นักเศรษฐศาสตร์ค้าน ประชุมกนง.นัดพิเศษ ชี้ ลดดอกเบี้ย ไม่ช่วยเศรษฐกิจทันที

นักเศรษฐศาสตร์ค้าน ประชุมกนง.นัดพิเศษ ชี้ ลดดอกเบี้ย ไม่ช่วยเศรษฐกิจทันที

“นักเศรษฐศาสตร์” ชี้เศรษฐกิจไทยยังไม่วิกฤติถึงขั้นที่ต้องเปิดประชุม กนง.นัดพิเศษ “ซีไอเอ็มบีไทย” ระบุรอเดือน เม.ย.ได้ “เกียรตินาคินภัทร” เผยลดดอกเบี้ยไม่หนุนเศรษฐกิจทันที “ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” ชี้ยังไม่วิกฤติ “ทีดีอาร์ไอ” ระบุลดดอกเบี้ยแก้ไม่ตรงจุด

กลับมาเป็นประเด็นอีกระลอกหลัง “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีความการกระทรวงการคลัง โพสต์ผ่าน X (ทวิตเตอร์) เมื่อวันที่ 19 ก.พ.2567 หลังสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานเศรษฐกิจปี 2566 ขยายตัวเพียง 1.9% 

ตอกย้ำเศรษฐกิจไทยกำลังเข้าสู่ “วิกฤติ” หรือ Critical stage จึงเรียกร้องให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประชุมรอบพิเศษเป็นการเร่งด่วนเพื่อพิจารณาลดดอกเบี้ย โดยไม่ต้องรอให้ถึงกำหนดการประชุมที่กำหนดไว้

ในมุมนักเศรษฐศาสตร์มีมุมมองว่าอาจยังไม่ถึงเวลา หรือ ยังไม่มีความจำเป็นในการเรียกประชุม กนง.นัดพิเศษ เพราะเศรษฐกิจไทยยังไม่ใช่วิกฤติ เหมือนที่เศรษฐกิจไทยเผชิญช่วงโควิด-19 จนต้องประชุม กนง.นัดพิเศษ เพื่อลดดอกเบี้ยเร่งด่วน แต่วันนี้ยังห่างไกลกับคำว่า “วิกฤติ” แต่เป็นเพียงเศรษฐกิจไทยที่เติบโตช้าเท่านั้น

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงกรณีที่นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สศช.ขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ลดดอกเบี้ยนโยบาย ว่า ยังไม่ได้พูดคุยกับนายดนุชา แต่ทราบมาก่อนแล้ว เพราะนายดนุชาได้มารายงานแล้วก็ให้เกียรติ สศช.ที่แถลงข่าวเมื่อวันที่ 19 ก.พ.2567 แต่วันนี้ยังไม่ได้มีการพูดคุยหลังได้โพสต์บน x

“ผมไม่เคยสั่งเลขาธิการ สศช.และได้ให้สัมภาษณ์ชัดเจนว่า ผมไม่เคยสั่งเรื่องนี้ เป็นเรื่องของความอิสระของหน่วยงานอิสระ ไม่ว่าจะเป็นแบงก์ชาติ ผมไม่มีอำนาจในการไปสั่ง ผมอยากจะฝากข้อคิดว่าการมีอิสระ ไม่ได้หมายความว่าจะไม่คำนึงถึงชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องหรือความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน” 

สำหรับรายละเอียดที่โพสต์บน x อยากให้เรียกประชุม กนง.เป็นการเร่งด่วนเพื่อพิจารณาลดดอกเบี้ย เพราะเชื่อว่ามีข้อมูลใหม่จาก สศช.มาแล้ว ซึ่งหากรอการประชุมเดือน เม.ย. 2567 คิดว่าอีกตั้ง 2 เดือน ก็อยากจะรบกวน อ้อนวอน วิงวอน จะใช้คำอะไรก็ตาม ลองพิจารณาดูอีกที

