CKPower กวาดรายได้ปี 66 กว่า 10,941 ล้านบาท ปักธงรุกผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด

CKPower กวาดรายได้ปี 66 กว่า 10,941 ล้านบาท ปักธงรุกผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด

CKP กวาดรายได้ 10,941 ล้านบาท ในปี 2566 ปักธงรุกผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ขานรับการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนทางพลังงาน คาดปี 67 ผลการดำเนินงานโตต่อเนื่องจากปัจจัยฤดูกาล วางเป้าเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ตอกย้ำแผนงาน CKP NET ZERO EMISSIONS 2050

ธนวัฒน์ ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ  CKP  เปิดเผยว่าในปี 2566 CKPower มีรายได้จำนวน 10,941 ล้านบาท แม้ว่าจะต้องเผชิญกับปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Niño) แต่ปริมาณน้ำมีการปรับตัวดีขึ้นตั้งแต่ช่วงกลางไตรมาสที่ 3 ของปี 2566 โดยบริษัทได้ปรับแผนการผลิตไฟฟ้าให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้มีปริมาณน้ำคงเหลือในอ่างเก็บน้ำของโรงไฟฟ้าพลังน้ำ น้ำงึม 2 สูงถึง 367 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง ซึ่งเป็นระดับน้ำคงเหลือในอ่างเก็บน้ำที่สูงที่สุดในรอบ 3 ปี และจะส่งผลบวกต่อผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2567 ซึ่งเป็นฤดูแล้ง

CKPower กวาดรายได้ปี 66 กว่า 10,941 ล้านบาท ปักธงรุกผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด

ธนวัฒน์ ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการ บมจ.ซีเค พาวเวอร์  หรือ  CKP 

ในปี 2566 CKPower รับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนใน ในบริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด (XPCL) ลดลงจากปริมาณการขายไฟฟ้าที่ลดลงตามปริมาณน้ำ และต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้นตามแนวโน้มดอกเบี้ยโลก ประกอบกับ บริษัท ไฟฟ้า น้ำงึม 2 จำกัด (NN2) มีรายได้จากการขายไฟฟ้าลดลง และมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากงานซ่อมบำรุงใหญ่ตามแผนซ่อมบำรุง (Major Overhaul) ในขณะที่ บริษัท บางปะอิน โคเจนเนอเรชั่น จำกัด (BIC) มีกำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นจากราคาก๊าซธรรมชาติเฉลี่ยในปี 2566 ที่ปรับลดลง จากปัจจัยดังกล่าว ส่งผลให้อัตรากำไรขั้นต้นของ CKPower เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 25.4 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.9 จากปี 2565

และมีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นของบริษัทจำนวน 1,462 ล้านบาท คิดเป็นอัตรากำไรสุทธิร้อยละ 13 สะท้อนถึงผลการดำเนินงานของบริษัทที่แข็งแกร่งท่ามกลางวิกฤตการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ทั้งวิกฤติด้านราคาพลังงาน ภูมิรัฐศาสตร์ และสภาพภูมิอากาศ อีกทั้งบริษัทยังบรรลุเป้าหมายด้านต่างๆ ที่สำคัญต่อการเติบโตอย่างยั่งยืนของบริษัท ประกอบด้วย การได้รับคัดเลือกให้เข้าอยู่ในทำเนียบ “บริษัทวิถียั่งยืนที่น่าลงทุน” หรือ ESG100 ประจำปี 2023 ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 จากสถาบันไทยพัฒน์ รวมถึงได้รับการประเมินให้เป็น 1 ใน 34 บริษัทจดทะเบียนที่มีการบริหารจัดการด้านความยั่งยืนในระดับ “AAA” ซึ่งเป็นระดับสูงสุดใน SET ESG Ratings ตลอดจนได้รับรางวัล Commended Sustainability Awards จากงาน SET Awards 2023 โดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งทั้งหมดแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของบริษัทในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน

ธนวัฒน์ กล่าวว่า แม้ว่าตลอดปีที่ผ่านมา CKPower จะต้องเผชิญกับความท้าทายจากวิกฤตการณ์สำคัญต่างๆ ทั่วโลกที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจของบริษัท โดยเฉพาะปรากฏการณ์เอลนีโญที่เกิดขึ้นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่บริษัทยังสามารถบริหารจัดการ การดำเนินงานของบริษัทผ่านสภาวะความไม่แน่นอนต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีผลการดำเนินงานที่เป็นกำไรสุทธิ มีกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอจากสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวที่โรงไฟฟ้าทำไว้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) อีกทั้งยังคงสถานะทางการเงินที่มั่นคงได้อย่างสม่ำเสมอ

โดยมีอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยจ่ายสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้นอยู่ในระดับต่ำที่ 0.53 เท่า สะท้อนแนวทางการบริหารงานของบริษัทที่มุ่งสร้างผลตอบแทนให้แก่ผู้ถือหุ้น และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ XPCL ยังประสบความสำเร็จในการเสนอขายหุ้นกู้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Debentures) เพิ่มเติมในปี 2566 อีก 3,500 ล้านบาท โดยนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ในครั้งนี้ไปชำระคืนเงินกู้ซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัว เพื่อลดความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราดอกเบี้ย และลดต้นทุนทางการเงินของ XPCL ท่ามกลางแนวโน้มภาวะดอกเบี้ยโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นตั้งแต่ปี 2566

“สำหรับก้าวต่อไป CKPower ได้วางเป้าหมายการเติบโตในด้านการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนและรากฐานความมั่นคงทางพลังงาน ตลอดจนร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนประเทศไทยก้าวสู่สังคมคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน โดยในปี 2566 โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในเครือของกลุ่มบริษัท CKPower สามารถผลิตไฟฟ้าสะอาดส่งให้ประเทศไทยได้ กว่า 8.5 ล้านเมกะวัตต์ชั่วโมง (MWh) หรือคิดเป็นกว่า 17% ของไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่ใช้ในประเทศในปี 2566 และสามารถหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 4.4 ล้านตัน คาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี เพื่อเดินหน้าสู่เป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ที่สามารถหวังผลในระยะยาวอย่างเป็นรูปธรรมภายในปี พ.ศ. 2593 และการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนทางพลังงานของประเทศไทย” นายธนวัฒน์ กล่าว

 

 


พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์