอะ กินผักชนิดเดียว 3 มื้อผู้ใหญ่ยังเบื่อเลย นับประสาอะไรกับเด็ก

ยิ่งหลายครอบครัวจมกองหนี้ ทางเลือกบนโต๊ะอาหารก็แทบไม่มี

ผักต้มน้ำ ข้าวคลุกเกลือ พ.ศ.นี้ก็ยังมีอยู่จริงๆ

ที่สำคัญ นี่เป็นความจริงอีกเรื่องที่ถูกซ่อนเงาไว้ใต้พรมอย่างเงียบเชียบจนคนเทอดไท และคนบนพื้นที่สูงในพื้นที่อื่นๆ แทบไม่ทันสังเกต

IMG_8266

ทั้งภูมิสังคม ภูมิวัฒนธรรม และภูมิความรู้โภชนาการที่กลับไปเน้นกลุ่มเด็กเล็ก ตามแนวพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์ความรู้ที่เชื่อมโยงกับความเชื่อในการกินของชุมชนจนกลายเป็นรูปแบบของคนเทอดไทเอง

การปลูกพืชพื้นบ้านอย่างปลอดภัย การรักษาเมล็ดพันธุ์ท้องถิ่นเพื่อรักษา และสร้างความมั่นคงทางอาหารนำไปสู่การแก้ปัญหาด้านโภชนาการในพื้นที่ด้วย

ก้าวแรกของการแก้ปัญหาจึงเริ่มที่ข้าวกลางวันในโรงอาหาร

โรงเรียนสามัคคีพัฒนา โรงเรียนขนาดกลางใน อ.แม่ฟ้าหลวงที่ดูแลเด็กๆ ตั้งแต่ชั้นอนุบาลไปจนจบม.ต้น กว่า 600 ชีวิต ในพื้นที่ บ้านม้งเก้าแปดหลัง บ้านมงเก้าหลัง และบ้านสันมะเค็ด

ทั้งเด็กๆ ชาติพันธุ์ และเด็กๆ จากประเทศเพื่อนบ้าน

“ถึงไม่มีชื่อ แต่ถ้าเขามาถึงที่นี่เราก็ต้องสอน”

ตัวแทนแม่พิมพ์ของชาติรุ่นใหม่อย่าง ครูนุ้ย-ฐิติยวดี วงศ์ธิดา ยืนยันความเชื่อของเธอและเพื่อนครู

งบอาหารกลางวันจึงไม่ใช่แค่การจัดสรร แต่เป็นการดูแลให้ทุกคนอิ่มท้อง และได้รับสารอาหารครบ 5 หมู่

โดยมีแปลงเกษตรผสมผสานตามแนวพระราชดำริในหลวง ร.9 มาเป็นกองหนุนเพื่อตอบโจทย์

แน่นอนว่า ถึงจะดูแลมื้อกลางวันได้ แต่เช้ากับเย็นเด็กๆ ก็กลับไปสู่วังวนเดิมที่บ้าน

“มันเป็นก้าวแรก เพราะเป้าหมายเราต้องสร้างการเรียนรู้ให้เกิดขึ้น” พันธวัช ภูผาพันธกานต์ นักวิชาการอิสระที่ทำงานกับกลุ่มชาติพันธุ์มากว่า 20 ปีอธิบาย

เขาหวังว่า ความรู้นำไปสู่ความตระหนัก และทำให้พ่อแม่หันกลับมาเอาใจใส่เรื่องอาหารการกินของลูกให้มากขึ้น เพราะไม่ว่าจะมองไปทางดอยลูกไหน ก็ไม่เห็นว่าจะมีตรงไหนที่ปลูกผักที่จำเป็นในชีวิตไม่ขึ้น

ค่านิยมการเชื่อว่าผักข้างล่างดีกว่าผักข้างบนจึงเป็นโจทย์สำคัญ

ต้นแบบการสร้างสุขภาวะทางอาหาร และโภชนาการ โครงการส่งเสริมความมั่นคงทางอาหารในการส่งเสริมสุขภาวะเครือข่ายชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองน่าจะช่วยทลายกรอบความเชื่อเหล่านี้ได้ในอนาคต

พอๆ กับการแก้ปัญหาเกษตรอุตสาหกรรมที่กำลังสร้างหนี้ และความเสื่อมโทรมให้กับชุมชนอยู่ทั่วทุกพื้นที่ห่างไกล

CCW_1951

ในโรงอาหารหลังนั้น เด็กๆ ตั้งหน้าตั้งตากิน “ต้มยำไก่” ในชามสแตนเลสอย่างเอร็ดอร่อย

ถึงบรรทัดนี้...

แล้วคุณล่ะ คิดว่า 20 บาทมีค่าแค่ไหน