“อาคม” ชี้กฎหมายคุมดิจิทัลแอสเซทยังมีบางส่วนเป็น Grey Area

“อาคม” ชี้กฎหมายคุมดิจิทัลแอสเซทยังมีบางส่วนเป็น Grey Area

“อาคม” ชี้กฎหมายการกำกับดิจิทัลแอสเซทยังมีบางส่วนเป็น Grey Area จำเป็นต้องมีการแก้ไข โดยคลัง ธปท.และก.ล.ต.อยู่ระหว่างการหารือ ขณะที่ ตำรวจจะใช้กฎหมายอาญาทำหน้าที่ตรวจสอบเป็นอันดับแรก

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ "การพัฒนาตลาดทุนไทยเพื่อก้าวต่อไปในทศวรรษหน้า" ในโอกาสสำนักงาน ก.ล.ต. ครบรอบ 30 ปี โดยยอมรับว่า กฎหมายปัจจุบันยังมี Grey Area ในการกำกับดูแลการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งจำเป็นต้องปรับปรุงตัวกฎหมาย

เขากล่าวว่า เดิมสินค้าในตลาดเงิน ตลาดทุน จะมีเพียง Currency  และใบหุ้น แต่วันนี้มี Digital Coin  และ Digital Asset ซึ่งเป็นส่วนที่เพิ่มในบริบทการเงินของเรา นั่นคือ สิ่งที่เราต้องคิด

โดยกระทรวงการคลัง ก็ได้หารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)และสำนักงานกำกับหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.)อย่างใกล้ชิดเพื่อเข้าไปกำกับดูแล แต่เส้นแบ่งในการกำกับดูแลดูเหมือนยังไม่ชัดเจน เพราะมีบาง Area ที่ยังไม่รู้ว่าใครจะต้องเข้าไปเป็นผู้กำกับ

“ที่พูดมาตลอด ทางก.ล.ต.คลัง และแบงก์ชาติก็หารือกันตลอดว่า เส้นแบ่งหรือขอบเขตการกำกับดูแลภายใต้กฎหมายมันชัดเจนเพียงใด ซึ่งค่อนข้างชัดเจนว่า บาง Area ยังไม่รู้ว่า ใคร ฉะนั้น คงจำเป็นต้องเข้าไปดูว่า Operator ในปัจจุบันรายใดบางที่มีการละเมิด Rule and Regulate

เขากล่าวด้วยว่า แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ การหลอกลวงประชาชนมันมีมากขึ้นทุกวัน มากจนกระทั่งทั้งตำรวจ ธปท. ก.ล.ต.ซึ่งตนเชื่อว่า ไม่ได้หลับไม่ได้นอน เพราะเรื่องเกิดขึ้นมาแล้ว ก็ต้องสอบสวนกันให้ชัดเจน

กรณีที่เกิดการโกงขึ้นล่าสุด เป็นตัวอย่างหนึ่งของการมี Grey Area ในกฎหมายว่าหน่วยงานใดจะเป็นผู้ดูแล แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดการโกงประชาชนขึ้นแล้ว ตำรวจก็จำเป็นต้องเป็นหน่วยแรก ที่จะต้องเข้าไปดำเนินการตามกฎหมายอาญา ซึ่งปัญหานี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่มีการสอบสวนกันมาแล้ว 2 -3 ปี  จึงนำไปสู่การปรับปรุงกฎหมายในบางประเด็น

“เมื่อเกิดผลกระทบต่อประชาชนแล้วมันเกิดความเสียหาย และผู้เสียหายไม่ว่า ระบบเศรษฐกิจเดิมหรือเศรษฐกิจดิจิทัล ก็คือ คนระดับล่าง และเริ่มกระทบขึ้นมา เป็นสิ่งที่มีการหารือตลอดว่า จุดโหว่ตรงนี้อยู่ตรงไหน”

นอกจากนี้เขายังพูดถึงแผนพัฒนาตลาดทุนไทย ฉบับล่าสุดฉบับที่ 4 ที่เตรียมที่จะเสนอให้ ครม.อนุมัติว่า ก็มีการบรรจุแผนดิจิทัลเข้าไปในแผนพัฒนาตลาดทุนด้วย

เขาย้ำอีกว่า ตลาดทุนยังมีความสำคัญ ในฐานะเป็นแหล่งระดมเงินทุนของประเทศ ซึ่งประเทศยังจำเป็นต้องมีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานอีกเป็นจำนวนมาก จำเป็นต้องมีการระดมเงินทุน ขณะเดียวกัน ในภาคการคลังก็จำเป็นจะต้องเร่งสร้างความยั่งยืนในเรื่องของรายได้ให้เกิดขึ้น เพราะระยะที่ผ่านมา เรากู้เงินเพื่อเยียวยาเศรษฐกิจไปจำนวนมาก แต่ก็เป็นเรื่องที่ทุกประเทศดำเนินการ

“เรื่องภาคการเงินนั้น การลงทุนขนาดใหญ่ต่ำในระยะ 20-30 ปีที่ผ่านมา ทำให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจล่าช้า ยกเว้น 10 ปีที่ผ่านมา มีการลงทุนในท่ออยู่มาก แต่ยังไม่เพียงพอ เพราะเวทีการประชุมระหว่างประเทศทุกคนบอกว่าหลังโควิดการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานต้องเกิดขึ้นต่อ ฉะนั้น บทบาทตลาดทุนกับก.ล.ต.ในการสร้างโปรดักส์ใหม่ๆ จะมีความสำคัญมากยิ่งขึ้น”

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์