โบรกเกอร์ทรุดต่อวอลุ่มเหลือ 4 หมื่น หลังกำไรปี 66 วูบทุกรายกว่า 15%

โบรกเกอร์ทรุดต่อวอลุ่มเหลือ 4 หมื่น หลังกำไรปี 66 วูบทุกรายกว่า 15%

กำไรโบรกเกอร์ ปี 66 ทรุดถ้วนหน้าตามวอลุ่มหดตัวกระทบรายได้หลัก ธุรกิจหลักทรัพย์ วูบมากกว่า 15% ไม่เว้นโบรกเกอร์อันดับ 1 บล.เกียรตินาคินภัทร ฉุดรายได้ค่าธรรมเนียมรวม ‘ไพบูลย์’ คาดไตรมาส 1 ปี 67 วอลุ่มยังบางเฉียบ 4 หมื่นล้านบาท ต้องประคองธุรกิจรอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหนุน

KEY

POINTS

๐ กำไรโบรกเกอร์ปี 66 ดิ่งหนักมากกว่า 15 % ตามวอลุ่มตลาดหุ้นเฉลี่ยต่อวัน 50,000 ล้านบาท 

๐ ไตรมาส 1 ปี 67 วอลุ่มยังบางเฉียบเฉลี่ย 40,000 ล้านบาท  ฉุดะุรกิจโบรกต่อ

๐  รอมาตรการเศรษฐกิจฟื้นตลาดหุ้น ตลาดไอพีโอ  หนุนวอลุ่มคึก 

กำไรโบรกเกอร์ ปี 66 ทรุดถ้วนหน้าตามวอลุ่มหดตัวกระทบรายได้หลัก ธุรกิจหลักทรัพย์ วูบมากกว่า 15% ไม่เว้นโบรกเกอร์อันดับ 1 บล.เกียรตินาคินภัทร ฉุดรายได้ค่าธรรมเนียมรวม ‘ไพบูลย์’ คาดไตรมาส 1 ปี 67 วอลุ่มยังบางเฉียบ 4 หมื่นล้านบาท ต้องประคองธุรกิจรอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหนุน

     ภาพรวมตลาดหุ้นไทยปี 2566 ที่ผ่านมา ดัชนีปรับตัวลดลง 15% และมูลค่าการซื้อขายหรือวอลุ่มเฉลี่ยรายวัน 51,082 ล้านบาท นั้นมี ผลกับธุรกิจบริษัทหลักทรัพย์โดยตรง ที่มีจำนวนมากถึง 37  ราย  จากรายได้หลักที่อิงกับธุรกิจตัวกลางซื้อขายหลักทรัพย์ หรือโบรกเกอร์ ทำให้ผลประกอบการปี 2566 หลายโบรกเกอร์รายงานออกมากำไรทรุดลงถ้วนหน้าเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2565 ที่มีวอลุ่มรายวันเฉลี่ย  71,226 ล้านบาท

      จากการรายงานผลประกอบการปี 2566 ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ จำนวน 5 ราย จากทั้งหมด  9 ราย  ประกอบไปด้วย บริษัท เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ ASP  มีกำไรที่  407 ล้านบาท ลดลง 15.03% จากปีก่อนมีกำไร 479 ล้านบาท  โดยเป็นการปรับตัวลดลงของรายได้โบรกเกอร์หลักทรัพย์ 35.72%  ที่ 538 ล้านบาท จากปีก่อน 837 ล้านบาท รวมไปถึงรายได้โบรกเกอร์ตลาดอนุพันธ์ และค่าธรรมเนียมและบริการปรับตัวลดลงเช่นกัน

บริษัท โกลเบล็ก โฮลดิ้ง แมนเนจเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ  GBX  มีกำไรที่ 48.48 ล้านบาท ลดลง 31.23% จากปีก่อนมีกำไร 70.50 ล้านบาท จากรายได้โบรกเกอร์ลดลง 41.45%  อยู่ที่ 171 ล้านบาทจากปีก่อน จนทำให้ปริมาณการซื้อขายของ GBX ลดลงอยู่ที่ 1,202.08 ล้านบาทต่อวัน จาก 1,849.43  ล้านบาท ส่วนแบ่งการตลาดลดลง อยู่ที่ 1.22% จากปีก่อนที่ 1.31%  

      บริษัทหลักทรัพย์(บล.) เคจีไอ (ประเทศไทย)จำกัด (มหาชน) หรือ KGI มีกำไรที่  868 ล้านบาท ลดลง 13.54% จากปีก่อนมีกำไร 1,004 ล้านบาท  มาจากรายได้โบรกเกอร์ลดลง 21% อยู่ที่ 884 ล้านบาทจาก 1,115 ล้านบาทปีก่อน  ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการปรับตัวลดลงมากสุดโบรกเกอร์หลักทรัพย์ลดลง 29%  อยู่ที่ 557 ล้านบาทจาก 780 ล้านบาทปีก่อน

       บริษัทหลักทรัพย์ ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ UOBKH มีกำไรที่  90.86 ล้านบาท ลดลง 58.12%  จากปีก่อนมีกำไร 217 ล้านบาท รายได้รวมลดลงจากรายได้โบรกเกอร์ลดลง 34.22 % อยู่ที่ 654 ล้านบาท จาก 995 ล้านบาทปีก่อน  