สศช.ชี้ปัญหาหนี้ครัวเรือนสำคัญ

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สศช.กล่าวว่า การเรียกร้อง ธปท.ลดดอกเบี้ยนโยบาย เพราะข้อมูลเศรษฐกิจที่ออกมาค่อนข้างต่ำกว่าที่คาดไว้ และตัวเลขหนี้ที่ค้างชำระระหว่าง 1-3 เดือน (SML) กำลังกลายเป็นหนี้เสีย (NPL) จึงคิดว่าควรจะต้องคุยกับ ธปท. ส่วนก่อนหน้านี้ได้คุยกับผู้ว่า ธปท.นั้น เป็นการคุยกันแต่ไม่ได้จริงจังเพราะยังไม่มีตัวเลขในมือและตัวเลขเศรษฐกิจยังไม่ออก ตอนนั้นเรียนไปว่าน่าจะลองพิจารณาดู

“การออกมาพูดเรื่องนี้ไม่ได้ถูกกดดันจากนายกฯ เห็นตัวเลขเลยคิดว่าน่าจะลองพิจารณามาตรการทางการเงิน ซึ่งพูดคุยกับผู้ว่า ธปท. ตลอด เดี๋ยวจะคุยกันว่าจะเป็นอย่างไรบ้าง ต้องเข้าใจด้วยว่าผู้ว่า ธปท.มีคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่มีกรรมการอีกหลายคน ต้องอาศัยการพูดคุยใน กนง.และต้องอยู่ที่ตัว กนง.”

ส่วน กนง.ต้องเรียกประชุมนัดพิเศษหรือไม่ นายดนุชา กล่าวว่า ไม่มีความเห็นเรื่องนี้ แล้วแต่ กนง.จะเป็นผู้พิจารณา และอยากให้พิจารณามาตรการทางการเงิน ซึ่งไม่ได้มีแค่เรื่องนี้ดอกเบี้ยเรื่องเดียวแต่มีเรื่องอื่นด้วย จึงน่าจะพิจารณาว่าจะทำอย่างไรเพราะปัญหาหนี้ครัวเรือนเป็นเรื่องสำคัญ

ซีไอเอ็มบีไทย’ คาด กนง.ยังไม่ประชุมนัดพิเศษ

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบีไทย กล่าวว่า ในอดีตเคยเรียกประชุม กนง.วาระพิเศษ เพื่อลดดอกเบี้ยเร่งด่วน หากเจอวิกฤติเศรษฐกิจ แต่วันนี้เศรษฐกิจไทยยังไม่ถึงขั้นมีปัญหา และยังไม่จำเป็นหรือถึงขั้นต้องนัดประชุม กนง.วาระพิเศษ เพราะยังไม่เห็นสัญญาณทั้งจากตัวเลขเศรษฐกิจ หรือเศรษฐกิจที่ชะลอตัวหนัก เช่นเดียวกันกับนโยบายการเงินของต่างประเทศที่วันนี้ยังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ

ดังนั้น สถานการณ์นี้ยังรอได้จนถึงการประชุมกนง. นัดถัดไปในต้นเดือนเม.ย. จนกว่าตัวเลขเศรษฐกิจไทยในมุมต่างๆ จะออกมาครบถ้วน ทั้งตัวเลขเศรษฐกิจเดือนม.ค. ที่จะออกมาในวันที่ 29 ก.พ.นี้ และตัวเลขเงินเฟ้อที่จะออกในช่วงต้นเดือนมี.ค. หากเครื่องชี้ข้างต้นชะลอตัวหนักต่อเนื่อง ก็สามารถลดดอกเบี้ย

“เชื่อว่าวันนี้แบงก์ชาติก็ไม่ได้ปิดโอกาสในการประชุม กนง.นัดพิเศษ หากเศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำคาดมากๆต่อเนื่อง หรือมีข้อมูลเศรษฐกิจเพียงพอ เพื่อนำมาพิจารณาดอกเบี้ยก็นัดประชุมวาระพิเศษได้ แต่วันนี้มองว่ายังไม่ถึงขั้นต้องเรียกรอบประชุมรอบพิเศษ เพราะยังไม่เห็นตัวเลขเศรษฐกิจทั้งหมด และนโยบายการเงินต่างประเทศก็ยังไม่เปลี่ยนไปจากเดิม ถึงนั้นเชื่อว่ารอรอบประชุมเดือน เม.ย.ได้”

