‘ผู้ว่าธปท.’ ชี้ศก.ไทยฟื้น! เลิกติดเตียง แต่ป่วยเรื้อรัง ต้องแก้ให้ตรงจุด

‘ผู้ว่าธปท.’ ชี้ศก.ไทยฟื้น! เลิกติดเตียง แต่ป่วยเรื้อรัง ต้องแก้ให้ตรงจุด

ผู้ว่าธปท. ประเมินสุขภาพเศรษฐกิจไทย เวลานี้เปรียบเหมือนคนไข้ที่เดินออกจากโรงพยาบาลแล้ว เริ่มฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง แต่การฟื้นตัวยังไม่เข้มแข็งนัก เปรียบเหมือนคนป่วยที่ยังมีโรคเรื้อรัง การแก้ปัญหาจึงควรต้องแก้ให้ถูกจุด

กรุงเทพธุรกิจ” รวบรวมบทสรุปของ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ที่ขึ้นกล่าวปาฐกถาบนเวที “Thailand Economic Outlook 2024 : Change The Future Today เปลี่ยนเศรษฐกิจไทยต้องเริ่มวันนี้” 

โดย ดร.เศรษฐพุฒิ ขึ้นพูดในหัวข้อ “ประเมินสุขภาพเศรษฐกิจไทย” ซึ่งสรุปได้ว่า เศรษฐกิจไทยเวลานี้เปรียบเหมือนคนไข้ที่เดินออกจากโรงพยาบาลเป็นที่เรียบร้อย และเริ่มฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง เพียงแต่การฟื้นตัวยังไม่เข้มแข็งนัก เปรียบได้กับคนป่วยที่ยังมีโรคเรื้อรัง การแก้ปัญหาจึงควรต้องแก้ให้ถูกจุด

 

การฟื้นตัวเศรษฐกิจ

  • การบริโภคภาคเอกชน ซึ่งมีสัดส่วนต่อจีดีพีราว 50% “เติบโตดี” โดยไตรมาส 2 ปี 2566 ขยายตัวถึง 7.8% สูงสุดในรอบ 20 ปี และโตเป็น 2 เท่าของค่าเฉลี่ยในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา  
  •  ตลาดแรงงาน “เติบโตดี” โดยไตรมาส 2 ปี 2566 ขยายตัว 2.4% ฟื้นตัวราว 109% จากช่วงก่อนโควิด ขณะที่จำนวนผู้ว่างงานและเสมือนว่างงานลดลงเหลือ 2.6 ล้านคนในไตรมาส 2 ปี 2566 ซึ่งลดลงจากช่วงโควิดที่ peak สุด 6.2 ล้านคน
  • การท่องเที่ยว “เติบโตดี” พบว่า จำนวนนักท่องเที่ยวตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน เข้ามาไทยมาแล้ว 19.5 ล้านคน จากคาดการณ์ทั้งปีในปี 2566 ที่ 28.5 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน 67% จำนวนนักท่องเที่ยวก่อนช่วงโควิด ซึ่งดีกว่าหลายประเทศ เช่น ฮ่องกง ที่มีสัดส่วนนักท่องเที่ยวปัจจุบันราว 37% ก่อนช่วงโควิด , ไต้หวัน 47% และ เกาหลีใต้ 57% แต่ยังต้องติดตามว่าหลังเกิดเหตุกราดยิงที่มีนักท่องเที่ยวชาวจีนเสียชีวิตด้วย จะมีผลกระทบต่อการท่องเที่ยวไทยมากน้อยแค่ไหน 
  • ภาคการผลิต เทียบกับประเทศอื่นถือว่า “ทรงตัว” โดยดัชนีการผลิตเดือนม.ค.ถึงส.ค.2566 หดตัว 4.9% แต่เทียบกับหลายประเทศก็หดตัวเช่นกัน สิงคโปร์หดตัว 6% เอเชียไม่รวมจีนหดตัว 3% จะมีมาเลเซียที่เติบโต 1%
  • การส่งออก เทียบกับประเทศอื่นถือว่า  “ทรงตัว” โดยมูลค่าการส่งออกเดือนม.ค.ถึงส.ค.2566 หดตัว 5% แต่หลายประเทศในภูมิภาคหดตัวเช่นกัน ภูมิภาคเอเชียหดตัว 11% อาเซียนหดตัว 9% 
  • การลงทุนเอกชน “ยังไม่ดี” เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ซึ่งการลงทุนของเราในไตรมาส 2 ปี 2566 เติบโตเพียง 1% น้อยกว่าค่าเฉลี่ยช่วง 5 ปีก่อนโควิดที่เติบโต 1.7% และการลงทุนยังมีสัดส่วนต่อจีดีพีน้อยแค่ 23% เทียบกับประเทศอื่น เช่น เวียดนามอยู่ที่ 32% อินโดนีเซียอยู่ที่ 29%

