การลงทุนมีความเสี่ยง

การลงทุนมีความเสี่ยง

ในช่วงเดือนที่ผ่านมามีเหตุการณ์หลายๆอย่างเกิดขึ้น หนึ่งในนั่นคือเรื่องของข่าวหุ้นกู้ ที่เกิดการผิดนัดชำระ ก่อนหน้านี้ความรู้สึกของผู้ลงทุน อาจจะเรียกการลงทุนหุ้นกู้นี้ว่าเป็นเซฟโซนของผู้ที่มีเงินเย็นเลยทีเดียว หุ้นกู้ที่ออกมาใหม่ ขายหมดกันตั้งแต่วันแรกๆ มีเท่าไรก็ขายหมด

จนกระทั้งในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมานี้ เราเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงบางอย่าง ท่ามกลางหุ้นกู้ที่มีออกมามากขึ้นในทุกๆปี กลับมียอดหุ้นกู้ที่ ผิดนัดชำระมากขึ้น จากเซฟโซน กลายเป็นความเสี่ยง จนหลายคนเริ่มคิดว่าอาจจะเสี่ยงมากกว่าลงทุนในหุ้นเสียด้วยซ้ำไป เพราะ อย่างน้อยหุ้นยังขายได้เงินคืนมาบ้าง แต่หุ้นกู้อาจจะไม่ได้เงินคืนเลย ความจริงเป็นอย่างไร

วันนี้ผมมี ผู้เชี่ยวชาญในด้านการวางแผนการเงินของบริษัท Wealth Creation International Investment Advisory Security Co., Ltd. คุณปิติพงษ์ รุ่งเรืองวุฒิกุล CFP® จะมาเล่าให้ฟังกันครับ

 

ก่อนอื่นเลยนั้น เราคงต้องมาทำความเข้าใจความแตกต่างระหว่างการลงทุนในหุ้น และ หุ้นกู้ ของบริษัทนั้นๆเสียก่อนครับ

การลงทุนในหุ้นโดยตรงนั้นหมายถึงการที่เราเข้าไปเป็น “เจ้าของ” กิจการนั้นๆ โดยจะได้รับผลตอบแทนในรูปแบบของผลกำไรของกิจการ ซึ่ง ขึ้นอยู่กับผลประกอบการในแต่ละปี ส่วนการลงทุนในหุ้นกู้นั้น คือการที่เราเข้าไปเป็น “เจ้าหนี้” ของกิจการนั้นๆ โดย กิจการที่เราไปลงทุนจะมีฐานะเป็นลูกหนี้ และมีหน้าที่ในการชำระดอกเบี้ยกู้ยืมและเงินต้นคืนเรานั่นเอง

โดยหากเกิดเหตุที่กิจการนั้นต้องยุติ หรือล้มละลาย ทางกิจการจะต้องนำเงินมาคืน “เจ้าหนี้” เสียก่อน ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหนี้การค้า เจ้าหนี้ที่เป็นสถานบันการเงิน เป็นต้น เมื่อคืนแล้วเหลือเท่าไร จึงนำมาแบ่งกันตามสัดส่วนของ “เจ้าของ” กิจการนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม สำหรับ “เจ้าหนี้” นั้นก็มีลำดับการคืนหนี้ไม่เท่ากันด้วยครับ โดยจะมีลำดับ จาก เจ้าหนี้มีประกัน > เจ้าหนี้ไม่ด้อยสิทธิ์/เจ้าหนี้สามัญ > เจ้าหนี้ด้อยสิทธิ์ โดยเราสามารถดูได้ในหนังสือชี้ชวนหุ้นกู้นั้นๆครับ

ที่กล่าวมานั้นคือข้อมูลเชิงหลักการ แต่สำหรับผู้ถือหุ้นกู้คงจะมีคำถามเหมือนๆกันก็คือ จะได้เงินคืนไหม และ จะได้คืนเมื่อไหร่