นอกจากนี้ สิ่งที่จำเป็นมากกว่า การเรียกประชุมกนง.นัดพิเศษ เพื่อลดดอกเบี้ย คือ การเร่งเบิกจ่ายภาครัฐ ในส่วนที่ทำได้ เพื่อพยุงเศรษฐกิจให้เกิดขึ้นต่อเนื่อง เพราะวันนี้ยังไม่เห็นบทบาทของรัฐบาลในการเดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจ จนกว่าจะไม่มีทางเลือกอื่นๆแล้ว ถึงต้องใช้เครื่องมือจากนโยบายการเงิน คือการลดดอกเบี้ย

อย่างไรก็ตาม มองว่า แม้จะมีการลดดอกเบี้ยลง 0.25% ก็อาจไม่ได้ช่วยเศรษฐกิจมากนัก เนื่องจากการลดดอกเบี้ยครั้งนี้ อาจลดดอกเบี้ยครั้งเดียวจบ ซึ่งอาจไม่เห็นผลในเชิงหนุนเศรษฐกิจมากนัก อาจทำได้แค่ลดความตึงเครียดระหว่างภาครัฐ และฝั่งนโยบายการเงิน เพราะการส่งผ่านดอกเบี้ยไปสู่เศรษฐกิจจริงนรั้น ต้องใช้เวลา และต้องทำอย่างต่อเนื่อง ถึงจะเห็นผล

“หากวันนี้ รัฐบาลประกาศชัดเจนว่า เรากำลังเข้าสู่สุญญากาศทางการคลังแล้ว ไม่มีเครื่องมืออื่นๆ จำเป็นทีต้องใช้เครื่องมือจากนโยบายการเงิน การลดดอกเบี้ยก็ควรเกิดขึ้นได้ แต่เรายังไม่ได้ยินประโยคนี้ที่ชัดเจนจากภาครัฐ เพราะวันนี้ รัฐบาลยังสามารถเบิกจ่ายได้ โดยเฉพาะเบิกจ่ายจากงบทั่วไป ดังนั้นปัญหาวันนี้ คือการโยนบอลไปมามากกว่า”

‘เคเคพี’ ลดดอกเบี้ยไม่ช่วยเพราะใช้เวลาส่งผ่าน

นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย กรรมการผู้จัดการ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) มองว่า เศรษฐกิจไทยขณะนี้ยังไม่จำเป็นในการประชุม กนง.วาระพิเศษเพื่อลดดอกเบี้ย แม้เศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 จะชะลอตัว แต่ด้านอื่นยังขยายตัวได้ เช่น การบริโภค ที่ขยายตัวที่ระดับ 7% ดังนั้น ตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมา ไม่ได้สะท้อนว่าต้องลดดอกเบี้ยลงทันที

ทั้งนี้การแสดงความเห็นของนายกฯ เป็นสิ่งที่ให้ความเห็นได้เพราะเป็นบุคคลที่ให้ความเห็นในการเนินนโยบายการเงินได้ แต่การตัดสินใจอยู่ที่ กนง.ที่ต้องชั่งน้ำหนักว่าควรลดดอกเบี้ยหรือไม่

“การที่นายกฯออกมาพูดก็เชื่อว่าเป็นสิทธิที่สามารถแสดงความคิดเห็นได้ และเป็นเรื่องปกติ ที่ให้ความเห็นได้ ตราบใดที่ยังไม่ข้ามพรมแดนความเป็นอิสระของ ธปท.ก็เหมือนคนอื่นที่แสดงความเห็นได้ แต่การพิจารณาเรื่องดอกเบี้ย มาจากความการพิจารณาอย่างอิสระของธปท. ที่ต้องมาพร้อมกับความรับผิดชอบ และโปร่งใส”

