ไทยนับถอยหลัง ‘Net Zero’ ปี 2065 สร้างโอกาสใหม่ให้ธุรกิจไทย

ไทยนับถอยหลัง ‘Net Zero’ ปี 2065 สร้างโอกาสใหม่ให้ธุรกิจไทย

การเปลี่ยนผ่านของโลกไปสู่ “การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์” หรือ “Net Zero” นำมาซึ่งโอกาสที่ยิ่งใหญ่ทางธุรกิจ โดยประเทศไทยตั้งเป้าไว้ในปี 2065 ซึ่งนโยบายนี้ได้สร้าง "โอกาสทางธุรกิจ" ให้ประเทศไทย ทั้งในอุตสาหกรรมรถไฟฟ้า พลังงานสะอาด และเทคโนโลยี

การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์” หรือ “Net Zero” กลายเป็นนโยบายที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทยที่ตั้งเป้าจะก้าวสู่ Net Zero ภายในปี 2065 ซึ่งหลายคนยังไม่เข้าใจด้วยซ้ำนโยบายนี้คืออะไร และมีความสำคัญอย่างไร ทำไมทั่วโลกถึงต้องทำ ?

การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) คือ การที่ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมีความสมดุล เท่ากับก๊าซเรือนกระจกที่ถูกดูดซับออกจากชั้นบรรยากาศ เมื่ออยู่ในภาวะที่สมดุลแล้วก็จะไม่มีการเพิ่มปริมาณก๊าซเรือนกระจกในบรรยากาศอีก ซึ่งหากทุกประเทศในโลกสามารถได้ นั่นเท่ากับว่าจะหยุดการปล่อย “ก๊าซเรือนกระจก” ส่วนเกิน ที่ทำให้เกิด “ภาวะเรือนกระจก” ได้

ในการประชุม COP26 หรือ การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 26 ณ เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ มีผู้แทนจากกว่า 200 ประเทศทั่วโลกเข้าร่วมประชุม เพื่อหาข้อตกลงร่วมกันในการวางแผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยแต่ละประเทศได้ประกาศเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของต่อประชาคมโลก 

ภาครัฐไทยกำหนดเป้าหมายดังกล่าว สอดรับไปกับเป้าหมายของโลก ซึ่งมีแนว ทางการปรับตัวหลายด้าน โดยไทยวางเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050 และเข้าสู่ Net Zero ภายในปี 2065 มุ่งเน้นไปที่การเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เพิ่มสัดส่วนการใช้รถไฟฟ้า (EV) ให้มากยิ่งขึ้น พร้อมส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมพลังงานสะอาด

โอกาสทางธุรกิจจากนโยบาย “Net Zero” 

วิชาล อากาวาล หุ้นส่วนอาวุโสและผู้นำด้านความยั่งยืนด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมภูมิภาคเอเชียของ McKinsey & Company บริษัทที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์และการจัดการ เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการดำเนินการอย่างฉับไวและผลตอบแทนที่อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลง Net Zero ของประเทศไทย ในงานสัมมนา SCBX Reimagining Climate: EP1 Shaping the Pathway Towards Net Zero Transition

ขณะนี้ โลกยังไม่สามารถบรรลุเป้าหมายรักษาสภาพภูมิอากาศไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ตามข้อตกลงปารีสได้ ซึ่งจำเป็นต้องมีการเร่งดำเนินการอย่างมีนัยสำคัญ แต่การเปลี่ยนแปลงนี้เปิดโอกาสทางธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดในยุคของเรา โดยคาดว่าจะมีการลงทุนด้านพลังงานทดแทนและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องต่อปีสูงถึง 9.2 ล้านล้านดอลลาร์ทั่วโลก

อากาวาลอธิบายว่า ความท้าทายนั้นอยู่ที่การจัดการกับความท้าทาย 4 ด้าน ได้แก่ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ความคุ้มค่าในการลงทุน ความมั่นคงด้านพลังงาน และการรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไปพร้อม ๆ กัน ดังนั้นจึงจำเป็นต้องใช้ความร่วมมืออย่างมากในหลายภาคส่วน 

