เปิด 3 เหตุผล 'ดร.ปิติ' ไร้ชื่อ 99 นักเศรษฐศาสตร์ ค้านแจกเงินดิจิทัล

เปิด 3 เหตุผล 'ดร.ปิติ' ไร้ชื่อ 99 นักเศรษฐศาสตร์ ค้านแจกเงินดิจิทัล

ดร.ปิติ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผย 3 เหตุผล ที่ไม่เข้าร่วมลงชื่อกับ 99 นักเศรษฐศาสตร์ แม้ว่า ส่วนตัวที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทก็ตาม

รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจระหว่างประเทศ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสผ่านเฟสบุคที่ชื่อ Piti Srisangnam ว่า ผมไม่เห็นด้วยกับนโยบายแจกเงิน DIGITAL 10,000 บาท และอยากให้มีการศึกษาทบทวนโครงการนี้ครับ แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่สามารถลงนามใน แถลงการณ์ร่วมของนักเศรษฐศาสตร์ ฉบับนี้ได้เนื่องจาก

1. ข้อความในแถลงการณ์มีข้อคลาดเคลื่อนหลายจุด โดยเฉพาะในตัวเนื้อหา
2. ขาดการอ้างอิงแหล่งที่มาของข้อมูลที่น่าเชื่อถือ
3. ขาดการนำข้อเสนอแนะเพื่อหาทางออกในการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพและมีความเป็นธรรม ผมคิดว่า นักเศรษฐศาสตร์ควรเสนอแนะแนวทางที่สร้างสรรค์ให้กับรัฐบาลด้วย

ตัวอย่างของความคลาดเคลื่อนที่ผมไม่เห็นด้วย อาทิ
1. ประเด็น “ตัวทวีคูณทางการคลัง (fiscal multiplier)” ที่กล่าวว่าต่ำกว่า 1 ซึ่งไม่น่าจะถูกต้อง และยังไม่ได้มีการอ้างอิงว่าแหล่งข้อมูลมาจากที่ใด เพียงแต่บอกว่ามากจาก “ข้อมูลเชิงประจักษ์จากงานวิจัย” ไม่น่าจะเป็นการอ้างอิงที่มีน้ำหนัก

2. ประเด็น “ประเทศไทยที่มีอัตราส่วนรายรับจากภาษีต่อ GDP เพียงร้อยละ 13.7” ในแถลงการณ์ไม่ได้อ้างอิงแหล่งที่มาของตัวเลขนี้ แต่จากข้อมูลของ OECD ปี 2021 สัดส่วนดังกล่าวของไทยอยู่ที่ 16.4% และจาก IMF ปี 2020 สัดส่วนดังกล่าวของไทยอยู่ที่ 17.6%

3. ประเด็น “ประเทศที่เข้าสู่สังคมสูงวัยเช่นประเทศไทย” ข้อมูลน่าจะผิดพลาดเนื่องจาก ประเทศไทยได้เข้าสู่ภาวะ Aged Society หรือสังคมสูงวัยเต็มขั้นมาระยะหนึ่งแล้ว มิใช่ที่ประเทศที่เข้าสู่สังคมสูงวัย

รองศาตราจารย์ ดร.ปิติ ศรีแสงนาม
คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ปล. วันนี้คิดอยู่นานว่าจะไปลงชื่อเป็นคนที่ 100 หรือไม่

ก่อนหน้านี้ อาจารย์เศรษฐศาสตร์ได้ออกแถลงการณ์ขอให้รัฐบาลทบทวนนโยบายการแจก เงินดิจิทัล 10,000 บาท อีกสักครั้ง เพราะเป็นนโยบายที่ได้ไม่คุ้มเสีย ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

1. เศรษฐกิจกำลังอยู่ในภาวะฟื้นตัวตามศักยภาพ คาดว่าปีนี้จะขยายตัวประมาณร้อยละ 2.8 ในปีนี้ และร้อยละ 3.5 ในปีหน้า สอดคล้องกับการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญที่ค่อยๆ ฟื้นตัวจากวิกฤตโรคระบาดและเงินเฟ้อรุนแรงในช่วงปี 2562-2565  จึงไม่มีความจำเป็นที่รัฐจะต้องใช้จ่ายเงินจำนวนมากเพื่อกระตุ้น การบริโภคภายในประเทศ เพราะที่ผ่านมาการบริโภคภายในประเทศยังคงขยายตัวได้ดีเมื่อเทียบกับการส่งออก

