เปิด 10 ทริก ลงทุนหุ้นปันผล สร้างรายได้ประจำสม่ำเสมอ

เปิด 10 ทริก ลงทุนหุ้นปันผล สร้างรายได้ประจำสม่ำเสมอ

เปิด 10 ทริก ลงทุนหุ้นปันผล สร้างรายได้ประจำสม่ำเสมอ "นักวิเคราะห์" เผย หุ้นปันผลที่ดีต้องเต็มใจจ่ายเงินปันผล มีผลการดำเนินงานเติบโตสม่ำเสมอไม่เป็นธุรกิจที่มีผลกำไรขึ้น ๆ ลง ๆ มีแรงต้านทานต่อความผันผวนของเศรษฐกิจ

อาภาภรณ์ แสวงพรรค ผู้อำนวยการบริหาร ฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) กล่าวว่า หุ้นปันผลที่ดี ควรมีคุณสมบัติ ดังนี้

1.เต็มใจจ่ายปันผล โดยหุ้นที่มีความพร้อมจ่ายเงินปันผล พิจารณาจากความมั่นคงของผลการดำเนินงาน ผลกำไร โดยศึกษาข้อมูลในอดีตย้อนหลัง (5 – 10 ปี) หุ้นที่เต็มใจจ่ายเงินปันผลจะต้องมีผลการดำเนินงานเติบโตสม่ำเสมอ สังเกตได้ว่า หุ้นที่เต็มใจจ่ายเงินปันผลจะไม่เป็นธุรกิจที่มีผลกำไรขึ้น ๆ ลง ๆ เช่น ปีที่แล้วกำไรดี ปีนี้ขาดทุน ปีหน้ากำไรเล็กน้อย ปีถัดไปกลับขาดทุน เป็นต้น

เปิด 10 ทริก ลงทุนหุ้นปันผล สร้างรายได้ประจำสม่ำเสมอ

2.ดำเนินธุรกิจที่ผันผวนต่ำ หุ้นปันผลที่ดีสม่ำเสมอมักจะอยู่ในธุรกิจที่มีแรงต้านทานต่อความผันผวนของเศรษฐกิจ หมายความว่า ช่วงเศรษฐกิจซบเซาสามารถสร้างยอดขาย และมีผลกำไรที่น่าประทับใจ เพราะหากธุรกิจที่มีความผันผวนย่อมทำให้ผลการดำเนินงานผันผวนตามไปด้วย
 
3.ผลการดำเนินงานสามารถคาดการณ์ได้ หุ้นปันผลที่ดีควรคาดการณ์แนวโน้มผลประกอบการในอนาคตได้ เพราะหากรายได้ลดลงย่อมมีผลกระทบต่อกระแสเงินสดและการจ่ายเงินปันผล วิธีการ คือ นำตัวเลขประมาณการกำไรต่อหุ้นคูณนโยบายการจ่ายปันผล ซึ่งสามารถประมาณการจ่ายเงินปันผลคร่าว ๆ ได้

โดยอาจจะใช้หลักเกณฑ์ที่มีผลต่อการตัดสินใจจ่ายเงินปันผลเข้ามาประกอบด้วย ทั้งนโยบายการจ่ายเงินปันผล ซึ่งสามารถประเมินการจ่ายเงินปันผลจากตัวเลขรายได้และกำไร รวมถึงความสามารถในการจ่ายเงินปันผล เพราะมีบางบริษัท พยายามจ่ายเงินปันผลโดยการกู้เงินหรือขายสินทรัพย์บางอย่าง ซึ่งไม่มีความสามารถจ่ายปันผลที่ยั่งยืน
 

เปิด 10 ทริก ลงทุนหุ้นปันผล สร้างรายได้ประจำสม่ำเสมอ

4.ประวัติจ่ายเงินปันผลดี พิจารณาจากประวัติการจ่ายเงินปันผลย้อนกลับไปในช่วงเศรษฐกิจดีและเศรษฐกิจซบเซา รวมถึงช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ เพื่อให้ครอบคลุมวัฏจักรธุรกิจทั้งรุ่งเรืองและตกต่ำ โดยเฉพาะช่วงตกต่ำว่าบริษัทสามารถจ่ายเงินปันผลได้หรือไม่ เพื่อประเมินศักยภาพและแนวโน้มการจ่ายเงินปันผลของหุ้นได้ในระดับหนึ่ง
 