เสถียรภาพเศรษฐกิจ

  • ด้านราคาหรือเงินเฟ้อ เดือนส.ค.เงินเฟ้อไทยเติบโต 0.9% ลดลงจากปีที่แล้วที่พีค 7.9% ถือว่าลงมาได้เร็ว และเป็นระดับต่ำสุดในอาเซียน แต่ยังชะล่าใจไม่ได้ เพราะแนวโน้มมีโอกาสเพิ่มขึ้น แถมมีปัจจัยกดดันไม่น้อย เช่น เรื่องเอลนีโญ ราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มสูงขึ้น และนโยบายของภาครัฐที่เพิ่มแรงส่งด้านเงินเฟ้อ
  • ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน “ยังแข็งแรง” โดย BIS ratio สูง 19.5% ขณะที่ “หนี้เสีย” ต่ำเพียง 2.67%
  •  ด้านเสถียรภาพระบบการเงิน มีประเด็นที่ “น่าห่วง” อยู่บ้าง คือ หนี้ครัวเรือน ปัจจุบันอยู่ที่ 90.7% ทำให้ ธปท. ต้องออกมาตรการดูแล อีกเรื่อง คือ สัดส่วนยอดคงค้างไฮยิลด์บอนด์ต่อหุ้นกู้เอกชนในไตรมาส 3 ปี 2566 อยู่ที่ 7% ถือเป็นตัวเลขที่สูงสุดนับตั้งแต่ปี 2563 
  • เสถียรภาพต่างประเทศ “แข็งแรง” ทุนสำรองระหว่างประเทศสูง 2.45 แสนล้านดอลลาร์ หนี้ต่างประเทศอยู่ระดับต่ำ แต่จะมีเรื่องค่าเงินบาทที่ผันผวนสูง โดยค่าความผันผวนล่าสุดอยู่ที่ 9%
  • ปัจจัยที่ทำให้ “ค่าเงินบาท” ผันผวนมี 3 เรื่องหลัก คือ 1.ดอลลาร์แข็ง ส่งผลต่อค่าเงินบาทที่อ่อนค่า 2.เงินบาทเป็นสกุลเงินที่เคลื่อนไหวสัมพันธ์กับค่าเงินหยวนมากสุด  เนื่องจากเศรษฐกิจไทยผูกกับจีนมาก 3.คนไทยนิยมซื้อขายทองคำ จึงทำให้ราคาทองคำมีผลต่อค่าเงินบาทมาก
  • ด้านการคลัง ตอนนี้หนี้สาธารณะต่อจีดีพีอยู่ที่ 62% สูงกว่าเพื่อนบ้านในบางประเทศ เช่น อินโดนีเซียที่อยู่ระดับ 38% เกาหลีใต้ 49% แต่ใกล้เคียง ฟิลิปปินส์ที่ 61% และ มาเลเซีย 63% แต่หนี้ส่วนใหญ่ของรัฐบาลเป็นการกู้เงินในประเทศเป็นหลัก และเป็นหนี้ค่อนข้างยาว ประมาณ 9 ปี ใกล้เคียงกับ มาเลเซียที่ 9 ปี อินโดนีเซีย 8 ปี ขณะที่ สิงคโปร์และฟิลิปปินส์อยู่ที่ประมาณ 6 ปี

เรื่องศักยภาพเศรษฐกิจไทย

  • ปัญหาเศรษฐกิจไทยที่น่าห่วงสุด คือ ปัญหาเชิงโครงสร้าง ซึ่งมีประเด็นน่าห่วงในหลายมิติทั้งเรื่อง แรงงาน นวตกรรม เป็นต้น
  • ด้านแรงงาน” คนของเราจะ “แก่ก่อนรวย” เราเข้าสู่สังคมสูงวัยแล้ว โดยมีสัดส่วนผู้สูงอายุ 22% ของประชากรทั้งหมด แต่ยังมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวต่ำเพียง 7,650 ดอลลาร์ เทียบกับ มาเลเซีย มีคนสูงวัย 11% รายได้เฉลี่ยต่อหัว 12,364 ดอลลาร์ หรือ เกาหลีใต้ มีคนสูงวัย 25% รายได้เฉลี่ยต่อหัว 32,250 ดอลลาร์ 
  • อินโนเวชั่น” พบว่า การลงทุนด้าน R&D ของไทยค่อนข้างต่ำเพียง 1.1% ของจีดีพี เทียบกับค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศ upper middle-income อยู่ที่ 1.6% และหลายประเทศมีการลงทุนด้านนี้ค่อนข้างสูง เช่น เกาหลีไต้ 6% สิงคโปร์ 7% จีน 11% มาเลเซีย 36% 
  • อินฟราสตรัคเจอร์” ของไทยถือว่า “ค่อนข้างดี” โดยเราอยู่อันดับที่ 34 จาก 139 ประเทศ ถ้าดูในอาเซียก็เป็นรองเฉพาะสิงคโปร์
  • เรื่องธรรมภิบาล” ในด้าน Government effectiveness เราอยู่อันดับ 83 จาก 209 ประเทศ น้อยกว่า สิงคโปร์ซึ่งเป็นที่ 1 มาเลเซีย 40 และเวียดนาม 80 ส่วนด้านคอรัปชันไทยอยู่อันดับ 101 จาก 180 ประเทศ น้อยกว่า สิงคโปร์อยู่ที่ 5 มาเลเซียที่ 61 และ เวียดนามที่ 77 