นอกจากนี้ การกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศยังอาจจะเป็นปัจจัยให้เกิดเงินเฟ้อสูงขึ้นมาอีก หลังจากที่เงินเฟ้อได้ลดลงจากร้อยละ 6.1 มาอยู่ที่ประมาณร้อยละ 2.9 ในปีนี้ ท่ามกลางราคาพลังงานที่มีแนวโน้มสูงขึ้นในระยะหลัง การกระตุ้นการบริโภคในช่วงเวลานี้จะทำให้เงินเฟ้อคาดการณ์ (inflation expectation)สูงขึ้น และอาจนำไปสู่สภาวะที่ต้องขึ้นดอกเบี้ยในที่สุด

2. เงินงบประมาณของรัฐที่มีจำกัดย่อมมีค่าเสียโอกาสเสมอ เงินจำนวนมากถึงประมาณ 560,000 ล้านบาทนี้ ทำให้รัฐเสียโอกาสที่จะลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ในการสร้าง digital infrastructure หรือในการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ เป็นต้น เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งล้วนแต่จะสร้างศักยภาพในการเจริญเติบโตในระยะยาวแทนการใช้เงินเพื่อการกระตุ้นการบริโภคระยะสั้นๆ ซึ่งไม่สมเหตุสมผลต่อการสร้างภาระหนี้สาธารณะให้เป็นภาระแก่คนรุ่นต่อไป ค่าเสียโอกาสสำคัญ คือการใช้เงินสร้างงานเพื่อสร้างรายได้ให้ประชาชน

3. การกระตุ้นเศรษฐกิจให้รายได้ประชาชาติ (GDP) ขยายตัวโดยรัฐแจกเงินจำนวน 560,000 ล้านบาทเข้าไปในระบบ เป็นการคาดหวังที่เกินจริง เพราะปัจจุบัน ข้อมูลเชิงประจักษ์จากงานวิจัยทำให้นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ เชื่อว่า ตัวทวีคูณทางการคลัง (fiscal multiplier) มีค่าลดลงมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้จ่ายของรัฐที่เกิดจากการใช้จ่ายของรัฐในลักษณะเงินโอนหรือการแจกเงิน มีค่าต่ำกว่า 1 ด้วยซ้ำ

การที่รัฐบอกว่านโยบายนี้จะทำให้เงินหมุนหลายรอบ จะเป็นการเปลี่ยนมือจากคนหนึ่งไปอีกคนหนึ่ง หมายถึงอัตราหมุ่นเวียนของเงิน (velocity of money) แต่ผลกระทบของการใช้จ่ายภาครัฐที่มีต่อ GDP ต้องดูจากตัวทวีคูณทางการคลัง (fiscal multiplier)  ที่ปัจจุบันมีค่าต่ำมาก

4. เราอยู่ในวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นมาตั้งแต่ปี 2565 เพราะเงินเฟ้อสูงขึ้นมาก การก่อหนี้จำนวนมาก ไม่ว่ารัฐบาลจะออกพันธบัตรหรือกู้เงินจากรัฐวิสาหกิจหรือกู้สถาบันการเงินของภาครัฐ ก็ล้วนแต่จะทำให้รัฐบาลและคนทั้งประเทศต้องเผชิญกับอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นทั้งสิ้น หนี้สาธารณะของรัฐที่ปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 10.1 ล้านล้านบาท หรือร้อยละ 61.6 ของรายได้ประชาชาติ (GDP) จะต้องมีภาระที่จะต้องจ่ายดอกเบี้ยสูงขึ้นในยามที่ต้องจ่ายคืนหรือกู้ใหม่ ซึ่งจะมีผลต่อภาระเงินงบประมาณของรัฐในแต่ละปี นี่ยังไม่นับจำนวนเงินค่าดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นจากการแจกเงิน digital คนละ 10,000 บาทนี้

