เมื่อโลกตึง 3 เด้ง...ธุรกิจต้องปรับทัพเพื่อลดความเสี่ยงในตลาดโลก

เมื่อโลกตึง 3 เด้ง...ธุรกิจต้องปรับทัพเพื่อลดความเสี่ยงในตลาดโลก

ในบรรดาความเสี่ยงที่โลกกำลังเผชิญ มี 3 ความเสี่ยงที่คาดว่าจะกระทบธุรกิจโดยเฉพาะธุรกิจระหว่างประเทศอย่างรุนแรงในปีนี้ แบ่งตามแหล่งที่มาของความเสี่ยง ได้แก่ การเมืองโลก สภาพคล่อง และพลังของการใช้จ่าย

สถานการณ์โลกมีทิศทางที่ดีขึ้นกว่าคาดการณ์เดิมอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุด IMF ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์อัตราขยายตัวของเศรษฐกิจโลกปี 2567 เป็น 3.2% จากคาดการณ์เดิมที่ 3.1% แต่ผู้ประกอบการยังวางใจได้ยาก เนื่องจากมีหลายปัจจัยเสี่ยงที่เกือบทุกประเทศทั่วโลกทั้งที่พัฒนาแล้วและกำลังพัฒนาล้วนกำลังเผชิญมากบ้างน้อยบ้างแตกต่างกัน ทั้งนี้ ในบรรดาความเสี่ยงที่โลกกำลังเผชิญ มี 3 ความเสี่ยงที่คาดว่าจะกระทบธุรกิจโดยเฉพาะธุรกิจระหว่างประเทศอย่างรุนแรงในปีนี้ แบ่งตามแหล่งที่มาของความเสี่ยง ได้แก่ การเมืองโลก สภาพคล่อง และพลังของการใช้จ่าย ซึ่งผมขอเรียกรวมกันว่าเป็น “สภาวะโลกตึง 3 เด้ง”

  • การเมืองโลกตึงเครียด จากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะในภูมิภาคตะวันออกกลาง หลังอิหร่านเข้าร่วมวงความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาสอย่างเปิดเผย โดยล่าสุด (19 เมษายน) อิสราเอลโจมตีอิหร่านเพื่อตอบโต้กรณีอิหร่านโจมตีทางอากาศถล่มเป้าหมายทางทหารในอิสราเอลก่อนหน้านี้ ทำให้การสู้รบเริ่มพัฒนาไปสู่ Direct War จากเดิมที่เป็น Proxy War ซึ่งความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่รุนแรงขึ้นย่อมส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกพุ่งสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดย Bloomberg Economics เคยประเมินไว้เมื่อเดือนตุลาคม 2566 ว่า หากเกิด Direct War ระหว่างอิสราเอลและอิหร่าน ราคาน้ำมันในตลาดโลกในบางช่วงอาจพุ่งแตะระดับ 150 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล นอกจากนี้ ยังส่งผลกระทบต่อค่าระวางเรือให้ปรับสูงขึ้น โดยนักวิเคราะห์คาดว่า ค่าระวางเรือเส้นทางเอเชีย-ยุโรปมีแนวโน้มปรับขึ้น 20-25% ในระยะข้างหน้าจากสถานการณ์ความไม่สงบในภูมิภาคตะวันออกกลาง ซึ่งผู้ประกอบการต้องเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เนื่องจากจะส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงต้นทุนโดยรวมของภาคธุรกิจ 
  • สภาพคล่องทางธุรกิจตึงตัว ภาคธุรกิจยังต้องเผชิญกับภาวะการเงินที่มีแนวโน้มตึงตัวต่อไปในปีนี้ ซึ่งถูกส่งผ่านจากต้นทุนการเงินโดยเฉพาะจากอัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับสูง แม้ธนาคารกลางสำคัญหลายแห่งมีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายก็ตาม ขณะที่มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการในช่วงวิกฤต COVID-19 ถูกถอนออกไป ซึ่งส่งผลกระทบต่อฐานะทางการเงินของบางธุรกิจ โดยเฉพาะด้านสภาพคล่อง เนื่องจากต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้น ทำให้ธุรกิจบางส่วนอาจถึงขั้นล้มละลาย ซึ่งจะก่อให้เกิดความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้เพิ่มขึ้น สอดคล้องกับที่ Allianz Research มองว่า การล้มละลายของภาคธุรกิจมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในปี 2567 สะท้อนจากดัชนีการล้มละลายของธุรกิจทั่วโลก (Global Insolvency Index) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 9% ในปี 2567 เทียบกับที่เพิ่มขึ้น 7% ในปี 2566 ขณะที่ Financial Times รายงานว่า ยอดรวมการผิดนัดชำระหนี้ของบริษัทขนาดใหญ่ในสหรัฐฯ และยุโรปในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2567 พุ่งสูงสุดนับตั้งแต่วิกฤตการเงินโลกในปี 2552 
  • ผู้บริโภคใช้จ่ายตึงมือ ปัจจุบันผู้บริโภคต้องแบกรับภาระหนี้ที่มีดอกเบี้ยสูง ประกอบกับความกังวลที่มากขึ้นจากค่าครองชีพที่สูงขึ้นทั้งจากราคาน้ำมันและค่าไฟฟ้า ทำให้ผู้บริโภคต้องจำกัดการใช้จ่ายและสรรหาวิธีใช้จ่ายที่คุ้มค่าที่สุด สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่เลือกซื้อสินค้าที่จำเป็นเท่านั้น ซึ่งอาจทำให้ผู้ประกอบการร้านค้าเผชิญยอดขายที่ลดลง ทั้งนี้ การใช้จ่ายอย่างระมัดระวังเป็นพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เกิดมาสักระยะแล้ว เนื่องจากโลกเผชิญวิกฤตมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้บริโภคในหลายประเทศชะลอการใช้จ่ายลง สอดคล้องกับเทรนด์การเงินสำหรับผู้บริโภคยุคใหม่ที่เรียกว่า Loud Budgeting ซึ่งเป็นเทรนด์การใช้จ่ายเงินไปกับสิ่งของที่มีความสำคัญหรือจำเป็นเท่านั้น เปรียบเสมือนการตะโกนบอกให้โลกรู้ถึงความไม่จำเป็นต้องซื้อสินค้าราคาแพงตามกระแสอยู่ตลอดเวลา