ทั้งนี้ มองว่า แม้มีลดดอกเบี้ยลง อาจยังไม่เห็นผลทันที เพราะต้องใช้เวลามากกว่า 6 เดือน กว่าที่ดอกเบี้ยจะส่งผลไปสู่ระบบเศรษฐกิจ ดังนั้นในช่วงที่เครื่องมือดอกเบี้ย ยังไม่สามารถสนับสนุนเศรษฐกิจไทย สิ่งที่เป็นคำถามคือ ในส่วนของภาครัฐ ว่ามีเครื่องมืออื่นอีกหรือไม่ ในการสนับสนุนเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการเร่งเบิกจ่ายในส่วนงบที่ค้างไว้ ในช่วงที่งบประมาณหลักยังไม่สามารถออกมาได้

“จากการพิจารณาดอกเบี้ยในช่วงต้นเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ที่ออกมา 5 ต่อ 2 เสียง โดย 2 เสียงให้ลดดอกเบี้ยลง เชื่อว่าเป็นการเปิดประตูไปสู่การลดดอกเบี้ยเร็วขึ้นของ กนง.ในระยะข้างหน้า หากจีดีพีระยะข้างหน้าปรับลดลงต่อเนื่อง บวกกับเงินเฟ้อติดลบต่อเนื่อง ดังนั้น มีโอกาสที่จะเห็น กนง.ลดดอกเบี้ยได้ใน เม.ย.หรือ มิ.ย.นี้”

ศนูย์วิจัยกสิกรไทย’ ชี้เศรษฐกิจยังไม่วิกฤติ

นายบุรินทร์ อดุลวัฒนะ กรรมการผู้จัดการ และ Chief Economist บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า โอกาสจะเห็น กนง.นัดพิเศษเป็นไปได้ยาก เพราะจะเกิดได้ต้องมีวิกฤติเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจไทยเช่นเดียวกันโควิด-19 ที่เศรษฐกิจเข้าสู่วิกฤติทันทีและเป็นสถานการณ์ที่รอไม่ได้ แต่สถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบันยังไม่ถึงวิกฤติ การพิจารณาเพื่อลดดอกเบี้ยยังรอได้ตามกำหนด 2 เดือนข้างหน้า

แต่ยอมรับว่าภาพรวมเศรษฐกิจไทยออกมาแย่ต่อเนื่อง มีความเป็นไปได้ที่ กนง.จะลดดอกเบี้ยเดือน เม.ย.นี้ จากเดิมที่มองไว้เดือน มิ.ย.ไปแล้ว หากภาพเศรษฐกิจไทยสะท้อนภาพที่ชะลอตัวต่อเนื่อง

“สิ่งที่แบงก์ชาติต้องรักษาคือความน่าเชื่อถือในการทำนโยบายการเงิน เพราะการจัดประชุมวาระพิเศษของ กนง.อาจทำให้ในสายตาของนักลงทุนว่าแบงก์ชาติอาจขาดอิสระได้" 
ดังนั้นสถานการณ์วันนี้รอได้หากตัวเลขออกมาเพิ่มเติม เศรษฐกิจชะลอตัวต่อ เงินเฟ้ออ่อนแอก็ลดดอกเบี้ยได้ แต่วันนี้ยังไม่ใช่วิกฤติที่รอไม่ได้ แม้มุมมองเศรษฐกิจอาจโตช้า และมีสัญญาณเข้าสู่ภาวะถดถอย แต่บิสเน็ตไซเคิลยังไม่ใช่ วิกฤติที่คนตกงานจำนวนมาก หากไม่ลดดอกเบี้ยวันนี้แล้วแบงก์จะล่ม ยังไม่ใช่วิกฤติแบบนั้น”

ทีดีอาร์ไอ”ชี้ลดดอกเบี้ยแค่ชะลอปัญหา

นายนณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า สถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบันอยู่ช่วงฟื้นตัว แต่ช้ากว่าที่คาดการณ์ไปบ้าง และการฟื้นตัวแบบไม่เท่าเทียมกัน (K shape recovery) คือ คนรากหญ้าและผู้ประกอบการ SMEs จะฟื้นช้ากว่า