5. ในช่วงที่โลกเผชิญกับวิกฤตโรคระบาดและภาวะเศรษฐกิจถดถอย รัฐบาลแทบทุกประเทศต่างก็จำเป็นที่จะต้องมีการขาดดุลการคลังและสร้างหนี้จำนวนมาก เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ใช้จ่ายด้านสาธารณสุข และเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ แต่หลังจากวิกฤตโรคระบาดและภาวะเศรษฐกิจถดถอยผ่านไป หลายประเทศได้แสดงเจตนารมย์ที่ฉลาดรอบคอบ โดยลดการขาดดุลภาครัฐและหนี้สาธารณะลง (fiscal consolidation) ทั้งนี้เพื่อสร้าง ‘ที่ว่างทางการคลัง’ (fiscal space) ไว้รองรับวิกฤตเศรษฐกิจในอนาคต นโยบายแจกเงิน digital 10,000 บาทนี้ ดูจะสวนทางกับสิ่งที่ควรจะเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศไทยที่มีอัตราส่วนรายรับภาษี เพียงร้อยละ 13.7 ของรายได้ประชาชาติ (GDP) ซึ่งถือว่าต่ำกว่าประเทศอื่นๆ

6. สำหรับประเทศที่เข้าสู่สังคมสูงวัยเช่นประเทศไทย การเตรียมตัวทางด้านการคลังเป็นสิ่งจำเป็น ขณะที่จำนวนคนในวัยทำงานลดลง แต่สัดส่วนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ภาระการใช้จ่ายทางด้านสวัสดิการและสาธารณสุขจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก ผู้บริหารประเทศที่มองการณ์ไกล จึงควรใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่า และรักษาวินัยและเสถียรภาพทางด้านการคลังอย่างเคร่งครัด

ด้วยเหตุผลต่างๆ ข้างต้น บรรดานักวิชาการและคณาจารย์เศรษฐศาสตร์ จึงเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิก ‘นโยบายแจก เงินดิจิทัล 10,000 บาท’ แก่ผู้มีอายุ 16 ปีขึ้นไป เพราะประโยชน์ที่ประเทศจะได้นั้นน้อยกว่าต้นทุนที่เสียไปอย่างมาก นอกจากนี้ ยังเป็นการสร้างบรรทัดฐานให้มีการแจกเงินเพื่อกระตุ้นให้คนจับจ่ายใช้สอยในระยะสั้นๆ โดยไม่คำนึงถึงวินัยและเสถียรภาพการคลังในระยะยาว

รายชื่อนักวิชาการและคณาจารย์เศรษฐศาสตร์ ที่ร่วมออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ได้แก่ 

