'โลกรวน' กับฝุ่นควันไทย 2567

'โลกรวน' กับฝุ่นควันไทย 2567

ปรากฏการณ์ "คลื่นความร้อน" (heatwave) ทำลายสถิติเดิม ปีนี้อาเซียนเผชิญอากาศร้อนจัดในเดือนเมษายนถ้วนหน้า ส่วนไทยหนักสุด เจอทั้งวิกฤติสภาพอากาศร้อนจัด ทั้งวิกฤติฝุ่นควันภาคเหนือที่ลากยาวผิดปกติ

ฤดูแล้งปี 2567 เกิดมีปรากฏการณ์หลายประการแสดงอาการของภาวะโลกรวน-โลกร้อน เกิดขึ้นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งยังมีผลต่อวิกฤติปัญหาฝุ่นควันอันเป็นปัญหามลพิษพื้นฐานเดิมของภูมิภาคอีกต่อหนึ่งด้วย

ปรากฏการณ์ที่เกิดเป็นวงกว้างระดับภูมิภาคคือ "คลื่นความร้อน"  heatwave ระดับทำลายสถิติเดิมของแต่ละชาติ ปีนี้อาเซียนเผชิญอากาศร้อนจัดในเดือนเมษายนถ้วนหน้า

สภาพอากาศร้อนจัดสถิติใหม่ทั่วอาเซียน แต่ละพื้นที่อุณหภูมิพุ่งแค่ไหน?

สำหรับประเทศไทย กรมอุตุนิยมวิทยาเปิดข้อมูลอากาศร้อนทำลายสถิติทุกภาค เพชรบูรณ์ กับ กาญจนบุรีร้อนทะลุ 44 องศาเซลเซียส ขณะที่ภาคใต้ซึ่งใกล้ทะเล ปกติอุณหภูมิจะต่ำกว่าพื้นที่ตอนบน มาปีนี้ได้เกิดมีสถิติใหม่ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา ร้อนเกิน 40 องศาฯ ไล่ลงทั้งแถบชายทะเลตะวันออก 

\'โลกรวน\' กับฝุ่นควันไทย 2567

ขณะที่ ฟิลิปปินส์ อากาศร้อนจัดจนต้องประกาศปิดโรงเรียน ทำลายสถิติสูงสุดเท่าที่มีมา คือขึ้นไปแตะ 57 องศาเซลเซียส เมื่อ 20 เมษายน ที่เมือง San Jose จังหวัด Occidental Mindoro ส่วนเมืองหลวงอย่างนครมะนิลา ก็เกิดสถิติใหม่ในปีนี้เช่นกัน คืออุณหภูมิขึ้นไปแตะ 48 องศาเซลเซียส  

กัมพูชา ปีนี้อุณหภูมิสูงสุดขึ้นไปแตะ 43 องศาเซลเซียส รายงานโดยกระทรวงทรัพยากรน้ำและอุตุนิยมวิทยา ซึ่งถือว่าสูงสุดเป็นสถิติ ปกติแล้วกัมพูชาใกล้ทะเลอากาศจะไม่ร้อนถึงระดับนี้ 

ความร้อนเกินปกติในปีนี้เป็นรูปธรรมที่ผู้คนสัมผัสได้ถึงคำเตือนว่าด้วยโลกร้อน-โลกรวน ที่ก่อนหน้านี้ฟังดูเป็นเรื่องไกลตัว เมื่อได้เจอะสภาวะร้อนจัดโดยตรง รับรู้ข่าวสารว่ามีผู้เสียชีวิตจากฮีทสโตรก ต้นไม้ต้นทุเรียนยืนต้นตาย ประปาบางพื้นที่ไม่มีน้ำต้นทุนให้ใช้ ขณะที่เวียดนามใต้มีข่าวปลาในกระชังตายยกฟาร์ม 

ภาคเหนือของไทย เผชิญทั้งวิกฤติอากาศร้อนจัด บวกวิกฤติฝุ่นควันที่ลากยาวผิดปกติ

ในพื้นที่ภาคเหนือยิ่งร้ายขึ้นไปเสียกว่า เพราะปกติแล้วภาคเหนือมีอุณหภูมิสูงกว่าภาคอื่นโดยเฉลี่ย ย้อนหลังไปหลายปี ลำปาง เถิน ตาก เพชรบูรณ์ มักจะติดอันดับต้นๆ ของพื้นที่อุณหภูมิสูงสุดของประเทศไทยมาก่อนแล้ว ยิ่งในปีนี้เมื่อเจอกับคลื่นความร้อนจากปีเอลนีโญ ทำให้ภาคเหนือประสบกับความร้อนระดับ 43 องศาเซลเซียสขึ้นไปหลายพื้นที่เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา 

