4 แบงก์ใหญ่ แข่งเดือด ชิงสมรภูมิ‘ อาเซียน’

4 แบงก์ใหญ่ แข่งเดือด ชิงสมรภูมิ‘ อาเซียน’

4 แบงก์ใหญ่ รุกโตอาเซียน บุกซื้อกิจการ จับมือพันธมิตร ชิงเค้กลูกค้าอาเซียนที่มีกว่า 600 ล้านคน ล่าสุด เอสซีบี เอกซ์ ซื้อโฮมเครดิต เวียดนาม มุ่งสู่ บริษัทเทคแห่งภูมิภาค

 “ภูมิภาคอาเซียน” ถือเป็นตลาดที่ใหญ่ และมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่สุดในโลกเป็นลำดับที่ 5 ที่เต็มไปด้วยประชากรกว่า 680 ล้านคน เหล่านี้เต็มไปด้วย “โอกาส” มากมาย ในการเข้าไปเติบโต และขยับขยายธุรกิจในระยะข้างหน้า

เช่นเดียวกับ “ภาคการเงิน” ที่มองเห็นโอกาสในการเข้าไปเติบโตในตลาดอาเซียน โดยเฉพาะ “4 แบงก์ใหญ่” ทั้งการซื้อกิจการ ขยายธุรกิจ การเปิดสาขา ที่เป็นการตอกย้ำให้เห็นถึงการต้องการไป “ตอกหมุด” ในอาเซียนชัดเจนมากขึ้น

แห่งแรกคือ “เอสซีบี เอกซ์” ที่ล่าสุดประกาศเข้าลงนามในสัญญาซื้อขายโดย ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) (SCB) เพื่อเข้าซื้อหุ้นในสัดส่วน 100 % ใน Home Credit Vietnam ที่มีมูลค่าดีลกว่า 31,000 ล้านบาท

การเข้าไปซื้อ Home credit ครั้งนี้ เอสซีบี เอกซ์ มองว่า จะเป็นก้าวสำคัญอย่างมากของ SCBX ในการมุ่งไปสู่การเป็น กลุ่มเทคโนโลยีทางการเงินชั้นนำของภูมิภาค จะช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับ SCBX ในการช่วงชิงการเติบโตบนอาเซียนมากขึ้น

สอดคล้องการวาง Vision ก่อนหน้านี้ที่ เอสซีบี เอกซ์ ตั้งเป้าเข้าไปขยายฐานลูกค้าให้ได้ถึง 200 ล้านคน ให้ครอบคลุมลูกค้าทั้งในประเทศ และฐานลูกค้าจากภูมิภาคอาเซียน

ถัดมาคือ “ธนาคารกรุงเทพ” แม้จะเป็นธนาคารที่ไม่ค่อยหวือหวามากนัก แต่ประกาศดีลมาแต่ละทีก็เขย่าวงการการเงินค่อนข้างมากๆ เช่นการเข้าไปซื้อกิจการ “ธนาคารเพอร์มาตา” ในอินโดนีเซีย มูลค่าดีลมหาศาลกว่า 7 หมื่นล้านบาท

ส่งผลให้ปัจจุบัน ธนาคารกรุงเทพ ถือเป็นสถาบันการเงินชั้นนำของภูมิภาค และยังเป็นธนาคารที่ใหญ่เป็นอันดับ 6 ในภูมิภาค ทั้งจากสินทรัพย์ หรือจำนวนธุรกิจที่ดำเนินการในต่างประเทศ โดยมีเครือข่ายสาขามากกว่า 30 แห่ง ครอบคลุม 13 เขตเศรษฐกิจสำคัญ

ต่อมา คงหนีไม่พ้น “ธนาคารกสิกรไทย” ที่ปักหมุดการเข้าไปต่อยอดธุรกิจในภูมิภาค AEC+3 ภายใต้พันธกิจในการเป็น “ธนาคารแห่งภูมิภาค AEC+3” โดยเฉพาะ ในจีน เวียดนาม อินโดนีเซีย และสปป.ลาว ธนาคารยังมีการปักหมุดสำคัญในการเป็น 1 ใน 20 อันดับธนาคารที่ดีที่สุดในเวียดนามและอินโดนีเซียภายในปี 2570

แต่การเข้าไปของ “กสิกรไทย” จะแตกต่างจากธนาคารอื่นๆ คือการเข้าไปขยายตลาดผ่าน ดิจิทัลแบงกิ้งโดย 3 ปี ธนาคารตั้งเป้าเข้าไปลงทุนพัฒนาด้านเทคโนโลยีเข้าซื้อกิจการ งบกว่า 2,700 ล้านดอลลาร์ เพื่อสร้างเครือข่ายธุรกิจ ที่ผสานด้วยดีเอ็นเอแห่งชาเลนเจอร์แบงก์ เพื่อให้ธนาคารกสิกรไทยก้าวไปสู่ ธนาคารยุคใหม่แห่งภูมิภาค AEC+3

ในสนามรบนี้ อีกธนาคารที่ไม่ควรมองข้ามอย่างยิ่ง คือ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ที่มีความแข็งแกร่งอย่างมากในตลาดอาเซียน จากการมีเครือข่ายที่ครอบคลุมภูมิภาค จากการมีบริษัทแม่ คือ MUFG  ดังนั้น การช่วงชิงฐานลูกค้าในอาเซียนของกรุงศรีฯ จึงอาจไม่ใช่เรื่องยาก

ที่ผ่านมาธนาคารประกาศหลายดีล ตอกย้ำสำคัญในการเข้าไปเจาะตลาดในอาเซียน ทั้งเข้าไปซื้อกิจการ และถือหุ้น ทั้งใน Home credit ในฟิลิปปินส์ และ อินโดนีเซีย หรือเวียดนาม และ SHB Finance ธุรกิจสินเชื่อเพื่อผู้บริโภคในเวียดนาม 

ดังนั้น ด้วยจากฐานที่แข็งแกร่งของ ธนาคารกรุงศรี ที่มีเครือข่ายธุรกิจครอบคลุม 5 ประเทศในอาเซียน จึงเป็นอีกคู่แข่งที่น่ากลัวเช่นเดียวกัน