นักเศรษฐศาสตร์ ยก 'ป๋วย อึ๊งภากรณ์‘ เป็น บิดา ผู้วางรากฐานนโยบายเศรษฐกิจไทย

นักเศรษฐศาสตร์ ยก 'ป๋วย อึ๊งภากรณ์‘ เป็น บิดา ผู้วางรากฐานนโยบายเศรษฐกิจไทย

นักเศรษฐศาสตร์ ยก ‘ดร. ป๋วย อึ๊งภากรณ์‘ เป็นบิดานักสู้ บิดาแห่งการวางรากฐาน นโยบายเศรษฐกิจไทย ผู้ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย

เนื่องวันที่ 9 มี.ค. 2459 ถือเป็นวันสำคัญ คือวันเกิดของบุคคลของหน้าประวัติศาสตร์ไทย คือ “ป๋วย อึ๊งภากรณ์” นักเศรษฐศาสตร์คนสำคัญของประเทศไทย และยังเป็นอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ที่ได้สร้างคุณงามความดี และ สร้างจารึกสำคัญๆในหน้าประวัติศาสตร์ไทยไว้อย่างไม่รู้ลืม

ในมุมนักเศรษฐศาสตร์ หากให้นึกถึง  ดร. ป๋วย อึ๊งภากรณ์ หลายคนมองว่า ท่านเป็น “ผู้นำ”ของนักเศรษฐศาสตร์ไทยในหลายเรื่อง ที่มีทั้งความรู้ ความกล้าหาญ ที่หาเปรียบเทียบยากคนหนึ่ง

อมรเทพ จาวะลา” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย หนึ่งใน ศิษย์เก่าเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ เล่าให้ฟังว่า หากนึกถึง “ดร.ป๋วย”ในมุมส่วนตัวแล้ว สิ่งแรกๆที่นึกถึง คือ ข้อเขียนของ อาจารย์ป๋วย  เขียนไว้ “ครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน”  ล้วนชวนให้นึกถึง 3 เรื่อง ที่อาจารย์ ป๋วย ที่เกี่ยวกับอาจารย์ป๋วย  

เรื่องแรก ผู้มีจิตวิญญาณในการพัฒนา ทั้งในด้านสวัสดิการ ภาครัฐ การดูแลเรื่องของสังคม ที่ถือเป็นหัวใจของธรรมศาสตร์ ที่ไม่ได้พูดถึงเรื่องเงิน แต่ให้ความสำคัญในเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจ

เรื่องที่สอง สิ่งที่อาจารย์ป๋วยเน้นย้ำ คือ ความสำคัญของจริยธรรมในเศรษฐศาสตร์ เพื่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคม ให้เป็นไปอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน

เวลาเรานึกถึง อาจารย์ป๋วย สิ่งที่ต้องคิดเป็นอันดับแรกๆคือ การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย การเรียกร้องต่างๆเพื่อความเป็นธรรมในสังคม เรื่องจริยธรรมก็เป็นเรื่องสำคัญ ไม่ใช่แค่เรื่องของคอรัปชั่น แต่หมายถึงเรื่องของ การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างไรที่ให้ถูกต้องและเป็นธรรม ถือเป็นเรื่องที่เศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ก็พยายามหล่อหลอมมาอย่างต่อเนื่อง

เรื่องที่ 3 บทบาทของอาจารย์ป๋วย ทั้งในบทบาทภาคการคลัง หรือบทบาทสำคัญ ในฐานะผู้ว่าการแบงค์ชาติ จุดสำคัญที่หลายคนนึกถึงนั้นคือ การพัฒนาเศรษฐกิจหรือการใช้นโยบายการเงิน บนแนวทางของอาจารย์ป๋วย ที่มีการคำนึงถึงเรื่องความยั่งยืนมาด้วยเสมอ  

รวมไปถึง เรื่องของความเชื่อมั่น ที่เชื่อว่าเป็นเรื่องสำคัญ เพราะหากเราสามารถดำรงสิ่งเหล่านี้ได้ การใช้นโยบายการเงินหรือนโยบายเศรษฐกิจทั้งหลาย เพื่อให้ดูเรื่องไม่ใช่เพียงการเติบโตในระยะสั้น แต่ต้องดูเรื่องความยั่งยืนในระยะยาว