  • ดร.วิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
  • ดร.ธาริษา วัฒนเกส อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
  • รศ.ดร.อัจนา ไวความดี อดีตรองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
  • รศ.ดร.สิริลักษณา คอมันตร์ อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์
  • ดร.บัณฑิต นิจถาวร อดีตรองผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย
  • รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์
  • ศ.ดร.พรายพล คุ้มทรัพย์ อดีตรองอธิการบดีและอดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์
  • ศ.ดร.ปราณี ทินกร อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์
  • รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
  • ดร.วิญญู วิจิตรวาทการ อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์
  • ศ.ดร.สกนธ์ วรัญญูวัฒนา อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์
  • รศ.ดร.สุกัญญา นิธังกร อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์
  • รศ.ดร.ชยันต์ ตันติวัสดาการ อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์
  • ดร.สินาด ตรีวรรณไชย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
  • ผศ.ดร.โสภิณ จิระเกียรติกุล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
  • ผศ.ดร.ประชา คุณธรรมดี คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • ผศ.ดร.ธีรวุฒิศรีพินิจ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • อาจารย์ พงศ์พลิน ยิ่งชนม์เจริญ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • ผศ.ชล บุนนาค คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • ผศ.ดร.ทีปกร จิร์ฐิติกุลชัย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • ผศ.สุวรรณี วัธนจิตต์ อดีตอาจารย์ คณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์
  • อาจารย์ พีรพัฒน์ เภรีรัตนสมพร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • ดร.พิชญา บุญศรีรัตน์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
  • ผศ.สุกําพล จงวิไลเกษม คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
  • อาจารย์ กุศล เลี้ยวสกุล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • ผศ.ดร.สุวรรณา สายรวมญาติ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  • ผศ.ดร.ธนาภรณ์ อธิปัญญากุล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  • รศ.ดร.กนกวรรณ จันทร์เจริญชัย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  • รศ.ดร.โสมสกาว เพชรานนท์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  • ผศ.ดร.ธนสิน ถนอมพงษ์พันธ์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  • รศ.ดร.กัมปนาท วิจิตรศรีกมล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  • รศ.ดร.เกรียงไกร เตชกานนท์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • ผศ.ดร.สันติ แสงเลิศไสว คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  • อาจารย์ พีรพัฒน์ เภรีรัตนสมพร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • รศ.ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อดีตอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์
  • วิรัตน์ วัฒนศิริธรรม อดีตเลขาสํานักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
  • ผศ.ดร.จาริต ติงศภัทิย์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • ดร. จิตริยา ปิ่นทอง อดีตเอกอัครราชทูต
  • ภัสสร เวียงเกตุ อดีตรองผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
  • รศ. ชูศรี มณีพฤกษ์ อดีตอาจารย์ คณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์
  • ผศ.จรินทร์ พิพัฒนกุล อดีตอาจารย์ คณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์
  • ผศ.จินตนา เชิญศิริ อดีตอาจารย์ คณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์
  • รศ.ดร.ดาว มงคลสมัย อดีตอาจารย์ คณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์
  • รศ.ดร. โกวิทย์ กังสนันท์ มหาวิทยาลัยราชพฤกษ์
  • ผศ.ประภัสสร เลียวไพโรจน์ อดีตรองอธิการบดีและอดีตอาจารย์ คณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์
  • รศ.ดร.ภาวดีทองอุไทย อดีตอาจารย์ คณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์
  • รศ.ดร. ภิรมย์ จั่นถาวร อดีตอาจารย์ คณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์
  • ศ.ดร. มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด มูลนิธิสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ
  • ผศ.ดร. วัชรียา โตสงวน อดีตรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • รศ.วันรักษ์ มิ่งมณีนาคิน อดีตอาจารย์ คณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์
  • ผศ.ดร.โอม หุวะนันทน์ อดีตอาจารย์ คณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์
  • รศ.พรพิมล สันติมณีรัตน์ อดีตอาจารย์ คณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์
  • รศ.ดร.เพลินพิศ สัตย์สงวน อดีตอาจารย์ คณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์
  • รศ.ดร.ลิลี่ โกศัยยานนท์ อดีตรองอธิการบดีและอดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์
  • รศ.ดร.สมศักดิ์ แต้มบุญเลิศชัย อดีตอาจารย์ คณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์
  • รศ.สุขุม อัตวาวุฒิชัย อดีตอาจารย์ คณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์
  • ผศ.ดร.วิศาล บุปผเวส สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ และ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
  • รศ.ดร.กิริยา กุลกลการ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • ผศ.มณีรัตน์ ภิญโญภูษาฤกษ์ อดีตอาจารย์ คณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์
  • ผศ.ดร.วิศิษฐ์ ลิ้มสมบุญชัย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  • ผศ.ดร.ดารารัตน์ อานันทนะสุวงศ์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
  • รศ.ดร.สมนึก ทับพันธุ์ อดีตอาจารย์ คณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์
  • รศ.ดร.เยาวเรศ ทับพันธุ์ อดีตอาจารย์ คณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์
  • อาจารย์ สุพรรณ นพสุวรรณชัย อดีตอาจารย์ คณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์
  • ศ. ดร.วุฒิ ศิริวิวัฒน์นานนท์ คณะวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีซิดนีย์ (University of Technology Sydney)
  • รศ.ดร.ธัชนันท์ โกมลไพศาล คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย
  • อ.ดร.จีราภา อินธิแสง โธฌีม คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  • อ.ดร.กติกา ทิพยาลัย คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • รศ.ปิยะลักษณ์ พุทธวงศ์ เศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  • ผศ ดร กรรณิการ์ ดวงเนตร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  • รศ.ดร. กรรณิการ์ ดํารงค์พลาสิทธิ์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • ผศ.ดร.พงศ์ศักดิ์ เหลืองอร่าม คณะเศรษฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • รศ. ธรรมวิทย์ เทอดอุดมธรรม มหาวิทยาลัยรังสิต
  • รศ.ดร. เขมรัฐ เถลิงศรี คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • ผศ.ดร.อัจฉรา ปทุมนากุล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  • ดร.ธวัชชัย ยงกิตติกุล อดีตอธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
  • ดร.ธัญญา ศิริเวทิน อดีตรองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
  • ศ.นพ.เทพ หิมะทองคํา โรงพยาบาลเทพประทาน
  • เกริกไกร จีระแพทย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
  • รศ.จันทร์ทิพย์ บุญประกายแก้ว คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เปิด 3 เหตุผล \'ดร.ปิติ\' ไร้ชื่อ 99 นักเศรษฐศาสตร์ ค้านแจกเงินดิจิทัล