5.ฐานะการเงินแข็งแกร่ง บริษัทที่จ่ายเงินปันผลสม่ำเสมอจะต้องมีฐานะทางการเงินแข็งแกร่งและเพียงพอที่จะนำมาจ่ายปันผล โดยพิจารณาจากโครงสร้างหนี้ว่า มีหนี้สินต่อทุน (D/E Ratio) สูงเกินไปหรือไม่ และโครงสร้างหนี้ควรเป็นหนี้สินระยะยาว เพราะหากมีหนี้สินระยะสั้นสูง อาจจะมีความสามารถในการจ่ายเงินปันผลลดลง
 
6.กระแสเงินสดเป็นบวก พิจารณากระแสเงินสดจากการดำเนินงานมีความแข็งแกร่งต่อเนื่อง โดยพิจารณาย้อนหลัง 5 – 10 ปี ครอบคลุมทั้งวัฏจักรเศรษฐกิจขาขึ้นและขาลง ซึ่งกระแสเงินสดเป็นตัวบ่งชี้ว่า มีความสามารถจ่ายปันผลหรือไม่ หากบริษัทมีแนวโน้มการดำเนินธุรกิจที่ดีและกระแสเงินสดเป็นบวกได้ต่อเนื่อง มีนโยบายจ่ายเงินปันผลสม่ำเสมอ ก็มั่นใจได้ว่าในอนาคตยังคงจ่ายเงินปันผลต่อเนื่องได้
 
7.อัตราการจ่ายปันผลสูง การพิจารณาอัตราการจ่ายปันผล (Dividend Payout Ratio) เป็นอัตราส่วนที่พิจารณาได้ว่า หุ้นตัวนั้นเป็นหุ้นปันผลหรือไม่ โดยปกติอัตราการจ่ายปันผลจะคำนวณจากเงินปันผลต่อหุ้นเปรียบเทียบกับอัตรากำไรสุทธิต่อหุ้น โดยบริษัทที่เป็นหุ้นปันผลจะมีอัตราส่วนดังกล่าวอยู่ในระดับ 70 – 80% หรือบางบริษัทอาจสูงถึง 90 – 100% ส่วนหนึ่งเป็นผลจากรูปแบบธุรกิจที่มักอยู่ในอุตสาหกรรมที่เติบโตถึงระดับอิ่มตัว และค่อนข้างมีเสถียรภาพ จึงไม่ต้องการใช้เงินลงทุนมากนัก ดังนั้น ผลกำไรจากการดำเนินธุรกิจจึงมีแนวโน้มนำมาจ่ายเงินปันผลในระดับสูงได้
 
8.ค่าเบต้า (Beta) ต่ำ เป็นค่าที่ใช้เปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงของราคาหุ้นเทียบกับการเคลื่อนไหวของดัชนีหุ้น หรือเรียกในเชิงสถิติ คือ ความสัมพันธ์ระหว่างราคาหุ้นกับดัชนีหุ้น โดยให้ดูที่ค่าเบต้า หากเป็นหุ้นปันผลมักจะมีค่าเบต้าต่ำ ทั้งนี้ หากตลาดหุ้นอยู่ในช่วงผันผวนเพราะมีความเสี่ยง ไม่มีความไม่แน่นอนหรือไร้ทิศทางชัดเจน ควรเลือกหุ้นที่ค่าเบต้าต่ำ เพื่อลดความเสี่ยงจากการลงทุน และหุ้นที่มีค่าเบต้าต่ำมักให้อัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลระดับสูง เพราะผลตอบแทนจากเงินปันผลจะสามารถเป็นกันชนที่ช่วยลดความผันผวนของราคาหุ้น
 
9.สภาพคล่องอยู่ในเกณฑ์ดี หุ้นปันผลที่ดีควรมีสภาพคล่องในการซื้อขายด้วย ดังนั้น หุ้นปันผลที่มีมาร์เก็ตแคปขนาดใหญ่พอสมควรจะมีความน่าสนใจ และหากหุ้นปันผลที่มีมาร์เก็ตแคปไม่มาก ควรเลือกหุ้นที่มี Free Float สูง ๆ
 
10.อัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลสูงกว่าเงินเฟ้อ อัตราผลตอบแทนจากเงินปันผล (Dividend Yield) ควรสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ยเงินฝาก และผลตอบแทนหุ้นกู้ที่มีเรทติ้งระดับสูง เพราะการลงทุนในหุ้นมีความเสี่ยงกว่า ดังนั้น ผลตอบแทนเงินปันผลควรสูงตามไปด้วย
  เปิด 10 ทริก ลงทุนหุ้นปันผล สร้างรายได้ประจำสม่ำเสมอ

อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจเลือกหุ้นปันผลอาจไม่ได้ง่าย เพราะมีหลายสิ่งที่เกี่ยวข้องกับการจ่ายและรับเงินปันผล ดังนั้น นักลงทุนจึงควรศึกษาปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับหุ้นปันผลจากข้อมูลพื้นฐาน ดังนี้

1.เงินปันผลต่อหุ้น (Dividend Per Share : DPS) เป็นเงินปันผลที่ผู้ถือหุ้นจะได้รับต่อหุ้นในแต่ละปี โดยมาจากเงินปันผลจ่ายหารจำนวนหุ้นที่มีสิทธิรับเงินปันผลในงวดนั้น ๆ โดยเงินปันผลต่อหุ้นจะนำไปคำนวณเพื่อหาอัตราผลตอบแทนจากอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลต่อไป อย่างไรก็ตาม หากบริษัทมีการจ่ายเงินปันผลเป็นกรณีพิเศษก็ต้องหักเงินปันผลดังกล่าวออกก่อน จึงจะเห็นเงินปันผลปกติ

เงินปันผลต่อหุ้น = เงินปันผล/จำนวนหุ้นที่มีสิทธิได้รับเงินปันผลในงวดนั้น ๆ

กรณีมีการจ่ายเงินปันผลพิเศษ

เงินปันผลต่อหุ้น = (เงินปันผล – เงินปันผลพิเศษ)/จำนวนหุ้น

ตัวอย่าง หุ้น ABC จ่ายเงินปันผลประจำปี 2566 รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 2 ล้านบาท โดยมีจำนวนหุ้นที่มีสิทธิรับเงินปันผลทั้งสิ้น 1 ล้านหุ้น อย่างไรก็ตาม ช่วงกลางปีได้จ่ายเงินปันผลเป็นกรณีพิเศษ 5 แสนบาท ดังนั้น เงินปันผลต่อหุ้น

เงินปันผลต่อหุ้น = (2,000,000 – 500,000)/1,000,000

ดังนั้น เงินปันผลต่อหุ้นเท่ากับ 1.50 บาทต่อหุ้น


2.กำไรต่อหุ้น (EPS) สะท้อนให้เห็นว่าผู้บริหารมีความสามารถในการบริหารแล้วสร้างผลกำไรได้เป็นอย่างไร โดยพิจารณาว่า ผู้บริหารทำงานดีแค่ไหน อาจพิจารณาจากการบริหารยอดขาย ประสิทธิภาพต้นทุน ขณะเดียวกันเมื่อบริหารแล้ว ผลกำไรที่ทำได้จะจ่ายให้กับผู้ถือหุ้นสม่ำเสมอมากน้อยแค่ไหน พูดง่าย ๆ นอกจากผู้บริหารจะต้องมีประสิทธิภาพแล้วก็ต้องไม่ทิ้งผู้ถือหุ้นด้วย

กำไรต่อหุ้น = กำไรสุทธิรอบ 12 เดือนล่าสุด/ส่วนของผู้ถือหุ้น

3.อัตราการจ่ายเงินปันผล (Dividend Payout Ratio) คือ สัดส่วนเงินปันผล (DPS) หารกำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS) แสดงถึงว่ามีนโยบายจ่ายเงินปันผลระดับใด เช่น ปี 2566 บริษัทมีกำไรสุทธิ 100 ล้านบาท คิดเป็นกำไรสุทธิต่อหุ้น 1 บาทต่อหุ้น และจ่ายเงินปันผลจำนวน 60 ล้านบาท คิดเป็น 0.60 บาทต่อหุ้น หมายความว่า มีนโยบายจ่ายเงินปันผลปี 2566 ที่ระดับ 60%

อัตราการจ่ายเงินปันผล = (สัดส่วนเงินปันผลต่อหุ้น/กำไรสุทธิต่อหุ้น) x 100

อัตราการจ่ายเงินปันผลเป็นอัตราส่วนที่บอกว่าบริษัทมีเงินจำนวนเท่าใดและจะแบ่งจ่ายกลับไปให้ผู้ถือหุ้นในรูปเงินปันผลมากน้อยแค่ไหน

