เช็คล่าสุด ‘ดิจิทัลวอลเล็ต‘ ฉบับผ่าน ครม. ’คลัง‘ แจงทุกรายละเอียด

เช็คล่าสุด ‘ดิจิทัลวอลเล็ต‘ ฉบับผ่าน ครม. ’คลัง‘ แจงทุกรายละเอียด

เช็คเงื่อนไขใช้ “ดิจิทัลวอลเล็ต” เปิดลิสต์สินค้าไม่ร่วมรายการ กำหนดคุณสมบัติร้านค้าที่ถอนเงินสดได้ เตรียมลงทะเบียนภายในเกือน ก.ค.-ก.ย. นี้

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า วันนี้ (23 เม.ย.) ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบกรอบหลักการโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน ดิจิทัลวอลเล็ต แล้ว โดยคณะกรรมการนโยบายฯ มีนโยบายที่จะให้ประชาชนและร้านค้าลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ ภายในไตรมาสที่ 3 ของปี 2567 และเริ่มใช้จ่ายภายในไตรมาสที่ 4 ของปี 2567

ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจให้กระจายตัวไปสู่ท้องถิ่นและชุมชน สำหรับประชาชนไทย ที่มีอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป มีรายได้ไม่เกิน 70,000 บาทต่อเดือน และมีเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจรวมกันไม่เกิน 500,000 บาท

เงื่อนไขการใช้จ่าย

1.ระหว่างประชาชนกับร้านค้า: ใช้จ่ายเชิงพื้นที่ในระดับอำเภอ (878 อำเภอ) การชำระเงินต้องเป็นแบบพบหน้า (Face to Face) กำหนดให้ใช้จ่ายกับร้านค้าขนาดเล็กที่รวมถึงร้านสะดวกซื้อขนาดเล็ก โดยไม่รวมห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีก-ค้าส่งขนาดใหญ่ระดับประเทศ และระดับท้องถิ่น 

2.ระหว่างร้านค้ากับร้านค้า: ร้านค้าที่สามารถรับการใช้จ่ายจากร้านค้า ไม่มีการกำหนดเงื่อนไขเชิงพื้นที่และขนาดร้านค้า

สินค้าไม่ร่วมรายการ

สินค้าทุกประเภทสามารถเข้าร่วมโครงการฯ ได้ ยกเว้นสินค้าที่ไม่สามารถเข้าร่วมโครงการฯ ได้ (Negative List) ได้แก่ 

  • สลากกินแบ่งรัฐบาล 
  • เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 
  • ยาสูบ 
  • กัญชา 
  • กระท่อม 
  • พืชกระท่อม 
  • ผลิตภัณฑ์กัญชาและกระท่อม 
  • บัตรกำนัล 
  • บัตรเงินสด 
  • ทองคำ 
  • เพชร 
  • พลอย 
  • อัญมณี 
  • น้ำมันเชื้อเพลิง 
  • ก๊าซธรรมชาติ 

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์สามารถพิจารณากำหนด Negative List เพิ่มเติมได้ โดยการใช้จ่ายตามโครงการฯ ไม่รวมถึงบริการ

เงื่อนไขร้านค้าถอนเงินสด

ต้องเป็นร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษี ดังนี้ 1.ภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax: VAT)

2. ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (Personal Income Tax: PIT) เฉพาะผู้มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร 

3.ภาษีเงินได้นิติบุคคล (Corporate Income Tax CIT) 

ทั้งนี้ ร้านค้าไม่สามารถถอนเงินสดได้ทันทีหลังประชาชนใช้จ่าย แต่ร้านค้าจะสามารถถอนเงินสดได้เมื่อมีการใช้จ่ายตั้งแต่ในรอบที่ 2 เป็นต้นไป

การจัดทำระบบ

พัฒนาและดำเนินการระบบ อาทิ การจัดทำเว็บไซต์ ระบบลงทะเบียนและตรวจสอบคุณสมบัติประชาชนและร้านค้า ระบบการใช้จ่าย ระบบการชำระเงิน ระบบตรวจสอบธุรกรรม โดยพัฒนาให้สามารถใช้จ่ายได้กับธนาคารอื่นๆ ในลักษณะ Open Loop 

ระยะเวลาโครงการ

เนื่องจากมีแนวทางการใช้แหล่งเงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 และ พ.ศ. 2568 ในการดำเนินโครงการฯ ดังนั้น จึงจะต้องมีการพิจารณาระยะเวลาดำเนินโครงการฯ ให้สอดคล้องกับแหล่งเงินดังกล่าว โดยระยะเวลาดำเนินโครงการฯ จะต้องไม่เกินเดือนก.ย. 2569