“หลายบทเรียน หรือหลายคำสอน ที่มาจากอาจารย์ป๋วย ที่นึกถึง ยังมีเรื่องของการ สนับสนุนนโยบาย ที่สร้างความสมดุล ระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจกับสวัสดิการทางสังคม เพื่อรับประกันว่าผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจกระจายไปยังทุกส่วนของสังคม และยังมุ่งมั่นในการลดความเหลื่อมล้ำและส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อสร้างสังคมที่มีความแตกต่างเท่าเทียม และยั่งยืนในระยะยาว”

ไม่เพียงเท่านั้น ในวิชา เรียน อาจารย์ป๋วย ยังสอน โดยการเปิดโอกาสให้นักศึกษา อยู่ในเมืองกรุงเทพฯหรือแม้แต่โครงการภาคภาษาอังกฤษ เพื่อไปคลุกคลีกับชาวบ้านในชนบท ไปใช้ชีวิต เหล่านี้ก็เพื่อให้เกิดการพัฒนาโครงการพัฒนาชนบท

ในมุมของ “ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย” กรรมการผู้จัดการ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) เมื่อกล่าวถึง อาจารย์ป๋วย สิ่งที่นึกถึง คงหนีไม่พ้น 3 ประเด็นหลัก

เรื่องแรก เขาเปรียบเทียบ “อาจารย์ป๋วย” ให้เป็น ตัวอย่างของข้าราชการไทย ที่ยึดมั่นกับความถูกต้อง และพยายามต่อสู้กับความเผด็จการต่างๆ แสดงให้เห็นว่า ข้าราชการไทย ควรยืนหยัดต่อความถูกต้อง ต่อสู้กับความไม่ถูกต้อง และเชื่อว่า สุดท้ายแล้ว สิ่งที่ต่อสู้มา ก็จะได้รับการยอมรับ 

เรื่องที่สอง เขายกให้อาจารย์ป๋วย “บิดา” แห่งผู้วางรากฐานของการบริหารนโยบายเศรษฐกิจของ ประเทศไทย ผ่านการดำรงตำแหน่งสำคัญๆ ทั้งในแง่ของการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจ การวางพื้นฐานของการบริหารนโยบายเศรษฐกิจ ที่ไม่ว่า จะเป็นในฝั่งของราชการ ฝั่งธนาคารแห่งประเทศไทย ก็สามารถนำโครงสร้างที่ถูกต้องเหล่านี้ มาใช้เป็นตัวอย่างได้ โดยเฉพาะการเป็นผู้พัฒนา ระบบราชการไทย และระบบการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคอย่างแท้จริง

เรื่องสุดท้าย อาจารย์ป๋วย ถือเป็น “ผู้ให้” การมาเป็นคณบดีเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ ถือเป็นหน้าที่ ที่เสียสละ และต้องละทิ้งตำแหน่งหน้าที่ต่างๆทางเศรษฐกิจ ของประเทศ เพื่อไปเป็น “ครู” เพื่อที่ต้องการถอดถ่ายทอด สิ่งที่ท่านรู้ ให้กับคนรุ่นหลัง ซึ่งคนแบบนี้ ไม่ค่อยเห็นบ่อยๆในสังคมไทย

ซึ่งจากบทบาทในหลายๆด้าน ก็เป็นเครื่องพิสูจน์ได้อย่างชัดเจน ว่าบทบาทแต่ละด้านที่ท่านทำ และเป็นผู้บุกเบิกหลายๆเรื่อง ทั้งการพัฒนา เป็นผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลง ที่ทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา มีความรับผิดชอบแล้วก็ไม่ย่อหย่อนต่ออุปสรรคต่างๆถึงแม้ว่าบางครั้งอุปสรรคจะเป็นเรื่องของอำนาจ ท่านก็แสดงให้เห็นถึงการยืนหยัดต่อความถูกต้องอย่างชัดเจน