4.อัตราผลตอบแทนจากเงินปันผล (Dividend Yield) คำนวณจากมูลค่าปันผลต่อหุ้นเทียบกับราคาหุ้น หากหุ้นตัวใดมีอัตราดังกล่าว “สูง” หมายความว่าให้ผลตอบแทนเงินปันผล “สูง” (สามารถเปรียบเทียบกับหุ้นในธุรกิจเดียวกัน) ซึ่งอัตราผลตอบแทนดังกล่าวช่วยลดความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาหุ้น ยิ่งหุ้นให้อัตราผลตอบแทนสูง จะได้รับความนิยมจากนักลงทุนสูงเช่นเดียวกัน

อัตราผลตอบแทนจากเงินปันผล = (เงินปันผลต่อหุ้นต่อปี/ราคาหุ้น) x 100

ตัวอย่าง หุ้น YYY จ่ายเงินปันผล 3 บาท วันที่คำนวณ (1 มกราคม 2566) ราคาปิด 40 บาท ผลลัพธ์มีอัตราปันผลตอบแทน 7.5% ขณะที่หุ้น ZZZ จ่ายเงินปันผล 3 บาท วันที่คำนวณ (1 มกราคม 2566) ราคาปิด 60 บาท ผลลัพธ์มีอัตราปันผลตอบแทน 5%

สังเกตว่า ถึงแม้หุ้นทั้งสองจะมีเงินปันผลเท่ากัน (3 บาทต่อหุ้น) แต่หุ้น YYY มีอัตราปันผลตอบแทนสูงกว่าหุ้น ZZZ เพราะมีราคาหุ้นต่ำกว่า หมายความว่า หากลงทุนซื้อหุ้น YYY ได้ในราคา 40 บาท และจ่ายเงินปันผล 3 บาทต่อหุ้นเท่าเดิม จะได้รับผลตอบแทนจากเงินปันผลสูงถึง 7.5% ต่อปี

5.การคาดการณ์เงินปันผล คือ ประมาณการเงินปันผลต่อหุ้นในอนาคต ซึ่งต้องมีประมาณการกำไรต่อหุ้นและนโยบายการจ่ายเงินปันผล รวมทั้งพิจารณาอัตราการจ่ายปันผลที่จ่ายในงวดล่าสุดประกอบด้วย จากนั้นประเมินว่าในปีข้างหน้า บริษัทจะจ่ายปันผลมากน้อยแค่ไหน
 
ตัวอย่าง ปัจจุบันหุ้น XYZ ซื้อขายที่ราคา 10 บาท โดยจ่ายเงินปันผลไตรมาส 1 ปี 2566 จำนวน 25 สตางค์ และนักลงทุนประเมินว่าทุกไตรมาส บริษัทจะจ่ายเงินปันผลเท่ากัน หมายความว่า ปี 2566 จะจ่ายเงินปันผลทั้งสิ้น 1 บาท หมายความว่า มีการประเมินอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลประจำปี 2566 เท่ากับ 10%  

การพิจารณาลงทุนในหุ้นปันผล อาภาภรณ์อธิบายว่า นอกจากจะวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานแล้ว ควรให้ความสำคัญกับจังหวะเวลา (Timing) ในการลงทุนด้วย โดยช่วงตลาดขาขึ้น (Bull Market) หุ้นปันผลมักจะให้อัตราผลตอบแทนในการลงทุนที่ต่ำกว่าตลาด (Underperform Market) เมื่อพิจารณาอัตราส่วนต่างกำไรจากราคาหุ้นบวกอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผล

สำหรับช่วงที่ตลาดแกว่งตัวแคบ ๆ (Sideways) หรือมีความเสี่ยงและความไม่แน่นอน หุ้นปันผลจะได้รับความสนใจมากขึ้น เพราะมีอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลที่สูง ช่วยหนุนราคาหุ้นเอาไว้ ทำให้อัตราผลตอบแทนจากการลงทุนโดยรวมสูงกว่าตลาด (Outperform Market) ได้

ทั้งนี้ ต้องวิเคราะห์ให้ถ่องแท้ว่าหุ้นนั้น ๆ ยังสามารถจ่ายปันผลสูงได้ในช่วงที่ตลาดขาดปัจจัยบวกทางด้านพื้นฐานเข้ามากระตุ้นหรือไม่ หากมีแนวโน้มว่าจะจ่ายไม่ได้หรือจ่ายได้แต่น้อยลงมาก ราคาหุ้น (ที่เคยเป็นหุ้นปันผลดีในอดีต) ก็มีโอกาสที่จะลดลงมากกว่าตลาด (Underperform Market)