มันทำให้คนภาคเหนือเผชิญสภาวะวิกฤติผิดธรรมชาติพร้อมกันถึง 2 ประการ คือ อากาศร้อนจัด บวกกับ มลพิษอากาศจากฝุ่นควันไฟป่า ซ้ำเติมวิกฤติให้ยากลำบากขึ้น เพราะการเผชิญเหตุกับไฟป่านั้นเจ้าหน้าที่ดับไฟต้องออกไปดับไฟกลางแจ้งในสภาพภูมิประเทศสูงชัน เหนื่อยง่ายอยู่เดิมแล้ว เจ้าหน้าที่ยอมรับว่า บางสถานการณ์ในวันที่อากาศร้อนจัดต้องปล่อยให้ไฟไหม้ป่าไปก่อนเพราะมันเป็นไปไม่ได้ที่เจ้าหน้าที่ดับไฟจะออกไปผจญเพลิงกลางแดด ต้องเปลี่ยนแผนเข้าดับไฟในช่วงเย็นและกลางคืนแทน โชคดีที่ปีนี้มีอากาศยานเฮลิคอปเตอร์ดับไฟช่วยผ่อนเบา

แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ยังมีข่าวเจ้าหน้าที่ดับไฟเกิดฮีทสโตรกจำนวนหลายราย และน่าเสียใจที่มีผู้เสียชีวิตเพราะเหตุนี้ ทั้งในพื้นที่อุทยานแห่งชาติขุนน่าน จังหวัดน่าน เมื่อเดือนมีนาคม และล่าสุดเมื่อวันที่ 30 เมษายนที่ผ่านมา ก็มีราษฎรอาสาสมัคร นายอะหวู่ผะ เลาย้าง ชาวบ้านบ้านห้วยต้นโชค (บ้างปางมะเยา) ตำบลปิงโค้ง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เข้าไปช่วยดับไฟป่าลามเข้าหมู่บ้านแล้วหมดสติเสียชีวิต

ฮีทสโตรก จากภาวะคลื่นความร้อนผิดปกติ เลื่อนระดับกลายเป็นอีกโจทย์สำคัญของการวางแผนสู้วิกฤติไฟป่าฝุ่นควันในปีนี้ ซึ่งหากจะนับกันจริงจัง จะพบว่าเหตุผิดปกติของสภาวะอากาศโลก หรือที่เรียกโลกร้อน-โลกรวนนั้น เป็นอปุสรรคต่อการแก้ปัญหาวิกฤติมลพิษอากาศฝุ่นควันมากขึ้นเรื่อยๆ 

\'โลกรวน\' กับฝุ่นควันไทย 2567

ภาวะโลกรวน ยิ่งซ้ำเติมปัญหาฝุ่นควันให้แก้ยากขึ้น

เริ่มจาก โลกรวน ทำให้การคาดการณ์พยากรณ์สภาวะอากาศผิดพลาดมากขึ้น ตัวอย่างเกิดเมื่อต้นเดือนเมษายน 2566 กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศว่าจะมีพายุฤดูร้อนในเขตจังหวัดเชียงใหม่ต่อเนื่อง ยืนยันล่วงหน้าประมาณ 1 สัปดาห์  ทำให้เกิดมีการลอบจุดไฟเพิ่มขึ้นเพราะเข้าใจว่าประเดี๋ยวฝนจะตกลงมาช่วยดับ แต่เมื่อถึงวันจริงกลับไม่เป็นไปตามพยากรณ์ เป็นบทเรียนให้กรมอุตุนิยมวิทยาต้องปรับการพยากรณ์เหลือแค่ระยะ 3-5 วันล่วงหน้า ไม่ประกาศก่อนนานเกินไป

ความคลาดเคลื่อนไม่เป็นไปตามแบบแผน ประสบการณ์เดิมๆ ยังเกิดต่ออีก ล่าสุดในปี 2567 นี้ที่ถูกประกาศให้เป็นปีเอลนีโญ หรือ ปีแล้ง บรรดาผู้เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหามลพิษฝุ่นควัน รู้จากประสบการณ์และสถิติเดิมว่าในปีเอลนีโญ ปัญหาไฟป่า และค่ามลพิษจะสูงกว่าปีน้ำ หรือลานีญา มีการเตรียมป้องกันระดมกำลังดับไฟตั้งแต่ต้นปี แต่ปรากฏว่า การณ์กลับตาลปัตร เพราะในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ของปีนี้แทบไม่มีการเกิดจุดความร้อนไฟไหม้ใหญ่ๆ เลย ค่ามลพิษอากาศของสองเดือนแรกก็เป็นปกติ ไม่เหมือนกับปีเอลนีโญที่เคยผ่านมา 

