สัญญาณ ‘ขาขึ้น’ ตลาดคริปโทฯ จุดเปลี่ยนโลก ‘การเงิน’ รอบใหม่

สัญญาณ ‘ขาขึ้น’ ตลาดคริปโทฯ จุดเปลี่ยนโลก ‘การเงิน’ รอบใหม่

แม้ว่าขณะนี้ "ตลาดคริปโทเคอร์เรนซี" อยู่ในภาวะชะลอตัว สะท้อนผ่านบิตคอยน์เคลื่อนไหวในกรอบ 27,000 ดอลลาร์ มาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว แต่อีกไม่นานตลาดอาจกลับมา "คึกคัก" จากวัฏจักรของตลาดที่คาดว่าจะกลับมาสู่ขาขึ้นอีกครั้งในปี 2567

สุกิจ อุดมศิริกุล กรรมการผู้จัดการสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ อินโนเวสท์ เอกซ์ จำกัด หรือ INVX กล่าวในงาน "เทรนด์คริปโทเคอร์เรนซี Bull Run สัญญาณลงทุน Digital Asset" ว่า ปฏิเสธไม่ได้ที่ Spot Bitcoin ETF อาจเป็นหนึ่งในปัจจัยบวกที่ทำให้ราคาบิตคอยน์ปรับตัวสูงขึ้น จนทำให้ Bitcoin To the Moon อีกครั้งในปี 2567 ซึ่งอาจส่งผลให้ราคาบิตคอยน์ปรับตัวขึ้น ประมาณ 12% ทำให้  “อินโนเวสท์ เอกซ์” ฉายภาพความเชื่อมโยงระหว่าง Spot Bitcoin ETF และอนาคตอุตสาหกรรมคริปโทฯ

Spot Bitcoin ETF มีความคล้ายคลึงกับ "กองทุน" แต่มีความคล่องตัวมากกว่า กล่าวคือ มีการตั้งกองทุนขึ้นมาเพื่อเข้าไปซื้อ บิตคอยน์ในตลาด ซึ่งเหตุการณ์นี้สะท้อนว่าจะมีดีมานด์เพิ่มขึ้นในตลาด และมองว่ามีโอกาสเกิดขึ้นจริง เพราะเป็นหนึ่งในทิศทางของโลกในอนาคต ซึ่งถ้าหากมีนักลงทุนสถาบันเข้ามาลงทุนในบิตคอยน์จะมีผลต่อราคาบิตคอยน์แน่นอน 

การอนุมัติ  Spot Bitcoin ETF ของตลาดคริปโทฯ ในสหรัฐนั้น คาดว่าจะเห็นความชัดเจนในช่วงปี 2567 จากในอดีต ก.ล.ต. สหรัฐใช้ระยะเวลาเฉลี่ยในการอนุมัติ ETF ต่างๆ นั้นจะอยู่ที่ 221 วัน 

ทั้งนี้ INVX ได้ประมาณการมูลค่าตลาดของ Spot Bitcoin ETF อาจมีมูลค่าสูงถึง 5.8 พันล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นประมาณ 5% ของขนาด Gold ETF โดยใช้สมมติฐานในการอ้างอิงจากการนำมาร์เก็ตแคปของบิตคอยน์ เทียบกับทองคำซึ่งอยู่ที่ประมาณ 5%

พร้อมกับอ้างอิงบทวิจัยของบริษัทต่างประเทศที่ชื่อว่า New York Digital Investment Group (NYDIG) บริษัทที่ลงทุนในบิตคอยน์ของสหรัฐ ได้ศึกษา และระบุว่าราคาบิตคอยน์จะปรับตัวขึ้น "10เท่า" ของ AUM หรือประมาณ 12% จากประเด็นของ Spot Bitcoin ETF เท่านั้น

โดยยังไม่นับรวมปัจจัยอื่น อย่าง Bitcoin Having ซึ่งอาจเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันในช่วงปี 2567 เป็นกฎเศรษฐศาสตร์เกี่ยวกับดีมานด์ และซัพพลายในตลาด ซึ่งเป็นหนึ่งในเหตุผลว่าทำไมจึงทำให้ราคาบิตคอยน์ปรับตัวสูงขึ้น

ด้าน สัญชัย ปอปลี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ก่อตั้ง บริษัท คริปโตมายด์ แอดไวเซอรี่ จำกัด หรือ Cryptomind Advisory มองว่า มี 6 สัญญาณที่เป็นปัจจัยบวก ทำให้ตลาดคริปโทฯ เข้าสู่ "Bull Run" อีกครั้งในปี 2567 