ในส่วนของเงินคืนนั้น คงต้องดูว่าทาง บริษัทจะยังกลับมาดำเนินธุรกิจได้อยู่หรือไม่ หากดำเนินการได้ ศาลก็จะให้ทำแผนฟื้นฟูธุรกิจ และผ่อนจ่ายเจ้าหนี้แต่ละเจ้า โดยระยะเวลาที่จะได้เงินคืนจนครบนั้นคงต้องดูจากแผนฟื้นฟูอีกที 

แต่หากทางบริษัทนั้นไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้อีกต่อไป และต้องเข้าสู่กระบวนการล้มละลาย ก็จะต้องรวบรวมเงินสดในบัญชี ธนาคารมารวมกับยอดที่ได้จากการนำสินทรัพย์ของทางบริษัทออกขายทอดตลาด รวมกับเงินที่ตามยึดมาได้ เมื่อนำยอดมารวมกันแล้ว ได้เท่าไร ก็จะทำการคืนเงินกลับไปยังเจ้าหนี้ตามลำดับ 

โดยเจ้าหนี้ที่มีสินทรัพย์ค้ำประกันก็จะได้เงินคืนก่อนเป็นกลุ่มแรก ตามมูลค่าของสินทรัพย์ค้ำประกันนั้น และเมื่อตัดยอดหนี้ของกลุ่มแรกออกไปแล้วนั้น เหลือเงินอยู่เท่าไร จึงนำมาแบ่งให้กลับกลุ่มที่สองก็คือ เจ้าหนี้สามัญ / เจ้าหนี้ไม่ด้อยสิทธิ์ / ผู้ถือหุ้นกู้ต่อไป โดยหากเงินที่เหลือนั้นมากกว่ามูลค่าหนี้ เจ้าหนี้ก็จะได้เงินครบตามจำนวน แต่หากมูลค่าที่เหลือ น้อยกว่ามูลค่าหนี้ ก็จะมีการแบ่งกันไปตามสัดส่วนหนี้ นั่นหมายถึง เจ้าหนี้ลำดับถัดไป อันได้แก่ เจ้าหนี้ด้อยสิทธิ์ ผู้ถือหุ้น ก็จะไม่ได้รับเงินคืนเลยนั่นเอง

สรุปได้ว่า เจ้าหนี้ จะได้เงินคืนก่อน ผู้ถือหุ้น และ เจ้าหนี้ที่มีประกัน จะได้เงินคืนก่อน เจ้าหนี้ไม่ด้อยสิทธิ์และเจ้าหนี้ด้อยสิทธิ์ตามลำดับ 

ถ้าจะบอกว่าการลงทุนในหุ้นเสี่ยงน้อยกว่าการลงทุนในหุ้นกู้เลย ก็คงจะไม่ถูกนัก เพราะหากเป็นการลงทุนในบริษัทเดียวกัน ผู้ถือหุ้นกู้จะได้เงินคืนก่อนผู้ถือหุ้นเสมอ

ทีนี้ผมเชื่อว่าหลายๆท่านอาจจะเริ่มคิดว่า การลงทุนในหุ้นกู้มีประกันอาจจะดีกว่า ซึ่งถูกแค่ครึ่งหนึ่งครับ เพราะอย่าลืมว่าเราจะต้องพิจารณาถึงมูลค่าของสินทรัพย์ค้ำประกันด้วยว่ามูลค่าที่ผู้กู้ระบุมานั้นสมเหตุผมผลหรือไม่ หรือในกรณีที่ใช้บริษัทอื่นมาเป็นผู้ค้ำประกันนั้น ก็อย่าลืมพิจาณาความสามารถในการชำระเงินประกันด้วยนะครับ ค่อยๆเลือก ไม่ต้องใจร้อนครับ หุ้นกู้ยังจะมีออกมาให้เราเลือกกันอีกเรื่อยๆครับ