  โบรกเกอร์ทรุดต่อวอลุ่มเหลือ 4 หมื่น หลังกำไรปี 66 วูบทุกรายกว่า 15%

และบริษัท  เอ็กซ์สปริง แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ XPG  มีกำไรที่  106  ล้านบาท เพิ่มขึ้น  161% จากปีก่อนขาดทุน  171  ล้านบาท  แม้จะรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนใน บล.กรุงไทย เอ็กซ์สปริง จำกัด ลดลง 32.59 ล้านบาท

      บล.กรุงไทย เอ็กซ์สปริง มีกำไรสุทธิลดลง 65.55 ล้านบาท  เกิดจากรายได้โบรกเกอร์ หลักทรัพย์ลดลง  328.59 ล้านบาท หรือลดลง 34.91%  จากวอลุ่มเฉลี่ยรายวันลดลง  30.07% ในขณะที่รายได้อื่นลดลง 23.63 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายรวมลดลง 286.67 ล้านบาท

      หากแต่บริษัทมีรายได้จากธุรกิจบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็กซ์สปริง จำกัด และบริษัท เอ็กซ์สปริง ดิจิทัล จำกัด เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 87.17 ล้านบาท รายได้ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 466 ล้านบาท รายได้รวมอยู่ที่  621.71 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 578%  จากปีก่อนอยู่ที่ 91.57 ล้านบาท

      อย่างไรก็ตามจากงบ ธนาคารเกียรตินาคินภัทร หรือ KKP มีบริษัทย่อย  บล.เกียรตินาคินภัทร  ระบุรายได้จากค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิ  5,476 ล้านบาท ลดลง 11% จากปีก่อน เป็นผลมาจากธุรกิจโบรกเกอร์ปรับตัวลดลง แต่ยังคงมีส่วนแบ่งฯ อันดับที่ 1 อยู่ที่ 20.8% รายได้จากธุรกิจวาณิชธนกิจยังอยู่ในระดับที่ดีแม้ประสบกับภาวะตลาดทุนที่ไม่เอื้ออำนวย

      นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.ทิสโก้ ในฐานะนายกสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (IAA) กล่าวว่า ผลดำเนินงานของธุรกิจโบรกเกอร์ในไตรมาส 1 ปี 2567 อาจจะยังไม่สดใสมากนัก ธุรกิจโบรกเกอร์ทำได้เพียงประคองธุรกิจไปก่อน เนื่องจากสถานการณ์ของวอลุ่มซื้อขายตลาดหุ้นไทยยังอยู่แค่ระดับ 40,000 ล้านบาทต่อวัน ปัจจุบันตลาดหุ้นไทยยังคงอยู่ในภาวะซบเซา แต่วอลุ่มซื้อขายถือว่าดีขึ้นเล็กน้อยเทียบกับช่วงไตรมาส 4 ปี 2566 ขณะที่ดัชนีตลาดหุ้นไทยต่ำกว่า 1,400 จุด 

     “ธุรกิจโบรกเกอร์จะเอาอะไรมาดี โดยเฉพาะในโบรกเกอร์ ขนาดเล็ก ดูจากวอลุ่มซื้อขายแค่ 40,000 ล้านบาท รวมถึงบรรยากาศลงทุนก็ไม่ดีทั้งภาพของตลาดใหญ่ และตลาดหุ้นไอพีโอก็ยังไม่กลับมาคึกคัก สภาพคล่องก็ไม่ดี ไม่ดึงดูดนักลงทุน ดังนั้น นักลงทุนก็ยังไม่กล้าเข้ามาลงทุน” 

     ดังนั้น สิ่งที่คาดหวังคือ การเห็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นมาตรการอะไรก็ตาม ซึ่งจะเป็นแรงกระตุ้นให้เศรษฐกิจฟื้นตัว เพราะตอนนี้จะรอการลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)  คงไม่ได้ เพราะเฟดคงไม่ได้จะลดดอกเบี้ยในเร็วๆ นี้ 

     ซึ่งนักลงทุนจะเห็นภาพการฟื้นต้วของเศรษฐกิจคงต้องพึงนโยบายของรัฐบาล และหากเห็นภาพเศรษฐกิจดีขึ้นนักลงทุนก็จะกล้าลงทุนมากขึ้น บริษัทก็จะมั่นใจในการนำบริษัทเข้ามาระดมทุน (ไอพีโอ) ซึ่งเมื่อนั้นสภาพคล่องในตลาดหุ้นก็จะเพิ่มขึ้น หนุนมูลค่าการซื้อขายให้กลับมาคึกคัก ซึ่งธุรกิจโบรกเกอร์ก็จะกลับมาสดใสได้

     นายกรภัทร  วรเชษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและบริการการลงทุน บล.กรุงศรี พัฒนสิน  กล่าวว่า  ระดับการซื้อขายเฉลี่ย 50,000 ล้านบาทต่อวัน ต่ำกว่าเฉลี่ยช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทำให้ธุรกิจโบรกเกอร์ที่แข่งขันกันรุนแรงอยู่แล้วได้รับผลกระทบหากกำไรไม่ลดลงจะเผชิญขาดทุนได้

      ต้นปี 2567 วอลุ่มยังไม่ได้ดีขึ้นแต่คาดว่าหากมีการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ชัดเจน บวกกับมาตรการที่ทางตลาดหลักทรัพย์ฯ คุม short selling  และ  Program Trading   ที่เกิดปัญหาในช่วงที่ผ่านมา จนกระทบวอลุ่มตลาดหุ้น ซึ่งทำได้ตรงจุด น่าจะทำให้วอลุ่มตลาดหุ้นไทยสามารถกลับมาได้

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์