อย่างแรกคือ “ฮ่องกง” วางแผนที่จะเป็นศูนย์กลางของคริปโทเคอร์เรนซีในเอเชีย ซึ่งน่าสังเกตว่าในขณะเดียวกัน “จีน” ปิดกันคริปโทฯ ทุกรูปแบบในประเทศ แต่กลับผลักดัน และลงเงินทุนมหาศาลที่มาจากจีนอยู่ในประเทศฮ่องกง รวมทั้งฝั่งของ "สหราชอาณาจักร" เริ่มเปิดรับ และจะผลักดันอุตสาหกรรมฟินเทคที่เกี่ยวกับคริปโทฯ ถัดมาคือ “กฎระเบียบ” ที่อีกไม่นาน เชื่อว่าจะเห็นกฎระเบียบที่มีความชัดเจนเกี่ยวกับคริปโทฯ จากหลายๆ ประเทศ

รวมไปถึงเหรียญคริปโทฯ อื่นๆ ในอุตสาหกรรม อย่าง "อีเธอเรียม" (Ethereum) ที่มีความต้องการที่สูงขึ้น เนื่องจากจำนวนน้อยลงจากการถูกเบิร์น (ถูกทำลาย) มากกว่าถูกสร้างขึ้นมาใหม่ ทำให้ราคามีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นในระยะยาว และความเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี Account Abstruction หรือ AA เป็นกระบวนการที่ทำให้ผู้ใช้สามารถโต้ตอบกับบล็อกเชนได้ง่ายขึ้นโดยปรับแต่งองค์ประกอบบางอย่างของบัญชีสัญญาอัจฉริยะ ที่จะเข้ามาแก้ปัญหาการใช้งานของผู้ใช้ ทำให้สามารถใช้งาน Web 3.0 ได้ง่ายขึ้น 

การเปลี่ยนแปลง "ผู้นำ" ที่มีอำนาจในการกำหนดทิศทางอุตสาหกรรมคริปโทฯได้ นั่นคือ ประธานก.ล.ต.สหรัฐ ที่อาจถูกปลดจากตำแหน่ง เนื่องจากมีแนวคิดบางอย่างที่ขัดต่อการเติบโตในอุตสาหกรรมซึ่งส่งผลกระทบต่อธุรกิจคริปโทฯ ในสหรัฐเป็นอย่างมาก

แม้ว่าฝั่งเอเชีย และสหรัฐ มีความแตกต่างกันในเรื่องของแนวคิด ท่ามกลางเทรนด์เศรษฐกิจดิจิทัลที่เติบโตขึ้น จากธนาคาร และสถาบันการเงินต่างๆ เข้ามาให้ความสนใจมากขึ้น สู่ยุคเปลี่ยนผ่านทางการเงิน  มีเงินทุนไหลเข้ามาในภูมิภาคเอเชียมากกว่าฝั่งสหรัฐ ทำให้เราเห็นโอกาสใหม่ๆ เช่น ญี่ปุ่น มีการผลักดันนโยบายด้าน Web 3.0 ซึ่งเป็นหนึ่งในอีโคซิสเต็มของดิจิทัลอีโคโนมี

จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด ฉายมุมมองของเศรษฐกิจโลกผ่านประวัติศาสตร์ให้เห็นภาพที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ว่า “ทั่วโลกกำลังเข้าสู่ยุคเปลี่ยนผ่านทางการเงิน” จากในอดีตมีรูปแบบการเปลี่ยนแปลงทางการเงินอยู่ 2 แบบ 

อย่างแรกคือ ระบบการเงินจะมีการเปลี่ยนแปลงทุกๆ 50 ปี โดยย้อนไปในปี 1971 มีการเปลี่ยนระบบการเงินแบบใหม่ ที่เงินดอลลาร์จะไม่ผูกกับทองคำอีกต่อไป เงินดอลลาร์มีค่าได้ขึ้นอยู่กับความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลเท่านั้น และรัฐบาลสามารถควบคุมอุปทานของเงินได้อย่างเบ็ดเสร็จ จนถึงในปี 2021 ที่เข้าใกล้สู่การเปลี่ยนแปลงทางการเงิน จึงไม่แปลกใจที่มีคำว่า “หยวนดิจิทัล ดอลลาร์ดิจิทัล และบาทดิจิทัล”

และในปัจจุบันความสำคัญของ "สกุลเงินดอลลาร์" อาจถูกเปลี่ยนแปลงไป หลังจากที่มีกลุ่มบริกซ์ (BRICS) ที่มีความต้องการในการสร้างเงินสกุลใหม่ขึ้นมาที่จะมีอิทธิพลต่อการค้าโลกแทนเงินดอลลาร์สหรัฐ ทำให้เห็นภาพชัดเจนขึ้นว่าอาจใกล้ถึงจุดเปลี่ยนของระบบการเงินของโลกแล้วหรือยัง

ท้ายสุด จิรายุส ทิ้งท้ายไว้ว่า หากใกล้ถึงจุดเปลี่ยนของ “เงิน” สู่การเปลี่ยนแปลงจากเงินที่เป็นกระดาษไปสู่ดิจิทัลมันนี่ และ คริปโท ซึ่งเป็นหนึ่งในดิจิทัลแอสเสท และการทำอนาคตได้ดีที่สุดอย่างหนึ่งคือ การศึกษาประวัติศาสตร์ ในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลเช่นกัน

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์