อนาคต ‘ฟินเทค’ พลิกโฉมโลกการเงิน - ลงทุน

อนาคต ‘ฟินเทค’ พลิกโฉมโลกการเงิน - ลงทุน

ในปัจจุบัน “ฟินเทค” หรือการเงินที่ผนวกเข้ากับเทคโนโลยีเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ในฟากของกลุ่มธุรกิจ และอุตสาหกรรมต่างๆ ที่ใช้ระบบคลาวด์ เข้ามาจับธุรกิจดิจิทัลมากขึ้น แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพื้นฐานที่ 'เทคโนโลยีดิจิทัล' กำลังจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในโลก ‘การเงิน’

"สัญชัย ปอปลี” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คริปโตมายด์ แอดไวเซอรี่ จำกัด กล่าวถึงอนาคตของ ‘ฟินเทค’ ผ่านหัวข้อ The Next Big Thing of Fintech ภายในงาน CTC 2023 festival ถึงอนาคตของฟินเทคในครึ่งปีหลังของปี 2566 ว่า 

ฟินเทคจะถูกเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม จากการเติบโตของเทคโนโลยีทางการเงิน ทำให้นักลงทุนทั่วไปสามารถเข้าถึงการลงทุนได้อย่างเท่าเทียม เช่น ลงทุนในสินทรัพย์ที่มี Growth สูง และมีการระดมทุนรูปแบบใหม่ เช่น ICO IDO ซึ่งต่างจากโลกการเงินดั้งเดิม( Traditional) ที่มีแค่นักลงทุนสถาบัน(VC) เท่านั้นที่เข้าถึงการลงทุนในหุ้นก่อน

ตัวเลขการลงทุนของประเทศไทย เพิ่มสูงขึ้นติดอันดับต้นๆ ของโลก ประเทศไทยนับเป็นอันดับ 8 ของโลกที่มีผู้ถือครองสินทรัพย์ดิจิทัลมากที่สุด และคนไทยมีการใช้งาน Decentralized มากเป็นอันดับ 3 ของโลก

และมุมมองของผู้ใช้งานในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2560  คนไทยที่เริ่มลงทุนใน Digital Asset (DA) อยู่ที่ 100,000 คน แต่ในปัจจุบันจากข้อมูลของ​สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) พบว่า มีผู้ถือครอง DA กว่า 2,900,000 คน ซึ่งนับว่าเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเทียบในระดับโลก

"ตัวเลขเหล่านี้แสดงถึงการเปลี่ยนไปของโลกแห่งการลงทุน เมื่อก่อนมีเพียง VC หรือ High Net Worth เท่านั้น ที่จะสามารถลงทุนในหุ้นของบริษัทยักษ์ใหญ่ได้ นักลงทุนทั่วไปจะสามารถร่วมลงทุนหรือเป็นเจ้าของได้ก็ต่อเมื่อมีการออก IPO หรือนำหุ้นเข้าตลาดหลักทรัพย์เท่านั้น ดังนั้นไม่จำเป็นต้องเป็น VC หรือ High Net Worth ก็สามารถลงทุนในสินทรัพย์ที่มีศักยภาพการเติบโตสูงได้ ซึ่งรวมไปถึงโอกาสในการระดมทุนรูปแบบใหม่เช่นกัน"

แนวทางการบริหารสินทรัพย์ในช่วงครึ่งปีหลัง การลงทุนจำเป็นต้องดูปัจจัย และสถานการณ์โลกเป็นหลักที่ส่งผลต่อความเคลื่อนไหวของสินทรัพย์ต่างๆ ในตลาด 

ย้อนไปถึงต้นกำเนิดของบิตคอยน์ (BTC) ในปี 2551 นับว่าอยู่ในช่วงที่เกิดวิกฤติทางการเงิน (Financial Crisis) จนถึงปัจจุบันที่เราเริ่มมีระบบการเงินแบบกระจายศูนย์ (Decentralized) ทุกคนสามารถทำตัวเป็นธนาคาร ปล่อยกู้ ให้ยืม และรับฝากสินทรัพย์ได้ หรือแม้แต่ NFT ที่แบรนด์ระดับโลกใช้เป็นส่วนหนึ่งในการทำBranding ส่งออกมาสู่ภาพลักษณ์ของแบรนด์ แสดงถึงไลฟ์สไตล์ของผู้ถือครอง 

และเมื่อเดือนมี.ค.2566 ได้เกิดเหตุการณ์ธนาคารหลายแห่งล้มลงอีกครั้ง ไม่ได้ส่งผลกระทบด้านลบต่อราคาบิตคอยน์ที่มักมีการขยับตัวตามสินทรัพย์เสี่ยงแต่อย่างใด กลับสวนกระแส พุ่งจาก 19,000 ดอลลาร์ มาอยู่ที่ 28,000 ดอลลาร์ ในเวลาเพียง 2 สัปดาห์ สิ่งนี้แสดงถึงเงินทุนที่ไหลเข้าสู่ตลาดคริปโทเคอร์เรนซี จากการที่นักลงทุนต่างมองหาสินทรัพย์ใหม่ในการลงทุนที่ปลอดภัยกว่า และสร้างผลตอบแทนได้มากกว่า

ล่าสุด เดือนมิ.ย. 2566 ที่ผ่านมา บริษัทจัดการกองทุนระดับโลกอย่าง Blackrock, Fidelity, Vanguard ต่างหันหน้าเข้าสู่ตลาดคริปโทฯ โดยการยื่นขออนุมัติ SPOT Bitcoin ETF สร้างแรงกระเพื่อมต่อราคาบิตคอยน์ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาอย่างชัดเจน หากคำนวณเม็ดเงินเพียงแค่ 3-5% ที่บริษัทจัดการลงทุนระดับโลกไหลเข้าสู่ตลาด คริปโทฯ ก็จะทำให้มูลค่าตลาด (Market Cap) เติบโตขึ้นไปอีก จากปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 1 ล้านล้านดอลลาร์

ทั้งนี้ ยังไม่นับปัจจัยสำคัญที่ตลาดคริปโทฯ และนักลงทุนตั้งตารอ คือ บิตคอยน์ฮาฟวิ่ง (Bitcoin Halving) ที่จะเกิดขึ้นในปี 2567 ตามสถิติแล้วบิตคอยน์จะสามารถทำราคาสูงสุด( New High ) เหมือนในครั้งก่อนที่ 69,000 ดอลลาร์อีกครั้งก็เป็นได้

อนาคตอุตสาหกรรมฟินเทคในอีก 5 ปีข้างหน้า จะเกิดการเปลี่ยนแปลงที่เร็วและแรงขึ้น ทำให้มีผลิตภัณฑ์ทางการเงินจะมีหลากหลายให้เลือก ต่างจากโลกการเงินปัจจุบันมีทั้งโลกเก่า และโลกใหม่ จากการมีรากฐานมาจากการผสมผสานระหว่าง ‘การเงิน’ (Financial) และ ‘เทคโนโลยี’ (Technology) จะทำให้ต้นทุนทางการเงินลดลงอย่างมหาศาล

รวมถึงกฎเกณฑ์ และข้อบังคับในโลกฟินเทคจะชัดเจนมากขึ้น จากเม็ดเงินมหาศาลจากฝั่งสถาบันการเงินที่หลั่งไหลเข้าสู่โลกคริปโทฯ และตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล สิ่งเหล่านี้ทำให้หน่วยงานกำกับดูแลจำเป็นต้องปรับตัวให้ทัน และจะมีอุตสาหกรรมใหม่ๆ เกิดขึ้นเพื่อรองรับการเติบโตของตลาดที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

 

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์