ท่ามกลางสถานการณ์โลกตึง 3 เด้ง ภาคธุรกิจโดยเฉพาะผู้ประกอบการส่งออกจำเป็นต้องปรับทัพเพื่อจัดการความเสี่ยง อาทิ การปรับธุรกิจให้ Lean เพื่อลดต้นทุน ขณะเดียวกันก็หาตลาดใหม่เพื่อกระจายแหล่งรายได้ พร้อมกับการเพิ่มโอกาสให้กับสินค้า โดยอาจใช้ประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ซึ่งช่วยลดอุปสรรคทางการค้าทั้งที่เป็นอุปสรรคทางภาษีและไม่ใช่ภาษี ปัจจุบันไทยมี FTA ทั้งสิ้น 15 ฉบับ ครอบคลุม 19 ประเทศ ซึ่ง FTA ไทย-ศรีลังกา เป็น FTA ฉบับล่าสุดที่ลงนามไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ขณะที่ FTA ที่กำลังอยู่ระหว่างการเจรจามีอีก 11 ฉบับ ซึ่ง FTA ที่คาดว่าจะเจรจาแล้วเสร็จในปีนี้ ได้แก่ FTA ไทย-สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และ FTA ไทย-สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป หรือ EFTA (ประกอบด้วยสมาชิก 4 ประเทศ คือ สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ และลิกเตนสไตน์) ทั้งนี้ ผมมองว่า ถึงเวลาแล้วครับที่ผู้ประกอบการต้องเตรียมกลยุทธ์ทั้งเชิงรุกเพื่อกระจายตลาดส่งออก และเชิงรับในการป้องกันความเสี่ยงต่าง ๆ ซึ่ง EXIM BANK ในบทบาทธนาคารเพื่อการพัฒนา พร้อมสนับสนุนผู้ประกอบการไทยอย่างครบวงจรเพื่อก้าวออกไปคว้าโอกาสบนเวทีการค้าโลกที่เปิดกว้างมากขึ้น