บทสรุปเศรษฐกิจไทย

  • ภาพเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง แรงหนุนจากการบริโภคและการท่องเที่ยว 
  • การปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยที่ลดลงจาก 3.6% เหลือ 2.8% ตามพาดหัวข่าวในสื่อต่างๆ เป็นการปรับตัวเลขปี 2566 แต่ถ้าดูปี 2567 ธปท. ปรับคาดการณ์เพิ่มขึ้นค่อนข้างมากจาก 3.8% เป็น 4.4% สะท้อนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่กำลังออกมา และภาพเศรษฐกิจโลกที่น่าจะส่งผลดีต่อภาคการส่งออก “จึงมั่นใจว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังเป็นไปอย่างต่อเนื่อง”
  • ด้านเสถียรภาพในภาพรวมถือว่าดีแต่ “มีบางจุดที่ต้องเฝ้าระวัง” เช่น หนี้ครัวเรือน และ ภาคการคลัง 
  • ตัวที่อ่อนแอมากๆ คือ เรื่องศักยภาพ ซึ่งสะท้อนภาพการเติบโตระยะยาว เรามีปัญหาอยู่มาก
  •  หากเทียบเศรษฐกิจไทยกับสุขภาพของคน ชัดเจนว่า “คนไข้คนนี้ออกจากโรงพยาบาลแล้ว” แต่การฟื้นตัวยังต้องใช้เวลาเปรียบได้กับ “คนที่ยังเป็นโรคเรื้องรัง” จึงยังไม่ควรทำอะไรที่หักโหมเกินไป  
  • การรักษาควรต้องตรงกับสภาพของปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งเวลานี้เศรษฐกิจไทยมีปัญหาในเชิงโครงสร้างระยะยาว การรักษาจึงควรเป็นอีกแบบ แตกต่างจากช่วงที่เกิดโควิด
  • การรักษาที่ผ่านมา เราเน้นเรื่องเงิน โดย 10 ปีที่ผ่านมา งบประมาณรายจ่ายเพิ่มต่อเนื่องอย่างมีนัยะ ล่าสุด 3.2 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้ 75% เป็นงบประจำ และกว่า 70% ของงบประจำเป็นรายจ่ายที่ลดทอนยาก เช่น เงินเดือนข้าราชการ สวัสดิการดูแลประชาชน ในขณะที่งบการลงทุนเพิ่มขึ้นเพียง 2.5 แสนล้านบาท และส่วนใหญ่เน้นที่เรื่องโครงสร้างพื้นฐานเป็นหลัก เช่น รถไฟฟ้า รถไฟความเร็วสูง ท่าเรือ แต่ยังขาดการพัฒนาเรื่องอื่นๆ เช่น คน
  • การรักษาควรมุ่งเจาะที่ปัญหาเชิงโครงสร้าง เช่น อินโดนีเซีย ออกกฎหมาย Omnibus Law เพื่อปลดล็อกกฎเกณฑ์ภาครัฐที่เป็นอุปสรรคต่อการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันและการลงทุน  
  • สิ่งที่ประเทศไทยควรให้ความสำคัญเพิ่มเติม คือ เรื่อง Regulatory Guillotine หรือ Regulatory impact Assessment โดยอุปสรรคที่นักธุรกิจอยากให้ภาครัฐปรับปรุง คือ กฎหมายที่ซ้ำซ้อน ล้าสมัย เช่น ขั้นตอนศุลกากร การขออนุญาตของราชการ และการออก VISA สำหรับแรงงานทักษะสูง เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะช่วยส่งเสริม ease of doing business ในไทย 
  • ประเทศไทยยังมี “โอกาส” อีกมาก จากเรื่องปัญหาภูมิรัฐสาสตร์ที่เกิดการโยกย้ายการลงทุน ซึ่งข้อดีของไทย เราเป็นประเทศที่เป็นมิตรที่ดีกับทุกคน โดยไทยเป็น 1 ใน 18 ประเทศของโลก และ 1 ใน 4 ประเทศของเอเชียที่มีสถานะเป็นพันธมิตรหลัก non-NATO ของสหรัฐ 
  • นอกจากนี้ สหรัฐ ยังเป็นคู่ค้าอันดับ 2 ของไทย มี FDI มาลงทุนในไทยเป็นอันดับ 5 ขณะที่ จีน เป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย มี FDI มาลงทุนอันดับ 6 และญี่ปุ่นก็เป็นคู่ค้าอันดับ 3 ของไทย  มี FDI มาลงทุนเป็นอันดับ 2