'ประเสริฐ' ปักธงเวทีโลก ถึงเวลาไทยต้องมีเทคโนโลยี 'พลังงานสีเขียว'

'ประเสริฐ' ปักธงเวทีโลก ถึงเวลาไทยต้องมีเทคโนโลยี 'พลังงานสีเขียว'

ท่ามกลางเวทีโลก ประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความมั่นคงทางพลังงานสูงติดอันดับโลก แต่วันนี้ไม่ได้คาดหวังแค่ไฟไม่ดับ แต่ต้องสะอาด ไม่เบียดเบียนทรัพยากรโลก รวมถึงการมีเทคโนโลยีด้านพลังงานของตัวเอง

“กรุงเทพธุรกิจ” ตัวแทนสื่อมวลชนประเทศไทย เข้าร่วมงานประชุมนานาชาติ Berlin Energy Transition Dialogue 2024 ครั้งที่ 10 

พร้อมสัมภาษณ์พิเศษ นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน หลังจากร่วมขึ้นเวทีการประชุมครั้งนี้ในหัวข้อ Energy-Water-Food-Nexus

Q : ครบรอบ 10 ปีที่เยอรมนี ชวนทั่วโลกคุยเรื่องพลังงานหมุนเวียน หากย้อนกลับไป 10 ปี สถานการณ์ไทยสมัยนั้นเป็นอย่างไร?

ขอย้อนกลับไป 20 ปี ตอนนั้น ผมอยู่ที่กรมพัฒนาพลังงานทดแทน และอนุรักษ์พลังงาน ได้รับมอบหมายให้ทำเรื่องพลังงานทดแทน เป็นปีแรกๆ ที่เริ่มมีแผน จำตัวเลขได้แม่นเลยว่า พลังงานทดแทนไทยอยู่ที่ 0.5% ของพลังงานทั้งหมด

จนถึงวันนี้อยู่ที่ 25% แล้ว มีทั้งการนำแสงแดด ลม น้ำ ไบโอแมส ไบโอแก๊ส ขยะ เข้ามาในระบบมากขึ้น กำลังการผลิตปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 12 กิกะวัตต์ และน่าทำให้เพิ่มขึ้นได้อีก 2 เท่าภายในปี 2030

Q : อะไรที่ทำให้มั่นใจว่าพลังงานทดแทนในไทยจะเติบโตถึง 2 เท่า ภายใน 6 ปีนี้?

จริงๆ เราน่าจะเกินเป้าหมายประเทศด้วย ที่ตั้งเป้าสัดส่วนพลังงานทดแทนอยู่ที่ 32% ภายในปี 2030

มาจากพลังงานแสงอาทิตย์เป็นหลัก โซลาร์น่าจะทำได้มากกว่า 10 กิกะวัตต์ทั้งจากโซลาร์ลอยน้ำของ กฟผ.การซื้อเพิ่มจากภาคเอกชน และมีไฟฟ้าพลังน้ำจากลาวบ้าง ไฟฟ้าพลังงานลมบ้าง ปัจจุบันเรามีแผนจัดซื้อจัดจ้างแล้ว 5,000 เมกะวัตต์ แผนของ กฟผ. 2,700 เมกะวัตต์ อยู่ในแผนการรับซื้อเพิ่มอีก 3,000 เมกะวัตต์ \'ประเสริฐ\' ปักธงเวทีโลก ถึงเวลาไทยต้องมีเทคโนโลยี \'พลังงานสีเขียว\'

Q : มีแผนให้เอกชน และครัวเรือนมาช่วยเพิ่มอย่างไรบ้าง?

สำหรับเอกชนตอนนี้ แม้รัฐไม่ได้มีมาตรการสนับสนุน แต่ก็อยากติดกันเองอยู่แล้ว เพราะคุ้มมาก ช่วยลดค่าไฟไปได้เยอะสำหรับธุรกิจที่ดำเนินกิจกรรมกลางวัน ส่วนภาคครัวเรือน กำลังเจรจากับกระทรวงการคลัง ให้นำค่าใช้จ่ายติดตั้งแผงโซลาร์ มาหักลดหย่อนภาษีปลายปีได้

Q : กรีนไฮโดรเจนถูกพูดถึงเยอะมากว่าจะเป็นอนาคตพลังงานแทนที่นิวเคลียร์ ทำให้โลกไปถึงเป้า Net Zero ได้ มีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนสำหรับไทย?

เดือนเม.ย.นี้ จะมีการนำแผน PDP รอบใหม่มาทำประชาพิจารณ์ ในนั้นจะมีข้อมูลการเพิ่มแหล่งพลังงานจากไฮโดรเจนเข้าไปด้วย ใน 5 ปีข้างหน้าจะเพิ่มสัดส่วนขึ้นปีละ 1% ซึ่งอาจจะเป็นบลูไฮโดรเจนก่อนในช่วงแรก

ส่วนกรีนไฮโดรเจนต้องค่อยๆ ดูเรื่องราคาประกอบไปด้วย เพราะกรีนไฮโดรเจนมาจากการนำไฟสะอาดมาแยกน้ำ ผ่านกระบวนการอิเล็กโทรลิซิส เพื่อให้ได้ก๊าซไฮโดรเจน

แต่ตอนนี้ไฟสะอาดบ้านเรายังไม่พอใช้เลย ประกอบกับราคาไฮโดรเจนยังแพงกว่าก๊าซธรรมชาติถึง 7 เท่า แต่เชื่อว่าเทคโนโลยีในอนาคตจะถูกลง มีทั้งจีน ญี่ปุ่น เกาหลี และฝั่งยุโรปกำลังพัฒนากัน อาจจะได้เห็นกรีนไฮโดรเจนในไทย 10-20 ปีข้างหน้า \'ประเสริฐ\' ปักธงเวทีโลก ถึงเวลาไทยต้องมีเทคโนโลยี \'พลังงานสีเขียว\'

Q : มางานในครั้งนี้ ได้แลกเปลี่ยนมุมมองอะไรใหม่ๆ บ้าง?