ป่าที่เคยทิ้งใบเร็ว เช่น ป่าแม่ปิง และป่าแม่ตื่น เหนือเขื่อนภูมิพลกลับทิ้งใบช้าลง เจ้าหน้าที่ประมาณการว่า การทิ้งใบช้าของป่าเขตนี้ล่ากว่าปีปกติราว 2 สัปดาห์ ปกติแล้วป่าเขตนี้จะเริ่มไหม้ราวปลายมกราคม และไหม้สูงสุดในเดือนกุมภาพันธ์ กลายเป็นว่าปีนี้เริ่มไหม้มากในเดือนมีนาคม  ซึ่งก็รวมถึงพื้นที่ป่าในจังหวัดแม่ฮ่องสอนที่ปกติเริ่มไหม้มากในปลายกุมภาพันธ์ ก็ล่าออกไปเช่นกัน ปีนี้แม่ฮ่องสอนเริ่มไหม้มากหลังจากสัปดาห์แรกของเดือนมีนาคมผ่านไป

พบไฟป่าไหม้ต่อเนื่อง การไหม้ไม่ได้ลดลงหลังสงกรานต์เหมือนสถิติของปีก่อนหน้า

การล่าออกของฤดูแล้งของปี 2567 การไหม้ใหญ่ช้าออกจากเดิม ช่วยทำให้ยอดรวมของจุดความร้อนปี 2567 น้อยกว่าปีเอลนีโญก่อนหน้า 2563/2566 แต่ก็ยังมากกว่าปีลานีญา 2564/2565 แต่กระนั้นก็ตาม มันก็ก่อปัญหาใหม่ขึ้นมา เมื่อการไหม้ไม่ได้ลดลงหลังสงกรานต์เหมือนกับสถิติก่อนหน้า

ในปี 2567 พฤติกรรมการไหม้ในภาคเหนือผิดเพี้ยนไปจากเดิมเพราะหลังสงกรานต์แล้ว ยังเกิดการไหม้ต่อเนื่องในระดับสูงขึ้นเรื่อยๆ จนจุดฮอทสปอตเกิน 2,000 จุด เมื่อสิ้นเมษายน และไม่หยุดกระทั่งข้ามเดือนพฤษภาคมมาแล้วก็ตาม เทียบกับปีก่อนๆ หน้า จำนวนจุดความร้อนการไหม้ในประเทศไทยจะลดลงอย่างชัดเจนหลังจากสงกรานต์

ความผิดเพี้ยนที่กล่าวมา เป็นปัญหาต่อระบบราชการกลไกการแก้ปัญหาด้วย เพราะทุกจังหวัดมีประกาศห้ามเผาเด็ดขาดที่สิ้นสุดในเดือนเมษายน แปลเป็นภาษาความเข้าใจชาวบ้านว่า เมื่อถึงเดือนพฤษภาคมจะไม่มีมาตรการเข้มงวดกับการเผา ทำให้ยังเกิดมีการเผาในป่าจำนวนมากในคืนวันที่ 1 ต่อเนื่อง 2 พฤษภาคมอย่างไม่เคยปรากฏ สถิติของ GISTDA แสดงให้เห็นพฤติกรรมไฟปลายฤดูที่แตกต่างกันระหว่างปี 2567 กับปี 2566 อย่างชัดเจน  

ความคลาดเคลื่อนของดินฟ้าอากาศและอุณหภูมิของโลกใบนี้ เริ่มแสดงรูปธรรมที่จับต้องได้มากขึ้นเรื่อยๆ ดั่งเช่นที่เกิดในฤดูแล้งปีนี้ ความผิดเพี้ยนคลาดเคลื่อนจากเดิม มีผลต่อวิกฤติปัญหาและการแก้ปัญหามลพิษฝุ่นควันให้ซับซ้อนและแก้ยากเพิ่มขึ้นไปอีก

 

 

 

........................................

เขียนโดย บัณรส บัวคลี่ คอลัมน์จุดประกายความคิด กรุงเทพธุรกิจ