STA เผย Q1/67 ขาดทุน 329 ล้านบาท คาด Q2/67 เป็นต้นไปฟื้นชัด ออเดอร์ EUDR มาแล้ว

STA  เผย Q1/67 ขาดทุน 329 ล้านบาท คาด Q2/67 เป็นต้นไปฟื้นชัด ออเดอร์ EUDR มาแล้ว

"ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี" งบ Q1/67 ขาดทุน 329 ล้านบาท กระเตื้องขึ้นจาก Q4/66 คาดนับจาก Q2/67 เป็นต้นไปฟื้นชัด ออเดอร์ EUDR ที่ราคาสูงกว่าปกติเข้ามาตั้งแต่ พ.ค. นี้แล้ว ส่วนสถานการณ์ราคายางและดีมานด์ดีขึ้นต่อเนื่อง

บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) หรือ STA แจ้งผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า งบการเงินไตรมาสที่ 1 สิ้นสุด 31 มี.ค. 2567 มีผลขาดทุนส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นของบริษัทใหญ่ 329.70 ล้านบาท (ขาดทุนสุทธิต่อหุ้น 0.21 บาท) ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ทำกำไรสุทธิ 287.92 ล้านบาท (กำไรสุทธิต่อหุ้น 0.19 บาท)

ทั้งนี้คำอธิบายและวิเคราะห์ของฝ่ายจัดการระบุว่า บริษัทฯ บันทึกขาดทุนสุทธิสำหรับไตรมาส 1/2567 ขาดทุนลดลงร้อยละ 21.9 เมื่อเทียบไตรมาส 4/2566 แต่ปรับลดลงร้อยละ 214.5 จากไตรมาส 1/2566 โดยมีสาเหตุหลักจากการอ่อนตัวของกำไรในธุรกิจยางธรรมชาติ
 

นายวีรสิทธิ์ สินเจริญกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่และกรรมการบริหาร STA เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานไตรมาส 1/2567 ของบริษัทฯ ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน โดยมีรายได้จากการขายและบริการ 23,678 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.1% จากไตรมาสก่อนหน้า จากราคาขายเฉลี่ยทั้งไตรมาสที่เพิ่มขึ้น 6.2% เป็น 155.2 เซนต์ต่อกิโลกรัมเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า

ประกอบกับปริมาณการขายธรรมชาติที่เพิ่มขึ้น 1.3% เป็น 317,872 ตัน รวมถึงปริมาณการขายถุงมือยางทั้งไตรมาสที่เพิ่มขึ้นเป็น 10,091 ล้านชิ้น ทำสถิติสูงสุดใหม่ต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้า ส่วนภาพรวมราคาขายเฉลี่ยยางธรรมชาติในตลาดโลกไตรมาส 2/2567 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนจากราคาขายเฉลี่ยเดือนเม.ย. 2567 ที่ยังคงเพิ่มขึ้นเป็น 162.7 เซนต์ต่อกิโลกรัม

อย่างไรก็ตามผลขาดทุนสุทธิในไตรมาส 1/2567 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าจากสถานการณ์ราคายางและดีมานด์ที่อยู่ในช่วงฟื้นตัว รวมถึงต้องติดตามสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ ซึ่งจะมีผลต่อฤดูกาลเปิดกรีดยางและซัพพลายใหม่ในอุตสาหกรรมยาง

สำหรับทิศทางผลการดำเนินงานไตรมาส 2/2567 และครึ่งปีหลังมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง หลังจากสถานการณ์ราคาขายยางพาราและความต้องการใช้สินค้าในตลาดโลก ทั้งยุโรปและทวีปเอเชียเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะดีมานด์จากลูกค้ากลุ่มประเทศ Non China ที่มีคำสั่งซื้อเข้ามาตั้งแต่ไตรมาส 4/2566 เพื่อเพิ่มปริมาณยางธรรมชาติในสต๊อก และลูกค้าจากประเทศจีนที่เริ่มทยอยสั่งซื้อยางธรรมชาติเพิ่มขึ้น

ขณะเดียวกัน บริษัทฯ ได้รับคำสั่งซื้อเชิงพาณิชย์ยาง EUDR ที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับแหล่งที่มาของผลผลิตจะต้องไม่อยู่ในพื้นที่ตัดไม้ทำลายป่าหรือไม่อยู่ในเขตป่าสงวน และมีเอกสารสิทธิ์พื้นที่ปลูกยางพาราอย่างถูกต้องจากลูกค้าต่างประเทศที่เป็นผู้ผลิตชั้นนำในอุตสาหกรรมยางล้อ อาทิ ยุโรป, เกาหลี, จีน, ญี่ปุ่น ฯลฯ เนื่องจากยุโรปเตรียมบังคับใช้มาตรการ EUDR ภายในสิ้นปีนี้

โดยบริษัทฯ เริ่มจัดส่งออเดอร์เชิงพาณิชย์ (Commercial Transaction) แก่ลูกค้าแล้วในเดือนพ.ค. 2567 แล้ว และถือเป็นรายแรกที่ขายยาง EUDR เชิงพาณิชย์ หลังจากที่ร่วมกับเกษตรกรชาวสวนยางและผู้ค้ายางจัดทำโครงการ “ยางมีพิกัด (GPS) ” เพื่อเตรียมความพร้อมล่วงหน้าด้านการจัดเก็บและตรวจสอบข้อมูลพิกัดพื้นที่ปลูกยางพาราผ่านแอปพลิเคชัน Sri Trang Friends (แอปฯ ศรีตรังเพื่อนชาวสวน)

“ราคาขายยาง EUDR ปัจจุบันถือว่าสูงกว่ายางทั่วไป และมีแนวโน้มได้รับคำสั่งซื้ออย่างต่อเนื่อง เพราะผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยางล้อและอุตสาหกรรมที่ใช้ยางธรรมชาติเป็นวัตถุดิบจากยุโรป และจากเอเชียที่ส่งออกสินค้าแปรรูปจากยางธรรมชาติไปยุโรป มีความต้องการสต๊อกวัตถุดิบและเริ่มผลิตสินค้าเตรียมไว้ก่อนการบังคับใช้กฎหมาย และจะเป็นปัจจัยบวกต่อบริษัทฯ” นายวีรสิทธิ์กล่าว