บริษัทชั้นนำหลายแห่งกำลังสร้างธุรกิจให้แข็งแกร่ง โดยให้ความสำคัญทั้งผลประกอบการและความยั่งยืน ซึ่งหมายความว่า องค์กรเหล่านี้สามารถบรรลุเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมและ รับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไปพร้อมกับการเติบโตทางเศรษฐกิจไปพร้อม ๆ กัน

อุทกภัย ภัยแล้ง และอากาศที่ร้อนระอุ ถือเป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นจาการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในประเทศไทย ยิ่งตอกย้ำว่า จำเป็นที่ต้องมีมาตรการรับมือเชิงรุก โดยอากาวาลประมาณการว่าต้องใช้เงินลงทุนประมาณ 2,000-3,500 ล้านดอลลาร์ต่อปีหรือคิดเป็น 0.4–0.7% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) สำหรับกลยุทธ์การลดผลกระทบและการปรับตัวต่อภัยพิบัติต่าง ๆ

ไทยนับถอยหลัง ‘Net Zero’ ปี 2065 สร้างโอกาสใหม่ให้ธุรกิจไทย

“Net Zero” ขับเคลื่อนธุรกิจไทย

การเปลี่ยนผ่านของโลกไปสู่ Net Zero นำมาซึ่งโอกาสที่ยิ่งใหญ่ทางธุรกิจ อีกทั้ง มาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป (CBAM) กระตุ้นให้เกิดการผลิตพลังงานด้วยวิธีที่สะอาดมากขึ้น ซึ่งหากประเทศไทยหันมาใช้พลังงานสะอาดในการผลิตไฟฟ้าและนวัตกรรม ก็จะสามารถกลายเป็นผู้ผลิตและผู้ส่งออกสินค้ารายใหญ่สำหรับอนาคตที่ไร้คาร์บอนได้

แนวทางปฏิบัติในการผลิตที่สะอาดยิ่งขึ้นอาจสร้างคุณค่าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้กับสินค้าไทย พร้อมช่วยผลักดันความต้องการส่วนประกอบและระบบของไทยในด้านพลังงาน อุตสาหกรรม อาคาร และการขนส่ง นอกจากนี้ในฐานะประเทศผู้ส่งออกอาหารรายใหญ่ ประเทศไทยยังสามารถใช้ประโยชน์จากผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้ด้วยการนำแนวทางปฏิบัติการเกษตรที่ยั่งยืนมาใช้ เช่น การจัดการคาร์บอนในดินและการผลิตโปรตีนทางเลือก

นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีศักยภาพด้านพลังงานหมุนเวียนสูง รวมถึงความสามารถในการดักจับและกักเก็บพลังงานแสงอาทิตย์ พลังน้ำ และคาร์บอน ในขณะเดียวกันภาคการขนส่งก็พร้อมก้าวสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ด้วยนโยบาย "30/30" ที่มุ่งหวังให้การผลิตรถยนต์ไฟฟ้า 30% ภายในปี 2573 สำหรับภาคเกษตรกรรมซึ่งเป็นอีกภาคส่วนที่สำคัญของประเทศไทย ก็สามารถใช้ประโยชน์จากการจัดการดิน การทำเกษตรอัจฉริยะ และโปรตีนทางเลือกเพื่อให้บรรลุการเติบโตที่ยั่งยืน

อากาวาลเน้นย้ำถึงความจำเป็นที่บริษัทและผู้นำของไทยจะต้องคว้าโอาสและมีบทบาทในการกำหนดอนาคตสีเขียวของประเทศ ถึงเวลาแล้วที่ต้องลงมือปฏิบัติ โดยต้องมีการลงทุนจำนวนมากเพื่อรองรับกลยุทธ์การเปลี่ยนแปลงและการปรับตัว หากประเทศไทยหันมายึดถือแนวทางความยั่งยืนอย่างจริงจัง นอกจากจะสามารถป้องกันตัวเองจากความเสี่ยงของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแล้ว ยังมีโอกาสก้าวขึ้นเป็นผู้นำในเส้นทางสู่การเปลี่ยนผ่าน Net Zero อีกด้วย

ไทยนับถอยหลัง ‘Net Zero’ ปี 2065 สร้างโอกาสใหม่ให้ธุรกิจไทย