เห็นชัดว่าทั่วโลกให้ความสำคัญกับบทบาทผู้หญิง และคนรุ่นใหม่ในการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด มีการพูดถึงผลประโยชน์ทางสังคมเพิ่มมากขึ้น เช่น พื้นที่ชนบทจะเจริญมากขึ้นจากเงินลงทุน การพัฒนาทักษะใหม่ ๆ การจ้างงานเพิ่ม และยกระดับเศรษฐกิจรากหญ้าไปพร้อมกัน

ตอนนี้เทคโนโลยี และเงินลงทุนดูจะไม่ใช่ปัญหา แต่การนำโปรเจกต์ไปให้ถึงพื้นที่จริงๆ ยังติดขัด ไทยก็จำเป็นต้องพัฒนาเทคโนโลยีของเราเองให้ได้ เพราะเราต้องเติมอีกหลายกิกะวัตต์ แม้จะต้องนำเข้าแร่อย่างซิลิคอนมาผลิตโซลาร์เซลล์

ตอนนี้มีไม่กี่บริษัทที่ทำเรื่องการประกอบเซลล์ ส่วนใหญ่นำเข้าแผงโซลาร์มาจากทั้งจีน ญี่ปุ่น เยอรมนี ส่วนกังหันลมมาจากเดนมาร์ก เยอรมนี จีน เท่ากับตอนนี้เรายังไม่มีอุตสาหกรรมเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียน ยิ่งทำให้ขาดแรงงานที่มีทักษะ

Q : Climate Finance เป็นอีกปัจจัยสำคัญให้ทั้งโลกเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดได้ ไทยได้เม็ดเงินมากน้อยขนาดไหนจากเวทีโลก?

เราไม่ได้เป็นหนึ่งในประเทศเป้าหมายของแหล่งเงินบริจาคเหล่านี้ เพราะยุโรปมุ่งไปที่ประเทศด้อยพัฒนาแถบแอฟริกามากกว่า อาจจะเป็นเพราะมีข้อแลกเปลี่ยนบางอย่างพ่วงเข้าไปด้วย

หากเป็นการให้สินเชื่อเพื่อการพัฒนาจากธนาคารโลกหรือองค์กรต่างชาติ อัตราดอกเบี้ยก็ไม่ได้ถูกไปกว่าธนาคารพาณิชย์ของไทย อาจจะได้ระยะเวลาการกู้ยืมที่ยาวกว่าหน่อย เช่น 4-5 ปีต่อโครงการ เราจึงอยู่ในจุดที่หาแหล่งเงินทุนได้ง่ายกว่า

ทาง กฟผ.ก็สามารถเจรจาของจากแบงก์ไทยได้ถูกกว่าด้วย สิ่งที่เราจะได้ประโยชน์จากความร่วมมือระดับนานาชาติมากกว่าคือ การช่วยเหลือด้านเทคนิคหรือการอบรมเพิ่มทักษะ (Knowledge Transfer)

Q : เมื่อมองความสามารถไทยในเวทีโลก ถือเราว่าเก่งไหม?

ในแถบอาเซียนด้วยกัน เราถือเป็นแนวหน้า แต่ถ้าเทียบกับยุโรปก็ยังห่างไกล เขาทำมาเยอะกว่า นานกว่า อย่างสหราชอาณาจักรมีสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนประมาณ 40% ส่วนเยอรมนี 59.7% ก็ต้องยอมรับว่าเยอรมนีเป็นเจ้าของเทคโนโลยี แต่ตอนนี้ราคาทั่วโลกเริ่มถูกลง เราก็นำเข้ามาได้เยอะขึ้น

เรื่องสำคัญคือ ต้องอาศัยทาง กฟผ.อัปเกรดระบบไฟฟ้ามารองรับ เพราะพลังงานหมุนเวียนมีความไม่แน่นอน เราต้องมีพลังงานสำรองที่จะมาทดแทนทันทีเมื่อเมฆมาบดบังหรือลมหยุดพัด ไม่ว่าจะเป็นจากก๊าซธรรมชาติ ถ่านหินบางส่วน การพัฒนาแบตเตอรี่ รวมไปถึงระบบสูบกลับคือ การนำไฟฟ้าที่เหลือสูบน้ำขึ้นไปกักเก็บไว้ และปล่อยน้ำลงมาปั่นกระแสไฟฟ้าเมื่อไฟขาด

แม้ลาวจะมีสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนสูงที่สุดเกือบ 100% จากพลังงานน้ำ แต่หากนับตามปริมาณพลังงานหมุนเวียนที่ผลิตได้ ไทยสูงกว่าทุกประเทศในอาเซียนแน่นอน สิงคโปร์ก็ทำได้ลำบากจากการใช้ก๊าซธรรมชาติเยอะมาก

คนอาจมองว่าเวียดนามกำลังมาแรงเรื่องไฟฟ้าสะอาด แต่สถานการณ์ตอนนี้คือ ไฟดับประจำ ทำให้นักลงทุนจำนวนมากหันมาเลือกประเทศไทยแทน แม้ค่าไฟจะสูง แต่มีราคาแน่นอน และเข้าถึงได้ 24 ชั่วโมง ทำให้คำนวณต้นทุน และบริหารความเสี่ยงได้ง่ายกว่า ความมั่นคงด้านพลังงานจึงเป็นเรื่องหลักที่เราต้องมีไฟฟ้าเพียงพอ แล้วค่อยๆ ทำให้สะอาดขึ้น

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์