วิกฤติหุ้น IPO ต้องเร่งแก้ก่อนตลาดพัง

วิกฤติหุ้น IPO ต้องเร่งแก้ก่อนตลาดพัง

“ตลาดหุ้น IPO” ในไทยกำลังเผชิญกับมหาวิกฤติ โดย “หุ้นน้องใหม่” ที่เข้ามาเทรด “ตายแบบยกลัง” ไม่มีใครยืนเหนือราคาจองซื้อได้ซักรายในวันเทรดวันแรก แถมแต่ละตัวติดลบในระดับ 10-40%

ชั่วโมงนี้คงไม่มีอะไรที่ย่ำแย่ไปกว่า “ตลาด IPO” อีกแล้ว คนในแวดวงการลงทุนย่อมรู้ดีกว่าสถานการณ์หุ้นที่เสนอขายให้ประชาชนทั่วไปครั้งแรก หรือ “IPO” อยู่ในภาวะที่เรียกได้เต็มปากว่า “เละเทะ” ...แม้ผู้ใหญ่ในแวดวงการลงทุนจะยังไม่ยอมรับว่ามันคือ “วิกฤติ” แต่ถ้าถามนักลงทุน ถามคนในแวดวงโบรกเกอร์ ทุกคนตอบแบบหลังไมค์ว่า นี่คือ “มหาวิกฤติ” ...ดังนั้นถ้าผู้ใหญ่ในวงการยังมองว่าไม่ใช่วิกฤติ ปัญหาเหล่านี้ก็คงไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน!

ทำไมคนในวงการโบรกเกอร์และนักลงทุนมองว่า “ตลาด IPO” เรากำลังเผชิญกับมหาวิกฤติ นั่นก็เพราะช่วงเวลานี้ “หุ้นน้องใหม่” ที่เข้ามาเทรด “ตายแบบยกลัง” โดยเฉพาะ 7 หุ้น IPO ล่าสุด ไม่มีใครยืนเหนือราคาจองซื้อได้ซักรายในวันเทรดวันแรก แถมแต่ละตัวติดลบในระดับ 10-40%

ถ้าดูยาวๆ ตั้งแต่ต้นปี 2566 ถึงปัจจุบัน มีหุ้นใหม่ที่เสนอขาย IPO รวมทั้งหมด 37 บริษัท ในจำนวนนี้มีที่ยืนเหนือราคา IPO ได้เพียง 10 บริษัท ที่เหลืออีก 27 บริษัท “ตายเรียบ” ...แบบนี้ไม่รู้ว่าจะเรียกเป็นวิกฤติได้หรือไม่?

แน่นอนว่าหุ้น IPO เหล่านี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะภาวะการลงทุนไม่เอื้ออำนวยด้วย สะท้อนจากดัชนีตลาดหุ้นไทยในปีนี้ ถือเป็นตลาดที่ผลตอบแทนย่ำแย่ติดอันดับต้นๆ ของโลก ...ซึ่งนั่นเป็นเพียงหนึ่งในปัจจัยสำคัญแต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมดที่ทำให้ตลาด IPO ถูกลดทอนความน่าสนใจลง

เพราะถ้าล้วงลึกถึงสาเหตุที่นักลงทุนเข็ดขยาดกับหุ้น IPO กันดีๆ แล้วยังมีปัจจัยซ่อนเร้นแอบแฝงอยู่อีกมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง market maker หรือการที่มีนักลงทุนบางกลุ่มไม่ได้ถูกล็อกอัปหรือติดช่วงเวลาห้ามขายเอาไว้ แถมยังมีต้นทุนที่ต่ำกว่าราคา IPO นำหุ้นเหล่านั้นออกมาขายในวันแรกกันสนุกมือ

เอาเรื่อง market maker ก่อน ซึ่งจริงๆ แล้ววัตถุประสงค์ของ market maker คือ การทำหน้าที่ดูแลสภาพคล่องการซื้อขายของตลาด พยายามพาผู้ซื้อกับผู้ขายมาเจอกันในราคาที่ใกล้เคียงกันที่สุด ดังนั้นถ้าหุ้นมีวอลุ่มที่หนาแน่นอยู่แล้ว market maker อาจไม่ต้องเข้าไปดูแลเลยก็ได้

แต่กับหุ้น IPO หลายๆ ตัวที่มีผู้อาสารับหน้าที่เป็น market maker กลับทำหน้าที่ซึ่งนอกเหนือไปกว่านั้น คือ พยายามดูแลให้ราคาหุ้นพุ่งทะลุใจเจ้าของ แต่ท้ายที่สุดปลายทางราคากลับร่วงไม่เป็นท่า ยิ่งระยะหลังๆ เห็นชัดเจนว่าพอตัว market maker เสี่ยงจะขาดทุนก็เทขายยับหมดหน้าตัก เพื่อลดความเสี่ยงไปก่อน ทำให้ราคาหุ้น IPO บางตัวหวือหวายิ่งกว่าเล่นพนัน 

นอกจากนี้หุ้นบางตัวยังมีข้อครหาว่า มีนักลงทุนบางกลุ่มที่ได้หุ้นในราคาต่ำกว่า IPO แถมไม่ได้ถูกล็อกอัป เมื่อเข้าเทรดก็พร้อมขายในทุกราคาที่ได้กำไร ถึงขนาดที่ “เซียนหุ้น” หลายรายที่ได้หุ้น IPO มายังบ่นในประเด็นนี้กัน ...จริงๆ เราเข้าใจได้ว่า หลายบริษัทเร่งขายหุ้นในช่วงนี้ เพราะตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป เกณฑ์การเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นจะเข้มงวดกว่าเดิม

โดยผู้ที่เสนอขายหุ้น IPO ต้องส่งงบการเงินย้อนหลังแบบสมบูรณ์ถึง 3 ปี และการตรวจสอบก็จะลึกเข้มข้นกว่าเดิมมาก เราจึงหวังว่าปีหน้าฟ้าใหม่ “ตลาด IPO” จะกลับมาสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ลงทุน เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว นักลงทุนคงไม่กล้าใส่เงินเข้ามาในตลาดนี้ ถึงตอนนั้นคงสะเทือนวงการตลาดทุนไม่ใช่น้อย ที่สำคัญหากยังไม่สามารถแก้ปัญหา 2 เรื่องที่กล่าวมาข้างต้นได้ ต่อให้งบการเงินของบริษัทนั้นดีแค่ไหน ตลาดก็เสี่ยงพังได้อยู่ดี!