นอกจากนี้ ตัวเลขชะลอตัวมาจากความล่าช้าของกระบวนการงบประมาณที่ทำให้รายจ่ายภาครัฐและการลงทุนภาครัฐหดตัว ประกอบกับการชะลอการใช้จ่าย เพราะเก็บไว้เพื่อโครงการดิจิทัลวอลเล็ตด้วย ซึ่งน่าจะเริ่มคลี่คลายในปี 2567 กลายเป็นแรงสนับสนุนการฟื้นตัว 

ดังนั้นโจทย์ปัญหาเศรษฐกิจไม่ใช่เป็นปัญหาวงกว้าง แต่เป็นปัญหาเฉพาะจุด เช่น กำลังซื้อรากหญ้า หนี้ครัวเรือน หนี้รถ หนี้บ้าน ความสามารถของ SMEs ซึ่งแปลว่าเศรษฐกิจต้องการมาตรการเฉพาะจุดมากกว่าการกระตุ้นขนาดใหญ่ เช่น การออกมาตรการเงินดิจิทัล 10,000 บาท หรือ การลดดอกเบี้ย

“ส่วนตัวมองว่าช่วยได้ แต่จะไม่มีประสิทธิภาพนัก เหมือนเหวี่ยงแหแก้ปัญหา เกาไม่ถูกที่คัน ลดดอกเบี้ยไปแล้ว แต่ไม่แก้ปัญหาเฉพาะจุดก็แค่ชะลอปัญหาออกไป”

สบน.หวังต้นทุนออกพันธบัตรลดลง
 

นางจินดารัตน์ วิริยะทวีกุล ที่ปรึกษาด้านหนี้สาธารณะ โฆษกสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวว่า จากกรณีเศรษฐกิจไทยปี 2566 ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้อยู่ที่ 1.9% จึงคาดว่าอาจจะทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีขยับเพิ่มขึ้น เพราะการขยายตัวเศรษฐกิจลดลงทำให้การคำนวณระดับหนี้สาธารณะปรับเพิ่มขึ้นจากเดิมที่คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจปี 2566 จะขยายตัวได้ 2.5%

ทั้งนี้ ความท้าทายในการบริหารหนี้สาธารณะในปีนี้ลดลงจากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยลดลง อย่างไรก็ดีอัตราดอกเบี้ยสูงในปีที่ผ่านมา ทำให้ต้องใช้เงินในการชำระดอกเบี้ยจากงบประมาณเพิ่มขึ้น 
รวมทั้งการกู้หนี้ระยะสั้นช่วงโควิดและการบริหารวงเงินหนี้คงค้าง 2 ล้านล้านบาท ซึ่งต้องปรับโครงสร้างหนี้ให้เป็นหนี้ระยะยาวที่มีอัตราดอกเบี้ยคงที่

นอกจากนี้ความล่าช้าของงบประมาณปี 2567 จึงทำให้มีความท้าทายช่วงการเบิกจ่ายงบลงทุนเนื่องจากเหลือเวลาใช้เงินงบประมาณอีกเพียง 4-5 เดือน

ทั้งนี้ หาก กนง.มีแนวโน้มลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงในปี 2567 ซึ่งที่ผ่านมาดอกเบี้ยนโยบายปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.5% ทำให้ต้นทุนทางการเงินในการบริหารงานภาครัฐเพิ่มขึ้นด้วย โดยปัจจุบัน สบน.มีต้นทุนทางการเงินเฉลี่ย 2.74% เพิ่มขึ้นจากการกู้เงินระยะสั้นช่วงโควิด-19 จากเดิมอยู่ที่ 2.4% ซึ่งหาก กนง.ลดอัตราดอกเบี้ยลงจะทำให้ปรับโครงสร้างหนี้ให้กลับมาอยู่ระดับที่เหมาะสม